หลังจากเยี่ยมชมวัดซางตาครู้ส กินอาหารกลางวัน และแวะชมบรรยากาศภายในชุมชนกุฎีจีน คณะของเราก็ออกจากท่าเรือวัดกัลยาณมิตร โดยข้ามฝั่งแม่น้ำไปยังท่าเรือกรมเจ้าท่า เพื่อมุ่งสู่จุดหมายแห่งที่สี่

เมื่อตอนที่แล้ว เราได้ทราบแล้วว่าวัดซางตาครู้สเป็นศาสนสถานของชาวโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุง

สำหรับชาวโปรตุเกส พวกเขาเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาก่อนที่คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสและนักบวชคณะต่างๆ จะมาถึงนานพอสมควร ครั้นเมื่อพระสันตะปาปาประกาศแต่งตั้งประมุขมิสซังสยามซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ทำให้ชาวโปรตุเกสแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งยอมรับอำนาจการปกครองของประมุขมิสซังสยาม ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ โดยจะยอมรับเฉพาะบาทหลวงชาวโปรตุเกส

ในปี 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกบุกยึด ชาวคริสต์โปรตุเกสและญวนจำนวนหนึ่งจึงอพยพมายังบางกอก โดยล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งชาวโปรตุเกสที่ไม่ยอมรับอำนาจของประมุขมิสซังสยามได้นำทรัพย์สมบัติติดตัวมาด้วย โดยหนึ่งในนั้นคือรูปปั้นที่มีค่ายิ่งสองรูป คือรูปแม่พระลูกประคำและรูปพระศพของพระเยซูเจ้า

ต่อมาในปี 2312 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพได้สำเร็จ และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ พระองค์ก็พระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดซางตาครู้สให้กับคุณพ่อกอร์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวคริสต์ที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา


อย่างไรก็ตาม การไม่ยอมรับประมุขมิสซังสยามชาวฝรั่งเศสก็ยังคงดำรงอยู่ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระบัญชาให้เชิญพระสังฆราชกูเด (ซึ่งถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขับออกจากราชอาณาจักร) มาปกครองชาวคริสต์ที่วัดซางตาครู้ส ชาวโปรตุเกสจำนวนหนึ่งจึงแยกไปสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินว่างเปล่าซึ่งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งชื่อว่า ‘ค่ายแม่พระลูกประคำ’ ตามชื่อรูปแม่พระที่นำมาจากอยุธยา

ในปี 2329 เพื่อเป็นการยุติความขัดแย้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานที่ดินที่พวกเขาสร้างบ้านพักอาศัยอยู่นั้นสำหรับสร้างวัด ซึ่งวัดหลังแรกก็สร้างแล้วเสร็จในปีต่อมา จากนั้นชาวโปรตุเกสจึงนำรูปแม่พระลูกประคำมาประดิษฐานไว้ที่ด้านหลังพระแท่น ส่วนรูปพระศพของพระเยซูเจ้าถูกเก็บไว้ในตู้ ซึ่งรูปพระศพของพระเยซูเจ้านี้เองที่เป็นที่มาของชื่อ ‘วัดกาลหว่าร์’ (มาจากคำว่า Calvary ซึ่งเป็นเนินเขาที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ตรึงกางเขนพระเยซู)

ในเวลานั้นมีชาวคริสต์โปรตุเกสอยู่ที่นี่ 137 คน แต่ไม่มีบาทหลวงมาอยู่ประจำ มีเพียงบาทหลวงชาวฝรั่งเศสมาถวายพิธีมิสซาเป็นครั้งคราว เมื่อไม่มีบาทหลวงโปรตุเกสมาอยู่ประจำ ชาวโปรตุเกสจึงค่อยๆ ยอมรับประมุขมิสซังสยามชาวฝรั่งเศส

ต่อมาในปี 2363 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ทางใต้ของวัดกาลหว่าร์เพื่อก่อตั้งกงสุลโปรตุเกส ก่อนจะกลายเป็นสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน

หลังจากนั้น 2 ปี พระสังฆราชฟลอรังส์จึงเข้าปกครองวัดกาลหว่าร์ และทำมิสซาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2365

 

วัดหลังใหม่และชื่ออย่างเป็นทางการ

ในเวลาต่อมา ชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่บนที่ดินผืนนี้ก็ค่อยๆ อพยพโยกย้ายไปทำมาหากินในที่ต่างๆ ขณะที่มีชาวจีนเข้ามาอยู่อาศัยแทน คุณพ่ออัลบรังค์ซึ่งมาถึงบางกอกในปี 2358 และประจำอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ จึงย้ายมาอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ในปี 2380 เพื่อความสะดวกในการดูแลชาวคริสต์จีนที่เข้ามาอยู่อาศัยในบริเวณนี้ และท่านก็สร้างศาลาทำด้วยไม้ไผ่มุงแฝกเพื่อใช้เป็นที่เผยแพร่คำสอน เนื่องจากวัดที่ชาวโปรตุเกสสร้างไว้เมื่อปี 2330 นั้นผุพังทรุดโทรมอย่างมาก

หลังจากนั้น วัดหลังที่สองก็ถูกสร้างขึ้น โดยมีพระคุณเจ้าปาลกัว ซึ่งเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยมาตั้งแต่ปี 2376 เป็นผู้ทำพิธีเสกในวันที่ 1 ตุลาคม 2382 ซึ่งเป็นวันฉลองแม่พระลูกประคำ และมีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘วัดแม่พระลูกประคำ’ แต่ชาวจีนยังคงเรียกว่าวัดกาลหว่าร์มาจนทุกวันนี้

ในปี 2422 คุณพ่อเดสซาลส์มาปกครองวัดกาลหว่าร์ และทำการรื้อวัดหลังที่สองซึ่งชำรุดทรุดโทรมจนยากจะซ่อมแซมได้

12 ปีต่อมา ในวันฉลองแม่พระลูกประคำ พระสังฆราชฌอง หลุยส์ เวย์ ก็กระทำพิธีเสกศิลาฤกษ์ ก่อนที่วัดหลังใหม่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 6 ปีต่อมา โดยทำการเสกวัดใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2440


สำหรับวัดหลังใหม่ซึ่งเป็นวัดในปัจจุบันนั้นมีโครงสร้างแบบถาวร มีความโอ่อ่าด้วยสถาปัตยกรรมนีโอกอทิก (Neo-Gothic architecture หรือ Gothic Revival architecture) มีผังเป็นรูปกางเขนโรมันหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพระแท่นอยู่ด้านในสุดของโบสถ์ เป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อน เหนือพระแท่นมีพระรูปจำลองขนาดใหญ่ของแม่พระและพระกุมารขณะกำลังมอบสายประคำให้กับนักบุญดอมินิกและนักบุญกาเตรีนาแห่งซีเอนา ถัดมาทางมุขด้านหน้าบริเวณพระแท่น มีพระแท่นเล็กตั้งไว้ตรงกันในมุขสองด้าน โดยบริเวณเหนือพระแท่นเล็กด้านใต้เป็นพระรูปพระหฤทัยของพระเยซู และด้านเหนือเป็นรูปนักบุญโยเซฟ

นอกจากนั้น ตามผนังยังมีรูปปั้นนักบุญต่างๆ และรูป 14 ภาค (รูป 14 ภาค ที่วัดนักบุญยอแซฟ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) แขวนไว้โดยรอบ บริเวณด้านหน้ามีรูปทูตสวรรค์ถือเปลือกหอยบรรจุน้ำเสกสำหรับผู้เข้า-ออกใช้ทำสำคัญมหากางเขนตั้งอยู่ทั้งสองข้าง และเหนือหน้าต่างทุกบานมีกระจกสีช่องแสงสวยงาม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระคัมภีร์เก่าและใหม่ควบคู่กันไป เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นยอดสูงซึ่งเป็นหอระฆัง บนยอดปักรูปกางเขนแลดูสง่างาม

สำหรับรูปแม่พระลูกประคำและรูปพระศพของพระเยซูเจ้า ในปัจจุบันก็ยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดี โดยรูปแม่พระลูกประคำจะนำมาแห่รอบวัดปีละ 1 ครั้งในโอกาสฉลองวัด ขณะที่รูปพระศพของพระเยซูเจ้าจะนำมาแห่รอบวัดปีละ 1 ครั้งในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษได้กราบไหว้นมัสการ

พิธีเดินรูป 14 ภาคในสถานที่ 11, วันที่ 3 มีนาคม 2560

ที่มา
http://catholichaab.com
https://th.wikipedia.org

Tags: , , , , , , ,