1

1 มีนาคม 1932 นางพยาบาลซึ่งถูกจ้างมาดูแลลูกชายของ ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก วีรบุรุษของชาติในคฤหาสน์สุดหรู รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เป็นคนเห็นความผิดปกติเป็นคนแรก ก่อนหน้านี้เธอได้เปลี่ยนเสื้อผ้าทารกวัยเพียง 20 เดือนแล้ววางลงที่เปลในห้องเลี้ยงเด็กชั้น 2 ของคฤหาสน์ ทารกหลับสนิท แต่ในเวลาประมาณ 3 ทุ่ม เธอกลับมาที่ห้องอีกครั้งและพบว่าเด็กหายไปจากเปลแล้ว หลังจากลองค้นดูทั่วห้องจึงรีบไปแจ้งลินด์เบิร์กกับภรรยาทันที ทั้งสองรีบวิ่งมาที่ห้องของลูก ก่อนจะเจอจดหมายต้องการเงินจำนวน 50,000 ดอลลาร์ฯ เพื่อแลกกับชีวิตของทารกน้อยอยู่ที่หน้าต่าง และในห้องยังพบรอยเท้าเปื้อนโคลนปรากฏอยู่ด้วย

มันกลายเป็นคดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่สุดอื้อฉาวในทันที

2

ข่าวการลักพาตัวนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ เพราะชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก ถือเป็นคนดังจากผลงานการขับเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยไม่พักจากอเมริกาไปยุโรปได้เป็นคนแรกของโลก ฐานะของเขาคือวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกาในตอนนั้น หลังเกิดเรื่องมีคนจำนวนมากพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือลินด์เบิร์ก แม้กระทั่งเจ้าพ่ออย่าง อัล คาโปน ที่ติดคุกอยู่ก็ยังเสนอตัวช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี 3 วันหลังทารกหายตัวไป จดหมายเรียกค่าไถ่ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง โดยขอขยับวงเงินลักค่าไถ่เป็น 70,000 ดอลลาร์ฯ

เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐนิวเจอร์ซีย์ระดมกำลังลงพื้นที่สอบสวนทันที เช่นเดียวกับสำนักงานสอบสวนกลางอย่างเอฟบีไอที่ตอนนั้นเพึ่งจะตั้งมาใหม่ๆ ก็ได้ลงพื้นที่ด้วย พวกเขาพบว่าคนร้ายใช้บันไดปีนขึ้นไปชั้น 2 แล้วเปิดหน้าต่างลักพาตัวเด็กออกมา โดยบันไดดังกล่าวมีขั้นที่หัก 2 ขั้น ซึ่งไม่มีใครทราบว่ามันหักตอนที่คนร้ายกำลังปีนขึ้นไปหรือตอนอุ้มเด็กลงมา ในที่เกิดเหตุไม่มีใครพบรอยเลือดหรือรอยนิ้วมือ และด้วยความที่เจ้าหน้าที่ยุคนั้นไม่ชินกับการเก็บหลักฐานโดยละเอียด รอยเท้าเปื้อนโคลนซึ่งคาดว่าเป็นของคนร้ายที่ปีนเข้ามาในห้องกลับถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย

ความโด่งดังของลินด์เบิร์กดึงดูดให้มีคนอาสาจะช่วยเหลือเขาเยอะมาก อดีตครูเกษียณ จอห์น คอนดอน อายุ 72 ปี ได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ย่านบร็องซ์ เมืองนิวยอร์ก แสดงเจตจำนงอยากเข้ามาเจรจากับคนร้ายให้ ปรากฏว่าทางคนร้ายก็ติดต่อกลับมาในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว ทำให้ลินด์เบิร์กมั่นใจและตั้งให้คอนดอนเป็นคนเจรจากับคนร้ายในคดีนี้ทันที การเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จดหมายจากคนร้ายถูกส่งมากว่า 13 ฉบับ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นความพยายามเพิ่มวงเงินค่าไถ่มีการเจรจากันไปมา บุคคลในบ้าน สาวใช้ พี่เลี้ยง นางพยาบาลถูกสอบปากคำอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนมีบางคนถึงกับเครียดพยายามฆ่าตัวตายด้วย 

ในที่สุดก็มีการตกลงนัดส่งเงินกันที่สุสานแห่งหนึ่ง โดยคอนดอนจะเป็นฝ่ายเอาเงินไปมอบให้ในสุสาน ส่วนลินด์เบิร์กจะนั่งรออยู่ในรถ

การมอบเงินเกิดขึ้น ชายที่เป็นคนร้ายมารับเงินที่วางไว้แล้วพูดเป็นสำเนียงอังกฤษปนเยอรมันบอกว่า ทารกอยู่ในเรือลำหนึ่งซึ่งจอดในท่าก่อนจะหายตัวไป แต่ปรากฏว่าทารกกลับไม่ได้อยู่ในเรือตามที่แจ้งไว้ ทุกอย่างล่มสลาย ไม่มีใครเห็นทารกคนนี้อีกครั้ง และคนร้ายก็เงียบหายไป 

จนกระทั่งวันที่ 12 พฤษภาคม 1932 2 เดือนหลังการหายตัวไป คนงานขับรถแทรกเตอร์เจอกระดูกซากทารกถูกฝังในจุดที่อยู่ห่างจากคฤหาสน์ของลินด์เบิร์กเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น กะโหลกของซากดังกล่าวมีรอยแตกคล้ายถูกกระแทก แต่ในส่วนลำตัวนั้นซากไม่ครบ มีบางส่วนหายไป เจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบฟันทารกเทียบเคียงกับประวัติ

2 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าร่างดังกล่าวคือเด็กชายชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก จูเนียร์ ลูกชายคนแรกของวีรบุรุษของชาติ จากเวลาการเสียชีวิตพบว่าเด็กน้อยตายไปไม่ต่ำกว่า 2 เดือน ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่คนร้ายลักพาตัวเด็กไป

จากคดีลักพาตัวกลายเป็นคดีฆาตกรรม ถึงจุดนี้เอฟบีไอเข้ามาทำงานเพื่อไล่ล่าคนร้ายที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญคนทั้งชาติอย่างเต็มรูปแบบ

3

ผลสืบเนื่องจากคดีลักพาตัวนี้ทำให้รัฐบาลกลางออกกฎหมายลินเบิร์ก โดยถือว่าคดีลักพาตัวนั้นเป็นอาชญากรรมระดับประเทศ เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลางจะเข้ามาดูแลคดีนี้ในทันที และให้อำนาจเอฟบีไอในการไล่ล่าดำเนินคดีคนร้ายเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้หน่วยงานดังกล่าวจะปฏิบัติการได้ทั่วประเทศ ไม่ต้องไปพึ่งประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับมลรัฐอีกต่อไป 

ทางเอฟบีไอวางแผนการจับกุมตัวคนร้ายเอาไว้แต่แรกแล้ว พวกเขาทำสัญลักษณ์บันทึกเลขซีเรียลบนธนบัตรค่าไถ่ที่คนร้ายเอาไป หากมีการใช้จ่ายเงินเมื่อไหร่ ก็จะนำกำลังไปจับกุมทันที โดยธนบัตรที่คนร้ายได้ไปนั้นมีความพิเศษคือ ตอนนั้นรัฐบาลกลางใช้มาตรฐานทองคำในการอ้างอิงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งจะถูกยกเลิกการอ้างอิงโดยประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เพราะต้องการผลิตธนบัตรจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงเวลานั้น

ธนาคารทุกแห่งได้รับคำสั่งว่า หากพบเลขธนบัตรจากการลักค่าไถ่ต้องแจ้งเอฟบีไอทันที โดยในช่วงปี 1933 มีรายงานการใช้ธนบัตรดังกล่าวอยู่บ้าง แต่เป็นปริมาณน้อยและไม่สามารถหาตัวคนร้ายได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ลดละความพยายาม จนวันที่ 20 กันยายน 1934 ทางเด็กปั๊มน้ำมันได้รับธนบัตรซึ่งเป็นแบงก์เก่าที่ยังเชื่อมโยงกับมาตรฐานทองคำอยู่ ด้วยไหวพริบและความเป็นพลเมืองดี เขาได้จดทะเบียนและรายละเอียดรถของชายคนที่ยื่นธนบัตรไว้ เมื่อเรื่องเข้าหูเอฟบีไอได้มีการตรวจสอบเลขธนบัตรที่เด็กปั๊มแจ้งก็พบว่าตรงกับธนบัตรลักค่าไถ่ พวกเขาตรวจสอบทะเบียนรถและพบว่าเจ้าของเป็นชายเชื้อสายเยอรมันชื่อว่า บรูโน ริชาร์ด ฮอฟแมนน์ บ้านอยู่ย่านบร็องซ์ เมืองนิวยอร์ก เมืองเดียวกับที่คอนดอนเขียนบทความลงเพื่อติดต่อขอเป็นคนเจรจากับคนร้าย

เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังบุกจับกุมชายคนนี้ทันที

4

ฮอฟแมนน์เป็นช่างไม้ จากการค้นในบ้านพบธนบัตรที่ซีเรียลตัวเลขตรงกับธนบัตรที่จ่ายค่าไถ่อีกจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ให้เขาเขียนลายมือแล้วนำไปเทียบกับจดหมายคนร้ายลักพาตัวซึ่งปรากฏว่าตรงกัน เอฟบีไอถึงขนาดเทียบเคียงพบว่า ไม้ที่ฮอฟแมนน์มีที่บ้านกับบันไดที่คนร้ายใช้ปีนไปอุ้มเด็กลงมานั้นเป็นไม้ประเภทเดียวกันด้วย 

อย่างไรก็ดี ฮอฟแมนน์ปฏิเสธว่าเขาไม่ได้ลักพาตัวทารก โดยบอกว่าธนบัตรดังกล่าวเป็นของเพื่อนชาวเยอรมันที่ฝากเงินไว้ให้ใช้ ซึ่งในวันที่พบศพทารกของลินด์เบิร์ก เพื่อนคนนี้ได้รีบเดินทางไปเยอรมันทันทีและได้เสียชีวิตที่นั่นด้วยวัณโรค

ทั้งนี้ทางเอฟบีไอและเจ้าหน้าที่ได้นำตัวฮอฟแมนน์ขึ้นศาลทันทีเพราะมีหลักฐานค่อนข้างชัดมาก ในช่วงดังกล่าวสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังปะทุเดือดในยุโรป กระแสความเกลียดชังคนเยอรมันในสังคมอเมริกันมีสูงมาก ฮอฟแมนน์เองมีประวัติเคยไปรบให้เยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนจะอพยพมาอเมริกา นั่นทำให้เขาเป็นเหยื่ออันโอชะของสังคมให้ถูกป้ายสีสร้างความเกลียดชังอย่างหนัก จนอคติแทบจะบดบังหลักฐานที่น่าสงสัยหลายอย่างในคดีนี้ แม้กระทั่งชื่อริชาร์ดซึ่งเป็นชื่อของฮอฟแมนน์ สื่อก็ยังเลี่ยงที่จะใช้เพราะดูเป็นอเมริกันเกินไป เขาถูกเรียกด้วยนามสกุลเพื่อขับเร้าความเป็นเยอรมันให้ปลุกความโกรธในสังคมยิ่งขึ้นไปอีก

การไต่สวนในคดีนี้ถูกสื่อมวลชนเรียกว่า ‘คดีแห่งศตวรรษ’ มีคนร่วมฟังคดีกว่า 60,000 คน นักข่าว นักเขียน ดารา ตัวลินด์เบิร์กและภรรยาขึ้นให้การในชั้นศาล โดยลินด์เบิร์กยืนยันว่าเสียงของฮอฟแมนน์คือเสียงของชายที่อยู่ในสุสานรับเงินค่าไถ่ในวันนั้น เช่นเดียวกับตัวคอนดอนก็ยืนยันว่าผู้ต้องหาคือคนร้ายตัวจริง

เจ้าหน้าที่พบว่า ฮอฟแมนน์เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย เขาเริ่มต้นทำงานเป็นช่างไม้แต่หลังมีการจ่ายค่าไถ่ในคดีลักพาตัวเด็กน้อย เขาก็หยุดทำงานและเล่นหุ้นแทนอย่างน่าสงสัย ตำรวจคาดว่าขั้นบันไดที่หักทำให้ทารกกับตัวฮอฟแมนน์ตกลงมาแล้วทำเด็กหัวกระแทกตาย เขาเอาร่างทารกไปฝังไว้และทำเนียนใช้จดหมายมาเรียกร้องค่าไถ่เอาเงินอีก ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่โหดมาก

อย่างไรก็ดี ฮอฟแมนน์ยืนยันว่าตัวเองคือผู้บริสุทธิ์ เขาถูกตำรวจรุมซ้อมและถูกบังคับให้เขียนลายมือเหมือนกับที่คนร้ายเขียน ภรรยาของฮอฟแมนน์ยิ่งหนัก เธอถูกบังคับให้สัมภาษณ์กับนักข่าวของ วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิร์ส นายทุนสื่อผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งบทสัมภาษณ์หลายคำนั้นภรรยาของผู้ต้องหาไม่เคยพูดเลย แต่นักข่าวของเฮิร์สไปเขียนกันเองโดยให้เหตุผลว่า ‘สังคมต้องการสีสัน’  

แรงเร้าจากสื่อมวลชนและสังคมทำให้ภาพของฮอฟแมนน์ถูกวาดให้กลายเป็นผู้ต้องหาตัวจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดลูกขุนมีคำพิพากษาว่าผิดจริงต้องโทษประหารชีวิตด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าและจากโลกนี้ไปในปี 1936 โดยที่เขายังยืนยันว่าตัวเองคือผู้บริสุทธิ์และไม่ใช่คนร้ายที่ก่อเหตุลักพาตัวฆาตกรรมลูกชายของลินด์เบิร์กอย่างแน่นอน

5

แอนนา ฮอฟแมนน์ ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่นิวยอร์ก เธอพบรักและแต่งงานกับริชาร์ด ชายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรสังหารลูกลินด์เบิร์ก ทั้งสองมีลูกชายด้วยกันในปี 1933 เธอเล่าว่าตัวริชาร์ดดีใจมากที่จะมีลูก เขามีนิสัยโอบอ้อมอารี ชอบซื้อดอกไม้มาให้ภรรยา เขาชอบคุยเรื่องตลก มีอยู่คืนหนึ่งเมื่อมีคนร้ายย่องเบาเข้าบ้านทั้งสอง แหวนแต่งงานของแอนนาหายไป ชายหนุ่มเอาแหวนแต่งงานออกจากนิ้วตัวเองแล้วไปสวมให้กับภรรยาขณะที่เธอหลับ ซึ่งเธอจะสวมมันไปตลอดชีวิต วันที่เจ้าหน้าที่บุกมาจับกุมตัวสามี เธออยู่ในอาการตกใจอย่างมาก และได้เพียงแค่มองเขาถูกคุมตัวออกไป เจ้าหน้าที่พูดใส่หน้าชายหนุ่มว่า ‘แกจะต้องตกนรกกับการกระทำครั้งนี้’

หลังจากนั้นคู่รักฮอฟแมนน์ก็ไม่ได้พบหน้ากันอีกเลย รวมถึงลูกชายของฮอฟแมนน์ก็ไม่เคยพบหน้าพ่ออีกต่อไป เพราะอีกฝ่ายไม่อยากให้ลูกมาเยี่ยมขณะตัวเขาติดคุก

“พระเจ้ารู้ว่าสามีของฉันบริสุทธิ์ ฉันจะต่อสู้เพื่อเขาชั่วชีวิต เขาต้องตายเพราะมีคนโกหก เลือดของสามีฉันเปื้อนมือผู้คนในนิวเจอร์ซีย์”

หลังการประหารชีวิตสามี แอนนาไม่เคยแต่งงานใหม่ หอบลูกออกจากนิวยอร์กไปอาศัยในเมืองอื่น ไม่ยอมเปลี่ยนชื่อ โดยตลอดเวลาเธอบอกว่าในวันเกิดเหตุสามีของเธอก็กลับบ้านมาตามปกติ มานั่งกินอาหารเย็น ช่วยล้างจาน ทั้งสองอยู่ด้วยกันตลอดคืน สามีของเธอไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ไปก่อเหตุ มีพยานบางคนพร้อมจะยืนยันระหว่างการพิจารณาคดีแต่ก็กลัวความกดดันจากสังคมที่ระอุเดือดมาก แอนนาเคยเอาหลักฐานตรงนี้ให้สื่อแต่ไม่มีใครสนใจและไม่มีใครเชื่อ

อดีตภรรยานักโทษประหารชีวิตคนนี้มีอายุยืนยาว ในปี 1981 ด้วยวัย 82 ปี เธอตัดสินใจยื่นฟ้องรัฐนิวเจอร์ซีย์ 100 ล้านดอลลาร์ฯ และเรียกร้องไปยังศาลสูงของมลรัฐให้พลิกคำพิพากษาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าสามีของเธอไม่ใช่ฆาตกร เธอต้องการให้สังคมรับรู้ว่าสามีเธอคือผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่คนร้าย และทางรัฐประหารชีวิตคนผิด เพราะมีหลักฐานหลายอย่างที่น่าสงสัยเป็นอย่างมาก 

โดยเอกสารของเจ้าหน้าที่ในตอนนั้นยืนยันว่าลายมือของคนร้ายกับสามีของเธอไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่เอฟบีไอบางคนก็ยังสงสัยว่าสามีเธอจะใช่คนร้ายจริงเหรอ แถมมีหลักฐานชัดว่าสามีเธอโดนซ้อมจริงๆ จนแทบเดินไม่ได้ สุขภาพย่ำแย่ในคุก ทุกอย่างบ่งชี้ว่าสามีเธออาจถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม มีทนายความที่มาร่วมช่วยเหลือแบบไม่คิดเงิน เธอทำทุกอย่างเพื่อให้โลกรู้ว่าสามีเธอคือผู้บริสุทธิ์ เขาไม่ใช่ฆาตกร ไม่ใช่คนร้ายดังที่ทางการกล่าวหาและนำเขาไปประหารชีวิตไม่

น่าเสียดายที่การยื่นฟ้องไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากคดีดังกล่าวหมดช่วงเวลาจะรื้อฟื้นคดีอีกแล้วจึงไม่มีการกลับคำพิพากษา เอฟบีไอยังยืนยันว่าสามีของเธอคือคนร้ายในคดีนี้ต่อไปจนถึงปัจจุบัน

หญิงชราได้เสียชีวิตในปี 1994 ก่อนความตายจะมาเยือน เธอได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของริชาร์ด พระเจ้ารู้ว่าใครลักพาตัวทารกคนนั้น พระเจ้ารู้ทุกสิ่ง ถ้าฉันตายก่อนที่ชื่อเสียงของเขาจะได้รับการรื้อฟื้น ฉันก็รู้ว่าพระองค์จะทรงทำมันแทนฉันอย่างแน่นอน”

 

อ้างอิง

https://www.fbi.gov/history/famous-cases/lindbergh-kidnapping

https://www.history.com/this-day-in-history/lindbergh-baby-kidnapped

https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/lindbergh-kidnapping/

https://www.washingtonpost.com/archive/lifestyle/1981/10/15/the-sorrows-of-anna-hauptmann/7b44dcca-2219-4242-8f9b-65d556753759/

http://www.charleslindbergh.com/kidnap/dr.asp

https://www.chicagotribune.com/news/ct-xpm-1992-02-07-9201120363-story.html

https://www.latimes.com/archives/la-xpm-1994-10-20-mn-52380-story.html

หนังสือ The Crime Book ของสำนักพิมพ์DK หน้า 178-185

Tags: , ,