ตลอดสัปดาห์นี้ ทั่วทั้งโลกต่างให้ความสนใจ Dune: Part Two ภาพยนตร์ภาคต่อลำดับที่ 2 ของ เดอนี วีลล์เนิฟ (Denis Villeneuve) ที่หยิบยกนิยายแนวไซไฟชื่อเดียวกันที่เขียนโดย แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต (Frank Herbert) มาถ่ายทอดบนจอเงิน และได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ชมล้นหลาม

องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ Dune ภายใต้การกำกับของวีลล์เนิฟประสบความสำเร็จเช่นนี้ นอกจากเรื่องราวที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่ในฉบับนิยาย รวมถึงทัพนักแสดงมากความสามารถแล้ว การสร้างจักรวาลแห่งโลกอนาคต ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี การเมือง และสงครามอวกาศ วีลล์เนิฟก็ทำออกมายอดเยี่ยม ตั้งแต่การออกแบบเครื่องแต่งกายของเผ่าพันธุ์จากดาวต่างๆ ไปจนถึงการสรรสร้างสภาพแวดล้อมบนดาวดวงต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์สะท้อนถึงเรื่องวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของผู้อาศัยได้ชัดเจน 

ย้อนกลับไปใน Dune: Part One (2021) คนดูจะได้เห็นการออกแบบอะราคิส (Arrakis) อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเฟรเมน (Fremen) และ ‘ดูน’ หนอนยักษ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยทะเลทรายและความแห้งเหือด ส่วนใน Dune: Part Two วีลล์เนิฟยังรักษามาตรฐานด้านการออกแบบไว้ดังเดิม ด้วยการเนรมิต Giedi Prime ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่า ฮาร์คอนเนน (Harkonnen) ให้กลายเป็นสีขาว-ดำ ทั้งเรื่อง 

เหตุที่ต้องเป็นสีขาว-ดำ วีลล์เนิฟอธิบายผ่านการสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Moviefone ว่า หากอ้างอิงจากต้นฉบับ ดาว Giedi Prime ปกคลุมด้วยพระอาทิตย์สีดำ (Black Sun) ที่ดูดและชะล้างสีอื่นๆ จนเหลือแต่สีขาวและดำ ดังนั้น เมื่อต้องถ่ายทำฉากภายนอกอาคารที่ต้องกระทบกับแสงอาทิตย์ ทุกอย่างจะถูกปกคลุมไปด้วยสีขาวและดำเท่านั้น ส่วนฉากไหนที่ถ่ายทำในอาคารก็จะมีสีสันปกติ เนื่องจากแสงที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากดวงอาทิตย์สีดำบนดาว ขณะเดียวกัน วีลล์เนิฟกล่าวเสริมอีกว่า การใช้สีเช่นนี้สามารถสะท้อนถึงตัวตนของผู้อยู่อาศัยบนดาวได้เป็นอย่างดี

“ผมชอบแนวคิดหนึ่งที่ได้มาจากการอ่านหนังสือชุดนี้นะ กับการพยายามอธิบายว่า ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมส่งผลต่อมนุษย์ที่อาศัยอยู่อย่างไร ทั้งในแง่การใช้ชีวิต เทคโนโลยี ศาสนา และการเอาตัวรอด อย่างเวลาคุณเห็นทะเลทรายบนดาวอะราคิส คุณก็จะพอเดาออกว่าชาวเฟรเมนใช้ชีวิตอยู่อย่างไร มีความต้องการแบบไหน

“บนดาว Giedi Prime ก็เหมือนกัน ดาวดวงนี้เป็นเหมือนดาวพลาสติกที่ไร้ซึ่งสีสัน แสงแดดสีขาว-ดำได้ทำลายบางสิ่งที่มนุษย์ควรมีในตัวออกไป จนทำให้พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในวัฒนธรรมที่โหดร้าย อยู่ในการเมืองที่มีแต่การแก่งแย่งชิงดี”  วีลล์เนิฟกล่าว

ดังนั้น ในการถ่ายทำ Dune: Part One วีลล์เนิฟและเกร็ก เฟรเซอร์ (Greig Fraser) ผู้กำกับภาพในเรื่อง จึงต้องสรรหาวิธีการถ่ายที่สอดรับกับธรรมชาติของดาว Giedi Prime ด้วยการใช้ ‘กล้องสามมิติ’ และเทคนิค ‘ฉายแสงพิเศษ’ ที่สามารถลบแสงจากอินฟาเรดได้ โดยพวกเขาเรียกมันว่า ‘Anti Fireworks’ 

นั่นจึงเป็นเหตุให้แต่ละฉากที่เหมือนมีการย้อมเป็นสีขาว-ดำ แท้จริงเกิดจากกระบวนการถ่ายทำข้างต้นจนทำให้มีผลลัพธ์ออกมาดังที่เห็น

“โดยปกติแล้วเวลาแสงส่องมาที่อะไรบางอย่าง มันจะต้องสะท้อนและสร้างเฉดสีให้กับวัตถุนั้นๆ แต่ในโลกที่เรากำลังสร้าง แสงอาทิตย์เป็นตัวชะล้างเฉดสีออกไป นั่นเลยเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย ในการหาเทคนิคที่สอดคล้องกับกฎของดาวดวงนี้ในภาพยนตร์” เฟรเซอร์กล่าว

สำหรับ Dune: Part Two สามารถชมได้ในโรงภาพยนตร์ และสามารถดูตัวอย่างได้ทาง https://youtu.be/U2Qp5pL3ovA

Tags: , , ,