เชื่อว่า ณ เวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ปาป้า-ทูทู่’ (PLA.PLA TOO.TOO) มาสคอตตัวใหม่ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม ที่อยู่ๆ โด่งดังกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืนบนโลกโซเชียลฯ ด้วยคาแรกเตอร์น่ารักน่าหยิก ที่ใครเห็นก็ต้องเผลออมยิ้มตาม

ไม่ใช่แค่ความน่ารักเท่านั้นที่ทำให้มาสคอตตัวดังกล่าวได้รับความนิยม เพราะในตัวคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ ทั้งการหยิบอัตลักษณ์ ‘หน้างอ คอหัก’ จาก ‘ปลาทูแม่กลอง’ ของดีขึ้นชื่อประจำจังหวัดสมุทรสงครามมาใช้ สร้างสรรค์ปลาทู เอเลี่ยนสีฟ้าตัวอ้วนกลม แขนขาสั้นดูตะมุตะมิ จนถึงภูมิหลังที่ผูกโยงกับงานเทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง ครั้งที่ 25 ตอนปลาทูแม่กลองและผองเพื่อน ซึ่งกำลังดำเนินอยู่

ปาป้าพบประชาชน ปาป้าช้อปปิ้งที่ตลาดร่มหุบ ปาป้าไหว้หลวงพ่อบ้านแหลม และล่าสุดปาป้าขอแวะอวดโฉมกับชาว The Momentum เสียหน่อย

แต่ไม่ใช่แค่ปาป้า-ทูทู่ที่แวะมาพบกับเรา เพราะมาสคอตแห่งจังหวัดสมุทรสงครามยังมาพร้อมกับ วิน-ภัทรพงศ์ ชูสุทธิสกุล และเต-ตชสิทธิ์ ยศวิปาน คู่หูผู้ปลุกปั้นเจ้าปลาทู เอเลี่ยนตัวนี้ให้โลดแล่นมีชีวิต ตามความตั้งใจของพวกเขาที่อยากจะสร้างโลคอลคาแรกเตอร์ (Local Character) ให้กับจังหวัดบ้านเกิดตนเอง

เต (ขวา) และวิน (ซ้าย) คู่หู้ผู้ปลุกปั้นคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่

ท่ามกลางบรรยากาศครึกครื้นในงานเทศกาลกินปลาทู ครั้งที่ 25 วินและเตชวนเราหลีกหนีฝูงชนมานั่งสนทนาอย่างเป็นกันเอง แม้ก่อนหน้านี้พวกเขาจะดูจะยุ่งเป็นพิเศษจากการเป็นกำลังหลักของงานดังกล่าว

“ถ้าผมเป็นพ่อของเจ้าปาป้า เตก็น่าจะเป็นแม่ครับ (หัวเราะ)”

วิน อาร์ตไดเรกเตอร์หนุ่มและเจ้าของแบรนด์เครื่องปั้นเซรามิก Sujinosauras เริ่มเท้าความถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ ซึ่งต้องย้อนความกลับไปยังปี 2564 หลังจากวินเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเกิดนึกสนุกอยากสร้างสีสันให้กับบ้านเกิดอย่างจังหวัดสมุทรสงคราม จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ CHANGE 2021: Visual Character Arts ซึ่งเป็นโครงการเฟ้นหานักออกแบบคาแรกเตอร์ที่สามารถสร้างอัตลักษณ์ให้กับประเทศไทย 

วิน: “จากโจทย์ที่เขาให้มาในตอนนั้น ผมก็มาคิดต่อครับว่า มีอะไรในจังหวัดสมุทรสงครามที่สามารถนำมาต่อยอดได้บ้าง จนมานึกถึงปลาทูแม่กลอง ส่วนหนึ่งเพราะตั้งแต่ผมเกิดจนตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ก็ผูกพันกับปลาทู และทุกๆ ช่วงสิ้นปี ผมก็จะเห็นคนในจังหวัดตื่นเต้นกับเทศกาลกินปลาทูมาโดยตลอด 

“ในมุมมองของคนนอกเขาอาจจะเห็นว่างานเทศกาลนี้มีแต่ขายปลาทูหรืออาหารแปรรูปจากปลาทู แต่จริงๆ แล้วในงานยังมีเทศกาลที่น่าสนใจ เช่น งานประกวดดนตรีที่ผมก็เคยขึ้นเวทีมาก่อน อย่างเตก็จะเลือกร่วมกิจกรรมประกวดภาพถ่าย งานประกวดนตรีไทย ประกวดการเล่นโขน หรือกิจกรรมสาระในสวนที่มีประกวดวาดภาพเกี่ยวกับปลาทูก็ตาม 

“ฉะนั้น ผมเลยเลือกอัตลักษณ์หน้างอ คอหักของปลาทูแม่กลอง เพราะไม่ว่าจะคนในจังหวัดหรือคนนอกจังหวัดต่างก็น่าจะรู้จักดี หน้าที่ที่เหลือของผมก็แค่ดีไซน์ยังไงให้คาแรกเตอร์มีความน่าสนใจ

“ส่วนที่สร้างวางคาแรกเตอร์ให้เป็นเอเลี่ยน เพราะผมมีโจทย์ที่อยากให้ปาป้า-ทูทู่ เป็นตัวแทนของคนนอกที่มองเข้ามายังจังหวัดสมุทรสงคราม ว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แล้วทำไมเราถึงหลงรัก ทำไมเราถึงอยากอยู่ที่นี่ ขณะเดียวกัน รูปลักษณ์ภายนอกของปลาทูก็มีความแปลกประหลาดอยู่แล้ว ก็เลยเลือกตีความให้เป็นเอเลี่ยน

ตัวสีฟ้าสลับสีแสดเหลือง แขนขาสั้น ตาดำกลมโต หน้างอคอหัก หัวโตเด่น คือโฉมแรกของคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ ก่อนที่วินจะค่อยๆ สร้างสตอรีคาแรกเตอร์ได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือเป็นเอเลี่ยนจากดาวแมคเคอเคอ เรลเรล มีคู่หูคือ ‘ทูทู่’ หุ่นยนต์รูปทรง ‘กลองใหญ่’ สัญลักษณ์ประจำเมืองแม่กลองเกาะอยู่บนหัว (ดังนั้น เมื่อรวมร่างกันจึงมีชื่อเรียกว่า ปาป้า-ทูทู่) โดยมีภารกิจสำคัญคือ การตามหาบ้านหลังใหม่ให้กับเผ่าพันธุ์ ก่อนมายังโลกและพบกับจังหวัดสมุทรสงคราม กระทั่งเกิดถูกใจอยากลงหลักปักฐานยังจังหวัดแห่งนี้

วิน: “ผมโชคดีนะ งานที่ผมประกวดเขาไม่ได้คาดหวังแค่ว่ามาสคอตจะหน้าตาเป็นอย่างไร น่ารักแค่ไหน แต่เขาตั้งเป้าด้วยว่าจะสามารถต่อยอดมาสคอตตัวนี้อย่างไร และมาสคอตตัวนี้จะสามารถสร้างมูลค่าอย่างไรได้บ้าง ทีมงานผู้จัดเขาก็ยกตัวอย่างคาแรกเตอร์ ‘คุมะมง’ ซึ่งกลายเป็นแบรนด์ดิงสร้างมูลค่าให้กับจังหวัดคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยสิ่งสำคัญที่ทีมงานเขาให้ทำ คือมาสคอตหนึ่งตัวต้องมีวิชวลคาแรกเตอร์ไกด์ (Visual Character Guide) เป็นเหมือนคัมภีร์เล่มหนึ่งที่อธิบายว่า มาสคอตตัวนี้ชื่ออะไร ที่มาเป็นอย่างไร รวมถึง CI Color ที่จะใช้ในสินค้า”

ภายหลังจากงานประกวด วินตัดสินใจยื่นคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ให้กับหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้เป็นมาสคอตในเทศกาลกินปลาทูฯ ครั้งที่ 23 ทว่ากลับถูกปฏิเสธ เนื่องจากในตอนนั้นยังมีผู้ดูแลงานเดิมอยู่แล้ว แต่เพราะความไม่ย่อท้อ เขาจึงชวนเต เพื่อนสนิทสมัยมัธยมฯ ที่ประกอบอาชีพช่างภาพอิสระ เพื่อร่วมโปรเจกต์ปลุกกระแสเจ้าปาป้า-ทูทู่ให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการสร้างเพจเฟซบุ๊ก Plaplatootoo ที่จะพาเจ้าปลาทูเอเลี่ยนไปทำคอนเทนต์อวดของดีและเยือนสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสมุทรสงคราม

วิน: “ตอนนั้นผู้ใหญ่เขายังไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นปาป้า-ทูทู่ ทำไมต้องใช้งบมากมายทำสินค้า ผมเลยบอกกับตัวเองว่า ถ้าจะทำให้เลือกอย่างแรกคือต้องดังก่อน (หัวเราะ) ก็เลยตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก แต่ด้วยมีงานประจำอยู่แล้ว ทำคนเดียวคงจะไม่ไหวเลยชวนเตมาช่วยอีกแรง 

เต: “ตอนวินนำไอเดียมาเสนอ ผมก็ตอบตกลงทันที ผมว่านี่เป็นโอกาสที่น่าสนุกดี แม้ทำแล้วจะไม่ได้เงินก็ตาม (หัวเราะ) หลักๆ ผมช่วยวินเขาถ่ายภาพ ทำคอนเทนต์ต่างๆ ลงในเพจ ซึ่งคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมคือ ‘ปาป้า เพลินเพลิน’ (PLA PLA PLEARN PLEARN) มาจากการเล่นคำว่า ‘PLA PLA’ กับคำว่า ‘Learn’ คือปาป้าพาไปเที่ยวเล่น แต่ก็ได้ความรู้ด้วย ขณะเดียวกัน เราพยายามทำให้ปาป้า-ทูทู่มีคาแรกเตอร์เป็น Positive ใครก็ตามที่เข้ามารู้จักจะได้รอยยิ้มกลับไป 

“อย่างคอนเทนต์ตอนแรกของปาป้า เพลินเพลิน เราพาทำคอนเทนต์กับเพื่อนที่เปิดธุรกิจเซิร์ฟบอร์ดในจังหวัด จากคนแรกก็ส่งต่อคอนเนกชันเรื่อยๆ กลายเป็นเรารู้จักคนในจังหวัดมากขึ้น และเป็นการโปรโมตจังหวัดไปในตัว”

หลังพิสูจน์ความตั้งใจมาตลอด 2 ปี ในที่สุดคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ ที่วินและเตตั้งใจปลุกปั้นมานานก็ได้รับการยอมรับ ทั้งถูกเลือกให้เป็นมาสคอตประจำงานเทศกาลกินปลาทูฯ ครั้งที่ 25 แต่ที่น่าสนใจคือในแต่ละปีงานเทศกาลดังกล่าวจะมี ‘ตอน’ กำหนดทิศทางธีมปีนั้นๆ เช่นในครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการออกแบบคาแรกเตอร์มาสคอต มีการใช้ชื่อตอนว่า ‘ปลาทูเต็มสาว’ ทำให้มาสคอตในปีนั้นมีลักษณะเป็นปลาทูเพศเมีย ทรวดทรงและการแต่งกายคล้ายหญิงสาวแรกรุ่น 

กลับมาที่ภารกิจการตั้งชื่อตอนครั้งที่ 25 ที่อาจกล่าวเป็นนัยว่า เป็นการยกเครื่องงานกินปลาทูแม่กลองให้มีความโมเดิร์นเหมาะกับยุคสมัย แต่ก็ต้องสร้างอิมแพ็กให้กับจังหวัดได้เช่นกัน บทสรุปจึงลงเอยชื่อตอนว่า ‘ปลาทูและผองเพื่อน’ โดยคอนเซปต์ตอนมาจาก ทสม์ เจริญช่าง ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) และเจ้าของสวนมะม่วงหาวมะนาวโห่ ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม อีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงของงาน ที่คิดต่างว่าจังหวัดสมุทรสงครามมีดีกว่าแค่ปลาทูแม่กลอง 

จากโจทย์ข้างต้น วินและเตจึงนำไปต่อยอดสร้างคาแรกเตอร์ผองเพื่อนปาป้า-ทูทู่ อีก 6 ตัว รวมกันเป็น ‘แม่กลองเรนเจอร์’ โดยแต่ละคาแรกเตอร์มีความเกี่ยวโยงกับของดีตามแต่ละอำเภอในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ 

1. น้องมะพร้าว – มะพร้าวอัมพวาหน้าตาจ้ำม่ำ ผู้มีความสุขกับการกิน

2. น้องส้มโอ – แมววิเชียรมาศเพศเมียผู้รักสวยรักงาม ที่สวมส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ไว้บนหัว

3. น้องลิ้นจี่ – สุนัขพันธุ์ทางสีขาวบุคลิกร่าเริง สวมหน้ากากลิ้นจี่พันธุ์ค่อม 

4. น้องเสน่ห์จันทร์ – ขนมไทยเสน่ห์จันทร์ที่ถูกตีความให้มีหน้าตาคล้ายดวงวิญญาณกุมารทองผมจุก บุคลิกเป็นเด็กสดใสร่าเริง ช่างกระตือรือร้น

5. น้องหิ่งห้อย – เด็กน้อยลูกเจ้าคุณสวมแว่นตากันแดด เซเลปคนดังที่ออกมาฉายแสงในคืนเดือนมืด

6. น้องหอยหลอด – เด็กหนุ่มขี้เซาห่มผ้าห่มตลอดเวลา คล้ายหอยหลอดที่นอนมิดชิดอยู่ในสันดอนบริเวณปากน้ำแม่กลอง

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องถามคู่หูคู่นี้ คือความรู้สึกหลังคาแรกเตอร์ที่เกิดจากความตั้งใจสามารถสร้างปรากฏการณ์ภายในจังหวัดและทั่วโลกโซเชียลฯ ซึ่งสร้างผลดีทั้งในแง่ของการเชื้อเชิญร้านอาหารขึ้นชื่อประจำจังหวัดให้มาร่วมออกบูธ รวมถึงนำต่อยอดกาลเป็นแบรนด์ดิง ผลิตสินค้าน่าสนใจ ทั้งตุ๊กตา อาร์ตทอย สเปรย์แอลกอฮอล์ สติกเกอร์ สติกเกอร์ไลน์ พวงกุญแจ และอีกสารพัด

เต: “ย้อนกลับไปตอนนั้นเรายังนั่งหงอยในงานกันอยู่เลยเนอะ (หันไปทางวิน) ผมว่าเอฟเฟกต์ที่เราค่อยๆ หยอดเกิดเห็นผล จากตอนแรกที่เปิดบูธในงานกินปลาทูฯ ปี 2021 ต่อมาก็ตัดสินใจเปิดเพจกัน มียอดแชร์หลักสิบ แล้วอยู่ๆ ก็ได้รับความนิยมพุ่งสูงจนเราตกใจ มีสื่อมาขอสัมภาษณ์ มาขอทำข่าว มีคนอินบ็อกซ์มาถามหาสินค้า”

วิน: “มีอีกโปรเจกต์ด้วยที่เราเสนอกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าอยากทำกาชาปองขาย และนอกจากปาป้า-ทูทู่ เรายังอยากผลักดันตัวคาแรกเตอร์อื่นๆ เพราะอย่างที่บอกว่า จังหวัดของเราไม่ได้มีแค่เทศกาลกินปลาทูฯ แต่ยังมีเทศกาลอื่นๆ ที่น่าสนใจตลอดทั้งปี เช่น เทศกาลลิ้นจี่หรือเทศกาลส้มโอ สิ่งที่เราทำ ผมว่าไม่เชิงการโปรโมตสินค้า แต่เป็นการพาเพื่อนๆ ไปทำความรู้จักจังหวัดสมุทรสงครามผ่านตัวปาป้า-ทูทู่มากกว่า”

“ทั้งทีมมีกันทั้งหมดกี่คนครับ” ผมถามด้วยความสงสัยที่เก็บไว้มาสักพัก เพราะดูจากสิ่งที่พวกเขาทำน่าจะต้องใช้กำลังเยอะพอสมควร

วินและเต: “มีกันเท่านี้ (2 คน) แหละครับ (หัวเราะพร้อมกัน)”

วิน: “คือก่อนเริ่มคอนเทนต์สักชิ้น ผมจะเป็นคนวางสตอรีบอร์ดก่อน จากนั้นก็ติดต่อหาคนที่จะไปสัมภาษณ์ เตเขาก็จะไปลุยหน้างาน เพราะเขาอยู่ประจำที่นี่ ส่วนผมมีงานประจำ ทำให้ต้องไปกลับสมุทรสงคราม-กรุงเทพฯ พอหน้างานเรียบร้อยผมก็จะนำคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ใส่ในภาพ”

เต: “ผมอยากให้มีคนที่ดึงอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของจังหวัดสมุทรสงครามมาใช้อีกนะ ไม่ใช่แค่งานกินปลาทูฯ ของแม่กลอง และอยากให้ปาป้า-ทูทู่สามารถเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม เหมือนที่คุมะมงไอดอลของเรา เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองคุมาโมโตะ เวลาเปิดงาน เวลาออกสินค้าใหม่ บนแพ็กเกจก็จะมีหน้าของคุมะมงปรากฏอยู่

“ว่าง่ายๆ เป็นการปรับภาพลักษณ์จังหวัด จากเดิมใครที่อยากจะรู้จักจังหวัดเราต้องค้นหาเอกสาร เอกสาร แล้วก็เอกสาร แต่ตอนนี้เราสามารถใช้ตัวการ์ตูนเป็นสื่อกลางได้”

วิน: “ผมว่าโจทย์ต่อไปของเราคือ การต่อยอดคาแรกเตอร์นี้ให้เป็นที่จดจำ ในรุ่นเพื่อนๆ ของผมที่เติบโตมีหน้าที่การงาน เขาก็อยากจะกลับมาช่วยซัพพอร์ตดูแลจังหวัดบ้านเกิด

“ผมคิดเสมอนะ ว่าความสำเร็จของคาแรกเตอร์ปาป้า-ทูทู่ ไม่ได้มาจากแค่ผมคนเดียว แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่คนอื่นๆ อย่างพี่ทสน์ พี่เจี๊ยว (สุรจิต ชิรเวทย์ – อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ผลักดันเทศกาลกินปลาทูฯ จนถึงวาระสุดท้าย) พี่หมี (สายัณห์ ตั้งวิชิตฤกษ์ – ผู้ออกแบบคาแรกเตอร์ประจำงานกินปลาทูฯ ตั้งแต่ครั้งที่ 9 จนถึงครั้งที่ 24) ก็ดีใจมากครับที่ทุกคนรักและเอ็นดูปาป้า-ทูทู่ และอยากจะขอบคุณด้วยที่ปาป้า-ทูทู่ทำให้ผมได้กลับบ้านบ่อยขึ้น (หัวเราะ)”

เต: “ก็เชิญชวนมางานกินปลาทูฯ ครั้งที่ 25 ครับ มาสัมผัสวัฒนธรรมของคนแม่กลอง แม่กลองเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ครับ มีตลาดน้ำอัมพวา มีลิ้นจี่ มีส้มโอ อย่าขับเลยกันไปแต่ทะเลหัวหินอย่างเดียว (ยิ้ม)”

หลังสนทนากันพออิ่มเอมใจ เตและวินชวนเรากลับมาที่หน้างานอีกครั้ง จากการสังเกตตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น มีชาวจังหวัดสมุทรสงครามมากหน้าหลายตาทยอยออกมาเดินงาน ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน ส่วนของกินไม่ต้องพูดถึง นอกจากปลาทูนึ่งทอดตัวอวบอ้วนเนื้อมัน ยังมีเมนูอื่นๆ ที่น่าสนใจ ฟากฝั่งของคาว เช่น ทาโกะยากิไส้ปลาทูและใบชะคราม ขนมจีนน้ำยาปลาทูผสมลิ้นจี่ ก๋วยเตี๋ยวหมูย่างกะทิสดอัมพวา ฯลฯ 

ฝั่งของหวานก็ไม่น้อยหน้า เช่น ไอศครีมรูปปลาทูในเข่งที่ดังเป็นไวรัล หรือขนมอาลัวรูปปลาทูจิ๋วก็ดีไม่แพ้กัน

แต่ในเมื่อ The Momentum มาเยือนทั้งที ย่อมต้องมีอะไรพิเศษ แต่ไม่ใช่ของกินใดๆ เพราะเตและวินชวนน้องพลอย Project Coordinator ประจำกองบรรณาธิการผู้น่ารัก เปิดประสบการณ์ใหม่ด้วยการสวมชุดเจ้าปาป้า-ทูทู่ เดินอวดโฉมให้ผู้คนภายในงาน เรียกทั้งรอยยิ้มและเสียงหัวเราะไปตามๆ กัน 

ใครที่อยากมาพบกันเตและวิน รวมถึงมาร่วมสนุกในงานกินปลาทูฯ ครั้งที่ 25 สามารถมาได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2023 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งแต่เวลา 08.00-21.00 น. 

แล้วพบกันนะปาป้า!

Tags: , , ,