การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 คงเป็นเรื่องยากที่จะมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ แบบที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เคยชนะเลือกตั้งจนได้ที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรเหมือนสองทศวรรษที่ผ่านมา

ซึ่งนั่นไม่ใช่เพราะพรรคการเมืองภายใต้อิทธิพลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรมีคะแนนนิยมจากประชาชนลดลง แต่เป็นผลมาจากการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ของ คสช.

ระบบเลือกตั้งใหม่ มีเรียกคำย่อๆ ว่าระบบ MMA (Mix Member Apportionment) ในภาษาไทยเรียกว่า “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” ออกแบบโดย มีชัย ฤชุพันธ์ นักกฎหมายมือทองของคณะรัฐประหารหลายยุค

เป้าหมายทางการเมืองของระบบเลือกตั้งแบบ MMA คือ ไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด เพราะต้องการให้เกิดรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้การกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถเกิดขึ้นโดยไม่ต้องหืดขึ้นคอนัก  

ไม่มีพรรคใหญ่ในระบบเลือกตั้ง MMA

ระบบเลือกตั้งแบบ MMA มีหัวใจสำคัญอยู่ที่วิธีการคิดที่นั่ง ส.ส. ที่แต่ละพรรคควรจะได้

ก่อนจะไปถึงขั้นของการคำนวณ ส.ส. เรามาดูกันก่อนว่า ส.ส. มีสองแบบ แบบแรกคือ ‘ส.ส.เขต’ ซึ่งก็คือนักการเมืองท้องถิ่นที่ดูแลแต่ละพื้นที่ กับแบบที่สอง คือ ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์’ ซึ่งเป็นนักการเมืองคนสำคัญของพรรค ดาวรุ่งพรีเซนเตอร์ของพรรคจะอยู่ในลิสต์นี้ ยิ่งสำคัญมากก็ยิ่งอยู่ลำดับต้น

เมื่อมีส.ส.สองแบบ การเลือกตั้งในอดีตจึงมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เขตไหนพรรคไหนได้คะแนนมากสุดก็ได้เก้าอี้ไป  

สำหรับระบบปัจจุบัน ใช้วิธีคิดที่นั่ง ส.ส. แบบใหม่ คือ จะใช้บัตรเลือกตั้งแค่ 1 ใบ นำคะแนนเสียงที่ประชาชนลงคะแนนให้ผู้สมัครทุกพรรคการเมืองใน 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศมารวมกัน (ไม่ว่าผู้สมัครในเขตนั้นจะชนะหรือแพ้) เมื่อได้คะแนนรวมทั้งประเทศแล้วจะนำมาหารกับจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในสภา (500 คน) แล้วนำผลลัพธ์มาหารกับคะแนนทั้งประเทศของแต่ละพรรค ก็จะได้จำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงได้ จากนั้น นำจำนวนที่ ส.ส. ที่พึงได้ของแต่ละพรรคไปลบก็จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ก็จะได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นๆ

ด้วยระบบการเลือกตั้งที่พิสดารซับซ้อน หากพรรคการเมืองใดได้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตมาก จะมีโอกาสได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อยหรือกระทั่งอาจไม่ได้เลย

ด้วยกติกาเช่นนี้ส่งผลให้พรรคขนาดใหญ่จะได้ที่นั่ง ส.ส. ลดลง แม้จะได้คะแนนทั้งประเทศเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่พรรคขนาดกลางที่มีทุนและเครือข่ายมากพอที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงครบทุกเขตเลือกตั้ง แม้จะแพ้เลือกตั้งแบบเขตแต่คะแนนที่ประชาชนลงให้จะทำให้มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเป็นกอบเป็นกำเช่นกัน

พรรคเพื่อไทยได้รับผลกระทบที่สุด

พรรคเพื่อไทย คือ พรรคการเมืองที่ได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งแบบ MMA มากที่สุด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเลือกตั้งต่างวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งไปในทางคล้ายกันว่า การเลือกตั้งภายใต้ระบบใหม่พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. ประมาณ 200 คน (น้อยกว่า ส.ว.แต่งตั้งของ คสช. 250 คน) ซึ่งน้อยลงจากการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้ ส.ส. 265 คน แม้พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงน้อยลง แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าการเลือกตั้งปี 2562 พรรคการเมืองนี้จะยังคงได้ ส.ส. เป็นลำดับที่หนึ่งเหมือนเดิม แต่จะเป็นที่หนึ่งแบบไหนและจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองต่างๆ จึงต้องเดินยุทธศาสตร์ใหม่ ที่เราได้เห็นการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่ถูกขานชื่อกันไปต่างๆ นานาตามมุมมองของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเครือข่ายทักษิณ พรรคสาขาเพื่อไทย หรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตย โดยมีสามพรรคการเมืองที่ชัดเจนว่าเป็นดอกผลของพรรคเพื่อไทย คือ พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยรักษาชาติ นั้นเพราะชื่อพรรค โลโก้พรรค และแกนนำพรรคของทั้งสามพรรคมีความเกี่ยวโยงกันอย่างยากจะปฏิเสธได้

พรรคพี่-น้อง “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”

การแตกเป็นพรรคสาขาเพื่อไทยถึงสามพรรค ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็นแค่พรรคอะไหล่ยามพรรคหลักถูกอุบัติเหตุทางการเมืองให้ยุบพรรค แต่เป็นเพราะกติกาเลือกตั้งแบบใหม่ที่ต้องการให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

ทำให้พรรคขนาดใหญ่ต้องคิดหาวิธีกวาดเศษคะแนนให้ถูกนับได้มากที่สุด จึงแตกออกกลายเป็นพรรคพี่น้อง แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ โกยเสียงในสภาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อจะเอาชนะ คสช. โดยใช้ยุทธศาสตร์ “แยกกันเดิน ร่วมกันตี”

คาดว่าในการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ สี่พรรคพี่น้องเครือข่ายทักษิณ จะกำหนดให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคหลัก โดยจะส่งผู้สมัคร ส.ส.เกรดเอ เพื่อดึงที่นั่งจาก ส.ส.แบบแบ่งเขตเป็นหลัก ขณะที่พรรครองสามพรรคจะส่งผู้สมัครที่ไม่มีพื้นที่ในพรรคหลักลงแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นในบางเขตเลือกตั้งจะไม่มีการส่งผู้สมัคร ส.ส. ชนกัน

อย่างไรก็ตามยังไม่รู้ว่าเมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งแล้วยุทธศาสตร์ชัดๆ จะหน้าตาเป็นอย่างไร และจะทำให้พรรคเครือข่ายทักษิณโกยที่นั่งในสภาได้มากแค่ไหน

พรรคแนวร่วมเพื่อไทยคือใคร?

“พรรคเพื่อธรรม” มีแกนนำพรรคคนสำคัญ คือ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นลินี ทวีสิน และพงศกร อรรณนพพร ทั้งสามคนเป็นอดีตรัฐมนตรีและเป็น ส.ส. หลายสมัย ในการประชุมพรรคนัดแรกเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานที่ประชุมเนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ ทั้งนี้พรรคเพื่อธรรมถูกมองว่าได้รับแรงสนับสนุนจากสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวของทักษิณ  สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อธรรม ประเมินว่าจะส่งผู้สมัครไม่ครบ 350 เขต และคาดว่าจะได้ ส.ส. เกิน 20 ที่นั่ง โดยคาดหวังกับอดีต ส.ส. ให้ทำคะแนนในเขตเลือกตั้งให้มากที่สุด

“พรรคเพื่อชาติ มีแกนนำพรรคคนสำคัญ คือ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา พรรคนี้ถูกมองว่าเป็นของกลุ่ม นปช. โดยสถานที่ประชุมพรรคนัดแรกจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าอิมพิเรียลสำโรง สถานที่รวมตัวสำคัญของกลุ่ม นปช. นอกจากนี้คาดกันว่าหัวหน้าพรรคเพื่อชาติจะเป็นสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นนายทุนคนสำคัญของกลุ่ม นปช. สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคเพื่อชาติจะส่งผู้สมัครให้ครบ 350 เขต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น โดยตั้งเป้าหมายให้ได้เขตเลือกตั้งอย่างน้อยเขตละ 3,000 – 6,000 คะแนน เพื่อหวัง ส.ส 30 – 60 คน

“ไทยรักษาชาติ” มีอักษรย่อว่า “ทษช.” ซึ่งถูกมองว่าคล้ายกับย่อของทักษิณ ชินวัตร สำหรับแกนนำคนสำคัญ คือ ปรีชาพล พงษ์พาณิช วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล วิม รุ่งวัฒนจินดา มิตติ ติยะไพรัช และเยาวเรศ ชินวัตร ฯลฯ แกนนำรวมถึงสมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกหลานนักการเมืองจากเพื่อไทย รวมทั้งบรรดาอดีต ส.ส. และทีมงานจากพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังคาดว่า พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายของอดีตนายกฯ ทักษิณ คือเบื้องหลังคนสำคัญ สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคไทยรักษาชาติ คาดว่าจะส่งผู้สมัครมากกว่า 100 เขต โดยประเมินว่าจะได้ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อประมาณ 30 – 40 คน

นอกจากนี้ยังมีพรรคแนวร่วมอย่าง “พรรคประชาชาติ” ที่นำโดยวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้ากลุ่มวาดะห์ ที่แยกตัวออกจากพรรคเพื่อไทยเป็นกลุ่มแรกๆ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ข้าราชการคนสำคัญที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไว้ใจให้ดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ไม่ชัดเจนว่าพรรคประชาชาติเดินร่วมยุทธศาสตร์เดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ แต่อุดมการณ์และแนวคิดทางการเมืองไปในทางเดียวกันคือต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 พรรคประชาชาติ คาดว่าจะเก็บที่นั่ง ส.ส. จำนวนมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

กติกาเลือกตั้งพรรค คสช. ได้เปรียบ

คสช. ต้องการใช้การเลือกตั้งในปี 2561 เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจต่อ การออกแบบกติกาที่ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถได้ที่นั่ง ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง คือ 250 คน จะทำให้ ส.ว แต่งตั้งจาก คสช. 250 คน คือพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกนายกฯ ที่จะต้องใช้เสียงของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป จากทั้งหมด 750 เสียง ซึ่งทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการ ส.ส. อีก 126 เสียง รวมกับ ส.ว. 250 เสียง ก็จะได้เป็นนายกฯ ต่อไป

ทั้งนี้ คสช. ได้ตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยสามารถดึงอดีต ส.ส. จากพรรคหลายรวมทั้งใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์เข้าร่วม เช่น ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส. พรรคเพื่อไทยหลายสมัย หรือ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. โดยอาศัยการเดินสายดูดของกลุ่มสามมิตรที่นำโดยสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน และมีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยู่เบื้องหลัง และยังมีพรรคแนวร่วม คสช. เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศ ของไพบูลย์ นิติตะวัน ที่หากมี ส.ส. ก็พร้อมโหวตเลือกนายกฯ ร่วมมือกับ ส.ว.แต่งตั้ง

ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ คสช. ได้เปรียบคู่แข่งอย่างมากและชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้งจะยังคงมีอำนาจต่อไปทำให้ คสช. ไม่ต้องดิ้นรนกับกติกาที่ออกเอง ซึ่งแตกต่างจากฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทยที่ต้องหากลวิธีเพื่อเอาชนะกติกาที่ตัวเองเสียเปรียบ

Tags: , , , , ,