วันที่ 14 กันยายน 1982 เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโค (Grace of Monaco) เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ นั่นเป็นข่าวสารที่คนทั่วโลกรับรู้กัน แต่เนื้อหาข่าวอย่างเป็นทางการระบุว่า วันที่ 13 กันยายน 1982 กราเซีย แพตริเซีย และพระธิดา–เจ้าหญิงสเตฟานี เดินทางโดยรถยนต์ไปยังพระราชวังฤดูร้อนรอค อาเกลในมอนติ คาร์โล ระหว่างทางรถยนต์เกิดขัดข้องทำให้เสียหลัก พุ่งชนราวกั้นตกลงข้างทางลึก 40 เมตร ทั้งสองถูกนำส่งโรงพยาบาล กราเซีย แพตริเซียได้รับการผ่าตัดนานหลายชั่วโมงก่อนเสียชีวิตในที่สุด
ตราบถึงทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้สาเหตุว่า แท้จริงแล้วมันเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น จะเพราะเธอประคองสติไม่อยู่ระหว่างขับรถ หรืออาจมีเหตุทะเลาะกับเจ้าหญิงสเตฟานี หนังสืออัตชีวประวัติบางเล่มยังเขียนถึงด้วยว่า เจ้าหญิงเกรซเสียชีวิตก่อนอุบัติเหตุเสียอีก อุบัติเหตุครั้งนั้นไม่ได้คร่าชีวิตเธอ นิตยสารแนวซุบซิบบางฉบับของเยอรมนีขยายความเพิ่มไปอีกว่า เธอเสียชีวิตจากภาวะเส้นเลือดอุดตัน
…..
เกรซ เคลลีเป็นนักแสดงหญิงที่งดงามและมีความสามารถที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่แล้ว ฮอลลีวูดให้ความสนใจในตัวสาวผมบลอนด์ตั้งแต่แรกเริ่ม ปี 1951 ขณะอายุ 22 ปี เธอได้รับบทเล็กๆ ครั้งแรกในเรื่อง Fourteen Hours เรื่องถัดมาเมื่อได้ประกบคู่กับแกรี คูเปอร์ใน High Noon (1952) เกรซ เคลลีก็แจ้งเกิดในวงการทันที และในปี 1955 เธอสามารถคว้ารางวัลออสการ์ ฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง The Country Girl (1954)
ทว่าความสำเร็จครั้งใหญ่ในแวดวงการแสดงของเธอมาจากการหนุนนำของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อคเป็นหลัก ราชาหนังระทึกขวัญลุ่มหลงในความงดงามของเธอเป็นพิเศษ จึงหยิบยื่นโอกาสให้เธอแสดงในหนังของเขา ไม่ว่า Dial M for Murder (1954) Rear Window (1954) หรือ To Catch a Thief (1955)
“เกรซ เคลลีเปรียบเสมือนภูเขาที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ และเมื่อหิมะละลาย เราจะพบลาวาที่คุกรุ่นอยู่เบื้องล่าง” ฮิตช์ค็อคเคยพรรณนาถึงดาราสาวคนโปรด และความจริงแล้วเขาวางแผนเตรียมไว้ที่จะให้เธอแสดงหนังของเขาถึงสิบเรื่อง
นอกจากอัลเฟรด ฮิตช์ค็อคแล้ว เกรซ เคลลียังคลุกคลีอยู่กับชายสูงวัยกว่าอีกหลายคน ทั้งแกรี คูเปอร์ แครี แกรนต์ คลาร์ก เกเบิล แฟรงก์ ซินาตรา หรือเจมส์ สจวร์ต และเธอก็ได้ดิบได้ดีเพราะดาราเบอร์ใหญ่เหล่านี้ รวมถึงมีข่าวซุบซิบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับเกือบทุกคนเล็ดลอดออกมา
“คนสูงวัยกว่าดูน่าสนใจ ฉันชอบคนที่มีความรู้มากกว่าฉัน” เกรซเคยเฉลยความในใจ กับแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง โอเลก คัสสินี (Oleg Cassini) ซึ่งแก่กว่า 16 ปี และเธอก็เคยมีความสัมพันธ์ด้วยถึงขั้นหมั้นหมายกัน
ปี 1955 ที่นับเป็นปีทองของเธอในวงการบันเทิงนั้น ยังเป็นปีที่เกรซ เคลลีต้องพบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตด้วยเช่นกัน เมื่อนักข่าวในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จัดให้มีการพบกันระหว่างนักแสดงสาวกับเจ้าชายเรนีเยร์ที่ 3 แห่งโมนาโค เจ้าชายทรงชื่นชมหลงใหลในดาราสาวมาก ขนาดเสด็จไปสหรัฐอเมริกาในปีเดียวกันนั้น เพื่อใช้เวลาช่วงเทศกาลคริสต์มาสอยู่กับครอบครัวของเคลลี
และในวันที่ 19 เมษายน 1956 เกรซและเจ้าชายเรนีเยร์เข้า ‘พิธีเสกสมรสแห่งศตวรรษ’ ที่วิหารเซนต์ นิโคลัสแห่งโมนาโค จากเจ้าหญิงแห่งวงการมายา เธอก็กลายเป็นเจ้าหญิงกราเซีย แพตริเซียในโลกความจริง
…..
เจ้าหญิงจากชนชั้นสามัญชนได้ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของโมนาโคเสียใหม่ จากเดิมที่เคยโด่งดังเรื่องบ่อนคาสิโน
ทั้งสองมีพระธิดาและพระโอรสร่วมกันสามพระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงคาโรลีน เจ้าชายอัลเบิร์ต และเจ้าหญิงสเตฟานี บรรยากาศในครอบครัวราชวงศ์ดูคล้ายราบรื่นมีความสุขดี แต่เกรซกลับรู้สึกเป็นทุกข์กับการปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ โดยเฉพาะเรื่องภาษาฝรั่งเศส ที่เธอต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจและพูดได้ เธอจึงเลือกที่จะนิ่งเงียบเสียส่วนใหญ่
เจ้าชายเรนีเยร์ทรงมีความเห็นว่า เธอควรทำหน้าที่เป็นแม่บ้านของแผ่นดินมากกว่าไปเป็นนักแสดง จึงทรงรับสั่งห้าม ทำให้เธอต้องปฏิเสธงานละครเวทีและภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งบทนำในหนังเรื่อง Marnie ของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อคด้วย
ฮิตช์ค็อคพัฒนาบทเพื่อให้เกรซ เคลลีแสดงใน Marnie และเฝ้ารอจนเวลาผ่านไปหกปี กว่าจะเอ่ยปากชวนเธอ ฝ่ายเกรซก็ดีใจ และตกปากรับคำในทันที ตอนแรกเจ้าชายเรนีเยร์ทรงยินยอมโดยดี อีกทั้งยังทรงคิดวางแผนล่วงหน้าว่าจะใช้ช่วงเวลาระหว่างการถ่ายทำไปพักผ่อนพร้อมกันทั้งครอบครัว
เดือนมีนาคม 1962 เมื่อข่าวการหวนคืนสู่วงการแสดงของเกรซ เคลลีปรากฏออกสื่อ เสียงคัดค้านก็ดังก้องไปทั่วโมนาโค เจ้าหญิงจะลดตัวไปทำงานในกองถ่าย มีฉากจูบปากกับชายอื่น ฯลฯ เป็นเรื่องน่าละอายสำหรับราชวงศ์ที่นับถือคริสต์ศาสนา
ความกดดันจากสังคมทำให้เกรซต้องถอนตัว เธอเขียนจดหมายขอโทษอัลเฟรด ฮิตช์ค็อค “แล้วขังตัวเองอยู่ในห้อง ร้องไห้ นานเป็นสัปดาห์” เป็นคำบอกเล่าจากวงในให้อ่านตามสื่อซุบซิบในเวลาต่อมา
นับแต่นั้นมา เธอจึงหันไปทุ่มเทกับงานที่ ‘เหมาะสม’ ตามหน้าที่ ‘แม่บ้านของแผ่นดิน’ โดยรับผิดชอบงานเพื่อสังคมต่างๆ เป็นประธานกาชาด ก่อตั้งสโมสรงานสวน และทำภาพตัดปะดอกไม้ การใช้ชีวิตคู่กับเจ้าชายเรนีเยร์เริ่มกลายเป็นเรื่องยาก อีกทั้งเกรซมีท่าทีก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า เธอมีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์
…..
โศกนาฏกรรมจากอุบัติเหตุในปี 1982 ทำให้เจ้าหญิงเกรซแห่งโมนาโค
กลายเป็นตำนานที่เล่าขานกันแบบไม่มีข้อสรุป ทุกวันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมเธอจึงขับรถบนถนนสายแคบจากลา ตูร์บีไปโมนาโคด้วยความเร็วเกินลิมิต มีคนสันนิษฐานว่าเธออาจมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน บ้างว่าเธออาจจะทะเลาะกับเจ้าหญิงสเตฟานีจนไม่มีสมาธิในการขับรถ หรือบ้างก็ว่าพระธิดาวัย 17 พรรษานั่งตำแหน่งคนขับเสียเอง
เจ้าหญิงสเตฟานีได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ส่วนเจ้าหญิงเกรซมีอาการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกราน และศีรษะถูกกระแทกอย่างแรง ชาวไร่คนหนึ่งที่ผ่านไปตรงจุดนั้นได้นำตัวเธอออกจากซากรถ จากนั้นเธอถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลกลางปรินเซส เกรซ แต่อาการบาดเจ็บของเธอสาหัส
กระทั่งตอนค่ำของวันที่ 14 กันยายน…สองเดือนก่อนวันคล้ายวันเกิดปีที่ 53 คณะแพทย์ได้ทำการถอดเครื่องช่วยหายใจจากร่างของเจ้าหญิงกราเซีย แพตริเซีย ‘เกรซ เคลลี’ ตามพระประสงค์ของเจ้าชายเรนิเยร์
อ้างอิง:
https://kurier.at/stars/gracia-patricia-es-war-nicht-der-unfall-der-sie-toetete/400019440
https://www.stern.de/lifestyle/leute/grace-kelly–ihr-mythos-lebt-weiter-8997308.html
https://www.spiegel.de/geschichte/grace-kelly-neue-biografie-erschienen-a-947717.html
Isabelle Rivère/Peter Mikelbank, Albert II de Monaco, l’homme et le prince, Fayard (2018)
Tags: Grace of Monaco