1.
“เห็นเงาในตาฉันไหม เห็นเธออยู่ในนั้นไหม?”
ท่อนเพลงดังในอดีตยุค ’90 ลอยเข้ามาในห้วงความคิด หลังจากผู้เขียนได้ดูข่าวที่พูดถึงเรื่องเอชไอวี/เอดส์ พร้อมการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีของทีวีดิจิทัลช่องหนึ่ง
ในเนื้อข่าวพยายามบอกเราว่า เอชไอวี/เอดส์เป็นเรื่องปกติ ผู้ติดเชื้อฯ ก็เหมือนกับคนอื่นๆ เพราะว่าเขาก็คือคนทั่วไป แต่ภาพข่าวกลับไม่เป็นแบบเนื้อหาที่พยายามสื่อสารนั้น
ภาพข่าวที่วิ่งไปมีการเซ็นเซอร์ – เบลอหน้าคนหนึ่ง ท่ามกลางคนอื่นๆ ในวงเสวนา พอตัดมาสัมภาษณ์เป็นภาพเดี่ยว ก็เบลอหน้า พร้อมขึ้นตัวหนังสือบอกเราว่า นี่คือ ‘ผู้ติดเชื้อ HIV’ – ที่ไม่มีชื่อเสียงเรียงนาม ต่างกับคนก่อนหน้าที่มีทั้งชื่อ ทั้งหน้า และตำแหน่ง
หรือเพราะว่า เขาไม่ได้บอกว่าเขามีเชื้อเอชไอวี?!?
2.
เมื่อสุดสัปดาห์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์จัดกิจกรรม ‘ยุติเอดส์ไม่ได้หรอก ถ้ายังเป็นแบบนี้!!!’ เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคมที่ผ่านมา บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายในงานมีการเสวนาพร้อมเชิญสื่อมวลชนจากหลากหลายแขนงเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อมาทำข่าว
นักข่าวจากสำนักหนึ่งมาร่วมงาน เมื่องานเสวนาดำเนินไปสักพักแล้ว หลังจากผู้เขียนให้ลงทะเบียนเสร็จ นักข่าวได้เดินมาหาและบอกว่า “ผู้ติดเชื้อฯ นี่ต้องเบลอหน้านะคะ” ผู้เขียนไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น นักข่าวจึงบอกว่างั้นขอถ่ายภาพจากด้านหลังแทน
“ทำไมละคะ เขาพร้อมเปิดว่าเขาติดเชื้อฯ ทำไมจะต้องเบลอหน้า?” ผู้เขียนเอ่ยปากถามออกไป เมื่อดูท่าว่าการเจรจาจะไม่เป็นผล
“ไม่งั้นเราจะโดนฟ้องค่ะ” นักข่าวบอก
พอรู้เหตุผลเบื้องหลังทำให้สตั๊นไปพักใหญ่ ปากไวกว่าความคิด ถามนักข่าวไปว่า แล้วรู้ไหมคะว่าคนไหน (ในวงเสวนาหกคนนั้น) มีเชื้อเอชไอวี?
“นั่นน่ะซิคะ” เธอรีบตอบ
พี่อีกคนเห็นท่าว่าการเจรจาอาจไม่เป็นผล ร่วมวงเข้ามาสำทับว่า ถ้าจะเบลอหน้าหรือถ่ายจากด้านหลัง งั้นขอไม่ให้สัมภาษณ์จะดีกว่า
สุดท้าย เมื่อสัมภาษณ์จริง ผู้ติดเชื้อฯ ที่ให้สัมภาษณ์นั้นก็ย้ำนักย้ำหนาว่า อย่าเบลอหน้า ให้ลงชื่อ- นามสกุลด้วย และดูเหมือนว่านักข่าวจะเข้าใจ
3.
แต่…
ภาพข่าวที่ออกมาไม่เป็นเช่นนั้น ไม่รู้ว่านักข่าวกลัวถูกฟ้องจริงๆ ทั้งที่เจ้าตัวผู้ติดเชื้อฯ ยืนยันให้เปิดเผยใบหน้า หรือ บ.ก.ข่าวช่วยเซ็นเซอร์ให้ ภาพข่าวที่ออกมาจึงดูผิดแปลก เพราะเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในวงเสวนา มีคนเดียวที่ไม่มี ‘ตัวตน’ เพียงเพราะนักข่าวรู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของคนนั้น
คำถามคือ การนำเสนอข่าว – ภาพข่าวแบบนี้พยายามบอกอะไรเรา? หากเราดูเพียงภาพข่าว และไม่ได้ยินเสียง ใครคือคนที่กำลังบอกสถานะการติดเชื้อเอชไอวีของแหล่งข่าวให้กับสาธารณะรู้?
ยิ่งไปกว่านั้น ใครกำลังตอกย้ำว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีต่างกับคนอื่นๆ เพราะในขณะที่คนอื่น ‘มีหน้า’ แต่เขาคนนั้น ไม่มี ในขณะที่คนอื่นมีชื่อ-นามสกุลโชว์ขึ้น เขาคนนั้นได้เพียงป้ายแปะบอกว่า ‘ผู้ติดเชื้อ HIV’
การเบลอหน้านี้ กำลังทำให้คนในสังคมเคยชินไปว่า เอชไอวี/เอดส์ ยังเป็นเรื่องต้องปกปิด น่ารังเกียจ ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะการเซ็นเซอร์ – เบลอหน้า นัยยะหนึ่ง คือการปิดบัง หลบซ่อน หรือเอาสิ่งไม่ดีออกจากจอทีวี คล้ายกับการเซ็นเซอร์เหล้า บุหรี่ ฯลฯ
ทั้งที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีอยู่จริงกว่า 500,000 คนในสังคม เขาเหล่านี้เป็นคนที่จับต้องได้ มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ต่างจากคนทั่วไป และยิ่งหากผู้ติดเชื้อฯ พร้อมเปิดเผยสถานะการมีเลือดบวกของตัวเองสู่สาธารณะ นั่นแปลว่าเขาคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบด้านแล้ว การให้สัมภาษณ์ในฐานะผู้ติดเชื้อฯ คนหนึ่งที่พร้อมเปิดเผยชื่อและหน้าตา จึงไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรือผิดศีลธรรม เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีคุณค่า และมีตัวตน
การปกปิดตัวตนของผู้ติดเชื้อฯ ทั้งที่เจ้าตัวพร้อมเปิดเผย ยิ่งตอกย้ำว่าเรื่องเอดส์เป็นเรื่องไม่ดี น่ารังเกียจ น่าอาย เป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ จึงทำให้เรื่องเอดส์ที่มีอยู่จริงในสังคมกลายเป็นเรื่องที่อยู่ ‘ใต้ดิน’ ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดว่าเอชไอวีติดต่อได้ง่าย และมีภาพลักษณ์แบบเก่า เช่น มีตุ่ม มีหนอง ผอม ดำ ฯลฯ
การพยายามกลบเกลื่อนตัวตนผู้ติดเชื้อ เกิดขึ้นบนฐานอคติทางเพศที่มีอยู่เดิม ในหลายกรณี ยิ่งมีอคติก็ยิ่งปิดบัง และอาจยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ประเมินความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีผิดพลาด เพราะคิดว่าตัวเองและคนรอบตัวไม่มีโอกาสเสี่ยงแม้จะเคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางก็ตาม สังคมที่ชะล่าใจว่าเรื่องเอชไอวีเป็นเรื่องไกลตัว ก็เป็นสังคมเดียวกับสังคมที่คนไม่กล้าใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อฯ ไม่กล้ากินข้าว เรียนหนังสือ หรือทำงานร่วมกัน นี่ยังไม่นับว่า ที่จริงแล้วผู้ติดเชื้อฯ ไม่ได้ร่างกายอ่อนแอและมีเนื้อตัวน่ารังเกียจอย่างที่เข้าใจกัน
หลายปีมาแล้ว ในการทำงานเรื่องเอดส์ เราพยายามสื่อสารกับสาธารณะว่า ผู้ติดเชื้อฯ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี มีตัวตน ด้วยการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ในโครงการ ‘My Positive Life’ ซึ่งเป็นนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่า แม้เขาจะได้รับเชื้อฯ มาหลายปี หรือบางคนหลายสิบปีแล้ว เขาก็ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป ซึ่งนิทรรศการนี้เรามุ่งหวังสื่อสารเรื่องเอดส์ในมุมใหม่ๆ ว่าเรื่องเอดส์คือเรื่องชีวิต ไม่ใช่เพียงโรค ที่ต้องหลบซ่อน หรือปิดบัง
อย่างไรก็ดี การเซ็นเซอร์เบลอหน้า หากยึดประโยชน์เพื่อปกป้องสิทธิของแหล่งข่าวนั้นอาจเป็นเรื่องดีในบางกรณี แต่ในทางตรงกันข้าม หากแหล่งข่าวพร้อมเปิดเผยสถานะของตนเอง แต่นักข่าวหรือช่องทีวียังเซ็นเซอร์ คำถามคือ การกระทำนี้คือการปกป้องสิทธิของใคร?
ใคร? กำลังปกป้องตัวเอง จนไม่เห็น ‘ตัวตน’ ของคนอื่น
บรรณาธิการข่าวหรือสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตอบได้ไหม ช่วยบอกที?!?
ภาพประกอบบทความหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด
Tags: เอดส์, เซนเซอร์, สื่อ, HIV