จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถชวนคนหลากหลายรูปแบบ มาเป็นเพื่อนกินข้าวได้เป็นกลุ่มใหญ่ได้
เชื่อว่าเรื่องนี้คงถูกใจชาวเอ็กซ์โทรเวิร์ต (Extrovert) อยู่ไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่คนหน้าใหม่กับเรื่องราวมากมายให้ชวนคุย จึงทำให้การนัดหมายคนแปลกหน้าเพื่อมาร่วมโต๊ะอาหารกันเกิดขึ้นจริงแล้ว ในหลายประเทศทั่วโลก ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า ‘Social Dining’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ‘การกินอาหารและเปิดโอกาสให้ตนเองได้พูดคุย เข้าสังคมกับคนหน้าใหม่’ โดยจะนัดหมายผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง
ความหมายของคำว่า Social Dining ปรากฏอยู่ใน Urban Dictionary ซึ่งเป็นพจนานุกรมที่รวบรวมสแลง คำศัพท์ใหม่ และเปิดให้คนเข้ามาเขียนคำนิยาม ระบุไว้ว่า “เมื่อกลุ่มคนมารวมตัวกันเพื่อกินอาหารในตอนเย็นและไม่กลับบ้านจนถึงค่ำ นั่นไม่ใช่แค่การกินอาหาร แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมิติทางสังคม ซึ่งทำให้มื้ออาหารธรรมดากลายเป็นชั่วโมงของการสนทนาและแบ่งปันประสบการณ์”
จุดเริ่มต้นของมื้ออาหารเพื่อการสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2005 ในรายการ Come Dine With Me วาไรตี้โชว์จากประเทศอังกฤษ จับคนแปลกหน้า 5 คน มากินข้าวเย็นร่วมกัน เพื่อแข่งขันชิงเงินรางวัล 1,000 ปอนด์ เป็นการเปิดประสบการณ์การกินข้าวกับคนแปลกหน้า หลายประเทศซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำในเวอร์ชันของตนเอง การันตีความสนุกของรายการนี้ และปัจจุบันยังมีการออกอากาศในบางประเทศ
ข้อดีของการกินข้าวกับคนแปลกหน้า นอกจากจะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น สร้างความตื่นเต้นในการพบปะมนุษย์หน้าใหม่ ยังเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมิตรภาพในวัยผู้ใหญ่ที่เริ่มมีสังคมแคบลง เพราะหากคุยกันถูกคอหรือมีรสนิยมเดียวกัน ก็สามารถกลายมาเป็นมิตรแท้แบ่งปันสุขทุกข์ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
สำหรับคนที่อยากเข้าร่วม Social Dining ไม่จำเป็นต้องไปออกรายการทีวี Come Dine With Me เพราะในวันนี้มีแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ที่ให้บริการจัดมื้ออาหารเพื่อเข้าสังคม อย่างเว็บไซต์ eatwith ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดย กาย มิชลิน (Guy Michlin) และเชเมอร์ ชวาร์ส (Shemer Schwarz) ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแรกๆ ในการเป็นสื่อกลางระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยวกับเจ้าบ้าน หรือ Host ผ่านมื้ออาหารท้องถิ่น ทั้งคนพื้นที่ที่เปิดบ้านเพื่อทำอาหารให้นักท่องเที่ยวกิน และทัวร์กินอาหารในท้องถิ่น รวมถึงคลาสสอนทำอาหารแบบกลุ่ม เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมการกินและประสบการณ์อื่นๆ บนโต๊ะอาหารกับชาวต่างชาติ
ปัจจุบัน eatwith ขยายฐานไปมากกว่า 130 ประเทศ มีสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อกินอาหารท้องถิ่นคือ คือกรุงโรม ประเทศอิตาลี, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะเหมาะกับนักท่องเที่ยวและยังไม่เป็นที่นิยมในไทย แต่ในเว็บไซต์ยังเห็นเจ้าบ้านคนไทยเปิดทริปฟู้ดทัวร์และสอนทำอาหารไทยให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่บ้าง
ทั้งนี้คนไทยสามารถเข้าร่วม Social Dining ได้หากเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยปักหมุดเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทาง การค้นหากิจกรรมที่สนใจ แล้วจองผ่านเว็บไซต์ eatwith
ถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่าน่าจะดีไม่น้อย หากได้พบปะกับคนในเมืองเดียวกัน ผ่าน Social Dining เพื่อหาเพื่อนใหม่ๆ สามารถชวนกันไปทำกิจกรรมอื่นนอกจากการกินอาหารได้ในอนาคต ไอเดียนี้เกิดขึ้นที่ Club Sub คอมมูนิตี้ให้คนมาปฏิสัมพันธ์กันผ่านอาหารในประเทศออสเตรเลีย โดย โซฟี แม็กอินไทร์ (Sophie Mcintyre) ผู้เริ่มจัดอีเวนต์กินอาหารในปี 2021 หลังจากการระบาดของโควิด-19 โดยเริ่มจากกิจกรรมเล็กๆ มีแขกจำนวน 12 คนบนโต๊ะยาว
ปัจจุบัน Club Sub จัดกิจกรรมในเมืองเมลเบิร์น ซิดนีย์ และบริสเบน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้คนกล้าสนทนากับคนแปลกหน้า เบี่ยงเบนความสนใจของมนุษย์ออกจากโทรศัพท์ ยกเว้นการแลกเบอร์โทรกัน และเชื่อว่าคนแปลกหน้าจะกลายเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยได้หลังจบมื้ออาหาร
เช่นเดียวกับ Timeleft แพลตฟอร์มสัญชาติออสเตรเลีย ที่เป็นตัวกลางในการจับกลุ่มคนแปลกหน้า 5 คน เพื่อกินอาหารในทุกคืนวันพุธ โดยความพิเศษคือ ผู้เข้าร่วมต้องทำแบบสอบถาม ทดสอบบุคลิกภาพและความสนใจก่อน เพื่อจัดกลุ่มที่สามารถเข้ากันได้ และ Timeleft จะช่วยเลือกร้านอาหารให้ตามงบประมาณด้วยเช่นกัน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สามารถจองได้ผ่านทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ให้บริการใน 65 ประเทศทั่วโลก แต่ไม่รวมกรุงเทพฯ
นอกจากแพลตฟอร์มที่กล่าวมา ยังมีผู้ให้บริการจัดกิจกรรม Social Dining เจ้าอื่นให้เปิดให้จองผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างกลุ่มเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม เช่น ‘Ourtable’ ของเชฟมอลลี เนลสัน-วิลเลียม (Mollie Nelson-Williams) ที่เปิดให้จองผ่านอินสตาแกรมแอ็กเคานต์ itsourtable หรือจะเป็นแอปพลิเคชัน Butter ที่เน้นไปที่กิจกรรมดื่มกาแฟยามเช้า ในทำนองเดียวกับ Social Dining อีกด้วย
หากย้อนกลับมาที่ประเทศไทย แม้จะยังไม่มีแพลตฟอร์มที่ขยายตลาดมายังบ้านเราอย่างเต็มที่ แต่เรายังสามารถร้างกลุ่ม หรือคอมมูนิตี้ให้คนแปลกหน้ามากินข้าวร่วมกันได้ผ่านทางโซเชียลฯ หรืออย่างร้านอาหารก็สามารถใช้โมเดลธุรกิจนี้ในการเริ่มต้นจัดกลุ่มคนที่ไม่รู้จักกัน ให้มาร่วมโต๊ะอาหารเพื่อ Social Dining ได้ในอนาคต
ที่มา:
– https://www.sbs.com.au/food/article/social-dining-apps/87w9fwko6
– https://www.eatwith.com/blog/2017/06/22/social-dining
– https://www.clubsup.com.au/about
Tags: Extrovert, eatwith, Club Sup, อาหาร, Timeleft, Feature, กินข้าวกับคนแปลกหน้า, Business, เอ็กซ์โทรเวิร์ต, lifestyle, Social dining