ในปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วย HIV ในระบบ 297,022 คน ลดลงจากปีพ.ศ. 2549 ที่มีถึง 6 แสนคน ทั้งวันนี้วิทยาการทางการแพทย์ก็ออกมายืนยันแล้วว่าไม่ใช่ผู้มีเชื้อ HIV ทุกคนจะเป็นผู้แพร่เชื้อ ทุกอย่างมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ทัศนคติของสังคมไทยบางส่วนยังคงกีดกัน และรังเกียจผู้ป่วย HIV ไม่เปลี่ยนแปลง ค่านิยมนี้ทำร้ายผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV และกีดกันพวกเขาออกจากสังคม

“ฉันไม่ผิด ฉันมีสิทธิเหมือนกับคุณ ฉันอยู่ร่วมกับคุณได้ HIV ไม่ได้ติดง่ายอย่างที่คุณเข้าใจ”

คือคำกล่าวของ มีมี่ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV มาตั้งแต่กำเนิด เธอผ่านประสบการณ์ชีวิตทั้งการถูกทิ้งจากครอบครัว การถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาในโรงเรียน การปิดโอกาสประกอบอาชีพที่เธออยากทำ หรือแม้กระทั่งความฝันพื้นฐานเช่นการมีครอบครัว ครั้งหนึ่งเธอเคยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้สำหรับคนติดเชื้อ HIV จนถึงวันนี้เธอเลือกที่จะบอกลาความสิ้นหวัง และลุกขึ้นมามีความหวังอีกครั้ง เรื่องราวชีวิตของเธอถูกบันทึกผ่านบทสนทนาต่อจากนี้

HIV ชีวิตที่ไม่มีใครต้องการ

“เขาก็ปล่อยเราไว้ที่โรงพยาบาลนั่นแหละ เลยกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่ตอนนั้น”

ก่อนที่เธอจะกลายเป็นเด็กกำพร้า มีมี่เกิดที่กรุงเทพฯ ก่อนย้ายไปเติบโตที่นครศรีธรรมราช พ่อของเธอมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ส่วนแม่เปิดร้านขายอาหาร เธอเป็นเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่สมบูรณ์จนกระทั่งอายุ 6 ขวบ มีมี่เกิดอาการปวดท้องจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ จุดเปลี่ยนชีวิตของเธอเริ่มต้นนับจากนั้น

“เราถูกส่งไปโรงพยาบาลในกรุงเทพ พอหายดีแล้วโรงพยาบาลติดต่อญาติไม่ได้ เขาเลยส่งเราไปสถานสงเคราะห์”

มีมี่มารู้ภายหลังว่าพ่อของเธอเสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนจาก HIV ในช่วงที่เธออยู่ในโรงพยาบาล ญาติของเธอไม่พร้อมที่จะรับดูแลเธอ จึงปล่อยให้เธอเผชิญชะตากรรมชีวิตในสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีมี่ในวัย 6 ขวบไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อ HIV แต่คำที่เธอถูกกรอกหูมาโดยตลอดคือคำว่า ‘เด็กเอดส์’ ที่เด็กในสถานสงเคราะห์ใช้เรียกสรรพนามเธอ เธอรู้เพียงว่าเป็นคำที่ทุกคนรังเกียจ และไม่มีใครอยากเข้าใกล้

หลังจากนั้นเธอถูกย้ายไปยังสถานสงเคราะห์สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ที่จังหวัดชลบุรี  มีมี่ในวัย 9 ขวบ จึงได้รู้ว่า HIV คืออะไร เธอได้รับเชื้อ HIV มาตั้งแต่กำเนิดจากพ่อแม่ มีมี่พยายามหาทางออกมาจากสถานสงเคราะห์ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แม่ของเธอโทรมาถามว่า “เป็นอย่างไรบ้าง”

“เราคิดว่าเดี๋ยวอีกไม่นานแม่คงมารับเรากลับไป”

แต่เวลาผ่านไป 1 ปีก็ไร้วี่แวว สิ่งที่มีมี่ต้องเจอทำให้เธอเกิดความรู้สึกไม่อยากอยู่บนโลกนี้ต่อไป การถูกครอบครัวทิ้งก็เจ็บปวดมากพอแล้ว แต่การมีเชื้อ HIV อยู่ในตัว ยิ่งตอกย้ำความยากลำบากที่เธอต้องเผชิญในชีวิต

มีมี่มารู้ภายหลังว่า แม่ของเธอเสียชีวิตไปไม่นานหลังจากที่โทรหาเธอในวันนั้น ทุกวันที่เธอลืมตาตื่นมาเธอบอกกับเราว่า เหมือนต้องไปต่อสู้กับโลกที่ไม่ได้ต้อนรับเธอ แต่คนที่ดูแลเธอบอกว่า เธอต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านั้น เพราะชีวิตของเธอไม่สามารถดำรงอยู่ในสถานสงเคราะห์ได้ตลอดชีวิต

“เราถูกกีดกันไม่ให้ไปเรียนร่วมกับคนอื่น เพราะเขาให้เหตุผลว่าถ้าเราไปเรียน ผู้ปกครองจะไม่กล้าพาลูกมาเรียน”

มีมี่ในวัยประถมเลือกที่จะเรียนในสถานสงเคราะห์ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่มัธยมต้น คนที่ดูแลเธอช่วยเหลือจนสามารถเข้าไปเรียนในโรงเรียนปกติ มีมี่ถูกจัดให้นั่งห้องหลัง เธอไม่อาจร่วมกิจกรรมกับเพื่อนคนอื่นได้ ตลอด 3 ปีในรั้วโรงเรียน เธอไม่มีเพื่อนแม้แต่คนเดียว

“เราไม่อยากเรียนแล้วทั้งที่เรารักการเรียนมาก เรามีความฝันอยากเป็นพยาบาลแต่ไม่กล้าฝัน มันเป็นความรู้สึกแบบ เราดูแลใครไม่ได้เหรอวะ!”

มีมี่เลือกเรียนต่อในสายวิทย์-คณิต แม้ต้องหยุดความฝันการเป็นพยาบาล แต่ฝันครั้งใหม่ก็ถูกทดแทนด้วยการอยากเรียนต่อในคณะจิตวิทยา เธอให้เหตุผลว่าอยากทำงานที่ได้ดูแลคนอื่น แต่บรรยากาศในชั้นเรียนมัธยมปลายก็ไม่ง่ายนัก ผลการเรียนของเธออยู่รั้งท้าย ในห้องเรียนที่ทุกคนมีความฝันอยากเป็นหมอ, เภสัชกร, และนักบิน เพื่อนของเธอมีโอกาสได้ไปเรียนพิเศษแต่เธอไม่มีโอกาสนั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้ มีมี่หาเส้นทางไปต่อในด้านการเรียนด้วยการทำ Portfolio ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของมีมี่เหมือนตกอยู่ในหลุมดำอีกครั้ง เธอเติบโตมาในสังคมที่ไม่เคยเข้าใจสิ่งที่เธอเป็น มีมี่เลือกที่จะเก็บเรื่องการมีเชื้อ HIV โดยไม่บอกใครเพราะกลัวการถูกตัดสิน แม้กระทั่งเพื่อนร่วมหอพักที่เธอต้องแอบกินยาในทุกวัน สำหรับเธอมันคือความทรมาน จนกระทั่งเธอทนไม่ไหว และถามเพื่อนไปว่า

“ถ้าฉันเป็น HIV เธอยังอยากเป็นเพื่อนกับฉันไหม” 

รักต้อง(ไม่)ห้ามของผู้ติดเชื้อ HIV

“ก็เป็นเพื่อนกันได้เหมือนเดิม”

คือคำที่เพื่อนมีมี่ตอบกลับมา สำหรับเธอคือการปลดล็อกความอัดอั้นที่มีมาทั้งชีวิต มีมี่ใช้ชีวิต 4 ปีในหอพัก, กินข้าว, ใช้ห้องน้ำ, และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนคนนี้ โดยที่สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เพื่อนของเธอรับเชื้อ HIV แต่อย่างใด มีมี่เผชิญหน้ากับความกลัวด้วยการบอกเพื่อนบางคนในคณะ แต่มีอีกสิ่งที่เธอหลบหนีมาโดยตลอดคือเรื่องของความสัมพันธ์

มีมี่โตมากับชุดความคิดที่ว่า ผู้ติดเชื้อ HIV ไม่คู่ควรกับการมีคู่ เพราะการมีเซ็กส์คือความเสี่ยงในการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนอื่น ในช่วงมหาวิทยาลัยมีคนเข้าหาเธอ แต่ด้วยความกลัวที่จะนำเชื้อไปติดคนอื่น มีมี่เลือกที่จะปิดใจไม่กล้ามีความสัมพันธ์กับใคร

จนกระทั่งเมื่อเธอเรียนจบ เธอได้พบกับผู้ชายคนหนึ่งและตัดสินใจบอกเขาว่าเธอมีเชื้อ HIV ทางฝ่ายชายรับได้ และตกลงคบหากับเธอ

“เรามีเซ็กส์กับเขา จูบกันทำทุกอย่างเหมือนที่คนปกติทำกัน”

โดยข้อเท็จจริงของการส่งต่อเชื้อ HIV นั้น มีงานวิจัยในเรื่อง U = U (Undetectable = Untransmittable) คือเมื่อผู้ติดเชื้อ HIV กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องและตรงเวลา จนสามารถลดปริมาณไวรัสให้ต่ำถึงระดับน้อยกว่า  200 copies/ml ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สามารถหาไวรัสในเลือดพบ โดยมีการตีพิมพ์และเผยแพร่แล้วในวารสารการแพทย์ระดับชั้นนำ (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสภากาชาดไทย) ถึงการศึกษาวิจัย ติดตามพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ของคน 2,000 คู่ ทั้งคู่ชายกับชายและคู่ชายกับหญิง โดยที่ฝ่ายหนึ่งติดเชื้อ HIV 

นักวิจัยติดตามผลของฝ่ายที่ไม่ได้ติดเชื้อในระยะเวลา 6 เดือน ปรากฏว่าไม่มีใครติดเชื้อ HIV จากคู่ของตัวเองเลย ทั้งที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยมากถึง 1.3 แสนครั้ง (เฉลี่ยปีละ 43 ครั้งต่อคน) ซึ่งนั่นแสดงว่าผู้ติดเชื้อ HIV ที่ได้รับยาต้านไวรัสจนตรวจไม่พบเชื้อในเลือดแล้ว (Undetectable) จะไม่ถ่ายทอดหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น (Untransmittable) แม้จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าอยู่ในสถานะไม่พบเชื้อในเลือดแล้วจริงๆ 

อย่างไรก็ตามแม้วิทยาการทางการแพทย์จะพัฒนาไปไกล แต่ทัศนคติของสังคมไทยบางส่วนยังคงอยู่กับที่ มีมี่บอกว่าสถานการณ์การเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วย HIV ในไทยยังมีอยู่ ยังมีความเชื่อที่ว่าถ้าใช้กรรไกรตัดเล็บ, ตัดผม, หรือการใช้ห้องน้ำร่วมกัน คือความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ

เมื่ออคติยังคงอยู่สิ่งที่ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องแบกรับคือการถูกลดทอนโอกาสในการเรียนและการทำงาน ยังคงมีเด็กที่ถูกกีดกันออกจากโรงเรียนเพราะความกลัวการแพร่เชื้อ ยังคงมีเพื่อนในวัยทำงานของมีมี่ที่ยื่นสมัครงาน จนได้รับเข้าทำงาน แต่พอมีการตรวจสุขภาพ และเจอผลเลือดว่าเป็น HIV จึงถูกเชิญออก มีมี่กล่าวว่าสิ่งที่ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องการมากที่สุดไม่ใช่ความเห็นใจ แต่คือความเข้าใจว่าพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับพวกคุณได้อย่างปลอดภัย

“เราไม่ได้อยากได้มากกว่าใคร แค่อยากให้เราได้รับเหมือนกับคนอื่น ไม่ต้องมาให้เงิน มาสงสาร มาเห็นใจ ขอเพียงโอกาสทำงานใช้ศักยภาพที่เรามี  เพราะไม่มีใครอยากเป็น HIV หรอก แต่เมื่อเป็นมาแล้ว เราไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตเหมือนกับคนอื่นเหรอ?”

 พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ เกราะคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ HIV

ในปัจจุบันมีมี่ทำงานอยู่ที่มูลนิธิเครือข่ายเยาวชน Little Birds ที่ทำงานกับเด็กติดเชื้อ HIV ที่ออกมาจากสถานสงเคราะห์ งานส่วนหนึ่งของเธอคือการช่วยเหลือเพื่อน พี่น้อง ผู้ติดเชื้อ HIV ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น งานอีกส่วนหนึ่งนั้นมีมี่กำลังขับเคลื่อนให้เกิด พ.ร.บ.  ที่มีชื่อว่า ‘การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล’

วัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือต้องการที่จะทำให้กลุ่มคนเปราะบางทั้ง 9 กลุ่มอันได้แก่ ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV, ผู้ใช้ยาเสพติด, กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ, เด็กและเยาวชน, ผู้หญิง, คนพิการ, ผู้สูงอายุ, กลุ่มชาติพันธุ์, และแรงงานนอกระบบ ได้รับความคุ้มครองจากกลไกกึ่งตุลาการ ในการปกป้องสิทธิของพวกเขา

มีมี่ยกตัวอย่างว่า หากมีสถานประกอบการปฏิเสธการจ้างงานผู้ติดเชื้อ HIV ณ ปัจจุบันบุคคลดังกล่าวสามารถฟ้องร้องขอค่าเสียหายได้ แต่การฟ้องร้องนั้นต้องเปิดเผยชื่อและหน้าตา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วคนธรรมดาทั่วไปย่อมไม่อาจต่อสู้คดีกับเหล่านายทุนได้ แต่ถ้าหากมี พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะมีการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งในกระบวนการฟ้องร้อง จะมีคณะกรรมการของ พ.ร.บ. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนตัวผู้ถูกเลือกปฏิบัติ

“พ.ร.บ.การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล คือเกราะกำบังไม่ให้ผู้คนที่เปราะบาง ถูกรังแกจากการละเมิดสิทธิ”

โดยในปัจจุบัน พ.ร.บ. อยู่ภายใต้กระบวนการพิจารณาที่จะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 เข้ามาดำเนินการต่อ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อยากชวนให้ทุกคนมาติดตาม เพราะเราต่างอยู่ในสังคมที่การเลือกปฏิบัติ คือความชินชาที่เรากระทำต่อกันมาอย่างเนิ่นนาน

“ทุกครั้งที่มีการคุยเรื่อง HIV เพื่อนสมัยเรียนมักชอบล้อเลียนกันว่า ‘เดี๋ยวมึงก็เป็นเอดส์หรอก’ คำนี้มันสั่นสะเทือน เป็นคำบั่นทอนว่าเราแย่ขนาดนั้นเลยเหรอวะ เราอยู่กับคำคำนี้มาทั้งชีวิต จนมันเคยทำให้เราไม่อยากมีชีวิตต่อ เราโชคดีที่ผ่านมาได้และวันนี้ได้ทำบางอย่างให้กับคนอื่น แต่เราไม่แน่ใจว่าวันพรุ่งนี้จะมีจริงไหม อย่างน้อยวันนี้ขอให้เรื่องราวของเราเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคน ชีวิตของผู้ป่วย HIV คือชีวิตที่พวกเราไม่มีใคร เลยไม่รู้ว่าจะทุกข์กับมันไปอีกทำไม”

เราถามมีมี่เป็นคำถามสุดท้ายว่า อะไรคือความฝันของเธอในวัย 29 ปี มีมี่บอกว่าเธออยากถูกหวย อยากมีลูกมีครอบครัว อยากให้โลกใบนี้อยู่ด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

อ้างอิง

https://redcross.or.th/news/information/9847/

https://www.nhso.go.th/news/3832

Tags: , , ,