เมื่อสองปีที่แล้ว ผู้เขียนซึ่งนิยมชมชอบการสะสมหนังสือเก่าได้สั่งซื้อหนังสือปกขาวซึ่งพิมพ์กันแพร่หลายในช่วงปี 2490-2500 มาหนึ่งเล่มในราคา 350 บาท เหตุผลที่สั่งซื้อเพราะชอบชื่อ ตลุยลอนดอน และชื่อผู้แต่ง ‘ครูเหลี่ยม’ ที่พ้องกันกับนามปากกาบุคคลสำคัญของวงการวรรณกรรมไทย

เมื่อได้รับหนังสือ ผู้เขียนก็พบข้อมูลบางประการที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ได้ค้นคว้าอะไรเพิ่มเติม เพราะขณะนั้นผู้เขียนกำลังค้นคว้าประวัติของกวีจีนสมัยใหม่คนหนึ่ง

จนกระทั่งไม่นานมานี้  ในแวดวงประวัติศาสตร์วรรณกรรมและผู้ที่สนใจเรื่องกามบันเทิงในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์มีการกล่าวถึงหนังสือ กล่อมครรภ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนังสือโป๊เล่มแรกของประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์กามารมณ์ของไทย หลังจากมีการเอ่ยถึงกันมาแล้วหลายครั้งในหมู่ผู้ที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์การพิมพ์

อย่างไรก็ดี การกล่าวถึงครั้งนี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับคำถามเดิมๆ ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแต่ง หนังสือแปล หรือหนังสือแปลง และในหนังสือชุดนี้ แท้จริงแล้วมีเรื่องอะไรบ้าง ผู้เขียนจึงหยิบหนังสือ ตลุยลอนดอน มาเปิดดูอีกครั้ง และคิดว่าต้องเขียนถึงข้อมูลเหล่านี้เพื่อเป็นการให้ความหมายใหม่ๆ กับการศึกษาประวัติศาสตร์วรรณกรรม

ปกหนังสือ ตลุยลอนดอน หนังสือในครอบครองของผู้เขียน

กล่อมครรภ์: ข้อมูลเบื้องต้นของปริศนาหนังสือกามบันเทิง

กล่อมครรภ์-พนันชม-พรหมจารี-ดรุณีประวัติ ชื่อเรื่องที่คล้องจองสี่เรื่องนี้เป็นชื่อที่ผู้สนใจหนังสือเก่าและนักประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยรู้จักกันดีว่าเป็นหนังสือวรรณกรรมทางเพศของครูเหลี่ยม ซึ่งถือกันว่าเป็นหนังสือหายากในระดับที่เรียกว่า “ได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่เคยเห็นตัว”

ส. พลายน้อย ซึ่งเป็นนักเลงหนังสือคนสำคัญ เคยเขียนถึงหนังสือชุดนี้ไว้ว่าเป็นหนังสือที่คนถามถึงอยู่เสมอ ส่วนตัวของ ส. พลายน้อย เคยเห็นแต่เล่มที่ชื่อ ดรุณีประวัติ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ เนื้อหาไม่ได้มีความโลดโผนแต่ประการใด

หนังสือชุดนี้เป็นปริศนาของผู้ที่สนใจเรื่อยมา จนกระทั่งมีการค้นพบหนังสือ กล่อมครรภ์ โดยคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เมื่อปี 2556 จึงทำให้เรื่องราวของหนังสือชุดนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

การเผยโฉมของ กล่อมครรภ์ ทำให้มีนักวิชาการศึกษาวิจัยจากตัวเล่มจริง และมีการตีพิมพ์บทความวิชาการสองชิ้น ได้แก่ ‘เพศวิถีและอารมณ์ปรารถนา: ครูเหลี่ยมกับนวนิยายอีโรติกของไทย’ โดย สรณัฐ ไตลังคะ และ ‘กล่อมครรภ์: เมื่อครูเหลี่ยมฉีกยันต์กันผีเสนอเรื่องเพศและกามารมณ์กล่อมสังคมไทย ทศวรรษ 2450-2460’ โดยอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

บทความวิชาการทั้งสองชิ้นมุ่งเน้นไปที่บทบาทของหนังสืออีโรติกที่มีต่อสังคมไทย และกล่าวถึงประวัติศาสตร์การตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่องเพศในสังคมไทย อย่างไรก็ดี การศึกษา กล่อมครรภ์ ฉบับจริงยังไม่สามารถไขปริศนาได้ทั้งหมด เพราะยังมีข้อกังขาว่าหนังสือชุดนี้เป็นหนังสือที่ครูเหลี่ยมเขียนขึ้นมาเอง หรือครูเหลี่ยมแปลมา หรือแปลงมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ เพราะเนื้อเรื่องเกิดขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าหนังสือชุดนี้ตีพิมพ์เมื่อใด และหนังสือชุดนี้แท้จริงแล้วมีเรื่องอะไรบ้าง

ตลุยลอนดอน: หนังสือปกขาวและข้อมูลที่คาดไม่ถึง

โดยทั่วไป หนังสือปกขาวที่พิมพ์ในช่วงปี 2490-2500 จะไม่ค่อยมีคำนำ หรือถ้ามีก็เป็นการกล่าวนำเรื่องสั้นๆ หรือเป็นการทักทายผู้อ่านจากผู้เขียนหรือสำนักพิมพ์ แต่ ตลุยลอนดอน เล่มนี้กลับต่างออกไป เพราะมีการรวบรวมคำนำของการพิมพ์ในอดีตไว้ด้วย และนี่คือคำนำที่เป็นกุญแจไขปริศนาบางประการ

คำนำในการพิมพ์ครั้งแรก

เนื่องจากมีผู้ต้องการศึกษาในเรื่องโลกีย์ศาสตร์เป็นจำนวนมาก ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าแปลนิยายพิศวาทจากที่เคยอ่านพบในยามไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ โดยถอดออกเป็นภาษาไทย เพื่อให้ชาวไทยที่ไม่เคยผ่านไปต่างประเทศได้มีทางรู้ถึงขนบธรรมเนียมของพวกฝรั่งว่าเป็นอย่างไรบ้าง ประกอบกับนิยายพิศวาทเหล่านี้ ในต่างประเทศสมัยนั้น เขาพิมพ์จำหน่ายกันแพร่หลายทั่วไป จึงสมควรจะได้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทย ให้ชาวสยามได้ศึกษาทั่วกัน

10 กันยายน 2466

คำปรารภของฉัน (ในการพิมพ์ครั้งที่ 2)

หนังสือเรื่องกล่อมครรภ์นี้ ความจริงเจ้าของเดิมได้จัดพิมพ์ออกสู่ตลาดแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ 26 ปีล่วงมาแล้ว รสชาดของหนังสือเล่มนี้จัดเป็นรสที่แปลกและเร้าใจในเวลาอ่านให้เกิดความเพลิดเพลินได้ถึงขนาด ซึ่งเวลานี้เราจะค้นหาหนังสือประเภทเซ๊กส์เยี่ยงนี้ ให้มีรสชาดแบบแปลกและพิศดารเช่นนี้ได้โดยยาก เพราะมีอะไรดีๆ หลายอย่างในหนังสือเรื่องนี้

อนึ่ง มีสมาชิกจำนวนมาก ขอร้องไปยังฉันให้จัดการพิมพ์หนังสือนี้ เมื่อฉันได้พิจารณาดูแล้ว เห็นว่าสมควรจัดพิมพ์ จึงได้เสาะหาต้นฉบับมาได้สมดังความปรารถนาแล้ว มอบให้โรงพิมพ์ตีพิมพ์ขึ้นตามตันฉบับทุกตัวอักษร โดยมิได้แก้ไขดัดแปลงข้อความใดเลย

หนังสือนี้ เจ้าของเดิมจัดพิมพ์เป็น 3 เล่มชุด คือ กล่อมครรภ์-พนันชม-พรหมจารีย์ แต่ฉันเห็นว่าควรจัดพิมพ์เป็นเล่มเดียวให้ครบชุดของมัน เพื่อสดวกในการเก็บรักษา ความบรรเทิงเริงใจ หรือรสชาดอันกลมกล่อม หรือความดีของหนังสือเล่มนี้ ฉันขอมอบให้เป็นของ “ครูเหลี่ยม” ทั้งหมด

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

แฮ๊ปปี้ บ้านวิมานสวรรค์
1 พฤศจิกายน 2492

คำนำในการพิมพ์ครั้งนี้

เนื่องจากหนังสือชุดนิยายพิศวาท “ครูเหลี่ยม” ยอดบรมครูในเชิงเขียนนิยายประเภทนี้แต่งไว้ ได้หมดสิ้นจากตลาดหนังสือเป็นเวลานาน ได้มีผู้ติดตามถามหาตามร้านที่เคยขาย ตลอดถึงเคยมีผู้สนทนาถามกันในเรื่องหนังสือของท่านผู้นั้นในวงสังคมปัจจุบันทั่วไปบ่อยๆ จึงเป็นเหตุกระตุ้นให้ข้าพเจ้านำต้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 มามอบให้สำนักพิมพ์ที่เคยผลิตเรื่องประเภทปลุกใจเสือป่า ทำการพิมพ์ออกสู่ตลาดเป็นครั้งที่สาม ส่วนถ้อยคำสำนวนในท้องเรื่อง คงพิมพ์ตามต้นฉบับเดิมทุกประการ หวังว่าคงจะเป็นที่พอใจแก่ท่านผู้ต้องการทั่วกัน

ความดีของหนังสือนี้ จึงขอเทอดทูนให้แด่ท่าน “ครูเหลี่ยม”

ขอได้รับความนับถืออย่างสูงจากผู้พิมพ์
30 กรกฎาคม 2509

 

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าวันที่ท้ายคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกคือ ‘10 กันยายน 2466’ นั่นหมายความว่าหนังสือชุดนี้น่าจะตีพิมพ์ในปี 2466 และในคำนำยังเขียนอย่างชัดเจนว่าหนังสือชุดนี้เป็นหนังสือที่แปลมาจากนิยายพิศวาสของประเทศอังกฤษ ข้อมูลนี้ช่วยคลี่คลายความไม่ชัดเจนเรื่องปีที่พิมพ์และที่มาของเรื่องได้ในระดับหนึ่ง

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่อาจสงสัยว่า ในเมื่อเล่มจริงไม่มีคำนำและปีที่พิมพ์ แล้วทำไมจึงมีคำนำมาตีพิมพ์ได้ คำตอบก็คือ ในยุคนั้นหนังสือหลายเล่มที่ครูเหลี่ยมเขียนหรือแปลจะไม่มีคำนำในเล่มแรก แต่จะมีหมายเหตุท้ายเล่มเมื่อจบเรื่อง จึงเป็นไปได้ว่าการพิมพ์ครั้งที่สองและครั้งที่สามใช้หมายเหตุตอนจบเรื่องมาเป็นคำนำ ซึ่งข้อสังเกตนี้จะได้รับการพิสูจน์ก็ต่อเมื่อมีการค้นพบเล่มจริงของตอนจบหนังสือชุดนี้

ข้อมูลต่อมาที่น่าสนใจคือคำนำของการพิมพ์ครั้งที่สองนั้นบอกไว้อย่างชัดเจนว่าหนังสือชุดนี้มีสามเรื่อง คือ กล่อมครรภ์-พนันชม-พรหมจารีย์ โดยการพิมพ์ครั้งที่สองเป็นครั้งแรกที่นำเรื่องที่แยกพิมพ์สามเล่มมาพิมพ์รวมกันเป็นเล่มเดียว แต่ถึงแม้จะบอกอย่างชัดเจนว่าหนังสือชุดนี้มีสามเรื่อง แต่เนื้อหาในเล่มพิมพ์ครั้งที่สามซึ่งผู้เขียนครอบครองกลับมีสี่เรื่อง โดยเรื่องที่ 4 ชื่อ ‘อุบายจดหมายลวง’ ซึ่งมีเนื้อเรื่องต่อเนื่องกับสามเรื่องแรก และเป็นตอนจบของเรื่องทั้งหมด จึงน่าสนใจว่าในเล่มต้นฉบับของ พรหมจารีย์ นั้นมีเรื่อง ‘อุบายจดหมายลวง’ อยู่หรือไม่

ปกหนังสือ กล่อมครรภ์ หนังสือในครอบครองของคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ที่มา: https://prachatai.com/journal/2017/08/72917

ตัวบทที่หายไป: บางสิ่งที่ยังคงเป็นปริศนา

ถึงแม้ว่าบางปริศนาของหนังสือชุด กล่อมครรภ์ จะถูกไขจากหนังสือ ตลุยลอนดอน แต่ผู้เขียนยังค้นพบปริศนาอื่น กล่าวคือ ในบทความของอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ที่เขียนถึง กล่อมครรภ์ โดยใช้ตัวบทจากต้นฉบับจริงนั้นตัดบางตัวบทมาใช้ในการวิเคราะห์ด้วย เมื่อผู้เขียนเทียบเนื้อหากับตัวบทใน ตลุยลอนดอน ก็พบว่าบางตัวบทที่อาชญาสิทธิ์ตัดออกมานั้นไม่มีใน กล่อมครรภ์ ของ ตลุยลอนดอน และส่วนที่ตรงกันก็มีความคลาดเคลื่อนในสำนวน ไม่เป็นไปตามคำนำที่ว่าพิมพ์ตามสำนวนเดิม

ผู้เขียนจึงแคลงใจว่าตัวบทที่หายไปนั้นหายไปได้อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ว่าตัวบทที่พิมพ์เป็นต้นฉบับมีสองแบบ คือแบบเต็มและแบบตัดตอน หรือว่าแท้จริงแล้วตัวบทต้นฉบับถูกปรับปรุงแก้ไข แต่ถ้าเป็นอย่างหลังก็น่าประหลาดใจ เพราะตัวบทที่หายไปนั้นไม่ใช่ส่วนที่มีความสำคัญหรือมีความหยาบคายจนต้องตัดทิ้ง และถ้าจะว่ากันตามจริง สำนวนบรรยายที่หยาบคายโลดโผนในเรื่องเพศของ ตลุยลอนดอน นั้นยังคงอยู่อย่างครบครัน

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเสนอว่าปริศนาของหนังสือชุดนี้ยังคงคลุมเครือ ที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นเพียงความหมายใหม่ให้ค้นหาเพิ่มเท่านั้นเอง

นอกจากตัวบทที่ไม่ตรงกัน ผู้เขียนยังคิดว่ามีปริศนาใหม่เกิดขึ้นจากข้อมูลใหม่อีกเช่นกัน นั่นคือ ถ้าเรื่องชุด กล่อมครรภ์ เป็น “เรื่องแปล” ตามคำนำในการพิมพ์ครั้งแรก ครูเหลี่ยมแปลมาจากเรื่องอะไร? และทำไมครูเหลี่ยมถึงเลือกแปลเรื่องนี้?

ท้ายที่สุด ผู้เขียนหวังว่าข้อเขียนที่นำเสนอข้อมูลใหม่และความหมายใหม่ของหนังสือที่เชื่อกันว่าเป็นหนังสือโป๊เล่มแรกของเมืองไทย จะช่วยทำให้การค้นคว้าของคนรักหนังสือและประวัติศาสตร์วรรณกรรมมีสีสันเพริศแพร้วยิ่งขึ้น

 

 

ขอขอบคุณ คุณปัทมาวดี วิบูลย์เศรษฐ, คุณศักดิ์ชัย พนาวรรต และคุณธนะ บุญศิริ สำหรับความช่วยเหลือและการให้หนังสือมาหาข้อมูล
ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพล ใจจริง สำหรับแรงกระตุ้นให้เปิดกรุหนังสือเก่าออกมาค้นคว้า

 

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องของครูเหลี่ยมและหนังสือ กล่อมครรภ์ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเอกสาร หนังสือและบทความเหล่านี้

  1. ความไม่พยาบาท ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง (เล่มนี้มีการเขียนถึงประวัติของครูเหลี่ยมและประวัติศาสตร์ของ ความไม่พยาบาท ที่เขียนได้อย่างน่าอ่านและสนุกสนานโดยกรุณา กุศลาศัย, วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ส. พลายน้อย และสุชาติ สวัสดิ์ศรี)
  2. อ่านจนแตก โดยทักษ์ เฉลิมเตียรณ
  3. นักเขียนศิลปินและสังคมไทย โดยวิชิตวงษ์ ณ ป้อมเพชร
  4. วิลาศปริวัตรานุสรณ์: หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงวิลาศปริวัตร (ครูเหลี่ยม วินทุพ  ราหมณกุล)
  5. ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ นางวิลาศปริวัตร (อบเชย วินทุพราหมณกุล)
  6. เพศวิถีและอารมณ์ปรารถนา: ครูเหลี่ยมกับนวนิยายอีโรติกของไทย โดยสรณัฐ ไตลังคะ
  7. กล่อมครรภ์: เมื่อครูเหลี่ยมฉีกยันต์กันผีเสนอเรื่องเพศและกามารมณ์กล่อมสังคมไทย ทศวรรษ 2450-2460 โดยอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

ปกหนังสือ วิลาศปริวัตรานุสรณ์ หนังสือในครอบครองของผู้เขียน

ปกหนังสือ ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ นางวิลาศปริวัตร (อบเชย วินทุพราหมณกุล) หนังสือในครอบครองของผู้เขียน

Tags: , , ,