แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนังอย่างรุนแรงทั้งด้านการผลิตและจัดจำหน่าย แต่หากเรายังมองโลกในแง่ดีกันไหว อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลานี้ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่คนรักหนังทั้งประเทศจะได้ชมหนังน้ำดี จาก Documentary Club จำนวน 32 เรื่องอย่างพร้อมเพรียงกันผ่านทาง Vimeo On Demand ในราคา $1.99 ต่อเรื่อง หรือประมาณ 60 บาทเท่านั้น โดยในจำนวนนี้มีทั้งหนังสารคดีจากหลากหลายประเทศที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาแล้ว เช่น The New Rijksmuseum, Finding Vivian Maier และ Where to Invade Next เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีหนังเล่าเรื่องขึ้นหิ้งชิงรางวัลอีกนับสิบที่หลายคนต่างรู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Burning โดยอีชางดอง ที่ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้น ‘มือเพลิง’ ของฮารูกิ มูราคามิ, Farewell My Concubine โดยเฉินข่ายเกอ หนังจีนใจสลายสุดคลาสสิกเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำปี 1993 และ Merry Christmas Mr. Lawrence โดยนางิสะ โอชิมา นำแสดงโดยเดวิด โบวี่ และได้รับรางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก BAFTA ในปี 1984 จากเพลงที่ประพันธ์โดยริวอิจิ ซากาโมโตะ
แต่นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ยังมีภาพยนตร์ที่เรารักอีกหลายเรื่องที่ถูกนำมาปล่อยให้ทุกคนได้เอนหลังชมในยามว่างเว้นจากการทำงานและการดูหนังดูซีรีส์ในสตรีมมิ่งช่องทางอื่นๆ และต่อไปนี้คือหนัง 5 เรื่องนั้นที่เราเชื่อเหลือเกินว่า จะไม่ทำให้คุณต้องรู้สึกเสียเวลา แถมยังจะรู้สึกด้วยซ้ำว่า น่าจะได้ดูตั้งนานแล้ว
Ash is Purest White (2019)
นี่คืออันดับหนึ่งของหนังจาก Documentary Club ที่เรารัก และเป็นหนังที่ติดอันดับสิบหนังที่เรารักที่สุดตลอดกาลไปแล้ว อาจเป็นเพราะนี่คือหนังที่ขับเคลื่อนด้วยธีมที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษ นั่นคือเรื่องราวชีวิตหลายทศวรรษของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในประเทศของตน แน่นอนว่ามีภาพยนตร์จีนยุคหลังปี 2000 อีกหลายเรื่องที่พูดเรื่องเหล่านี้ แต่สำหรับเรานี่คือเรื่องที่มีพลังทำลายล้างมากอันดับต้นๆ ทั้งเพราะความคมคายของเรื่อง ความเหนือชั้นทางภาพ ลูกเล่นแพรวพราวในเพลงประกอบ และการแสดงอันทรงพลังของเจ้าเทา นักแสดงนำหญิงคู่บุญและคู่ชีวิตของเจี่ยจางเคอ ผู้กำกับที่เป็นที่รู้จักจาก Still Life (2006) และ A Touch of Sin (2013)
Ash is Purest White เล่าเรื่องของ ‘เฉียวเฉี่ยว’ สาวมั่นผู้อยู่เคียงข้างนักเลงท้องถิ่นรุ่นใหญ่อย่าง ‘อาปิน’ ด้วยความรัก ซื่อสัตย์ และเทิดทูน ผู้ซึ่งตัดสินใจเหนี่ยวไกปืนเพื่อปกป้องเขาในห้วงเวลาอันตราย และลงเอยด้วยการถูกจำคุกถึง 5 ปี ในที่สุดเธอออกมาจากคุก ล่องเรือผ่านเขื่อนสามผาที่กั้นกลางแม่น้ำแยงซี เพื่อไปตามหาเขาที่เธอยังคงรักและคิดถึงเสมอมา ก่อนจะพบว่าอาปินที่ออกมาจากคุกก่อนเธอหลายปี ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่นำหน้าเธอไปแล้ว
หนังชิงปาล์มทองคำเรื่องนี้เล่าเรื่องกินเวลายาวนานกว่าสามทศวรรษ ทำให้เราเห็นภาพที่ใหญ่โตโอฬารของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างชัดแจ้ง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองที่ถูกนำเสนอผ่านภูมิทัศน์ของเขื่อนสามผา (ที่ใหญ่โตโอฬารและถูกถ่ายทำอย่างละเมียดละไมด้วยความตั้งใจจะสื่อนัยสำคัญ) การเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจของตัวละครเฉียวเฉี่ยว (ที่พ่ายแพ้ให้กับความรู้สึกของตัวเองนับครั้งไม่ถ้วนกว่าจะเติบโตขึ้นอย่างแท้จริง) และความเชื่อมโยงและกระทบกระทั่งกันไปมาของสองการเปลี่ยนแปลงนั้น ผ่านตัวละครและนักแสดงหญิงที่มาเพื่อมอบพลังมหาศาลให้กับเรา ทั้งในฐานะผู้หญิง และในฐานะคนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและไม่เคยตั้งตัวได้ทันจากการเปลี่ยนแปลงนั้น หากรู้ตัวอีกทีเราก็กลายเป็นทาสของมันไปแล้ว
Bobbi Jene (2017)
นี่ไม่ใช่แดนซ์ฟิล์ม นี่ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับแดนเซอร์ แต่นี่คือหนังที่แดนซ์ได้ด้วยตัวมันเอง ไหลเลื่อนไประหว่างความมีชีวิตชีวาและความเจ็บปวดแสนสาหัสที่ดูเหมือนจะไม่มีสารัตถะ แต่กลับสร้างแรงสั่นสะเทือนภายในให้กับผู้หญิงวัยสามสิบที่ต้องไล่ตามความฝันอันแหกขนบของตน ไปพร้อมๆ กับต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชีวิตสุดแสนสามัญที่ไม่มีวันเป็นจริง เพียงเพราะเธอไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจมาเพื่อสิ่งนั้นเลยตลอดสิบปีที่ผ่านมา
‘บ็อบบี จีน สมิธ’ ย้ายจากอเมริกาไปเป็นนักเต้นในคณะบัตเชวาที่เทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ใช้เวลาพัฒนาตัวเองและแสดงกับคณะนี้นับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่อายุ 21 จนถึง 30 นับเป็นเวลาสิบปีที่เธอไม่ได้ใช้ชีวิตที่บ้านเกิด แต่กระนั้นเธอก็ไม่ได้รู้สึกว่าอิสราเอลเป็นบ้านที่เธออยากจะอยู่ไปตลอดชีวิตที่เหลือ แม้จะเคยมีหัวหน้าคณะบัตเชวาเป็นคนรัก และกำลังคบอยู่กับนักเต้นรุ่นน้องในคณะเดียวกัน ในที่สุดบ็อบบีตัดสินใจย้ายกลับไปยังซานฟรานซิสโกเพื่อสร้างงานเต้นร่วมสมัยของตัวเอง เธอพยายามลงหลักปักฐาน หาคอนเนคชั่นในเมืองใหญ่ และเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยพยายามรักษาความสัมพันธ์กับคนรักแบบทางไกล และไม่แน่ใจว่าจะทำแบบนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน มันไม่ได้ง่าย เธอรู้แต่ต้นทาง แต่เธอก็ยังดั้นด้นไปด้วยความรั้นและความหวังจะได้เป็นตัวเอง
นี่คือภาพสะท้อนหัวขบวนของคนรุ่นใหม่ที่เราเห็นกันในทุกมุมโลก บ็อบบี้นำเราไปดูสิ่งที่คนวัยยี่สิบปลายหลายคนกำลังจะต้องเจอ ผ่านรูปแบบที่ไม่เหมือนสารคดี แต่เหมือนส่วนผสมของบันทึกการแสดงร่วมสมัยและหนังเล่าเรื่อง coming-of-age ของศิลปินคนหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยแรงผลักภายใน ความปรารถนาจะไปให้ไกลเท่าที่อยาก และการอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นไปดังหวัง แต่ก็ไม่เลวร้ายจนทำให้เราพังทลายไป ฉากจบของหนังจึงเป็นการคลี่คลายที่น่าตื่นตะลึง และทำให้เราคิดถึงตัวเองในวันหนึ่งที่จะผ่านมันไปอย่างเข้าใจชีวิตมากขึ้นเช่นกัน
Koudelka Shooting Holy Land (2015)
เรียบง่ายแต่ทรงพลัง นี่คือหนังที่ติดตามการเดินทางของ ‘โยเซฟ คูเดลกา’ ช่างภาพระดับตำนานชาวเช็กโกสโลวาเกียวัยกว่า 70 ปี ไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่อิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพื่อถ่ายภาพแลนด์สเคปขาวดำในแบบที่เขาถนัด แลนด์สเคปที่ต่อให้ดูเหมือนจะรกร้างว่างเปล่าไร้ราคา แต่ก็ยังสื่อความถึงการกักขัง การจองจำ อิสรภาพ และการปลดปล่อย แบบเดียวกับภาพถ่ายสุดไอคอนิคชุดที่เขาถ่ายที่ใจกลางเมืองปรากในปี 1968 เมื่อโซเวียตเอารถถังบุกเข้าไปไม่มีผิด
อาจจะแปลกจากที่เราคุ้นเคยไปสักหน่อย เพราะหากเป็นสารคดีว่าด้วยบุคคลระดับมาสเตอร์ เรามักจะเจอการเล่าประวัติชีวิตและที่มาของผลงานชิ้นเด่นชิ้นดังอยู่ในหนังด้วย แต่ในสารคดีเรื่องนี้ เราจะไม่เจอการเล่าเรื่องแบบนั้นจากปากผู้กำกับ จะมีก็แต่การบอกเล่าคร่าวๆ จากปากของคูเดลกาเองถึงการที่เขาต้องออกจากประเทศบ้านเกิดและเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อถ่ายภาพสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น หากแต่ไร้ซึ่งการเอ่ยปากพูดถึงเสี้ยวอื่นในชีวิต เราคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ผู้สร้างเลือกที่จะไม่เล่าเรื่องราวส่วนนั้น เพราะถึงมันจะน่าตื่นเต้นและควรค่าแก่การถูกรับรู้ แต่ใช่หรือไม่ว่าคนดูสามารถอ่านข้อมูลเหล่านั้นเองได้ การเก็บภาพการทำงานของคูเดลกาแบบสดๆ จึงล้ำค่าเหนือการบอกเล่าข้อมูลต่างๆ นานาเป็นไหนๆ
นอกจากนั้นแล้ว เรายังจะได้เห็นภาพถ่ายชุดอิสราเอลปาเลสไตน์ในช่วงปี 2008-2012 ของเขา รวมถึงภาพถ่ายชุด Prague Spring อันโด่งดัง แต่ภาพถ่ายชุดอื่นที่เหลือของเขานั้นแทบไม่ปรากฏ อาจดูเหมือนเป็นข้อด้อยของหนัง แต่ไม่เลย นี่คือข้อดีอย่างแน่แท้ เพราะเราจะไม่ถูกถล่มโถมทับด้วยข้อมูลจนสาระสำคัญถูกลบเลือนไป สาระสำคัญที่ว่าคูเดลกาในฐานะช่างภาพอาชีพนั้นใช้กระบวนการสร้างงานแบบไหน เขามองสิ่งที่เรียกว่าความขัดแย้ง ทั้งความขัดแย้งที่อยู่หน้ากล้องและความขัดแย้งรอบโลกอย่างไร และอะไรคือสิ่งสำคัญที่เขาคิดว่าขาดไปไม่ได้สำหรับการสร้างงานทั้งหลายทั้งปวงนี้
Heartbound: A Different Kind of Love Story (2018)
ในบรรดาหนังสารคดีที่เราได้ดูในช่วงหลังมานี้ นี่คือหนึ่งในเรื่องที่เรารู้สึกว่ามีความเป็นมนุษย์ที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ละเอียดออออย่างยิ่ง และพูดตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจเราอย่างยิ่ง หนังเล่าเรื่องราวชีวิตหนึ่งทศวรรษของผู้หญิงหลายคนรอบตัว ‘สมหมาย คำสิงห์นอก’ หญิงอีสานวัยกลางคนที่ไม่ได้แค่มีสามีเป็นชาวเดนมาร์ค แต่ยังชักพาให้ผู้หญิงในหมู่บ้านนับสิบไปแต่งงาน ลงหลักปักฐาน ทำงาน และมีลูกที่นั่น จากหนึ่งคนกลายเป็นร้อยคน จากผู้หญิงชั้นล่างของสังคมไทย กลายเป็นผู้หญิงที่หยัดยืนเยี่ยงพลเมืองโลก
เยนูส เม็ตซ์ นักทำหนัง และซิน่า พลามเป็ก นักมานุษยวิทยา ร่วมกันทำหนังสารคดีเรื่องนี้ออกมาได้อย่างมีหัวจิตหัวใจ แน่นอนว่าเราจะเห็นผู้หญิงอีสานเหล่านี้ไปมีชีวิตใหม่ที่สะดวกสบายกว่าเดิม มีเงินมากกว่าเดิม และดูมีความสุขมากกว่าเดิม แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเธอขี้เกียจหรือรักสบายอย่างที่คนมากมายตัดสินเอาไว้ หนังพาไปดูชีวิตประจำวันของพวกเธอ และที่สำคัญกว่าคือวิกฤติในใจที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตประจำวันในรูปแบบนั้น พวกเธอยังต้องปรับตัวให้เข้ากับบ้านเมืองที่ไม่คุ้นเคยและภาษาที่ไม่คุ้นหูพร้อมไปกับการเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่ พวกเธอยังต้องทำงานทุกวันจันทร์ถึงศุกร์พร้อมไปกับส่งเงินที่เหลือกลับไปยังบ้านเกิด แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างไปจากการเข้ากรุงเทพฯ ไปทำงานหาเช้ากินค่ำหรือไปพัทยาเพื่อขายบริการโดยไร้สวัสดิการรองรับ พวกเธอเป็นเหมือนสามีชาวยุโรปของพวกเธอ นั่นคือเป็นมนุษย์ที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี มีหัวใจ และตัดสินใจทำอะไรต่อมิอะไรได้อย่างเสรี
Heartbound ไม่ใช่หนังสารคดีที่คนดูต้องมีความรู้เรื่องสังคมการเมืองถึงจะเข้าใจ เพราะนี่คือหนังดูง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพียงเปิดใจสักนิด เมื่อถึงจุดนั้นเราจะเห็นความเป็นมนุษย์ของเธอเหล่านั้น รวมถึงคนร่วมประเทศนี้ที่อยู่รอบตัวเรา เพียงแต่เราอาจไม่เคยมองเห็น หนังเรื่องนี้งดงามอย่างยิ่งเมื่อถึงครึ่งหลังที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของกลุ่มคนในหนังเมื่อสิบปีผ่าน เราเศร้าใจกับชะตาชีวิตของหลายคนในหนัง รวมถึงอิ่มเอมเปรมปรีดิ์เมื่อเห็นลูกชายของหนึ่งในซับเจคต์หลักเติบโตเป็นวัยรุ่นที่มีความรัก ความฝัน และความหวังในชีวิตที่ดีกว่า แบบที่วัยรุ่นหลายคนในประเทศนี้ไม่กล้าแม้แต่จะนึกถึง
Paris, Texas (1984)
วกกลับมาที่หนังเล่าเรื่องอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นหนังสุดคลาสสิกจากปี 1984 โดยวิม เวนเดอร์ส เจ้าพ่อหนังโรดมูฟวีแห่ง New German Cinema Movement ผู้หลงใหลดินแดนอเมริกาอย่างสุดหัวใจ วิมผลักหนังเรื่องนี้ให้ชิงปาล์มทองคำในปีนั้น พร้อมกับฝากความงดงามทั้งทางเรื่องและภาพนั้นไว้ในใจคนรักหนังทุกรุ่น จนเมื่อหนังเข้าฉายในไทยก็ขโมยหัวใจคนที่เพิ่งได้มีโอกาสชมไปอย่างถล่มทลาย ด้วยหลากหลายเส้นเรื่องสุดกินใจที่ทาบทับกันไปมา รวมถึงผลงานการกำกับภาพระดับขึ้นหิ้งโดยร็อบบี มึลเลอร์ ผู้กำกับภาพคู่ใจของวิม และการเลือกใช้คู่สีที่ตัดกันอย่างสุดขั้วตลอดทั้งเรื่องเพื่อสร้างความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงาให้กับตัวละคร ผู้ที่ในแง่หนึ่งคือคนยุโรปซึ่งเป็นคนนอกในบริบทนี้ มองเข้าไปในดินแดนที่เป็นภาพแทนแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกา
หากจะกล่าวอย่างรวบรัด เราคิดว่านี่คือภาพเคลื่อนไหวที่ล้อไปกับภาพวาดของเอ็ดเวิร์ด ฮ็อปเปอร์ได้อย่างงดงาม และอาจเรียกได้ว่างดงามยิ่งกว่าเมื่อมีแง่งามของความโรแมนติกอบอวลอยู่ในนั้น หนังเล่าเรื่องของชายวัยกลางคนนาม ‘แทรวิส’ ที่หายตัวไปจากบ้าน จากลูกชายวัยสี่ขวบ จากน้องชายและน้องสะใภ้ และจากเบื้องลึกในใจตนเอง ก่อนจะเดินทางกลับมาเมื่อสีปีผ่าน ไม่มีใครรู้ว่าเขาหายตัวไปไหน แต่สิ่งที่หายไปด้วยคือเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะหายตัวไป แทรวิสเริ่มกลับมาผูกมิตรกับลูกชายตัวน้อยอย่างทุลักทุเล แต่ท้ายที่สุดทั้งสองคนก็ออกเดินทางไปด้วยกัน ข้ามผ่านถนนที่พาดผ่านพื้นดินแห้งแล้งเป็นเส้นตรงสุดสายตา ข้ามผ่านท้องฟ้าสีแดงสดยามอาทิตย์ลับตา และข้ามผ่านแสงไฟนีออนสีเขียวส้มชมพูบนป้ายไดเนอร์สไตล์อเมริกันระหว่างทาง พวกเขาออกตามหาอีกส่วนหนึ่งที่หายไปจากคำว่าบ้าน นั่นคือภรรยาของแทรวิส และแม่ของลูกชายของเขา
ความดีงามของ Paris, Texas ไม่ได้มีเพียงสิ่งที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น เพราะมันยังเป็นดั่งเครื่องมือบันทึกว่า ความสดใหม่และจิตวิญญาณกวีร่อนเร่ในหนังของวิมหน้าตาเป็นเช่นไร ในหนังสือรวมภาพถ่าย Places, strange and quiet ของวิมอธิบายสิ่งที่เราพูดได้เป็นอย่างดี วิมเขียนกลอนเปล่าสั้นๆ บรรยายภาพถ่ายเกือบทุกภาพเอาไว้ และมีบทหนึ่งที่เราชอบเป็นพิเศษ มันเรียบง่าย หากแต่บอกเราเกี่ยวกับเขา หนังของเขา และความละเอียดอ่อนของเขาได้มากมายเหลือเกิน
“Sometimes
the absence of a thing
makes you so much more aware of it.
Especially if it is something
we take for granted.
Like windows…”
** สามารถรับชมภาพยนตร์กว่า 30 เรื่องจาก Documentary Club ผ่านทาง Vimeo On Demand ได้ที่ https://vimeo.com/docclubondemand/vod_pages
Tags: Films, Documentary Club, Doc Club On Demand