กลายเป็นตัวเลขที่น่าตกใจจริงๆ สำหรับผลสำรวจล่าสุดต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่มผู้ชายไทย ที่บ่งบอกได้ระดับหนึ่งว่า ระบบคิดชายเป็นใหญ่นั้นยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย

เมื่อวานนี้ (21 พ.ย. 2559) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กปี 2559 ภายใต้แนวคิด ‘คุณทำได้ ผู้ชายตัวจริง ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก’ (Man Can Do Stop Violence) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์

ภายในงานได้มีการรายงานผลสำรวจล่าสุด ปี 2559 ต่อปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในกลุ่มผู้ชายจำนวน 1,617 ตัวอย่าง อายุ 20-35 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด

ผลสำรวจออกมาเป็นดังนี้

– ผู้ชายไทยกว่า 80% เคยพูดตะคอกเสียงดังต่อภรรยาและคนรัก

– 74.7% มักจะใช้คำหยาบคายเมื่อโมโห ชอบระบายอารมณ์

– 71.7% แอบมีกิ๊ก คบกับผู้หญิงหลายคน เผื่อเลือก

หากเกิดอารมณ์โมโห สิ่งที่ผู้ชายเลือกทำคือ

– 57.3% ทำลายข้าวของในบ้าน

– 68.9% ออกไปดื่มเหล้านอกบ้าน

เมื่อดื่มเหล้าจนเมา

– 44.8% จะทำร้ายภรรยาหรือแฟน

– 42.4% บังคับให้มีเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของทัศนคติที่ผู้ชายไทยที่มีต่อผู้หญิงคือ

– ผู้ชาย 1 ใน 3 มองผู้หญิงที่แต่งงานแล้วต้องเป็นสมบัติของสามี ต้องดูแลงานบ้าน ดูแลลูก ผู้ชายเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้นำครอบครัว

– ผู้ชาย 1 ใน 4 เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ‘ผู้ชายไม่เจ้าชู้เหมือนงูไม่มีพิษ’ ‘ผู้ชายตัวจริงต้องกินเหล้า’ และการคุมกำเนิดต้องเป็นหน้าที่ฝ่ายหญิง

– 14% ระบุว่า การที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงเป็นเพราะหึงหวง ต้องการแสดงออกว่ารัก รวมถึงระบุว่าหากมีโอกาสแล้วไม่ล่วงเกินผู้หญิงถือว่าไม่ฉลาด

ทางมูลนิธิฯ เชิญชวนให้เขียนคำว่า STOP บนฝ่ามือ ถ่ายรูปและติดแฮชแท็ก #menstopviolence เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ซึ่งในวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี ถือเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

ผลสำรวจนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของถุงยางอนามัย Durex เมื่อปี 2012 ที่ทำการสำรวจหนุ่มสาวกว่าทั่วโลก 29,000 คนใน 36 ประเทศ พบว่า ผู้ชายไทยนอกใจเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยหนุ่มๆ ไทยกว่า 54% ยอมรับว่าเคยนอกใจเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับรองลงมาคือ หนุ่มเกาหลีใต้ 34% และมาเลเซีย 33%

ทัศนคติระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่คือปัญหาสำคัญ

นางสาวอุสุมา เกตุท่าหัก เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ บอกว่า จากผลสำรวจข้างต้น มูลนิธิฯ ขอฝากเป็นข้อเสนอคือ

– ระดับบุคคลและครอบครัว ควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู เน้นเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ใช้ความรุนแรง ให้เกียรติกัน ผู้ชายสามารถทำงานบ้านช่วยเหลือผู้หญิงได้

– กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรรณรงค์กับผู้ชายอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนทัศนคติระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช้ความรุนแรง และประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

– กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรปรับหลักสูตรในประเด็นบทบาทหญิงชาย มีการอบรมความรู้ความเข้าใจในปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวให้กับครูในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดและสร้างทัศนคติให้เด็กมีความเคารพในสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ

– สื่อมวลชนเองไม่ควรผลิตซ้ำภาพความรุนแรงในครอบครัว ควรเน้นการนำเสนอความเท่าเทียม การให้เกียรติ และทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เห็นว่าผลสำรวจนี้สะท้อนถึงความรุนแรงในครอบครัวยังคงอยู่ในสังคมไทย ข้อเสนอสำคัญในการแก้ปัญหาคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรณรงค์ปรับเปลี่ยนทัศนคติระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่ สร้างความเข้าใจการเท่าเทียมระหว่างเพศ การเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างต่อเนื่อง

จะเด็จ เชาวน์วิไล ยังให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (www.wmp.or.th) ว่า นี่เป็นปัญหาโครงสร้างเชิงอำนาจ การถูกปลูกฝังมาว่าผู้ชายแข็งแรงกว่า ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้ชายเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำประเทศ ผู้ชายดื่มสุราเคล้านารี ส่วนผู้หญิงจะต้องอยู่กับบ้าน ทำงานบ้าน ดูแลครอบครัว ทำตัวเป็นภรรยาที่ดี ฯลฯ ทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือผู้หญิง

หรือรู้สึกว่าการมีภรรยาหลายคนไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผู้หญิงต้องมีหน้าที่ดูแลผู้ชาย แต่หากผู้หญิงมีบ้างก็จะถูกเหยียดหยามจากสังคมทันที หรือหากผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมก็จะมองว่าเพราะผู้หญิงแต่งตัวล่อแหลม หรือเดินในที่เปลี่ยว ไม่ระมัดระวังตัวเอง ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ก็จะถูกมองเป็นภรรยาที่ไม่ดี

ดังนั้นปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศเหล่านี้จะแก้ไม่ได้เลย ถ้ายังไม่เปลี่ยนทัศนคติ ‘ความคิดแบบชายเป็นใหญ่’

จะเด็จยังบอกอีกว่า ความจริงแล้วผู้หญิงมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้หญิงโดยตรง แต่เกิดจากระบบโครงสร้างที่เราพยายามแก้กันอยู่ นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่เคยเผชิญกับปัญหา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน ช่วยกันเสริมพลัง และนำสังคมออกจากหลักคิดแบบชายเป็นใหญ่

หากใครพบเห็นการใช้ความรุนแรงหรืออยากขอคำปรึกษา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลยินดีให้บริการ โดยสามารถขอคำปรึกษาได้ทางโทรศัพท์ 0 2513 2889 เวลา 9.00-17.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและนักขัตฤกษ์ และเพิ่มช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน โทร 087 326 6820

เราหวังว่าทัศนคติระบบคิดแบบชายเป็นใหญ่นี้จะหายไปจากสังคมไทยเสียที

ภาพประกอบ: Karin Foxx

 

อ้างอิง:
     – http://bangkok.coconuts.co/news/durex-condoms-thai-men-most-unfaithful-in-the-world
– http://www.wmp.or.th
– http://www.thairath.co.th/content/789411
– https://news.thaipbs.or.th/content/257978

FACT BOX:

25 พฤศจิกายน ของทุกปี คือวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี (International Day for the Elimination of Violence Against Women) โดยมีที่มาจากวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 1960  ราฟาเอล ทรูจิลโล (Rafael Trujillo, 1930-1961) ผู้นำเผด็จการสาธารณรัฐโดมินิกัน ได้ทำการสังหารพี่น้องจากตระกูลมิราบัล (Mirabal) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองสตรีชาวโดมินิกัน คือ Patria, María และ Antonia Mirable จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ในปี 1999 UN จึงได้ประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์และเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรี ในขณะที่ในประเทศไทย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี