สัปดาห์นี้ (26-30 พ.ย.) เป็นช่วงเวลาที่กำลังเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในโควต้า “คัดกันเอง-ตามกลุ่มวิชาชีพ” ซึ่งเราอาจลืมไปแล้วว่า ‘วุฒิสภา’ คืออะไร เพราะการเมืองไทยเริ่มคุ้นเคยอยู่กับสภาเดียว ภายใต้ชื่อ ‘สภานิติบัญญัติแห่งชาติ’ ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งมาตั้งแต่ปี 2557

ระบบรัฐสภาของไทยในสภาวะปกติมักจะมีสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยวุฒิสภามีหน้าที่หลักคือถ่วงดุลอำนาจกับสภาผู้แทนราษฏรและกลั่นกรองกฎหมายจากสภาผู้แทนฯ อีกชั้นหนึ่ง สำหรับสมาชิกวุฒิสภาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ออกโดย คสช.นี้ ยังมีอำนาจเพิ่มเติมคือ จะได้เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย นั่นจึงทำให้ตำแหน่งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ

สำหรับสมาชิกวุฒิสภา ‘ตามรัฐธรรมนูญ’ ออกแบบไว้ให้มีจำนวนทั้งหมด 200 คน แต่ในช่วง 5 ปีแรกคณะรัฐประหารได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่าในบทเฉพาะกาล ให้มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน และจะอยู่ในวาระ 5 ปี ทำให้ตำแหน่งนี้มีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะจะได้เลือกนายกรัฐมนตรีถึงอย่างน้อย 2 ครั้ง

จำนวน 250 คนนี้ แบ่งเป็น

1) ส.ว. 6 คน ที่มาโดยอัตโนมัติจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2) ส.ว. 194 คน มาจาก ‘คณะกรรมการสรรหา’ ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นเอง โดยคณะกรรมการฯ ต้องคัดเลือกมาเพื่อให้ คสช. คัดเลือกอีกที

3) ส.ว. อีก 50 คน มาจากการ ‘คัดกันเอง’ ตามกลุ่มอาชีพ ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปมาสมัคร แล้วจะให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มอาชีพเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ สู่ระดับจังหวัด และสู่ระดับประเทศ ซึ่งเมื่อเลือกกันเองถึงระดับประเทศจะเหลือผู้สมัคร 200 คน แล้วจะส่งรายชื่อให้ คสช. เป็นผู้คัดเลือกในด่านสุดท้ายจนเหลือ 50 คน

ส.ว. แบบคัดกันเอง 50 คน ตอนนี้กำลังเปิดให้คนทั่วไปสมัครได้ในช่วงวันที่ 26-30 พ.ย. นี้

คนที่จะสมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และเชี่ยวชาญตามกลุ่มอาชีพที่กำหนดไว้ มีเงินค่าสมัคร 2,500 บาท นี่อาจจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เพราะแม้สุดท้ายจะไม่ได้รับเลือก แต่อย่างน้อย ถ้าเป็นผู้สมัครก็จะได้สิทธิในการ ‘คัดกันเอง’

สำหรับกลุ่มอาชีพต่างๆ ตามที่ คสช.ระบุ มีสิบกลุ่ม คือ

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน และความมั่นคง
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  3. กลุ่มศึกษาและการสาธารณสุข
  4. กลุ่มอาชีพกสิกรรม ปลูกพืชล้มลุก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  5. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งไม่ใช่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  6. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
  7. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลาง และขนาดย่อมตามกฎหมาย
  8. กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์การสาธารณประโยชน์
  9. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างวรรณกรรม
  10. กลุ่มอื่นๆ

โดยรอบแรกๆ ผู้สมัครที่อยู่ภายในกลุ่มอาชีพเดียวกันจะเป็นคนลงคะแนนเลือก ส.ว. ในกลุ่มตัวเอง ในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ เมื่อได้ 200 รายชื่อก็จะส่งให้ คสช. เลือกอีกทีให้เหลือ 50 ชื่อ โดย กกต.จะใช้งบประมาณ 1,303 ล้านบาทในขั้นตอนนี้

 

อ้างอิง: https://www.ect.go.th/ect_th/news_page.php?nid=28&filename=