ย้อนกลับไปเมื่อราวสามสิบปีก่อน ภาพที่คนจำนวนมากจะหยุดเดินเพื่ออ่านหนังสือพิมพ์รายวันที่แปะไว้บนกระดานสาธารณะข้างทางนั้นเป็นภาพที่หาดูไม่ยากนักโดยเฉพาะในย่านคนจีน ที่วัฒนธรรมการเสพข่าวและแบ่งปันข่างสารด้วยวิธีเช่นนี้เป็นหนึ่งในช่องทางที่แพร่หลายรวดเร็วไม่แพ้ข่าวจากโทรทัศน์หรือวิทยุ …ถัดมาอีกหลายปีให้หลัง ภาพเหล่านั้นจางหาย อย่าว่าแต่จะหยุดเพื่อข่าวจากหน้ากระดาษที่แปะไว้บนกระดานข้างทาง ลำพังอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ก็ดูเป็นเรื่องที่หลายคน ‘ห่าง’ กับมันมานานพอสมควร ยิ่งกับเฉพาะในยุคที่สมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตนำเสนอประเด็นได้เร็วเพียงปลายนิ้ว 

หากแต่พื้นที่ในชุมชนตลาดน้อยย่านเจริญกรุง อันเป็นหนึ่งในย่านที่คนจีนยังรวมตัวกันอยู่อย่างหนาแน่น บรรยากาศเช่นนี้ยังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกเช้าที่กระดานข่าวของโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ ซิงจงเอี๋ยน (Xin Zhong Yuan) สอดรับกับที่เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) จัดการนิทรรศการที่จับจ้องไปยังผู้คนในพื้นที่อันหลากหลาย พื้นที่ย่านตลาดน้อยและหน้าโรงพิมพ์จึงเป็นหนึ่งใน ‘ทำเลทอง’ ในอันจะสำรวจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน ผ่านสายตาของ ‘Hatchew People’ กลุ่มศิลปินซึ่งนำโดย เจ—จิรภัทร วัฒนกุลจรัส, จิ๊บ—พีรดา พัวภูมิเจริญและ สกั๊ง—วริทธิ์ โชคทวีศักดิ์ จัดตั้งโปรเจ็กต์ ซิงจงเอี๋ยน อาร์ทเวอไทซ์วีค นำเสนอศิลปะแทรกลงไปยังพื้นที่โฆษณาบนหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์จีน 

สกั๊ง, จิ๊บ, เจ (เรียงจากซ้ายไปขวา)

“เรารู้สึกว่าหน้าโฆษณาหนังสือพิมพ์มันไม่ใช่ที่ปกติที่งานมันจะไปอยู่ เพราะเหมือนคนทั่วไปเขาจะมองว่างานศิลปะพวกนี้มันจะไปอยู่ในแกลเลอรี่มากกว่า หรือเป็นที่ที่มันต้องอยู่ เพราะฉะนั้นเราเลยสนใจที่จะเอางานศิลปะพวกนี้มาอยู่บนพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์” เจอธิบาย “งานมันจัดเก้าวัน (ตั้งแต่วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์) เราเลยเลือกศิลปินและงานอาร์ตที่แตกต่างกันไปเก้าคน เก้าอย่าง เก้าวัน เช่นซาวด์ อาร์ตติสต์, นักวาด, ช่างภาพ, แก๊งกราฟิตี้, ผู้กำกับหนัง คือมันมีความหลากหลายทั้งจากศิลปินและในการนำเสนอ มีเดียอื่นๆ เช่นเสียงหรือภาพเคลื่อนไหวและตัวปรินติ้งบนกำแพงด้วย”

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตัวหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนเองได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้ ทั้งตัวมันเองยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของวิถีชีวิตของผู้คน นับตั้งแต่เป็นหนังสือพิมพ์จีนที่ดำเนินการโดยคนจีนทั้งหมดและเคยถูกรัฐไทยภายใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งปิดในนามหนังสือพิมพ์ตงง้วน เนื่องจากประเด็นการคืบคลานเข้ามาของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น ก่อนที่ในเวลาต่อมา ตงง้วนจะฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งในรูปลักษณ์ที่มีเรื่องเบาสมองมากกว่าเดิมในชื่อ ซิงตงง้วน หรืออ่านเป็นภาษาจีนกลางว่า ซิงจงเอี๋ยน

(เฉพาะสองภาพนี้ โดย Baka boy)

อย่างไรก็ดี ความรุ่งโรจน์ของหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนนั้นอยู่ยืนระยะไม่นานนัก ไม่เพียงแต่โรยราตามยุคสมัย หากแต่ดูเหมือนว่าหนังสือพิมพ์จีนที่ตีพิมพ์ด้วยตัวอักษรจีนแต่เพียงอย่างเดียวนั้นกำลังเลือนหายไปจากสังคมไทยทุกที “เขาพิมพ์วันละ 3,000 ฉบับเองนะครับ แล้วนี่คือกระจายส่งไปยังสมาชิกทั่วประเทศ” เจบอก นั่นตีความได้อีกอย่างว่า ซิงจงเอี๋ยนมีลมหายใจอยู่ในมือคนเพียง 3,000 คนในจำนวน 70 ล้านคนในไทยเท่านั้น

แน่นอนว่าใน 3,000 คนนี้ จะเป็นผู้ได้ยลโฉมงานศิลปะที่กลุ่ม Hatchew People แทรกลงไปในหน้ากระดาษ

“มันมีนวนิยายจีนที่เขาตีพิมพ์เป็นประจำแล้วแบ่งเป็นตอนๆ ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่สำคัญ มีคนติดตามเยอะ ห้ามโฆษณาเราเข้าไปยุ่งกับพาร์ตนั้นเลย” เจหัวเราะ

“เราคิดว่าพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์มันเป็นพื้นที่ประหลาดด้วยนะ” สกั๊งเสริมหลังเงียบอยู่พักหนึ่ง “เราไม่เคยจะเข้าไปอยู่ตรงนั้นเลยไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืออะไรก็ตาม เพราะส่วนใหญ่ที่มันอยู่บนหนังสือพิมพ์ในส่วนโฆษณามันก็จะพูดถึงโปรโมชั่นของห้างร้าน บัตรเครดิต ซึ่งมันก็อาจจะเป็นหน้าที่ของการทำโฆษณาจริงๆ อยู่แล้ว แต่อันนี้เราลองมาพูดในเชิงการเป็นพื้นที่สื่อ เป็น media มากกว่า

“แล้วเทศกาลนี้มันอยู่ภายใต้ธีม ‘ปรับตัว > อยู่รอด > เติบโต’ เรารู้สึกว่าหนังสือพิมพ์มันก็มีความปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของมันด้วย สุดท้าย การที่เราใส่งานลงในพื้นที่แบบนี้ ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น คนอ่านจะงงไหม เขาคงรู้สึกเหมือนกันว่านี่มันอีหยังวะ (หัวเราะ)”

 

ตัวอย่างผลงานที่จะลงในหนังสือพิมพ์

 

“ที่เราอยากรู้มากๆ คือคนที่สมัครสมาชิกเห็นงานเราแล้วจะรู้สึกยังไง แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปถึงเขาหรือเปล่า” จิ๊บว่า “คือเราว่ามันเป็นความหลากหลายทางเจเนอเรชั่นด้วยมั้ง คือโซนโรงพิมพ์นี่ตั้งแต่คนทำจนถึงคนอ่านเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่เราขึ้นไปหมดเลย และคนที่กดสมัครเป็นสมาชิกก็เป็นคนจีนที่อ่านภาษาไทยไม่ได้ เขาจึงแก่มาก แล้วเราเอางานที่มาจากคนรุ่นเราไปอยู่ในหนังสือพิมพ์ที่เขาอ่าน และเป็นคนสองรุ่นที่มีช่องว่างทางอายุห่างมากๆ แต่พอเราเอาเข้าไปอยู่ในหนังสือพิมพ์ก็เหมือนเขาถูกบังคับให้ต้องดู (หัวเราะ) เราว่ามันเหมือนเป็นการเล่นกับอายุและช่องว่างระหว่างวัยดี”

เช่นเดียวกับธีมงานที่ว่าด้วยการปรับตัวและอยู่รอด ทั้งสามคนล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่สืบเชื้อสายและเติบโตมาในครอบครัวคนจีน อยู่กับวัฒนธรรมจีนมาตั้งแต่จำความได้ และอาจจะเช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่อีกหลายคน ที่วัฒนธรรมบางประการที่เคยข้นคลั่กในอดีตค่อยๆ จางลงไปตามกาลเวลา ราวกับเป็นสิ่งพิมพ์ที่วันหนึ่งก็ไม่มีคนอ่านอีกต่อไปแล้ว

“ผมเป็นจีนร้อยเปอร์เซ็นต์เลยนะ” เจเล่า “คืออากงอาม่าผมมาจากจีนเลย ดังนั้นผมก็เป็นรุ่นที่สามแหละ ผมผูกพันกับวัฒนธรรมแบบจีนเหมือนกันนะ เคยไหว้เจ้า (เน้นคำ) พอมันผ่านเวลา เริ่มโต อายุสัก 20 กว่าทุกอย่างมันก็เริ่มขาด เหมือนเคยไปเชงเม้งก็ไม่ไปแล้ว เคยไหว้เจ้าก็ไม่ได้ไหว้แล้ว มันเป็นเรื่องจังหวะชีวิตด้วย แต่ว่าทั้งหมด ครอบครัวเขาก็ไม่ได้พยายามจะถ่ายทอดมาให้เราด้วย อย่างเพื่อนๆ ทุกคนเขาก็ไม่ได้มีใครได้รับการถ่ายทอดกระบวนการไหว้เจ้าหรือพิธีกรรมต่างๆ 

“เราเคยคิดเรื่องนี้กับหนังสือพิมพ์เหมือนกันครับ ว่าคล้ายๆ กับวัฒนธรรมจีนหรือวัฒนธรรมที่มันอยู่ในครอบครัวหรืออะไรทำนองนี้ คือมันกำลังจะขาดออกจากกันแล้วโดยที่ยังไม่เคยถูกส่งต่อมาเลย แล้วคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้สนใจด้วยนะว่ามันกำลังจะขาด เราไม่ได้อยากรู้ด้วย เราก็เป็นเรามากๆ ในเจเนอเรชั่นปัจจุบัน เราไม่ได้มองว่าเราเป็นจีนที่จะต้องรักษาวัฒนธรรมต่อไป มันขาดออกจากกันแล้วจริงๆ นะในความคิดผม เพราะมันไม่ได้ถูกส่งต่อเลย”

“เคยคุยกับแม่เรื่องวิธีไหว้เชงเม้งนะ” สกั๊งบอก “หมายถึงว่า เราซึ่งเป็นรุ่นที่สามก็เคยถามเขาว่า ม้า มันต้องไหว้ยังไง เขาก็เหมือนเข้าใจเราประมาณหนึ่ง คือเขาก็ปรับตัวแหละเพราะตามจริงมันจะมีพิธีกรรมและมีหลักการของมัน เช่น เชงเม้งต้องไหว้สามรอบนะ ธูปกี่ดอก แล้วที่บ้านก็จะมีเจ็ก กู๋ กิ๋มเป็นคนคอยดูแล แต่ม้าก็บอกว่า ใจความจริงๆ ของมันคือการที่ทุกคนในครอบครัวได้มาเจอกันเฉยๆ แล้วจะไหว้อะไรก็ไหว้ไปเถอะ ก็คือไหว้ของที่อยากกิน มันจะได้แบ่งกันได้ คือเขาก็ไม่ได้ไม่เข้าใจเราขนาดนั้น เขาเข้าใจว่าคนรุ่นเราก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้นแล้ว”

ขณะที่จิ๊บมองไปถึงว่าธรรมเนียมแบบจีนหลายอย่างที่เธอเคยเติบโตมาด้วยนั้น มองย้อนไปแล้วมันคล้ายว่าจะไปด้วยกันไม่ได้กับรูปแบบสังคมสมัยใหม่ “อย่างในบ้านเรา ธรรมเนียมแบบนี้มันขาดตั้งแต่ที่คนยุคใหม่ในตอนนี้แทบไม่แต่งงานหรือมีลูกเลย คือธรรมเนียมพวกนี้มันต้องใช้คนเยอะ ตั้งแต่เราโตมาก็เห็นหลานวิ่งเต็มไปหมด เราเองก็เป็นหนึ่งในหลานๆ แต่พอมาถึงรุ่นเราก็แทบไม่มีอีกเจนฯ หนึ่งแล้ว ญาติด้วยกันก็เหลือแค่ 5-6 คนที่แทบจะมาทำพิธีกรรมนี้ไม่ได้แล้ว”

แต่พวกเขาล้วนไม่ได้มองว่า ‘ความเป็นจีน’ จะจางหายไปจนไม่เหลือร่องรอย เป็นดังที่สกั๊งว่าไว้ “มันถูก blend in โดยไม่รู้ตัวมากกว่า หมายถึงว่าเราอยู่กับความเป็นจีนมาตลอดตั้งแต่เด็กโดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่านั่นคือความเป็นจีน ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ต้องมันๆ แล้วเราก็เอนจอยกับการกินน้ำมันด้วยนะ (หัวเราะ) ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่านี่เป็นการรักษาวัฒนธรรมจีนในอีกรูปแบบหนึ่งหรือเปล่า แต่เราอยู่กับมันมาตลอดชีวิตนั่นแหละ”

“ผมรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เขามองตัวเองเป็นตัวเองนะ ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นอะไรเลย เหมือนที่เขาเรียกว่า เจนเนอเรชั่นมี (Generation Me) เขาเป็นตัวเอง มองตัวเองแค่นั้น” เจบอก “ตอนแรก เราคิดว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับโรงพิมพ์แบบที่ทำแล้วเขาจะได้อะไรสักอย่าง แต่พอคิดกันไปคิดกันมา ผมก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วโรงพิมพ์เขาอาจจะไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการลูกค้าเพิ่มแล้ว เขามีของเขาอยู่แค่นั้นและมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เขาคงต้องการแค่นี้ ที่เป็นอยู่ตรงนี้ อาจจะคล้ายๆ กับวัฒนธรรมจีนที่ว่า เขาอาจไม่ได้ต้องการอะไรใหม่และมันกำลังจะถดถอยลดลงไปแบบที่เขาน่าจะเข้าใจ ไม่รู้โอเคกันหรือเปล่าแต่ก็ไม่ได้ต้องหาหนทางให้มันอยู่ต่อ เท่านั้นเองครับ”

วันนี้ หน้ากระดานที่แปะป้ายข่าวนั้นยังมีคนแวะเวียนไปอ่านอยู่เสมอ และไม่มีใครตอบได้ว่าบรรยากาศเช่นนี้จะดำเนินไปอีกนานเท่าไร หากแต่ทั้งการที่ตัวหนังสือพิมพ์ หน้ากระดาน และผู้คนนั้นล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของชุมชนตลาดน้อย และถูกจับจ้องอย่างละเมียดผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่เชื้อสายจีน และปฏิบัติต่อความแตกต่างหลากหลายระหว่างวัยนี้ด้วยความเคารพและสร้างสรรค์ จนได้เป็นงานศิลปะที่ส่งแรงสะเทือนไปถึงผู้อ่านอีก 3,000 ชีวิตที่อยู่ห่างไกลออกไปจากกระดานข่าวหน้าโรงพิมพ์แห่งนั้น

Tags: , , ,