เสียงสวดภาษาคุรมุขีล่องลอยสะท้อนอยู่ภายในโถงขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างงดงาม ผนังและพื้นหินอ่อนประดับประดาด้วยลวดลายหรูหราสีทอง ให้ความรู้สึกสงบและขรึมขลัง 

บรรดาชาวซิกข์ทั้งชายหญิง เด็กไปจนถึงผู้เฒ่าจำนวนมากที่มาร่วมพิธี ต่างเปล่งเสียงสวดมนต์อย่างพร้อมเพรียง ดังเบาตามบุคลิกแต่ละคน หากดูจากภายนอก ผู้ชายโพกผ้าและไว้หนวดเครา ส่วนผู้หญิงสวมชุดแบบซัลวาร์-กามีซ หรือเสื้อแขนยาว และสวมผ้าคลุมศีรษะ 

ศาสนิกชนทั้งหมดต่างมุ่งความสนใจไปยังบัลลังก์เบื้องหน้าบริเวณใจกลางโถง ที่มีพระมหาคัมภีร์ ซึ่งชาวซิกข์นับถือสูงที่สุดประทับอยู่ โดยมีผู้นำสวดกำลังปฏิบัติภารกิจอันสำคัญ ในการนำพระวจนะมาสู่พี่น้องผู้ศรัทธา ให้ได้ระลึกเตือนใจถึงธรรมของพระศาสดาซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐสุดของชาวซิกข์

เรามาเยือน ‘คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา’ (วัดซิกข์) วัดซิกข์แห่งแรกของไทย และศาสนสถานอันเป็นศูนย์กลางของชาวซิกข์ในประเทศไทย ในวันสำคัญทางศาสนาของชาวซิกข์ นั่นคือ ‘วันปฐมประกาศ’ หรือวันที่มีการอ่านพระมหาคัมภีร์ที่เสร็จสมบูรณ์ต่อหน้าศาสนิกชนเป็นครั้งแรกของชาวซิกข์ในอดีต

นอกจากบรรยากาศแห่งความศรัทธาของวันสำคัญนี้ เรายังมีโอกาสได้เยี่ยมเยือนวัดซิกข์ในมุมต่างๆ ผ่านศาสนิกชนชาวซิกข์อย่าง สัตนาม ซิงห์ เพื่อทำความรู้จักวัดเก่าแก่แห่งนี้ให้มากขึ้น รวมถึงหัวใจสำคัญของศาสนาซิกข์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

วันปฐมประกาศของพระศาสดาศรีคุรุครันถ์ซาฮิบ ถือเป็นวันสำคัญของศาสนิกชนชาวซิกข์

ตั้งแต่สมัยของพระศาสดาคุรุนานักพระองค์แรกของศาสนาซิกข์ เมื่อพระองค์ได้รับบัญชามาจากพระเจ้า หรือมีธรรมปรากฏแก่พระองค์ที่ไหนก็ตาม เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไปที่ไหน จะแสดงธรรมให้ใคร พระองค์จะทรงจดบันทึกไว้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า คุรุบาณี หรือวจนะของพระศาสดา เป็นเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งกลายเป็นพระมหาคัมภีร์เล่มหนึ่ง

ระหว่างจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ที่แสดงธรรม โน้มน้าวให้ผู้คนรู้จักปฏิบัติตนตามครรลองครองธรรม พระองค์ทรงพบกับสัตบุรุษหลายท่าน ซึ่งได้รับธรรมมาจากพระเจ้าเหมือนกัน พระองค์จึงเห็นว่า แนวคิดของพระองค์กับสัตบุรุษเหล่านั้นเหมือนกัน จึงหยิบเอาธรรมของสัตบุรุษเหล่านั้นมาบันทึกไว้ในสมุดของพระองค์ด้วย

พระศาสดาคุรุนานักทรงบันทึกธรรมเรื่อยมาและส่งต่อจนถึงพระศาสดาองค์ที่ 5 ชื่อคุรุอารยัน และทรงมีดำริว่า ธรรมเหล่านี้เป็นของประเสิรฐที่หาค่าไม่ได้ และเป็นแสงสว่างแห่งมนุษยชาติ พระองค์จึงทรงโปรดให้ถ่ายทอดธรรมเหล่านี้ทั้งหมดขึ้นมาในรูปของมหาคัมภีร์ โดยที่พระองค์เป็นผู้ชำระทุกอย่างเอง ทุกถ้อยคำ ทุกอักขระ และทรงถ่ายทอดบรรยายให้ชาวซิกข์ผู้รอบรู้เขียนและตรวจสอบทุกอย่าง จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่มของพระมหาคัมภีร์พระองค์ใหญ่ ณ ขณะนั้นซึ่งเรียกว่า ‘อาทิครันถ์’

ระหว่างนั้น พระองค์ก็สั่งให้จัดสร้างสุวรรณวิหารขึ้นมาควบคู่กัน เมื่อวิหารและพระมหาคัมภีร์เสร็จสมบูรณ์ พระองค์ทรงอัญเชิญพระมหาคัมภีร์เข้าสู่มหาวิหารนั้น และให้ประทับที่นั่น เพื่อเปิดอ่านต่อหน้าศาสนิกชนเป็นครั้งแรก

และชาวซิกข์จึงเรียกวันดังกล่าวว่า วันปฐมประกาศ และเป็นวันที่ชาวซิกข์เฉลิมฉลองกันเรื่อยมาทุกปี

สำหรับกิจกรรมสำคัญของวันปฐมประกาศ (รวมถึงวันสำคัญอื่นๆ ของชาวซิกข์) คือการสวดพระวจนะ เนื่องจากการเฉลิมฉลองทางศาสนาซิกข์ไม่มีการร้องรำทำเพลง หรือการทำความบันเทิง โดยก่อนถึงวันปฐมประกาศ 2 วัน จะมีศาสนิกชนมาร่วมทำหน้าที่อ่านพระมหาคัมภีร์ ซึ่งมีทั้งหมด 1,430 อังคะ (หน้า) หมุนเวียนกันไปตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายแบบต่อเนื่องตลอดวันตลอดคืน จนกระทั่งมาจบที่เช้าวันปฐมประกาศ ซึ่งเป็นวันที่สาม

และเมื่อถึงวันปฐมประกาศ ก็จะมีพิธีอัรด๊าส ซึ่งคือพิธีอธิษฐาน ขอพร และขอบพระคุณพระศาสดา ที่ทรงประทานโอกาสให้อ่านพระมหาคัมภีร์นี้ และเริ่มกิจวัตรต่อไปหลังจากนั้น เช่น การสวดขอพร การบรรยายธรรม หรือการเล่าประวัติให้คนที่ไม่รู้หรือคนที่ยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง มาเติมเต็มให้เข้าใจ

สำหรับผู้ที่จะมานั่งอ่านพระมหาคัมภีร์บนบัลลังก์ มีข้อกำหนดคือ หนึ่ง ไม่สำคัญว่าเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือคนเฒ่าคนแก่ เพราะซิกข์สอนเรื่องความเท่าเทียมและถือว่ามนุษย์ทุกคนล้วนถูกสร้างสรรค์มาจากพระเจ้าทั้งหมด แต่ต้องเป็นซิกข์ที่สมบูรณ์ หมายถึงมีวัตรปฏิบัติถูกต้องตามทำนองครองธรรมของซิกข์

ระหว่างวันปฐมประกาศที่มีผู้มาร่วมพิธีจำนวนมาก จะมีกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นพี่น้องชาวซิกข์มาช่วยทำหน้าที่บริการ คอยดูแลตามจุดต่างๆ หนึ่งในนั้นคือโรงครัวพระศาสดา

ทุกวันที่ทำพิธีจะมีอาหารคอยบริการในโรงครัวพระศาสดาให้ศาสนิกชนที่เข้าร่วม เมนูหมุนเวียนเปลี่ยนไป โดยแบ่งเป็นอาหารว่างที่เป็นขนมอินเดียกินคู่กับชาร้อน เช่น มัทที ซาโมซ่า ปาท่องโก๋ แซนด์วิช และอาหารกลางวัน

บรรยากาศภายในโรงครัวพระศาสดาเป็นโถงกว้างใหญ่ ที่น่าสนใจคือไม่มีโต๊ะหรือเก้าอี้สำหรับนั่งกินอาหาร แต่ทุกคนต้องนั่งบนพื้นเหมือนกัน (ยกเว้นผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ กายภาพ จะมีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งตามปกติ) เพื่อสื่อเป็นนัยว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกชนชั้น ไม่มีวรรณะในศาสนาซิกข์ และทุกคนล้วนเป็นลูกของพระเจ้า

ภายในวัดซิกข์มีจุดสำหรับบริการรับฝากรองเท้า เป็นพื้นที่ที่ทำเป็นห้องเล็กๆ อยู่ต่ำลงไปกว่าพื้นปกติ แบ่งเป็นสองฝั่ง คือฝั่งผู้ชายและฝั่งผู้หญิง โดยมีอาสาสมัครที่มาทำหน้าที่คอยรับรองเท้าและให้ป้ายเลขรับฝากแก่ผู้มาเยือ

ชาวซิกข์ถือว่าการบริการรับใช้ผู้อื่นเป็นการฝึกฝนตนเอง เพราะทุกคนมีอัตตาอยู่ในใจ เมื่อมีอะไรมากระทบนิดหนึ่ง ก็กระทบอัตตาเรา เราถือว่าเป็นการหยามเกียรติ หมิ่นศักดิ์ศรี ทั้งที่ในสายตาพระเจ้าไม่มีใครสูงใครต่ำ ศาสนาซิกข์จึงสอนเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตน การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพรัก ให้เกียรติกับทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร

การปฏิบัติบริการรองเท้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวซิกข์นิยมทำ เพราะการรับรองเท้าจากคนแปลกหน้ามา บางครั้งเช็ดถูให้ ดูแลรักษาให้ ถือเป็นการรับใช้พระเจ้าเช่นกัน บางคนที่อาสามาทำตรงนี้เป็นระดับเศรษฐีก็มี และเมื่อทำเช่นนั้น ความอหังการที่มีในจิตใจจะเบาบางลง เป็นการฝึกปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการสวดมนต์

สำหรับวัดซิกข์แห่งนี้มีทั้งหมด 6 ชั้น โดยชั้นหนึ่งจะเป็นโถงกลางสำหรับต้อนรับผู้มาเยือน ชั้นสองเป็นโรงครัว ชั้นสามเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ ชั้นสี่เป็นโถงปฏิบัติธรรม ชั้นห้าแบ่งเป็นห้องเล็กๆ สำหรับเป็นโรงเรียนสอนผู้ที่มาเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเป็นการสอนภาษา สอนอ่านธรรมมะ สอนศิลปะ และสอนดนตรีให้เด็กและคนทั่วไป

ขณะที่ชั้นหกเป็นชั้นที่ประทับของพระศาสดาหรือพระมหาคัมภีร์ในเวลากลางคืน แบ่งเป็นห้องให้ศาสนิกชนเข้าไปอ่านพระคัมภีร์ส่วนตัว เพื่อทำความรู้ ความเข้าใจ ในบรรยากาศเงียบสงบ

เรามีโอกาสได้พบกับ สัตนาม ซิงห์ สมาชิกของวัดซิกข์และวิทยากร ผู้อยู่กับวัดซิกข์มาตั้งแต่ยังเป็นอาคารหลังเก่า เขาเป็นผู้พาเราเข้าร่วมพิธีวันปฐมประกาศ รวมถึงพาเราเดินดูส่วนต่างๆ ของวัดซิกข์แห่งนี้

สัตนาม ซิงห์อธิบายให้เราฟังหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘5 ก’ หรือสัญลักษณ์ที่แสดงตนว่าเป็นคนซิกข์ อันได้แก่

ก เกศา หมายถึง ผม หนวด จะไม่ตัดตลอดชีวิต

ก กังฆะ หมายถึง หวีไม้ที่พกประจำตัวทุกคน เมื่อไว้เกศาแล้วไม่ปล่อยให้รุงรัง ต้องเรียบร้อย สง่างาม เพราะพระองค์ทรงโปรดให้ซิกข์ต้องหวีผมอย่างน้อยสองครั้ง เช้า-เย็น จะมากกว่านั้นไม่เป็นไร แต่ห้ามทำให้เกศาสกปรกรุงรัง ซิกข์จึงโพกผ้าศีรษะด้วย เพื่อรักษาให้สะอาด อนึ่งผ้าโพกศีรษะยังมีนัยอีกอย่าง คือเป็นการแสดงถึงความมีศักดิ์ศรีและเกียรติยศ

ก กะรา หมายถึง กำไลเหล็กที่ทุกคนต้องสวมเอาไว้ เป็นกำไลชนิดอื่นไม่ได้ ต้องเป็นเหล็กอย่างเดียว ถือเป็นเครื่องหมายที่ระลึกถึงพระศาสดาว่า ผูกพันกับซิกข์ขนาดไหน เมื่อเห็นสิ่งนี้ก็จะเป็นเครื่องเตือนใจว่า พระองค์สถิตอยู่กับซิกข์

ก กิรปาน หมายถึง ดาบประจำกายไว้ปกป้อง เนื่องจากสมัยก่อน ชาวบ้านมักถูกข่มเหงจากผู้มีอำนาจ ใช้ดาบบังคับ ผู้หญิงบางคนถูกฉุดไปข่มเหง พระองค์จึงโปรดให้ซิกข์ทุกคนมีดาบประจำกาย มิใช่เอาใช้ทำร้ายผู้อื่น แต่ให้ป้องกันตัวเอง ป้องกันศักดิ์ศรีตัวเอง และป้องกันผู้ที่อ่อนด้อยกว่า ส่วนความยาวสั้นใหญ่หรือเล็กของดาบแล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน

ก กะแฉรา หมายถึง ชั้นในที่ทุกคนต้องสวมใส่ เนื่องจากสมัยก่อนคนไม่นิยมสวม เวลาขึ้นช้าง ขี่ม้า ออกรบ หรือปฏิบัติภารกิจ จึงอาจดูอุจาดตา สิ่งนี้จึงช่วยทำให้เกิดความสง่างาม คล่องตัว และเป็นนัยว่า ซิกข์จะไม่ประพฤติผิดในกามด้วย

หลังจากเดินชมวัดซิกข์ สัตนาม ซิงห์ พาเรามานั่งสนทนา เขาเล่าให้เราฟังว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีวัดซิกข์ประมาณ 16-17 แห่ง กระจายกันอยู่ตามที่ซิกข์อาศัยอยู่ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง โคราช อุบลราชธานี ภูเก็ต สมุย ยะลา ชลบุรี แล้วก็กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางใหญ่ เนื่องจากที่ไหนมีชาวซิกข์อาศัยอยู่ ก็มีความจำเป็นต้องใช้สถานที่ประกอบศาสนกิจ แม้ไม่ได้ใหญ่โตมาก หรือบางแห่งอาจเป็นเพียงคูหาเล็กๆ แต่ความใหญ่โตไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ

“ขอให้มีที่เหมาะสมในการประกอบศาสนกิจเป็นเรื่องสำคัญ” สัตนาม ซิงห์เล่า

สัตนาม ซิงห์มองว่า ทุกวันนี้ จำนวนศาสนิกชนซิกข์ที่เพิ่มมากขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นได้ชัด อีกเรื่องคือการใช้ภาษา เนื่องจากเดิมทีบรรพบุรุษพวกเขาพูดไทยไม่ได้ หรือพูดได้น้อยมาก จึงสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องกับพี่น้องคนไทย ทำให้การเผยแผ่ศาสนาซิกข์ในหมู่คนไทยเป็นอุปสรรค

“คนไทยหลายคนไม่รู้ว่าซิกข์คืออะไร หลายคนคิดว่าเราเป็นอิสลามก็มี เนื่องจากสมัยบรรพบุรุษของเราไม่รู้ภาษาไทย รุ่นต่อมาเริ่มพูดไทยได้แล้ว เพราะเขาเกิดโตที่นี่ เรียนหนังสือที่นี่ ก็ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง มีการเผยแผ่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น”

ท้ายที่สุด สัตนาม ซิงห์กล่าวว่า หัวใจสำคัญของซิกข์คือสิ่งที่หลายคนมักมองข้าม เพราะสนใจเพียงแค่คำถามที่ว่า ‘ทำไมซิกข์ต้องโพกผ้า’ หรือ ‘ซิกข์รับประทานหมูหรือไม่’ ก่อนอธิบายให้เราฟังว่าสิ่งเหล่านั้นคืออะไร

“หนึ่ง เชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว ไม่เชื่อว่ามีหลายองค์”

“สอง เชื่อในคำสอนของพระศาสดาทั้ง 10 พระองค์ รวมทั้งคำสอนพระวจนะในพระมหาคัมภีร์เท่านั้น ว่าจะนำพาชีวิตให้หลุดพ้น พบแสงสว่างได้”

“สาม ไม่เชื่อสิ่งงมงายทั้งหลาย เครื่องรางของขลัง คาถาอาคม ไสยศาสตร์ มนตร์ดำ ลางร้าย ลางดี”

“สี่ ถ้าจะเป็นซิกข์ที่สมบูรณ์ ต้องเข้าพิธีปาหุล หรือพิธีปฏิญาณตนว่า ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะนับถือแต่ธรรมของพระศาสดาเท่านั้นเป็นหลักของชีวิต และไม่ยึดถือสิ่งอื่นสิ่งใดอีกต่อไป ละความเชื่อเดิม และเชื่อในพระธรรมอย่างเดียว”

“ห้า ซิกข์ต้องสวดมนต์อย่างน้อยวันละสามครั้ง แบ่งเป็นเช้าสามบท โพล้เพล้หนึ่งบท และก่อนนอนอีกหนึ่งบท”

Fact Box

สำหรับผู้ที่สนใจมาเยี่ยมชมความสวยงามของวัดซิกข์คุรุดวาราศรีคุรุสิงห์สภา หรืออยากมาร่วมพิธีกรรมทางศาสนา สามารถเดินทางมาได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-20.00 น.

Tags: , , ,