หากเรากินข้าวไม่หมดจาน ขยะอาหารเหล่านั้นจะย่อยสลายเองได้ไหม

ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ขยะอินทรีย์จำพวกเศษผักผลไม้หรือเศษเนื้อสัตว์ สามารถย่อยสลายได้ แต่กระบวนการย่อยประกอบด้วยช่วงเวลาของการเน่าเสีย ก่อให้เกิดเชื้อโรค อีกทั้งขยะอาหารในแต่ละวันยังมีจำนวนมากถึงหลายพันตัน หากเราเทเศษอาหารปะปนไปกับขยะอื่นๆ ก็ส่งผลกระทบต่อระบบรีไซเคิลอย่างแน่นอน

เป็นเหตุให้ แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ หรือ PEAR is hungry จึงได้ก่อตั้ง aRoundP เพื่อรณรงค์ในแคมเปญ ‘กินหมดจาน’ และวันนี้เดินทางมาถึงซีซั่นที่ 2 แล้ว โดยความพิเศษในครั้งนี้คือการจัดทำไกด์บุ๊ก (Guide Book) กินหมดจาน ที่รวบรวม 50 ร้านอาหารในกรุงเทพฯ จากร้านโปรดของเหล่า KOLs (Key Opinion Leaders) ทั้ง 50 คน ซึ่งเป็นร้านอร่อยที่มั่นใจได้ว่า อร่อยกินหมดจานแน่นอน เพื่อเข้าสู่โครงการ Restaurant Makeover ปรับเปลี่ยนระบบการแยกขยะในร้านอาหาร ก่อนจะส่งต่อให้ทางกรุงเทพมหานครจัดการต่อไป

ในวันนี้ The Momentum ตามแพรไปผจญภัยดูเส้นทางของขยะอาหารจากร้าน Karo Coffee Roasters ซอยปรีดีพนมยงค์ และร้าน No Name Noodle ซอยสุขุมวิท 26 ในโครงการ Restaurant Makeover รวมถึงไปชมเครื่องมือจัดการขยะอาหารที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารอย่างขะมักเขม้นของสำนักงานเขตวัฒนา

เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว กินข้าวไม่หมดสะเทือนถึงโลก

เรานัดพบกับทีมงานของ aRoundP ที่ร้าน Karo Coffee Roaster ซึ่งคนดังที่เป็นคนเลือกร้านนี้ให้มาอยู่ในกินหมดจานไกด์บุ๊กคือ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. โดยโครงการ Restaurant Makeover หรือโครงการพัฒนาศักยภาพร้านอาหาร สู่ต้นแบบการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นโครงการ aRoundP ทำร่วมกับกรุงเทพมหานครและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เมื่อย้อนกลับถึงจุดเริ่มต้นแคมเปญกินหมดจานซีซั่นแรก พิมพ์ลดาเล่าว่า การกินข้าวไม่หมดจาน เหลือขยะอาหารทิ้ง อาจสร้างผลกระทบต่อโลกได้มากกว่าที่เราคิด

“หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า การกินไม่หมดจานของเรามันสร้างปัญหาอีกมากมาย เมื่อคุณกินข้าวไม่หมดมันสะเทือนถึงโลกเลยนะ เพราะว่าขยะอาหารที่มันเกิดขึ้นมันมีปัญหาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกลิ่น เชื้อโรค หรือว่าโรคระบาดที่จะตามมา และทำให้ระบบรีไซเคิลพัง เพราะว่าทุกอย่างที่เลอะเศษอาหารจะนำไปรีไซเคิลต่อไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการที่ย่อยไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนที่ส่งผลกับโลก ที่เราเห็นภาพฝนตกน้ำท่วมต่างๆ จุดเริ่มต้นมาจากแค่ข้าวที่กินไม่หมด” พิมพ์ลดาเล่า

ซึ่งความสำเร็จของกินหมดจานซีซั่นแรกคือ การตอบรับจากผู้คนที่หันมาสนใจเรื่องขยะอาหารมากขึ้น ตรงตามเป้าประสงค์ของการรณรงค์ จึงได้ต่อยอดมาถึงซีซั่น 2

“ปีแรกเราอยากสร้างแค่ความตระหนักรู้ให้คนก่อน ทำอย่างไรก็ได้ให้มันสนุก แล้วคนรู้สึกว่าสามารถเข้ามาร่วมสนุกกับสิ่งนี้ได้ เมื่อเราทำได้ในซีซั่นแรก ในซีซั่นที่ 2 เราก็อยากให้ทำให้มันแข็งแรงขึ้น เหมือนเป็นชาเลนจ์ให้คนที่มาเข้าร่วมด้วย อีกทั้งยังชาเลนจ์ให้กับตัวเอง เพราะตอนแรกทำแค่เรื่องของการสร้างความตระหนักรู้ในช่องทางโซเชียลมีเดีย คราวนี้เรามาลองถึงเรื่องระบบบ้างดีกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ชวนคนมากินหมดจาน กินที่ไหนยังไงก็ได้ แต่ถ้ามากินที่ 50 ร้าน กินหมดจาน ไกด์บุ๊ก จะได้โปรโมชันจากทางร้านทันที ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีโปรโมชันไม่เหมือนกัน”

พิมพ์ลดาเล่าต่อไปว่า ที่มาของ 50 ร้าน ได้ผ่านระบบการจัดการในโครงการ Restaurant Makeover โดยวิธีการคือ ทีม aRoundP จะเข้ามาที่ร้านอาหารที่ KOLs ทั้ง 50 คนเป็นคนแนะนำ เพื่อมาดูจุดกำเนิดของขยะอาหารในแต่ละร้านว่าเป็นอย่างไร แล้วช่วยร้านอาหารปรับปรุงวิธีการจัดการขยะ ทั้งกระบวนการแยกขยะ หรือเพิ่มถังขยะให้ และการส่งต่อให้ทาง กทม. ซึ่งบางร้านก็มีแนวคิดที่อยากลดขยะอาหารและจัดการให้เป็นระบบอยู่แล้ว พอโครงการนี้ลงไปช่วยก็ทำให้หลายร้านได้รู้ว่า การแยกขยะอาหารไม่ใช่เรื่องยากหรือวุ่นวายอย่างที่คิด แล้วเริ่มทำจนเกิดความเคยชิน

เมื่อได้รู้กระบวนการทำงานของโครงการแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะได้เข้าไปดูว่า ร้านอาหารมีวิธีแยกขยะอย่างไร ทั้งร้าน Karo Coffee Roasters และ No Name Noodle ซึ่งจุดนี้ทำให้เราได้ทราบว่า ในแต่ละเขตพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีการแยกขยะไม่เหมือนกัน ความพิเศษของเขตวัฒนาคือ ทางเขตจะบอกให้ร้านอาหารแยกเปลือกไข่ออกมาต่างหาก เพื่อไม่ให้ปะปนกับขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่าย เพราะเปลือกไข่เป็นขยะที่อาหารที่ย่อยสลายได้ยากกว่า

สำหรับร้าน Karo Coffee Roasters ในเขตวัฒนา แม้จะเป็นคาเฟ่ ขายกาแฟ กับอาหารง่ายๆ แต่ก็ยังมีขยะอาหารจากการประกอบอาหาร รวมถึงกากกาแฟ โดยทางโครงการได้เพิ่มถังขยะให้กับร้าน เพื่อแยกขยะอาหารจากครัวกับขยะอาหารที่บาร์ออกจากกัน

การที่ทั้ง 50 ร้าน เป็นร้านอาหารที่ได้รับการการันตีว่า อร่อยจนกินหมดจาน แน่นอนว่าขยะอาหารจากการกินเหลือคงมีไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามหลังครัวก็ย่อมมีขยะอาหารที่เหลือทิ้งจากการประกอบอาหารแต่ละเมนู แต่เมื่อได้มาเยือนร้าน No Name Noodle ที่เป็นร้านราเมนแล้ว นี่คงเป็นร้านที่มีขยะจากครัวน้อยมาก เพราะด้วยตัวคอนเซปต์ของร้านที่เน้นวัตถุดิบทุกส่วนอย่างคุ้มค่า ขยะอาหารจากครัวร้านนี้จึงเป็นประเภทน้ำซุป และโครงกระดูกสำหรับต้มซุป ซึ่งมีวิธีการจัดการที่ไม่ซับซ้อน

โดยพิมพ์ลดาเสริมว่า พวกขยะอาหารทางร้านจะประสานกับทาง กทม.ให้นำขยะอาหารใส่ถุงดำแล้ววางไว้ในพื้นที่ที่ตกลงไว้กับทาง กทม. และแปะป้ายว่านี่คือขยะอาหาร เพื่อให้พนักงาน กทม.ที่ทำหน้าที่เก็บขยะทำงานได้ง่ายขึ้น

เริ่มที่ตัวเองจะช่วยโลกได้มากแค่ไหน

เราได้เห็นการรณรงค์การแยกขยะของทางร้านอาหารแล้ว นอกจากนี้พิมพ์ลดายังแบ่งปันวิธีลด Food Waste ในครัวเรือนที่บ้านของเราเอง โดยเธอเชื่อว่าการเริ่มต้นที่ต้นทางจะช่วยลดปัญหาขยะอาหารได้มากที่สุด

“จริงๆ การช่วยลด Food Waste มันไม่ได้ทำได้แค่วิธีกินหมดจานวิธีเดียว มันทำได้เยอะมาก เริ่มตั้งแต่ต้นทางลดปัญหาได้มากสุด ถ้าเราเป็นคนทำอาหาร เราต้องเริ่มตั้งแต่คิดก่อนว่าสัปดาห์นี้จะทำอะไร แล้ววางเป้าหมายการซื้อวัตถุดิบ เปลี่ยนวิธีการเก็บวัตถุดิบที่สามารถยืดอายุได้มากขึ้น หรือมีการรื้อตู้เย็นบ่อยๆ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เรามีคืออะไร แพลนที่เราจะทำคืออะไร อันนี้มันจะเป็นการลด Food Waste ได้ตั้งแต่เรื่องของวัตถุดิบ แล้วก็จะมีเรื่องของการปรุงอาหารอีกว่าทำอย่างไรที่เราจะสามารถเอาเมนูที่เรากินไม่หมดจากเมื่อวาน เอามาทำเป็นเมนูใหม่ ที่เรายังกินได้อยู่ อร่อยได้อยู่ ซึ่งถ้ายังคิดไม่ออกก็สามารถไปดูได้ใน PEAR is hungry” พิมพ์ลดาแบ่งปันวิธี

แต่เมื่อถึงจุดนี้ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การเริ่มต้นที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าวให้หมดจาน การแยกขยะอาหารทั้งในครัวเรือน หรือของร้านอาหาร เพื่อไม่ให้เกิด Food Waste คนตัวเล็กๆ อย่างเรา จะสามารถช่วยกอบกู้โลกจากวิกฤตการณ์โลกร้อนได้มากน้อยแค่ไหน

“เราคิดเรื่องนี้เสมอว่า มันไม่สามารถเริ่มต้นที่ใครคนใดคนหนึ่งอย่างเดียวได้ เพราะทุกคนต้องออกมาร่วมด้วยช่วยกันไปพร้อมๆ กัน ทุกคนที่อยู่ในสังคมนี้ ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร หน้าที่ไหน มันต้องออกมาทำร่วมกัน

“แต่เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า พื้นที่ของคนตัวเล็กๆ ที่ต้องการทำบางอย่าง หรือขับเคลื่อนสังคม อาจเห็นแรงกระเพื่อมทางสังคมไม่ชัด ท้ายที่สุดแล้วคนที่ลงมือทำแล้วเห็นผลชัดเจนที่สุดคือคนตัวใหญ่กว่า ทั้งภาครัฐหรือเอกชน หรือภาคส่วนที่ออกกฎต่างๆ ทุกคนมีหน้าที่และกระบวนการที่แตกต่างกัน แต่ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งที่จะต้องออกมาขับเคลื่อน มันต้องทำไปพร้อมๆ กัน” พิมพ์ลดาพูดเสริม

ด้วยเหตุนี้ aRounP จึงต้องอาศัยการร่วมมือจากภาครัฐบาลและเอกชน โดยทาง กทม.ได้ลงมือลงแรงในโครงการนี้อยู่เช่นกัน โดยเฉพาะสำนักงานเขตวัฒนาที่เราได้เดินทางไปดูวิธีกำจัดขยะอาหารในวันนี้

เครื่องกำจัดขยะที่มีชีวิต

ช่วงเวลาที่รอคอยที่สุดของการผจญภัยในเส้นทางขยะอาหารวันนี้คือ การได้เห็นเครื่องแยกขยะของ กทม.สำนักงานเขตวัฒนา ซึ่งภาพในจินตนาการจะต้องเป็นเครื่องจักรนวัตกรรมใหม่ ขนาดใหญ่มหึมา แต่มาถึงแล้วกลับพบว่า เครื่องกำจัดขยะที่ว่ามีขนาดเล็กจิ๋ว ทั้งยังเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะแท้จริงแล้วเป็นหนอนนอนกระดุกกระดิกอยู่ในกระบะกินเศษอาหารอินทรีย์อยู่ ซึ่งเจ้าพวกนี้ชื่อว่า ‘หนอนแมลงทหารดำ (BSF)’ 

โดยข้อมูลจาก พิมพ์จุฑา สกุนสิทธิ์ธาดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตวัฒนา และสุพร คุ้มภัย หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะบอกว่า ปริมาณขยะอาหารที่เขตวัฒนาจากโครงการไม่เทรวม เฉลี่ยวันละประมาณ 2 ตัน จะแยกขยะอินทรีย์อย่างเศษผัก เศษผลไม้ออกมาได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน ให้เจ้าหนอนแมลงทหารดำพวกนี้ก็กินกันจนหมด

ซึ่งข้อดีของการย่อยขยะอาหารออกมาเป็นปุ๋ยด้วยหนอนแมลงทหารดำคือ ไม่สร้างก๊าซมีเทน เหมือนอย่างการหมักปุ๋ยทั่วไป อีกทั้งยังทำงานอย่างขันแข็ง กินเก่งกันมาก

ข้างๆ กันกับกระบะหนอนคือเล้าไก่ เมื่อเจ้าหนอนโตเต็มวัยก็ได้เวลาเป็นอาหารโปรตีนสูงของไก่อีกที จากนั้นแม่ไก่ก็จะออกไข่ สำนักงานเขตก็จะนำไปแจกจ่ายชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป เป็นความภาคภูมิใจของสำนักงานเขตวัฒนา ซึ่งรูปแบบการกำจัดขยะอาหารโดยหนอนแมลงทหารดำของเขตวัฒนานี้ เปิดให้สำนักงานเขตอื่นๆ เข้ามาดูงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย

เส้นทางของขยะอาหาร โดยเฉพาะขยะอินทรีย์เริ่มจากธรรมชาติและจบลงที่ธรรมชาติ ซึ่งกระบวนการการย่อยสลายที่ทำร้ายโลกน้อยที่สุดที่เราได้เห็น เป็นภาพสะท้อนว่าคนในสังคมทั้งภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ เริ่มตื่นตัวเรื่องภาวะโลกรวน และงัดเอาองค์ความรู้ต่างๆ ขึ้นมาประคับประคองโลกเท่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งจะทำได้ แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเท่านั้น

“งานนี้มันเป็นงานมาราธอนจริงๆ ไม่ใช่หมายความว่าเราทำจบโปรเจกต์นี้แล้วมันจะหมด เพราะปัญหามันยังคงอยู่ มันต้องมีการจัดการต่อไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุด ถ้าสิ่งนี้จะยั่งยืนจริงๆ ทุกคนจะต้องทำต่อให้เป็นไลฟ์สไตล์ตัวเองจริงๆ ร้านก็ต้องทำสิ่งนี้ต่อในรูปแบบของร้าน คนที่เป็นผู้บริโภคก็ทำสิ่งนี้ต่อในรูปแบบของเขา ดังนั้น มันต้องไปพร้อมๆ กัน” พิมพ์ลดากล่าวทิ้งท้าย

 

Tags: , , , , , , , , ,