Photo: http://freedomhouse.org

รายงานผลการจัดอันดับ Freedom on the Net 2016 หรือเสรีภาพของอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดย Freedom House ระบุว่าไทยได้คะแนน 66 เต็ม 100 ในด้านเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต (คะแนนยิ่งมากแปลว่าเสรีภาพยิ่งน้อย) ตกอยู่ในกลุ่มประเทศ ‘ไม่เสรี’ ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ภายใต้รัฐบาลคสช.

ข่าวเล็กๆ แบบนี้อาจถูกมองข้ามไปอย่างง่ายดาย แม้ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสามารถสะท้อนสถานการณ์ในประเทศได้หลายๆ อย่าง The Momentum จึงพาคุณไปเจาะลึกประเด็นนี้ด้วยการพูดคุยกับ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เพื่อตอบคำถามว่าทำไมเสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยถึงตกต่ำลง อันดับนี้แสดงให้เห็นอะไรบ้าง และอะไรคือสิ่งที่พลเมืองเน็ตชาวไทยต้องจับตามองกันต่อไป

Photo: http://freedomhouse.org

เข้าถึงลดลง เสรีภาพลดตาม

ในการจัดอันดับของทุกปี ฟรีดอมเฮาส์จะทำการประเมินและวิเคราะห์ออกมาเป็นคะแนนใน 3 ด้าน คือ Obstacles to Access หรืออุปสรรคในการเข้าถึง Limits on Content หรือการจำกัดเนื้อหา และ Violations of User Rights หรือการละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ก่อนจะรวบรวมคะแนนในทุกด้านตั้งแต่ 0 ถึง 100 และทำการแบ่งระดับเสรีภาพออกเป็น 3 ระดับ คือ เสรี (Free, 0-30 คะแนน) กึ่งเสรี (Partly Free, 31-60 คะแนน และไม่เสรี (Not Free, 61-100 คะแนน)

สถานการณ์เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของเราแย่ลงจริงๆ
และในอนาคตสถานการณ์อาจแย่ลงกว่านี้ได้
เพราะมีเครื่องมือทางกฎหมายใหม่ๆ
ที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถละเมิดสิทธิประชาชนได้มากขึ้น

ถ้าดูจากคะแนนในปีนี้จะพบว่า คะแนนในทุกส่วนของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้วในทุกด้าน นั่นหมายความว่าสถานการณ์เสรีภาพของอินเทอร์เน็ตไทยกำลังอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งอาทิตย์ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“ปีนี้เราได้ 66 คะแนน คือคะแนนยิ่งเยอะแปลว่าเสรีภาพยิ่งน้อย ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยอยู่ในอันดับที่ถือว่า Free เลยจากการจัดอันดับในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา และมีแค่ปี 2013 ที่เราอยู่ในระดับ Partly Free

“สาเหตุที่คะแนนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของเราแย่ลง น่าจะเกิดมาจากความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในหลายๆ มาตรา เช่น มาตรา 15 ที่อาจเป็นการกดดันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ โดยข้ามขั้นตอนศาล หรือมาตรา 18 ที่พยายามขยายอำนาจการค้นข้อมูลในคดีที่ไม่ใช่ความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ รวมถึงมาตรา 20 ที่ปิดกั้นเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายได้ถ้าเห็นว่าขัดศีลธรรม อีกทั้งยังอนุญาตให้รัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อระงับการเข้าถึงข้อมูลตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระงับการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสลับ (HTTPS) ซึ่งถ้ามีการประกาศใช้จริงก็จะกระทบกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมของผู้ใช้เน็ตทั่วไปด้วย”

นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าวยังอ้างถึงคำตัดสินคดีจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมาด้วย ทั้งกรณีการแชร์ภาพล้อเลียนนายกรัฐมนตรี การแชร์ภาพกราฟิกคดีทุจริตอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงการฟ้องร้องที่เอกชนมีต่อประชาชนในหลายๆ กรณีด้วย

“โดยรวมผมเห็นด้วยกับรายงานของฟรีดอมเฮาส์ในปีนี้ เพราะแนวโน้มสถานการณ์เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของเราแย่ลงจริงๆ และในอนาคตสถานการณ์อาจแย่ลงกว่านี้ได้ เพราะมีเครื่องมือทางกฎหมายใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถละเมิดสิทธิประชาชนได้มากขึ้น”

เป็นคำถามเหมือนกันว่าที่แนวโน้มเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตโดยรวมลดต่ำลง เป็นเพราะมีการใช้มาตรการที่ไม่ได้สัดส่วนมากขึ้นหรือเปล่า
ถ้าพูดตามสำนวนไทยอาจเรียกว่าขี่ช้างจับตั๊กแตนก็ได้

ขาลงของเสรีภาพอินเทอร์เน็ตโลก

ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยเท่านั้นที่เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดต่ำลง แต่สถานการณ์ทั่วโลกก็กำลังอยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน

“ผมคิดว่ารัฐบาลหลายๆ ที่ทั่วโลกคงเริ่มเป็นกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอินเทอร์เน็ตถือเป็นพื้นที่ที่กระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลได้เหมือนกัน อย่างในหลายกรณีที่ประชาชนรวมตัวกันเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นต่างๆ รวมถึงการเปิดโปงเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ความไม่ชอบมาพากล หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางการเมือง อินเทอร์เน็ตก็มีบทบาทอย่างมาก จึงเป็นเรื่องปกติที่รัฐบาลหลายประเทศจะมองว่าเขาต้องเข้ามาควบคุมบางอย่าง

“ในแง่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อินเทอร์เน็ตก็มีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะตามมาด้วยอาชญากรรมทางออนไลน์ที่มีเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ ในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายก็มีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนให้พ้นจากการหลอกลวงออนไลน์ การจารกรรมข้อมูล หรือเจาะระบบ อาจเป็นที่มาของมาตรการต่างๆ ที่ออกมาป้องกันเรื่องเหล่านี้ และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเสรีภาพอินเทอร์เน็ตโดยรวมได้เช่นกัน”

สิ่งที่น่าสนใจจากประเด็นนี้คือ มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลหลายประเทศใช้เพื่อปกป้องประชาชนของตัวเองนั้น บางครั้งอาจเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนทั้งที่มีเจตนาดี

“หลายครั้งมาตรการที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้อาจเกินเลยไปบ้าง เช่น เพื่อที่จะจับโจรได้ เราจำเป็นต้องเปิดอีเมลของทุกๆ คนดู ซึ่งถ้าใช้มาตรการนี้ก็แปลว่าอีเมลของผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมต่างๆ ก็จะถูกเปิดดูไปด้วยหรือเปล่า จึงเป็นคำถามเหมือนกันว่าที่แนวโน้มเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตโดยรวมลดต่ำลง เป็นเพราะมีการใช้มาตรการที่ไม่ได้สัดส่วนมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าพูดตามสำนวนไทยอาจเรียกว่าขี่ช้างจับตั๊กแตนก็ได้”

เราพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น
ทั้งการทำงาน การศึกษา ความบันเทิง ชีวิตครอบครัว
และโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ
เสรีภาพที่ลดลงของอินเทอร์เน็ต ก็คือเสรีภาพของชีวิตเราที่ลดลงเช่นกัน

Photo: http://freedomhouse.org

เสรีภาพที่ลดลงของอินเทอร์เน็ต คือเสรีภาพที่ลดลงของชีวิต

เมื่ออินเทอร์เน็ตหลอมรวมเข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันแทบทุกขณะ เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตที่ลดน้อยลงยังส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตมากกว่าที่คิด

“เราพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตมากขึ้น ทั้งการทำงาน การศึกษา ความบันเทิง ชีวิตครอบครัว และโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ เสรีภาพที่ลดลงของอินเทอร์เน็ต ก็คือเสรีภาพของชีวิตเราที่ลดลงเช่นกัน เพราะมันอาจทำให้เราไปไหนมาไหนในโลกออนไลน์ได้อย่างจำกัดลง สื่อสารและทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างมั่นใจน้อยลง ต้องคอยกังวลว่าจะมีใครแอบดูบทสนทนาของเราไหม เราอาจจะไม่ใช่อาชญากร แต่เราก็คงไม่อยากจะเดินแก้ผ้าและป่าวประกาศทุกสิ่งที่อยู่ในหัวของเรากับทุกๆ คนในโลก”

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในเมื่อทุกวันนี้เรายังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ตามปกติ โพสต์สเตตัสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ ในสังคมได้อย่างแพร่หลาย แล้วทำไมเราถึงต้องกังวลต่อรายงานของฟรีดอมเฮาส์ ซึ่งอาทิตย์ตอบว่า

“เพราะเราไม่รู้ว่ามัน ‘ปกติ’ จริงไหม ซึ่งมาตรการทางเทคโนโลยีที่พยายามจะถอดรหัสลับการสื่อสารระหว่างเรากับเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เป็นการเปิดทางให้มีคนเข้ามาแก้ไขข้อมูลระหว่างทางได้ จนเราไม่สามารถจะแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เราอ่านมาจากเซิร์ฟเวอร์นั้นจริงหรือไม่ หรือถูกต่อเติมแก้ไขหรือเปล่า นอกจากนี้การที่เราเข้าดูข้อมูลบางอย่างไม่ได้ เพราะมันถูกบล็อก หรือเพราะคนโพสต์ตัดสินใจลบเอง คือเราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าอะไร ‘ปกติ’ ในสถานการณ์นี้ แถมยังจะมีกฎหมายมาตราใหม่ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มาบอกว่าการดักหรือระงับข้อมูลแบบนี้ เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายอีก”

ทั้งนี้คงต้องจับตามองกันต่อไปว่าสถานการณ์เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในปีถัดไป แต่จากรายงานในครั้งนี้ของฟรีดอมเฮาส์ก็อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะตั้งคำถามกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

ภาพประกอบ: Karin Foxx

FACT BOX:

รายงาน Freedom on the Net 2016 โดยฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า ประเทศที่มีเสรีภาพที่สุดในด้านการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต และการปกป้องความเป็นส่วนตัวคือ เอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ และแคนาดา

ส่วนประเทศที่ละเมิดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ จีน ซีเรีย และอิหร่าน ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตต่ำที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ทั้งนี้ไม่มีการเก็บข้อมูลในเกาหลีเหนือ

ทางด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซียได้ 44 คะแนน มาเลเซียได้ 45 คะแนน กัมพูชา 52 คะแนน ไทย 66 คะแนน และเวียดนาม 76 คะแนน