การสวมเฟอร์แท้อาจไม่ชิคเท่าเดิมอีกต่อไป เพราะเทรนด์ของไฮแฟชั่นในตอนนี้คือบอกลาเฟอร์ แล้วหันมารักสัตว์กันมากขึ้น

สตรีตลุคจากนิวยอร์กแฟชั่นวีคเมื่อปีที่ผ่านมา ภาพจาก popsugar.com.au

“เฟอร์เหรอ? พอแล้วล่ะ ฉันไม่อยากฆ่าสัตว์เพื่อแฟชั่น มันไม่ได้รู้สึกดีเลย” ดอนนาเทลล่า เวอร์ซาเช่ กล่าวไว้ และ Versace ก็เป็นรายล่าสุดที่ประกาศตัวเป็นแบรนด์ fur-free ทั้งยังมีอีกหลายแบรนด์ที่เลิกใช้เฟอร์แท้ แล้วหันไปใช้เฟอร์เทียม (faux fur / vegan fur) แทนในกรณีที่ต้องใช้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น Gucci, Maison Martin Margiela, Vivien Westwood หรือ Stella McCartney ที่ประกาศตัวโนเฟอร์ โนหนังสัตว์มาตั้งแต่ต้น ฯลฯ ส่วนที่เมืองซานฟรานซิสโกก็กำหนดให้การซื้อขายเฟอร์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย และอังกฤษก็เตรียมออกกฎห้ามนำเข้าเฟอร์ด้วย

กรณีนี้คนรักสัตว์คงต้องยกความดีความชอบหลายส่วนให้ตัวตั้งตัวตีอย่างองค์กร PETA (People for the Ethical Treatment of Animals) รวมถึงอีกหลายองค์กรเพื่อสิทธิสัตว์ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการใช้เฟอร์ในวงการแฟชั่น และดูเหมือนว่าสองสามปีที่ผ่านมา เหล่าดีไซเนอร์ยอมคล้อยตามเสียงของพวกเขากันมากขึ้น

การต่อสู้ของ PETA

PETA ไม่เคยพลาดโอกาสในการส่งเสียง พวกเขาใช้ทั้งถ้อยคำเจ็บๆ โจมตีโดยมุ่งเน้นที่ตัวแบรนด์ (อย่าง Pinocchio Armani, Bannedberry) กระโดดขึ้นไปประท้วงบนรันเวย์ หรือไม่ก็ยืนบังหน้าร้านในวันออกขายคอลเลคชั่นใหม่ที่มีเฟอร์ บ้างก็เสนอภาพความโหดร้ายด้วยการใช้เลือดราดตัวหรือแต่งเป็นสัตว์แล้วนอนในกรงขังกลางถนน หลายครั้งพวกเขาก็ใช้วิธีส่งเทียบเชิญดีไซเนอร์ของแบรนด์ดังมานั่งคุยกันจริงๆ จังๆ ซึ่งก็ได้ผลกับหลายแบรนด์ทีเดียว

กลุ่มผู้ประท้วงที่ไปบุกงานลอนดอน แฟชั่นวีค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพจาก https://www.peta.org.uk/

กลุ่มผู้ประท้วงถือป้ายรณรงค์ต่อต้านการใช้ขนแกะ พร้อมถืออะไรสักอย่างที่เหมือนซากแกะซึ่งบาดเจ็บจากการถูกตัดขน ภาพจาก https://www.peta.org.uk/

องค์กรยังเผยสถิติว่าในแต่ละปีมีสัตว์กว่า 50 ล้านชีวิตถูกฆ่าในอุตสาหกรรมเฟอร์ โดย 85 เปอร์เซ็นต์มาจากฟาร์ม ที่สัตว์จำพวกกระต่ายหรือมิงค์จำนวนมากต่างเกิดมาเพื่อถูกขังอย่างแออัดยัดเยียดแล้วก็ตายไป อีก 15 เปอร์เซ็นต์มาจากการใช้กับดักเพื่อล่าสัตว์ป่าอย่างจิ้งจอก เสือ หรือแมวป่า ฯลฯ

ไม่ใช่แค่จำนวนที่น่าตกใจ วิธีการฆ่าในบางพื้นที่ก็สุดโหด PETA ได้เผยแพร่วิดีโอที่คนงานฟาร์มในประเทศจีนเหวี่ยงแรคคูนลงกับพื้นเพื่อให้มันแน่นิ่ง แต่ยังไม่ตาย ก่อนจะจับไปถลกหนัง เจ้าแรคคูนที่ไร้ผิวหนังยังกระพริบตาปริบๆ ให้เห็น แถมช่างภาพก็ซูมซะจนเห็นแววตาแห่งความตายชัดแจ๋ว (ใครที่อ่อนไหวเรื่องสัตว์โปรดอย่าคลิกดู)

วิดีโอนี้ทำให้คนเชื่อว่าสัตว์เหล่านั้นถูกถลกหนังทั้งเป็น แต่ก็มีฝ่ายที่ออกมาแย้งว่า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องถลกหนังสัตว์ทั้งเป็น และวิดีโอนี้อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเรียกร้องเงินบริจาคก็เป็นได้ ซึ่งทางสมาพันธ์ผู้ค้าขนสัตว์นานาชาติ (International Fur Trade Federation) ก็ออกประกาศว่า ได้เรียกร้องขอดูวิดีโอฉบับเต็มที่ยังไม่ได้ตัดต่อ แต่ทาง PETA ก็ไม่ได้ตอบอะไรกลับมา

ไม่ว่าวิธีการจะโหดร้ายขนาดในวิดีโอหรือไม่ PETA พูดจริงหรือจ้อจี้ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มีสัตว์หลายล้านชีวิตถูกฆ่าเพื่อแฟชั่นที่นับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย การรณรงค์จึงยังคงมีต่อไปไม่จบสิ้น จนแนวคิด fur-free กลายเป็นเทรนด์ของโลกแฟชั่นในตอนนี้

แมวป่าที่ติดกับดักของนายพรานล่าเฟอร์ ภาพจาก furfreealliance.com

มิงค์ในฟาร์ม ที่รอวันถูกถลกหนัง ระหว่างนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกัดกันเอง ภาพจาก furfreealliance.com

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรก

อันที่จริง เหตุการณ์ที่วงการแฟชั่นเริ่มหันหลังให้เฟอร์เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็ได้ถูกลืมไปเหมือนแทบไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980s จนถึงทศวรรษ 1990s มีการต่อต้านเฟอร์อย่างเด็ดขาดรุนแรง (anti-fur wave) ซึ่งเนื่องมาจากแคมเปญของกรีนพีซในปี 1986 ที่ว่า “ต้องฆ่าสัตว์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กว่า 40 ตัว เพื่อจะได้โค้ทเฟอร์สำหรับคนเดียว” (It takes up to 40 dumb animals to make a fur coat, but only one to wear it)  

ตามด้วยแคมเปญของ PETA ในปี 1996 ที่ว่า “แก้ผ้า ยังดีกว่าสวมเฟอร์” (I’d rather go naked than wear fur) ซึ่งเป็นแคมเปญที่ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยในตอนนั้นเป็นที่ฮือฮา เพราะได้ซูเปอร์โมเดลตัวท็อปแห่งยุคอย่าง คริสตี้ เทอร์ลิงตัน แอล แมคเฟอร์สัน และนาโอมิ แคมเบลล์ มาร่วมแคมเปญ แถมคนดังหลายคนก็เข้าร่วมขบวนด้วย ทำให้แฟชั่นนิสต้าเจเนอเรชั่นเอ็กซ์หลายคนไม่เอาเฟอร์ แม้แต่ในประเทศรัสเซียที่เฟอร์เป็นไอเท็มสำคัญทั้งต่อสถานะทางสังคมและต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็น รายได้ของกลุ่มผู้ผลิตขนมิงค์ก็ลดฮวบฮาบลงกว่าสิบล้านดอลล่าร์ นับเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเฟอร์ทีเดียว

แคมเปญของ PETA ภาพจาก https://www.thesun.co.uk/archives/news/62021/what-the-fox-going-on/

แต่ผ่านมาจนถึงช่วงทศวรรษ 2010s ความนิยมเฟอร์ก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อถึงยุคของวัยรุ่นที่โตไม่ทันยุค anti-fur wave รวมถึงลูกค้าในกลุ่มประเทศเศรษฐีใหม่อย่างจีน เกาหลีใต้ หรือที่นิยมเฟอร์กันมาตั้งแต่รุ่นย่าทวดอย่างอเมริกาหรือยุโรปล้วนแต่กระหายที่จะใส่เฟอร์ รวมถึงฝ่ายอินฟลูเอนเซอร์เองก็รักเฟอร์กันจนถอนตัวไม่ขึ้น แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการนิตยสาร Vogue อเมริกา โปรเฟอร์สุดฤทธิ์ ปู่คาร์ล เลเกอร์ฟิลด์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แห่ง Chanel และ Fendi ก็ออกปากว่าการมานั่งเถียงกันเรื่องเฟอร์นี่มันหน่อมแน้มมากๆ (childish) และแน่นอนว่าแบรนด์ในความดูแลของเขายืนยันจะใช้เฟอร์ต่อ

รวมถึงสาวๆ ดาวอินสตาแกรม จีจี้-เบลล่า ฮาดิด ริฮานน่า สาวตระกูลคาร์ดาเชียน ที่สวมใส่เฟอร์ออกสื่ออยู่บ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ขนเฟอร์กลายเป็นความชิคอย่างหาที่สุดไม่ได้ ซึ่งบางครั้งก็มีความย้อนแย้งอยู่ในนั้น เช่นกรณีที่คุณแม่บียอนเซ่สวมโค้ทเฟอร์ขนจิ้งจอกเข้าไปนั่งทานอาหารในร้านมังสวิรัติ เมื่อปี 2013

แน่นอนว่า เวลานี้ ในปี 2018 สถานการณ์ของฝ่ายคนรักสัตว์จะดีงามขึ้นอย่างที่เล่าไปในตอนต้น แต่ก็ใช่ว่าจะหมดจดงดงาม เพราะก็ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่ยืนยันจะใช้เฟอร์แท้ต่อไป อย่าง Dior, Burberry, Chanel  หรือ Fendi ที่ออกตัวแรงว่า “จะไม่เลิกใช้เฟอร์ถ้าผู้คนยังคงกินเนื้อและใส่เสื้อหนัง เพราะมันก็คือเรื่องเดียวกัน” (ล่าสุด PETA ก็ส่งคำขู่ออกมาแล้วว่า “Leather you’re next”) แถมยังไม่แน่ว่า เรื่องอาจจะกลับไปลงเอยเหมือนช่วงที่ผ่านพ้นยุค anti-fur wave ก็ได้ ใครจะรู้

ปัญหาอาจอยู่ที่ว่า ฝ่ายสนับสนุนเฟอร์แท้ก็มีเหตุผลที่แข็งแรงในทางของตัวเองอยู่หลายข้อ

ข้อโต้แย้งของคนรักเฟอร์ และความดีงามของ ‘เฟอร์แท้’

สภาเฟอร์แห่งแคนาดา (The Fur Council of Canada) มองว่าเฟอร์แท้เป็นวัตถุดิบที่ “นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ” ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเฟอร์เทียม ที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์และปิโตรเคมีที่เป็นเจ้าแห่งมลพิษ ทั้งยังใช้พลังงานมากกว่าถึงสามเท่า ในการผลิตเฟอร์เทียม

ซึ่งอันที่จริงถ้าจะพูดกันเรื่องสิ่งแวดล้อมและมลพิษ กระบวนการผลิตเฟอร์แท้ ตั้งแต่การหยุดยั้งการเน่าเปื่อย จนถึงฟอกสี ย้อมสีก็ปล่อยสารเคมีลงสู่ดินและน้ำมากอยู่เหมือนกัน โดยสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการเหล่านั้นก็อย่างเช่น โครเมียม ที่เป็นสารก่อมะเร็ง หรือฟอร์มาลดีไฮด์ ที่นำไปสู่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและลูคีเมีย ยิ่งไปกว่านั้นผลวิจัยหลายชิ้นทั้งในอิตาลี เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ก็พบว่ายังมีร่องรอยตกค้างของโครเมียมและฟอร์มาลดีไฮด์ในเสื้อผ้าเด็กที่มีขอบเฟอร์ด้วย

ดังนั้นไม่ว่าจะเฟอร์แท้หรือเฟอร์เทียมก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพียงแต่เป็นคนละแง่เท่านั้น

เฟอร์หลากสีจากรันเวย์ Fall/Winter 2018 ภาพจาก http://www.blogiism.com/fashion-trends-fall-winter-2018/

แต่ถ้าจะยกเหตุผลเรื่องของสุนทรียะทางแฟชั่นแล้ว วินาทีนี้เฟอร์แท้ก็อาจยังมีคะแนนนำอยู่สำหรับหลายคน อย่างเช่น เอมิลี่ เชฟฟิลด์ (Emily Sheffield) รองบรรณาธิการนิตยสาร Vogue อังกฤษ ที่ออกมายอมรับว่า “เรารู้สึกไม่สบายใจกับการฆ่าสัตว์เพื่อเครื่องแต่งกายหรูๆ แต่เราก็หลงไหลมันจนถอนตัวไม่ขึ้น”

สำหรับดีไซเนอร์และแฟชั่นเฮ้าส์ เฟอร์แท้ๆ เป็นเครื่องการันตีทั้งคุณภาพของวัตถุดิบและฝีมือในการตัดเย็บของช่าง ซึ่งว่ากันว่าการตัดเย็บเฟอร์ด้วยมือเป็นเรื่องยาก และโอต์กูตูร์แท้และไฮแฟชั่นต้องทำได้อย่างไร้ที่ติ

ส่วนเรื่องของคุณภาพนั้น เว็บไซต์ furhatworld.com ระบุว่าไม่มีเฟอร์เทียมชนิดไหนที่จะให้สัมผัสที่นุ่มได้เท่ากับขนมิงค์ของจริง และสีของเฟอร์ธรรมชาติก็ไม่ใช่สิ่งที่จะลอกเลียนกันได้ โดยเฉพาะลวดลายธรรมชาติอย่างลายเสือ หรือเฉดสีเข้มอ่อนบนขนจิ้งจอก ความแน่นของขนก็เช่นกัน หนังบีเวอร์มีเส้นขนกว่า 10,000 เส้นต่อ 1 ตารางเซนติเมตร ส่วนขนตัวชินชิลลามีเส้นขนกว่า 20,000 เส้นต่อ 1 ตารางเซนติเมตร และไม่ว่าจะผลิตเฟอร์เทียมละเอียดแค่ไหนก็คงสู้ไม่ได้

ส่วนเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดูจะเป็นข้อพื้นฐานที่สุด ก็เป็นที่พิสูจน์จากคนรักเฟอร์เรียบร้อยแล้วว่าเฟอร์แท้ให้ความอบอุ่นได้มากกว่าเฟอร์เทียมหลายเท่า เพราะขนสัตว์มีฟังก์ชั่นนี้โดยตรงอยู่แล้ว

สตรีตลุคที่ดูหนาวสุดชั้ว จากปารีส แฟชั่นวีค autumn/winter 2013 ภาพจาก pinterest.com

ในมุมมองของคนรักเฟอร์ นอกจากคุณภาพและสุนทรียะ การใช้เฟอร์แท้ยังเป็นการสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้คนอีกจำนวนมากด้วย

บทความ ‘Why fur is back in fashion’ โดยริชาร์ด คอนนิฟฟ์ที่เผยแพร่ใน National Geographic ประเทศอเมริกา ฉบับเดือนกันยายน 2016 พาเราไปพบหลากแง่มุมของอุตสาหกรรมเฟอร์ เช่นการล่าบีเวอร์เป็นรายได้หลักของชาวพื้นเมืองในรัฐเมน (Maine) ทางตอนเหนือของอเมริกา หรือการทำฟาร์มมิงค์ในรัสเซียที่เป็นงานประจำของคนงานกว่าร้อยชีวิต ส่วนในประเทศแคนาดา อุตสาหกรรมเฟอร์สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 800 ล้านเหรียญต่อปี โดยหากสำรวจทั่วโลกแล้ว พบว่ามีคนกว่าล้านคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเฟอร์ หากการแบนเฟอร์โดยสมบูรณ์เกิดขึ้นจริงๆ พวกเขาเหล่านั้นก็คงต้องเจอโจทย์ใหญ่ในชีวิต

โดยในท้ายบทความ ผู้เขียนสรุปไว้ว่า “แทนที่จะแบนอุตสาหกรรมเฟอร์ เราควรร่วมกันกดดันให้คนทำฟาร์มสัตว์ปรับปรุงวิธีการของตนให้ดีต่อสัตว์มากขึ้นจะดีกว่า” ซึ่งข้อนี้ถูกโต้กลับจาก furfreealliance.com ว่าเป็นบทความที่เข้าข้างอุตสาหกรรมเฟอร์มากเกินเบอร์ เพราะสำหรับสังคมที่เจริญแล้วไม่ควรมีอุตสาหกรรมเฟอร์อีกต่อไปต่างหาก

การโต้เถียงคงยากที่จะจบสิ้น โลกเรายังมีทั้งฝ่ายที่ไม่เอาเฟอร์แต่ชอบกินเนื้อ มีทั้งคนที่เป็นมังสวิรัติหัวจรดเท้า และมีทั้งคนที่ยินดีจะบริโภคสัตว์ไปจนชั่วชีวิต การรณรงค์ก็จะยังคงมีอยู่ และอุตสาหกรรมเฟอร์ก็คงยังไม่ได้จบลงง่ายๆ โลกแฟชั่นเองก็ยังมีประเด็นอีกมากมายให้ต้องเคลียร์ตัวเอง จึงเป็นอีกครั้งที่เราไม่สามารถตัดสินชี้ชัดลงไปได้เลยว่าฝ่ายไหนถูก หรือฝ่ายไหนควรจะทบทวนตัวเองแล้วหยุด ที่ทำได้ก็คงจะเป็นการเฝ้าดูว่าทิศทางในอนาคตจะไปทางไหนกันแน่

ป.ล.

คาร์ล เลเกอร์ฟิลด์เคยพูดไว้ว่า “You cannot fake chic but you can be chic and fake fur”— “คุณไม่สามารถชิคแบบปลอมๆ แต่คุณสามารถชิคด้วยเฟอร์ปลอมได้” ฟังดูดีมีแอททิจูด ทาง PETA เองก็เคยหยิบโควตนี้ไปชื่นชมว่าเป็นยุคใหม่แห่งโลกแฟชั่น แต่สุดท้ายในปีที่ผ่านมานี้ ใครกันที่ออกใบสั่งว่า Chanel และ Fendi จะไม่หยุดใช้เฟอร์?

 

 

อ้างอิง

Fact Box

  • สเตลล่า แมคคาร์ทนีย์ (Stella McCartney) คือลูกสาวของพอล แมคคาร์ทนีย์แห่งเดอะ บีทเทิลส์ โดยพอลเองเป็นมังสวิรัติและเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสัตว์ ขณะที่แม่ของเธอคือลินดา แมคคาร์ทนีย์ ก็เป็นเจ้าของบริษัทเนื้อสัตว์เทียม เมื่อทำแบรนด์แฟชั่นเธอจึงตั้งตนเป็นแบรนด์ vegan มาตั้งแต่ต้น
  • Gucci จะเลิกใช้เฟอร์ตั้งแต่คอลเลคชั่น Spring/Summer 2018 เป็นต้นไป และจะนำเฟอร์ที่มีอยู่ในสต็อกออกประมูล รายได้ทั้งหมดจะบริจาคให้องค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิสัตว์ ซึ่งนี่คือหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้ fur-free กลายเป็นเทรนด์
Tags: , , , , , , , , ,