“กีฬาคือยาฝิ่น” ประโยคนี้มาจากหนังสือ Barbaric Sport: A Global Plague ของ Marc Perelman เขาบอกว่า กีฬาอาจเป็นสิ่งมอมเมา ทำให้คนลุ่มหลงงมงาย เป็นยาฝิ่นอันใหม่สำหรับประชาชน คล้ายกับที่คาร์ล มาร์กซ์เคยวิพากษ์ศาสนา

จะว่าไปแล้วทั้งศาสนาและกีฬา ต่างก็ทำอะไรกับคนคล้ายๆ กัน ศาสนิกชนที่ดีจะมีความสุขจากการได้รับคำตอบและความหวังจากศาสนา ผู้ชมกีฬาก็มีความสุขได้ด้วยการปลดปล่อยความเครียดจากการงาน แบบเดียวกับที่ยาฝิ่นช่วยให้ลืมทุกข์ลืมโศกไปได้ ศาสนาขัดเกลาให้คนอยู่ใต้กรอบศีลธรรม กีฬาก็เป็นแบบจำลองที่สอนให้คนทำตามกติกา ซึ่งทั้งศีลธรรมและกติกานั้นมักเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำหนดขึ้นมา ทั้งคู่เป็นการควบคุมทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่ตอบแทนด้วย ‘ความสุข’

ผู้เขียนคิดว่า การรัฐประหาร 2557 ที่มีสโลแกนว่า ‘คืนความสุขให้ประชาชน’ ก็มองกีฬาในฐานะเครื่องมือสำหรับ ‘คืนความสุข’ เหมือนกัน คงจะน่าสนใจดีถ้ามองย้อนไปว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา คสช. ทำและพยายามทำอะไรกับกีฬาบ้าง แล้วมันช่วยคืนความสุขได้อย่างไร

นับแต่ยึดอำนาจ รัฐบาล คสช. ทำและพยายามทำหลายอย่างกับกีฬา งานแรกเริ่มหลังวันดีเดย์ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่นาน นอกจากความพยายามควบคุมสถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหารแล้ว วาระแห่งชาติที่กำลังจะมาถึงคือฟุตบอลโลก 2014 ที่แข่งกันช่วง 13 มิถุนายน-13 กรกฎาคม 2557 ซึ่ง คสช. ต้องจัดการกับปัญหาการถ่ายทอดสด

บรรยากาศก่อนฟุตบอลโลกครั้งนั้นฝุ่นตลบพอสมควร เรื่องเริ่มจากที่บริษัทในเครืออาร์เอสซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดเอาไว้ก่อนแล้ว ต่อมาปี 2556 กสทช. ก็มีประกาศกฎ must have ที่บังคับให้ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็น 1 ใน 7 การแข่งขันกีฬาที่ต้องเผยแพร่ทางฟรีทีวี

ทีนี้ก็มีปัญหาว่าแล้วจะถ่ายทอดกันอีท่าไหน เพราะอาร์เอสก็ต้องการจะหากำไรจากสิทธิ์ที่ตัวเองซื้อไว้ และก็ได้ขายกล่องซันบ็อกซ์ให้กับคอบอลโลกจำนวนมากไปแล้ว

เรื่องมาเข้มข้นขึ้นในช่วงก่อนบอลโลกแค่ 2 วัน (อันที่จริงจะบอกว่าวันเดียวก็ได้ เพราะบอลโลกคู่แรกจะเริ่มตอนตีสามของคืนวันที่ 12) เมื่อบ่ายวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีที่อาร์เอสฟ้อง กสทช. ว่าต้องยอมให้อาร์เอสถ่ายทอดเองได้ ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีทั้งหมด เพราะกฎ must have ออกมาหลังการซื้อสิทธิ์ของอาร์เอส เรื่องน่าจะสรุปลงตรงที่ใครอยากดูบอลโลกครบทุกนัดก็ต้องซื้อซันบ็อกซ์หรือไม่ก็หาดูตามช่องพันธมิตรของอาร์เอสไป

น่าสนใจดีถ้ามองย้อนไปว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา คสช. ทำและพยายามทำอะไรกับกีฬาบ้าง แล้วมันช่วยคืนความสุขได้อย่างไร

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ไคลแมกซ์ที่แท้จริง เกมมาพลิกอีกทีในเย็นวันเดียวกัน เมื่อ กสทช. เรียกอาร์เอสเข้าคุยถึงแนวทางที่จะทำให้ฟุตบอลโลกถ่ายทอดทางฟรีทีวีได้จนวันที่ 12 มิถุนายน ก็มีการแถลงข่าวว่า ททบ. 5 ช่อง 7 และช่อง 8 (ของอาร์เอส) จะร่วมกันถ่ายทอดสดบอลโลก เท่ากับว่าในที่สุดคนไทยก็ได้ดูบอลโลกทางฟรีทีวีครบทุกนัด แต่ กสทช. ต้องจ่ายเงินชดเชยให้อาร์เอสมากถึงประมาณ 427 ล้านบาท

ฮีโร่ผู้ชิงประตูชัยในนาทีสุดท้ายก็ไม่ใช่ใคร เพราะมีข่าวว่าเลขาธิการ กสทช. “ได้รับการประสานงานจาก คสช. ในการหาแนวทางคืนความสุขให้กับประชาชนในการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวี” แม้ต่อมา คสช. จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้บังคับให้ กสทช. ต้องจ่ายเงินชดเชยให้อาร์เอส แต่การที่โฆษก คสช. ออกมาให้ข่าวว่าหัวหน้า คสช. มอบหมายให้ กสทช. หาทางคืนความสุขให้คนไทยได้ดูบอลโลกทุกนัด ก็เท่ากับว่า คสช. มีส่วนให้เกิดดีลนี้ขึ้นมาอย่างปฏิเสธได้ยากและสังคมเองก็รับรู้กันอย่างนั้น ยังไม่รวมการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วประเทศอย่างประจวบเหมาะกับวันเริ่มแข่งฟุตบอลโลกพอดี ทั้งยังมีข่าวว่าเป็นการยกเลิกเพื่อคืนความสุขรับฟุตบอลโลกเสียด้วยซ้ำ

จะว่าไปแล้วการถ่ายทอดบอลโลกก็ดูจะส่งผลอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน เพราะจากที่เคยมีข่าวการประท้วง คสช. มาตลอดตั้งแต่หลังทำรัฐประหาร แต่ในช่วงสุดสัปดาห์แรกของฟุตบอลโลกก็แทบไม่มีข่าวการประท้วงให้เห็นตามสื่อเลย (ไม่ว่าจะเพราะมีการประท้วงแต่สื่อไม่ได้นำเสนอหรือฝ่ายประท้วงมัวแต่ดูบอลโลกอยู่ก็ตาม) จนสัปดาห์ถัดมาถึงเริ่มมีข่าวการประท้วงอีกครั้ง นอกจากนี้แล้วยังมีผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลที่ระบุว่า มีประชาชนเห็นว่า “มอบของขวัญ คืนความสุขให้ประชาชน ดูฟุตบอลโลก ดูหนังพระนเรศวรฟรี และการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชนกระจายไปทุกจังหวัด” นั้นเป็นหนึ่งใน “10 ความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. อย่างเป็นรูปธรรม” ด้วยตัวเลข 71.31 เปอร์เซ็นต์ (แม้ผู้เขียนจะไม่ค่อยเข้าใจว่าตัวเลขนี้หมายถึงอะไรก็ตาม)

ความพยายามทางกีฬาของ คสช. ที่น่าสนใจอีกอย่างคือการบุกเข้าไปถึงดินแดนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ ‘อีกฝ่ายหนึ่ง’ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการแข่งขันฟุตบอล (ที่เปิดให้เข้าชมฟรีและแจกน้ำดื่มตราสิงห์ทุกที่นั่ง) “กิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชน ฟุตบอลกระชับมิตรนัดพิเศษระหว่างสโมสรอาร์มียูไนเต็ดกับสโมสรเชียงใหม่เอฟซี” ในวันที่ 17 กันยายน 2557 ที่สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การแข่งขันโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การแข่งขัน

 

คลิปบรรยากาศในวันแข่งขัน

นอกจากชื่อการแข่งขัน เวลา สถานที่ และคู่แข่งขันหลักที่น่าสนใจโดยตัวมันเองแล้ว (อันที่จริงมันน่าสนใจทุกองค์ประกอบเลยด้วยซ้ำ) การแข่งขันนี้ยังเป็นการชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นถ้วยรางวัลแรกที่พลเอกประยุทธ์มอบให้การแข่งขันกีฬาหลังจากที่ขึ้นเป็นนายกฯ รวมไปถึงยังมีการแข่งขันนัดพิเศษระหว่างทีม VIP ทหารกับ VIP เชียงใหม่ และการแสดงจากกองทัพและหน่วยงานต่างๆ ด้วย (ผลการแข่งขันปรากฏว่าสโมสรอาร์มีชนะ 1-0 ส่วนทีม VIP ทหารแพ้ไป 0-2)

ในปี 2558 การมาประเทศไทยของนักกีฬาระดับโลกอย่างโนวัก ยอโควิช (Novak Djokovic) และราฟาเอล นาดาล (Rafael Nadal) ก็ถูกสื่อวิจารณ์ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารแลกกับค่าจ้างมหาศาล อันที่จริงแล้วจะบอกว่าการจ้างทั้งคู่มานั้นเป็นไปเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหมแยกราชประสงค์ก็ได้ แต่การมาของสองนักเทนนิสระดับโลกภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากทุนใหญ่อย่างซีพีและทรู ที่ไม่ได้มีแค่แข่งเทนนิสแต่ใส่เสื้อผ้าไหมเดินสายไปในที่ต่างๆ และเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคืนความสุขและสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร

นอกจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ดังที่ว่าไปแล้ว กีฬายังได้รับความสนใจอีกหลายครั้ง เช่นการเลื่อนเวลาออกอากาศรายการ ‘คืนความสุข ให้คนในชาติ’ เพื่อเอื้อเวลาให้การถ่ายทอดสดฟุตบอลซีเกมส์ 2558 ในช่วงที่ทีมชาติฟุตบอลฟีเวอร์ถึงขีดสุด การติดต่อขอให้ ททบ. 5 ได้ถ่ายทอดสดการแข่งขันทุกนัดของสโมสรอาร์มียูไนเต็ด ไปจนถึงการฝากฝังให้นักกีฬาที่จะไปแข่งในต่างประเทศช่วยอธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นที่ คสช. ต้องยึดอำนาจ

จะบอกว่ากีฬาถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ครองอำนาจเพียงด้านเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะในอีกด้านหนึ่งสนามกีฬาก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับแสดงออกการต่อต้าน

ไม่ใช่แค่ที่ทำไปแล้วเท่านั้น หากไล่ดูดีๆ จะพบว่ามีแผนการอภิมหาโปรเจ็กต์อีกจำนวนหนึ่งที่ถูกวางไว้แล้วแต่ต้องล่มในท้ายที่สุด อย่างเช่นในปี 2557 ที่มีแผนจะใช้เงิน 100 ล้านบาทเชิญทีมชาติโคลัมเบีย (ที่กำลังดังจากผลงานในฟุตบอลโลก) มาแข่งกับทีมชาติไทยและแจกบัตรฟรีสองหมื่นใบ ในปี 2558 มีแผนจะจัดการชกนัดล้างตาให้กับวีรบุรุษของชาวไทยอย่างบัวขาว (หลังจากที่เพิ่งแพ้นักชกชาวรัสเซีย) ที่แยกราชประสงค์ รวมถึงอภิมหาอมตะความฝันนิรันดร์กาล อย่างการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่เคยถูกพูดถึงโดย รมต.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วงปี 2558 ก่อนที่จะล้มเลิกไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากรู้ตัวว่ายากเกินจะดัน

แต่จะบอกว่ากีฬาถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้ครองอำนาจเพียงด้านเดียวก็คงไม่ถูกนัก เพราะในอีกด้านหนึ่งสนามกีฬาก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับแสดงออกการต่อต้านได้ด้วย การวิพากษ์ คสช. ผ่านสนามกีฬาครั้งสำคัญน่าจะต้องยกให้กับขบวนล้อการเมืองของนักศึกษาธรรมศาสตร์ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2558 ที่ซ้อนอุบายฝ่าวงล้อมการเซ็นเซอร์เข้าไปได้

พร้อมๆ กันนั้นความเป็นสาธารณะของสนามกีฬายังเป็นโอกาสให้ ‘นักต่อสู้นิรนาม’ ได้แสดงความเห็นทางการเมืองผ่านป้ายข้อความบนอัฒจันทร์ (ในลักษณะเดียวกับที่แฟนกีฬาในต่างประเทศนิยมแสดงออกด้วยวิธีเดียวกันนี้ในหลายๆ ประเด็น ทั้งการยั่วล้อฝ่ายตรงข้าม ประท้วงสโมสร ไปจนถึงแสดงจุดยืนในประเด็นทางสังคมและการเมือง) อย่างเช่นในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี 2558 ที่มีกลุ่มนิสิตนักศึกษานิรนามที่ระบุตัวเองว่าเป็น “กลุ่มคนหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทและอยากแสดงออกความคิดทางการเมือง” ได้นำป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” และ “Coup = Corruption” ขึ้นไปติดบนอัฒจันทร์ เป็นจุดกระตุ้นให้หลังจากนั้นมีข้อความเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อีกเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้นัดหมาย

ป้าย FREE THAILAND ที่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2014
ป้าย FREE THAILAND ที่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ 2014 ที่มา: www.facebook.com/khaosod

รวมไปถึงการแสดงออกเล็กๆ ของบุคคลนิรนามที่ชูป้ายที่มีข้อความว่า ‘FREE THAILAND’ ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 ที่แม้จะไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนนักว่าต้องการให้ free Thailand จากอะไร แต่ก็น่าจะนับเป็นการแสดงออกทางการเมืองโดยบุคคลนิรนามในสนามกีฬาได้อีกครั้งหนึ่ง

แม้จะร่ายมายาวเหยียด ผู้เขียนก็ยังไม่อยากฟันธงชัดๆ ว่าการที่ คสช. อยู่ในอำนาจมาได้อย่างยาวนานกว่า 3 ปีนั้นเป็นผลมาจากการคืนความสุขด้วยกีฬาบ้างหรือไม่ แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือ คสช. ดูจะสนใจเล่นกับกีฬาอยู่ไม่น้อย (อันที่จริงรายการเดินหน้าประเทศไทยก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับกีฬาอยู่พอสมควร แต่ด้วยปริมาณเวลาออกอากาศมหาศาล ผู้เขียนก็จนปัญญาจะหาหลักฐานมายืนยันชัดๆ ได้ว่ามีเรื่องเกี่ยวกับกีฬาเป็นสัดส่วนแค่ไหน) รวมถึงยังพอจะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นกับกีฬาในยุค คสช. บ้างอีกบางส่วน

ส่วนแรกคือการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จากที่ คสช. เปิดฉากคืนความสุขให้คนไทยในช่วงฟุตบอลโลก 2014 ไปแล้ว อีกไม่นานก็จะครบรอบ 4 ปีที่วาระฟุตบอลโลก 2018 วนมาถึง (นี่เราอยู่ด้วยกันมาจนเกือบครบรอบฟุตบอลโลกแล้วนะ) สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้คือยังไม่มีบริษัทเอกชนไทยเจ้าไหนซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกอย่างที่เคยแย่งกันจะเป็นจะตายมาก่อนเลย ทั้งที่ประเทศส่วนมากในโลกนี้ซื้อกันไปเรียบร้อยแล้ว เหตุก็มาจากทั้งเพราะกฎ must have และฤทธิ์การ “คืนความสุข” ที่อาร์เอสต้องเจอเมื่อครั้งก่อน ถ้าเราเชื่อตามที่รัฐบาลบอกว่าจะเลือกตั้งปลายปี 2561 ปัญหาเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจะต้องวนกลับมาอีกครั้งในยุค คสช. แน่ๆ และครั้งนี้คงแก้ยากยิ่งกว่าเดิม

ส่วนที่สองคือฟุตบอลไทยลีก จากที่เคยเติบโตอย่างค่อนข้างจะต่อเนื่องมาหลายปี แต่อยู่ๆ ช่วงฤดูกาล 2559-2560 ก็ช็อตไปดื้อๆ กระแสเงียบไปผิดตา แฟนบอลในสนามดูจะน้อยลงกันหลายสโมสร ในแง่หนึ่งมันอาจจะสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ว่าจะมีปัญหาจริงหรือไม่ แต่ก็เกิดความไม่เชื่อมั่นไปแล้ว เพราะเอาเข้าจริงกีฬาเป็นกิจกรรมที่มาจากผลผลิตส่วนเกิน ถ้าเศรษฐกิจที่เป็นฐานรากไม่ดีพอ วงการกีฬาที่เป็นส่วนขยายก็อยู่ยากไปด้วย และการใช้กีฬาคืนความสุขก็คงลำบาก ว่าแล้วก็นึกถึงเรื่องตลกร้ายที่สื่อกีฬาเคยตั้งฉายาคนวงการฟุตบอลไทยประจำปี 2557 ให้กับซิโก้ว่า “คสช.(คืนความสุขให้ประชาชน) ตัวจริง”

Tags: , , , ,