“Take me to church

I’ll worship like a dog at the shrine of your lies

I’ll tell you my sins and you can sharpen your knife”

จากท่อนหนึ่งอันลือลั่นของเพลง Take Me to Church เนื้อเพลงเจือกลิ่นอายของดนตรีบลูส์ ขับร้องด้วยน้ำเสียงเสียดสีพระเจ้าและศาสนาคริสต์ กับมิวสิกวิดีโอที่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนรักหนุ่มสองคนที่หนีตายจากการตามล่าของคนกลุ่มหนึ่ง และทันทีที่มันถูกปล่อยออกมาในปี 2013 ในรูปแบบแผ่น extended play (EP -อัลบั้มขนาดย่อที่มีจำนวนเพลงน้อยกว่าสตูดิโออัลบั้ม) มันก็ได้สร้างปรากฏการณ์ความนิยมสุดขีด นอกเหนือจากการไต่ชาร์ตเพลงสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรแล้ว มันยังได้รับการเสนอชื่อรางวัลแกรมมี่สาขาเพลงแห่งปี และแจ้งเกิด โฮซิเออร์ นักดนตรีหนุ่มจากไอร์แลนด์อย่างไม่ทันตั้งตัว ก่อนที่เขาจะปล่อยอัลบั้มเต็มชื่อเดียวกับตัวเองอย่าง Hozier ที่ทำยอดขายถล่มทลาย ควบคู่ไปกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพลงของเขานั้นโจมตีและเสียดสีศาสนาอย่างเปิดเผย ซึ่งถ้าเราไปถามเจ้าตัวว่าเขาเจตนาให้มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ โฮซิเออร์จะพยักหน้าแล้วตอบอย่างจริงจังว่า “แหงสิครับ”

โฮซิเออร์กับการถ่ายนิตยสาร Rolling Stones

และหลังจากความสำเร็จจากอัลบั้มแรก โฮซิเออร์หายหน้าไปห้าปี ก่อนจะกลับมาพร้อมกับสตูดิโออัลบั้ม Wasteland, Baby! ที่เพิ่งถูกปล่อยมาเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมด้วยเนื้อเพลงที่ฟาดฟันกับศาสนาคริสต์ ศีลธรรมและรัฐบาลไอร์แลนด์อย่างหนักข้อไม่แพ้อัลบั้มแรก

แม้ว่าสิ่งที่เราเพิ่งเล่าไปจะฟังดูเหมือนโฮซิเออร์เป็นชายหนุ่มผู้ดุดัน แต่อันที่จริงแล้วเขาขี้อาย พูดน้อยและยังคงเก้ๆ กังๆ ในการออกสื่อหรือเผชิญหน้ากับปาปารัซซี่ ย้อนกลับไปเมื่อ 28 ปีก่อน แอนดรูว์ โฮซิเออร์-ไบร์น เกิดในครอบครัวของศิลปิน พ่อของเขาเป็นมือกลองของ Free Booze วงบลูส์เล็กๆ ที่เล่นในผับของไอร์แลนด์ แม่ของเขาเป็นจิตรกร (ปกอัลบั้ม Hozier ก็เป็นฝีมือของแม่เขาเอง) โฮซิเออร์จึงเติบโตมากับดนตรีบลูส์อย่างเต็มขั้น และความหลงใหลนี้ยังถูกตอกย้ำหนักขึ้นเมื่อเขาได้ดูหนัง The Blues Brothers (1980, จอห์น แลนดิส) ซึ่งเล่าถึงคู่หูนักดนตรีบลูส์ซ้ำไปซ้ำมาตั้งแต่ยังเด็ก และมันเปิดโลกให้เขาขวนขวายหาบลูส์สาขาอื่นมาฟัง แต่ก็ไม่ง่ายนัก

“ยุค 90s เด็กเจ๋งๆ เขาฟัง Nirvana กันเพราะมันเป็นวงที่พ่อแม่เรารำคาญใจเวลาเราเปิดฟัง ตอนวัยรุ่นใครๆ ก็ชอบเพลงป๊อปกันทั้งนั้น” เขาเล่า “แต่ผมดันไปหลงรักเพลงบลูส์กับแจ๊สเข้า ผมว่ามันเป็นบทเพลงสำหรับการเติบโตน่ะ” แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เล่าอย่างเศร้าๆ ว่าการหาเพลงบลูส์หรือแจ๊สฟังเมื่อสมัยยังเด็กเป็นเรื่องยากเอาการ เพราะที่โรงเรียนก็ไม่ค่อยมีใครฟัง ครั้นจะจับรถไฟเข้าเมืองเพื่อไปร้านขายแผ่นเสียงก็กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก แม้กระทั่งจะหาฟังทางอินเตอร์เน็ตก็ยังมีอุปสรรคเพราะ —เช่นเดียวกับเด็กยุค 90 จำนวนมาก— โฮซิเออร์ต้องเผชิญกับอินเตอร์เน็ตเต่าคลานที่ไม่เอื้อให้เขาได้ฟังอะไรมากไปกว่าเดิม

พ้นไปจากดนตรีบลูส์ สิ่งที่หล่อหลอมและรายล้อมเขา อาจจะรวมถึงประชากรชาวไอร์แลนด์ส่วนใหญ่ด้วย นั่นคือศาสนาคริสต์ “การเติบโตในไอร์แลนด์มันมีแต่โบสถ์ล้อมรอบเรา” โฮซิเออร์เล่า

นอกเหนือจากการเรียน หัดเล่นดนตรีแล้ว เขายังใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับการอ่านหนังสือ และหนึ่งในนั้นคือ The Portrait of an Artist As a Young Man วรรณกรรมของ เจมส์ จอยซ์ นักเขียนชาวไอริช โดยเนื้อหาที่แท้จริงนั้นแล้วคือภาพแทนชีวิตของจอยซ์ในวัยหนุ่ม “ผมว่ามันเล่าถึงคนที่ประสบปัญหาในการหาอัตลักษณ์ให้ตัวเองภายใต้การกดทับของศาสนา” โฮซิเออร์ผู้ออกตัวว่าเขาเป็นพวกไม่เชื่อในพระเจ้าสาธยาย “ในยุคนั้นคาธอลิกทรงอิทธิพลและแทรกซึมไปจนถึงความเป็นชาติ ผมว่าเขาอยากจะเป็นอิสระจากมันนะ”

การถูกหล่อหลอมด้วยดนตรีบลูส์ที่โดยดั้งเดิมแล้วก็มีรากฐานของการปลดปล่อยตัวเองจากความคับแค้นหรือถูกกดขี่ของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ตลอดจนการอ่านหนังสือที่พูดถึงการแสวงหาเสรีภาพ (เขาเล่าว่าหนังสือเล่มโปรดที่ทรงอิทธิพลต่อเขาในวัยเยาว์คือ 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์) มันได้หล่อหลอมให้เด็กเนิร์ดๆ คนหนึ่งตั้งคำถามกับกรอบกรงใหญ่ที่สุดของมนุษย์ในสายตาของเขาอย่างศาสนา และนั่นเองที่เป็นต้นกำเนิดของ Take me to church “มันพูดถึงเซ็กส์ มันพูดถึงมนุษย์ซึ่งมันเกี่ยวโยงกันอย่างแยกไม่ขาด แสนจะเป็นธรรมชาติ การมีเซ็กส์มันคือส่วนหนึ่งของการเป็นมนุษย์ แต่แล้วองค์กรอย่างศาสนาหรือโบสถ์ก็ออกมาบอก —อ้างว่ามาจากหลักคำสอน— ว่าเรื่องเพศมันน่าอับอาย และนั่นแหละที่ผมว่าโคตรจะเป็นบ่อนทำลายมนุษยชาติเลย

“บาทหลวงเคยชวนผมไปเล่นเพลง Take Me to Church ในเรือนจำที่ควบคุมอย่างหนาแน่นที่สุดทางใต้ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูจิตวิญญาณของนักโทษ ค้นหาพระเจ้าของตัวเองเพราะคนเราได้ยินสิ่งที่อยากได้ยิน เรื่องมันก็แค่นั้นแหละครับ”

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ของ Take Me to Church ไม่เพียงแค่สร้างชื่อให้พ่อหนุ่มไอร์แลนด์เท่านั้น แต่มันยังทำให้เขาตั้งตัวกับชื่อเสียงไม่ติด โฮซิเออร์เล่าเจือน้ำเสียงขำขันว่าในระยะแรกที่เพลงดังและเขาต้องเดินสายออกรายการโทรทัศน์เป็นว่าเล่นนั้น มันทำให้เขาไม่ได้หลับได้นอนและเกือบสติแตก แถมยังทำตัวไม่ถูกเวลาปาปารัซซี่พุ่งมาถ่ายรูป (“แล้วผมหลบไม่ได้ด้วยเพราะตัวสูง เวลาเดินกลางฝูงชน หัวผมโด่ออกมาเหมือนนิ้วมือน่าเกลียดๆ ที่ยื่นออกมาจากนิ้วอื่นๆ”) จนเขาหายหน้าหายตาไปทำเพลงอยู่พักใหญ่ ก่อนกลับเข้าสังเวียนอีกครั้งใน Wasteland, Baby! อัลบั้มลำดับที่สองซึ่งอัดแน่นไปด้วยเนื้อเพลงที่สนับสนุนสิทธิของชาว LGBT เต็มขั้น โดยเฉพาะ Nina Cried Power ซิงเกิลแรกที่ปล่อยออกมาในรูปแบบ extended play ที่พุ่งทะยานขึ้นอันดับ 1 ของชาร์ตบิลบอร์ดเพลงอัลเทอร์เนทีฟของสหรัฐฯ

‘And everything that we’re denied

By keeping the divide

It’s not the waking, it’s the rising’

เนื้อเพลงของ Nina Cried Power เต็มไปด้วยแรงระเบิดที่โฮซิเออร์อุทิศเพื่อนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะมิวสิกวิดีโอที่จับจ้องไปยังเหล่านักเคลื่อนไหวนั่งฟังเพลงของเขาอย่างเงียบสงบ พวกเขาเป็นปากเป็นเสียงให้ชนกลุ่มน้อย, ผู้ไร้บ้าน, LGBT ตลอดจนการสนับสนุนทำแท้งถูกกฎหมาย

“ผมอยากให้กำลังใจผู้คนที่พยายามต่อสู้และกดดันรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมา ความรู้สึกสิ้นหวังนั้นก่อตัวขึ้นได้ง่ายและดูเหมือนจะไร้จุดสิ้นสุด แต่ผู้คนเหล่านี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นผู้นำและมอบความหวังให้แก่คุณ”

ขณะที่อัลบั้มเต็มอย่าง Wasteland, Baby! อวลไปด้วยกลิ่นอายบัลลาด ผสานกับดนตรีบลูส์ที่ผูกพันกับเขามาตั้งแต่แรกเริ่ม และมันยังคงเต็มไปด้วยน้ำเสียงของการเสียดสีคาธอลิกเช่นเดิม อย่างที่ปรากฏในเพลง Be “จงเป็นอย่างความรักที่ค้นพบความผิดบาป – Be like the love that discovered the sin” มันพูดถึงสวนอีเดนในไบเบิ้ล เกี่ยวกับความบาปดั้งเดิมของคนสองคนที่ถูกห้ามว่าอย่าทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วพวกเขาก็ทำ ผมว่ามันเป็นวิธีการแสดงความรักของพวกเขา แต่นั่นกลับทำให้พวกเขาถูกขับออกมาจากสวนซะอย่างนั้น

“พวกเราอยู่กับความบาปทั้งนั้นแหละครับ มันเต็มไปด้วยเรื่องปั้นแต่งที่พวกเราบอกตัวเองว่ามนุษย์ควรทำหรือไม่ควรทำอะไร เรื่องทางโลก (profane) น่ะจริงแท้และจำเป็นต่อการสร้างประสบการณ์ให้มนุษย์มากพอกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิต แล้วถ้าจำเป็นขนาดนี้ทำไมถึงไม่คิดว่าเรื่องทางโลกมันศักดิ์สิทธิ์เหมือนกันล่ะ” เขาย้อนถาม “ศาสนามีส่วนสร้างกฎเกณฑ์มากมายในสังคมเรา โดยเฉพาะสังคมที่ผมเติบโตขึ้นอย่างไอร์แลนด์ มันเป็นสังคมที่ถึงตอนนี้ก็ห่างไกลจากหลักคำสอนดั้งเดิม ทั้งศาสนายังเข้าไปควบคุมนโยบายรัฐ ชีวิตผู้คนและศีลธรรมอีก”

ดังนั้นแล้ว สารสำคัญที่โฮซิเออร์ยังคงไว้ในบทเพลงของเขา นอกเหนือไปจากการเรียกร้องความเท่าเทียมของมนุษย์แล้ว เขายังตั้งคำถามต่อองค์กรศาสนาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่มันเป็นต้นเหตุสำคัญส่วนหนึ่งในการกีดกันความเท่าเทียมในสายตาเขา ทั้งเรื่องเกย์ ตลอดจนการทำแท้งและการครอบงำทางศีลธรรมซึ่งกินเวลายาวนานมาหลายทศวรรษ

“ผมไม่ค่อยคิดถึงความเป็นพระเจ้าเท่าไหร่ แต่ผมสนใจว่าผู้คนพูดเกี่ยวกับพระเจ้ายังไงมากกว่า ว่าพระเจ้าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้คนอย่างไรบ้าง” เขากล่าวอย่างจริงจัง “และพูดจริงๆ นะ ผมพบว่าผมแสนจะสนุกสนานที่ได้ล้มล้างระบอบนี้ผ่านบทเพลง”

Tags: , , , , , ,