พรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้านมีผลต่อภาพลักษณ์ที่หลากหลายของสวิตเซอร์แลนด์ ชาวสวิสนั้นอธิบายตนเองว่าเป็นคนตรงต่อเวลา อดทน น่าเชื่อถือ และค่อนข้างอยู่แบบสังคมปิดเล็กน้อย แต่ก็เปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งยังพึ่งพาตนเองในแบบนักอนุรักษนิยม

ในความเปิดกว้างนั้น ทำให้ชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในโซนภาษาเยอรมันมีความแตกต่างจากชาวเยอรมันและออสเตรีย เช่นเดียวกันกับชาวสวิสในโซนภาษาฝรั่งเศสที่แตกต่างจากคนฝรั่งเศส และในโซนภาษาอิตาเลียนที่แตกต่างจากคนอิตาเลียนทั่วไป หรือแม้แต่ชาวสวิสเยอรมันก็มีความต่างจากสวิสฝรั่งเศสด้วย

หนึ่งประเทศ หลายโซนภาษา น่าจะนำมาซึ่งปัญหาในการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียว และมันก็เคยมีปัญหาตามคาด จนกระทั่งนโปเลียน โบนาปาร์ต เข้าไปมีบทบาท รวมถึงยุคของฝรั่งเศส’ (ระหว่างปี 1798-1815) หลังจากนั้น สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกลุ่มภาษาหลากหลายรวมตัวกัน และเป็นอยู่อย่างเท่าเทียมกัน ก่อนจะมีการก่อตั้งสหพันธรัฐขึ้นในปี 1848 

แต่ก่อนถึงปี 1798 สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้มีฐานะเป็นรัฐ หากแต่เป็นสมาพันธ์ของรัฐ หรือกลุ่มรัฐที่มาจากการรวมตัวกันแบบอะลุ้มอล่วยของภูมิภาคและเป็นเมืองปกครองตนเอง ไม่มีรัฐบาลกลางที่มีฝ่ายบริหาร และนโยบายการป้องกันร่วมกันก็เพิ่งเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 17 ช่วงเวลานั้นภาษาที่แตกต่างไม่ได้ก่อให้เกิดความเสมอภาคหรือเท่าเทียมแต่อย่างใด เพราะแต่ละท้องถิ่นต่างเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้เฉพาะกลุ่มที่ใช้ภาษาเดียวกันเท่านั้น

ทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปหลังเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส หลังจากนโปเลียนในนามของรัฐบาลฝรั่งเศส พิชิตอิตาลีตอนเหนือได้ และก่อตั้งสาธารณรัฐซิซัลไพน์ (Cisalpine Republic) ขึ้น นับตั้งแต่ปี 1797 ที่ก่อตั้งมีอาณาบริเวณรวม 42,500 ตารางกิโลเมตร และประชากร 3.24 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ มิลาน ซึ่งมีกองกำลังของฝรั่งเศสประจำการอยู่ 25,000 นาย นอกนั้นเป็นพลเมืองราว 124,000 คน แต่บรรยากาศภายในสาธารณรัฐเต็มไปด้วยความไม่สงบ การจลาจลปะทุขึ้นทุกหนแห่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคใต้อาณัติและท้องถิ่นด้อยโอกาส

ในเดือนเมษายน 1798 นโปเลียนรวบรวมภูมิภาคที่ใช้ภาษาอิตาเลียนของสวิตเซอร์แลนด์แล้วสถาปนาสาธารณรัฐเฮลเวติก (Helvetic Republic) ซึ่งมีความหมายว่าหนึ่งเดียวและแบ่งแยกไม่ได้’  ขึ้นที่เมืองอาเรา สวิตเซอร์แลนด์ตอนกลางทำการต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสอยู่นานร่วมสามเดือน แต่แล้วก็พังพาบไป ทำให้ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสต่อไป

สาธารณรัฐเฮลเวติกที่สร้างขึ้นบนดาบปลายปืนของฝรั่งเศสได้รื้อโครงสร้างเก่าทิ้ง ยกเลิกระบบเจ้านายข้าทาส ผู้ชายสวิสทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สมาพันธ์เก่าของรัฐถูกปรับเปลี่ยนเป็นรัฐกลางตามแบบจำลองของฝรั่งเศส แผ่นดินถูกแบ่งออกเป็นมณฑล’ (Canton) เขตปกครองแบบกระจายอำนาจ ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐบาลฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี ความหลากหลายภาษาในสวิตเซอร์แลนด์ทุกวันนี้ เป็นผลสำเร็จจากน้ำมือของบรรพบุรุษจากสาธารณรัฐเฮลเวติก รวมถึงนโปเลียน โบนาปาร์ต ที่ช่วยรักษาสมดุลทางภาษา แม้ว่าการจู่โจมของฝรั่งเศสในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1798 ทำให้มีการเรียกร้องและบังคับคัดเลือกคน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เบเรซินา (สงครามระหว่างกองทัพของนโปเลียนที่พ่ายให้กับพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ปัจจุบันเป็นเมืองหนึ่งในเบลารุส) และทำให้เกิดจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ของสวิตเซอร์แลนด์ก็ตาม แต่การล้มล้างความสัมพันธ์ทางวัตถุ ความเสมอภาคทางแพ่ง และประมวลกฎหมายนโปเลียน การก่อตั้งสถาบันระดับชาติแห่งแรก แนวทางการสร้างมาตรฐานในขอบข่ายการเมือง กฎหมาย และกองทัพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการอนุรักษ์สวิตเซอร์แลนด์ไว้ในฐานะประเทศที่ใช้หลายภาษา ล้วนสร้างสมดุลและภาพลักษณ์ที่ดีให้สวิตเซอร์แลนด์ได้

ปี 1848 ที่สวิตเซอร์แลนด์สถาปนาตนเองเป็นประเทศสหพันธรัฐนั้น ยังได้ประกาศความเท่าเทียมกันของภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาเลียนไปพร้อมกันด้วย ส่วนภาษาโรมานซ์ได้ถูกบัญญัติเพิ่มเข้ามาในปี 1938 

……

นอกจากเรื่องความหลากหลายของภาษาแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ยังแตกต่างจากชาติอื่นๆ ในยุโรปเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง แตกต่างแม้กระทั่งในกลุ่มที่เป็นกลางทางการเมืองอย่างประเทศสวีเดน (ประกาศนโยบายในปี 1855) ฟินแลนด์ (ปี 1955) ออสเตรีย (ปี 1955) และไอร์แลนด์ (ปี 1938) ตรงที่สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป

ความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกจากมหาอำนาจรายใหญ่ของยุโรป สนธิสัญญาของรัฐบาลกลาง ปี 1815 ซึ่งเป็นกฎบัตรการก่อตั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์สามารถปกป้องความเป็นกลางในทางทหารได้เช่นกัน เรียกว่าเป็นกลางแบบติดอาวุธ

อันที่จริง พลเมืองชายชาวสวิสทุกคนควรได้รับการฝึกอบรมในการใช้อาวุธ ในกรณีที่มีการโจมตีพรมแดนและความเป็นกลาง ครั้งสุดท้ายที่ชาวสวิสได้เสริมกำลังและปกป้องพรมแดนของตนเองคือช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่พวกเขาก็ไม่เคยมีโอกาสได้ปกป้องอย่างจริงจังนัก

ช่วงที่พรรคนาซีเรืองอำนาจในเยอรมนี ความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์เคยต้องสั่นคลอนจากโฆษณาชวนเชื่อของเพื่อนบ้าน ว่าชาวเยอรมันทุกคน รวมทั้งชาวสวิสที่พูดภาษาเยอรมัน ควรรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ปีกของประเทศเยอรมนี แต่หลังจากได้เจรจากับประธานวุฒิสภากลางของสวิตเซอร์แลนด์ ฮิตเลอร์จึงประกาศให้ความเคารพความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์

ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย เพราะในช่วงสงครามเย็น สวิตเซอร์แลนด์ได้เข้าร่วมในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างไม่เป็นทางการต่อกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งขัดต่อความเป็นกลางทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หลักการของนโยบายเป็นกลางมีประชาชนชาวสวิสร่วมลงมติเห็นชอบเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2019 มีผู้ตอบแบบสำรวจสนับสนุนการรักษาความเป็นกลางถึง 96 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่คำนึงถึงอายุ ระดับการศึกษา ภูมิภาคของภาษา และเพศ

…..

สวิตเซอร์แลนด์ เป็นเสมือนสวรรค์บนดินสำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะคนดังในแวดวงบันเทิง ทีนา เทอร์เนอร์ (Tina Turner) เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นที่โยกย้ายตามสามี เออร์วิน บาค (Erwin Bach) ไปอยู่ที่เมืองคึสนาคต์ ริมทะเลสาบซูริค ตั้งแต่ปี 1997 ทุกวันนี้เธอสอบผ่านเป็นพลเมืองชาวสวิสไปแล้ว

และที่เมืองคึสนาคต์เช่นกัน เคยเป็นสถานที่ลี้ภัยของนักเขียนชาวเยอรมัน โทมัส มันน์ (Thomas Mann) ระหว่างปี 1933-1938 และมีสังคมเพื่อนสนิทที่เป็นนักคิดนักเขียน รวมทั้งเจ้าของสำนักพิมพ์ และหลังจากโยกย้ายออกจากสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950s เขาก็เลือกสวิตเซอร์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทางสุดท้าย

ผมอยากให้ฝังศพผมไว้ในสวิตเซอร์แลนด์โทมัส มันน์เคยเขียนจดหมายสั่งเสียไว้ตั้งแต่ปี 1934 ก่อนจะเสียชีวิตในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 1955 สมหวังกับสิ่งที่เขาปรารถนา 

 

อ้างอิง:

Rudolf Jaun, Geschichte der Schweizer Armee: vom 17. Jahrhundert bis in die Gegenwart, Monografie (ไฟล์เอกสาร), Deutsche Nationalbibliothek

https://www.nzz.ch/schweiz/was-die-mehrsprachige-schweiz-napoleon-bonaparte-verdankt-ld.1623851?fbclid=IwAR0xDLUSEuJtsnNMeaS4O7SWxHuoyt7l_qHYjiTN8cT8On2osb-yhRy4n00

https://www.swissinfo.ch/ger/die-schweizer-sind-anders-als-man-denkt/4921516

https://www.bpb.de/politik/hintergrund-aktuell/269019/neutralitaet-der-schweiz

https://www.schweizer-illustrierte.ch/people/galleries/nicht-nur-abba-frida-diese-stars-haben-hauser-der-schweiz

https://tma.ethz.ch/thomas-mann/thomas-mann-und-die-schweiz.html

Fact Box

  • สวิตเซอร์แลนด์ พื้นที่ประเทศ 41,285 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2019 มีประชากรจำนวน 8,606,033 คน เฉลี่ย 208 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร
  • คำว่า ‘Confoederatio Helvetica’ มีความสำคัญต่อชนชาติสวิส มันถูกนำมาใช้ในปี 1848 เนื่องในโอกาสก่อตั้งสหพันธรัฐ มีปรากฏอยู่บนเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่ปี 1879 และบนตราสมาพันธรัฐสวิสตั้งแต่ปี 1948 รวมไปถึงการใช้เป็นอักษรย่อ CH ของประเทศด้วย
  • สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก จาก 163 ประเทศ ในการจัดอันดับของ Global Peace Index เมื่อปี 2017
Tags: , ,