ภาพของ ‘เมียฝรั่ง’ รวมถึง ‘สาวพัทยา’ ได้รับการเฝ้ามองอย่างเอาใจใส่ในสารคดี Heartbound กลายเป็นคำอธิบายหนักอึ้งถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ของชีวิตที่พาให้พวกเธอไปอยู่ตรงนั้น แต่ดูเหมือนรอยแผลจากคำเหล่านี้รวมถึง ‘ความจน’ ที่เป็นต้นตอของทุกสิ่ง ยังคงฝังลึกอยู่กับ สมหมาย คำสิงห์นอก ผู้เป็นซับเจกต์หลักของสารคดี 

คล้ายว่าสำหรับเธอแล้ว ตราบใดที่ยังสลัดความเป็นคนไทยออกจากตัวเองไม่ได้ เธอก็ยังไม่สามารถปลดเปลื้องความรู้สึกไม่ดีต่อตนเองได้หมดจด

และก่อนจะไปถึงส่วนสัมภาษณ์ เราขอพูดถึงหนังสารคดีนี้อีกสักเล็กน้อย

Heartbound คือสารคดีโดยเยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) และ ซิเนอ พลามเป็ก (Sine Plambech) นักมานุษยวิทยาชาวเดนมาร์ก ที่ติดตามชีวิตผู้หญิงอีสานหลายคนในระยะเวลากว่า 10 ปี โดยมีป้าสมหมายเป็นแกนกลางของเรื่อง เธอคือภรรยาจากอีสาน พบรักกับสามีที่พัทยา และย้ายไปอยู่กับเขาที่เดนมาร์ก ต่อมาเธอกลายเป็นสื่อกลางชักนำให้หญิงอีสานอีกหลายต่อหลายคนไปแต่งงานที่นั่น จนปัจจุบันมีหญิงไทยอยู่ที่เมืองทุกว่าเก้าร้อยคนแล้ว

เมืองทุ (Thy) เป็นเมืองเล็กๆ ในเดนมาร์ก ที่นั่นวิวสวยดีหากเราไปเที่ยวสักอาทิตย์สองอาทิตย์ แต่การไปอยู่ที่นั่นในฐานะแม่บ้าน ไม่ว่าจะอากาศ ทิวเขา ทุ่งหญ้า ท้องฟ้า นานวันเข้าก็ “เหมือนนรก” อย่างที่ ‘ประสิทธิ์’ อีกหนึ่งภรรยาชาวอีสานผู้ที่ปรากฏตัวในช่วงแรกของหนังกล่าวไว้ 

ที่หนังกำลังบอกเราก็คือ ชีวิตที่ไกลบ้านและว้าเหว่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงอีสานซึ่งไปอยู่กับสามีฝรั่งต้องแลกมา เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ของตัวเอง แต่ยังเป็นครอบครัว ลูกน้อยกำลังโต พ่อแม่ที่เจ็บป่วย-ตายลง หรือกระทั่งหลานร่างพิการที่นอนติดเตียง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นแบ็กกราวด์ที่ถูกเล่าควบคู่กับชีวิตที่เดนมาร์กอยู่ตลอดทั้งเรื่อง อีกมุมหนึ่งเราก็ได้เห็นชีวิตของหญิงสาวที่ตอนแรกตั้งใจจะมากับป้าสมหมาย แต่เมื่ออายุยังไม่ถึง เธอจึงไปทำงานที่พัทยาแทน รวมถึงเพื่อนรักของเธอ สาวพัทยาอีกคนที่ชีวิตพลิกผันไปมาหลายตลบ

—พวกเธอไม่ได้แค่รักสบาย แต่พวกเธอกำลังยอมแลกเพื่อชีวิตที่ลืมตาอ้าปากไม่ขึ้นสักทีเพราะความยากจนในประเทศที่สวัสดิการรัฐแทบจะไม่เคยช่วยให้ชีวิตใครสุขสบายขึ้น 

นอกจากหนังเรื่องนี้จะฉายภาพชีวิตภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จุดบทสนทนาเปรียบเทียบเรื่องความแตกต่างสุดขั้วระหว่างสวัสดิการรัฐของไทยและเดนมาร์กที่ย้อนกลับมาวิพากษ์รัฐบาลไทยได้อย่างทรงพลัง มันยังกลายเป็นเครื่องมือในระดับส่วนตัวกว่านั้น สำหรับป้าสมหมาย เธอพูดชัดเจนว่าหนังเรื่องนี้เป็นพื้นที่ในการอธิบายให้เห็นเหตุปัจจัยเกือบทั้งหมดที่หญิงอีสานเช่นพวกเธอมี เพื่อปลดเปลื้องการถูกตีตราจากสังคม 

ผู้กำกับให้สิทธิป้าสมหมายอย่างเต็มที่ในการ ‘เลือก’ ว่าจะถ่ายอะไรในเวลาไหนบ้าง นั่นจึงเป็นโอกาสของเธอที่จะออกมาอธิบายในมุมตัวเองและเลือกว่าคนควรได้เห็นชีวิตเธอรวมถึงชีวิตที่รายรอบเธอแบบไหน ซึ่งทำให้เราเกิดคำถามบางข้อกับหนัง สำหรับคนอื่นๆ ที่ได้เปิดเปลือยชีวิตเช่นกัน อย่าง ‘ลม’ ที่ชีวิตระหกระเหินไปมาอยู่ระหว่าง อีสาน-พัทยา-อีสาน-พัทยา ผู้ซึ่งเราได้เห็นกระทั่งศพแม่ของเธอในโลงไม้ หรือประสิทธิ์ที่ตอนท้ายได้กลายเป็นภาพของ ‘ความผิดพลาด’ เราไม่รู้ว่าผู้สร้างหนังตกลงกับพวกเธออย่างไรบ้าง และเมื่อลองแทนตัวเองเข้าไป เราไม่แน่ใจว่าจะวางความรู้สึกตัวเองต่อหนังเรื่องนี้อย่างไรดี 

หรืออย่าง ‘มาร์ก’ ลูกชายของ ‘แก’ หลานสาวที่ป้าสมหมายชักชวนไปเดนมาร์ก เราได้เห็นเขาตั้งแต่ยังเด็ก ก่อนย้ายไปเดนมาร์กจนกระทั่งโตและเริ่มหางาน ขณะที่ลูกสองคนของป้าสมหมายซึ่งย้ายไปอยู่ด้วยกันที่เดนมาร์กตั้งแต่ก่อนสารคดีเริ่มถ่ายทำ กลับไม่เคยถูกฉายผ่านหน้าจอสักครั้ง อะไรที่ทำให้พวกเขาไม่ปรากฏตัวในหนังเรื่องนี้เลย? 

เหล่านี้เป็นหนึ่งในส่วนเล็กๆ ที่ติดอยู่ในใจหลังดูหนังจบ เราจึงขอถือโอกาสนี้ถามป้าสมหมายให้หมดข้อสงสัย

คุณป้ารู้สึกอย่างไรกับ Heartbound

ก็ภูมิใจนะคะ อย่างน้อยเราก็มีส่วนได้ตีแผ่เรื่องที่เราเจอมา เราได้ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้ไปเพื่อปอกลอกเขา เราไปเพื่อความอยู่รอด แล้วเราก็ให้สิ่งตอบแทนเขาอยู่บ้าง และเราก็ไม่ได้ไปอยู่สบายนะ เราก็ต้องทำงาน ไปเจอกับอะไรที่ไม่เคยรู้จัก ทั้งภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ที่จริงป้าก็กังวลอยู่นิดหน่อยก่อนหนังจะมาฉายที่เมืองไทย เรารู้ว่าความรู้สึกของคนไทยกับฝรั่งไม่เหมือนกัน เรากังวลว่าพอได้ดูหนังแล้วเขาจะเข้าใจเราไหม เขาจะคิดยังไงกับเรา พูดถึงเรายังไง แต่ดูเหมือนว่าคนที่ได้ดูเขาก็เข้าใจ (รอบสื่อมวลชน) เราก็ผ่อนคลายมากขึ้น

ที่บอกว่ากังวลนี้หมายถึงประเด็นไหนเป็นพิเศษ

กังวลที่สุดก็ตรงที่เราบอกว่าเราทำงานอะไรมา และเราไปเดนมาร์กเพราะอะไร เรากลัวว่าเขาจะมองแบบไม่เปิดรับ เพราะสังคมไทยยังไม่ค่อยเปิดรับเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรากลัวเขาจะโกรธว่าเราเอาสิ่งไม่ดีไปตีแผ่ กลัวเขาจะมองว่าทำให้คนต่างชาติดูถูกคนไทยหรือเปล่า เพราะตอนหนังฉายที่ยุโรปก็เคยมีคนไทยโทรมาว่าป้าแบบนี้ คนที่ไปเป็นภรรยาเหมือนเรานี่แหละ เขาก็มีความกังวลอีกต่อหนึ่งว่าฝรั่งได้ดูแล้วก็จะเข้าใจว่าผู้หญิงไทยที่ไปอยู่ที่โน่นมีแต่ลักษณะแบบในหนัง ก็คือไปเพราะเรื่องเงินเป็นหลักหรือเคยขายบริการมาก่อน เขากลัวจะถูกเหมารวมไปด้วย

เราก็บอกเขาไปว่าเราไม่ได้เหมารวม เราพูดถึงแค่ในส่วนของเรา ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเป็นแบบนี้

มีส่วนที่ถูกตัดออกจากหนังไหมคะ

มันก็มี พูดกันง่ายๆ อย่างคำพูดของแม่ของแสง (อีกหนึ่ง ซับเจกต์หลักของเรื่อง แม่ของแสงมาขอให้ป้าสมหมายพาแสงไปแต่งงานที่เดนมาร์ก แต่ตอนนั้นยังอายุไม่ถึง ต่อมาเธอไปทำงานที่พัทยา) เขาพูดชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร เราว่าเขาพูดตรงจนเกินไป ซึ่งที่เขาพูดมันก็เรื่องจริงน่ะนะ แต่เรามองว่ามันไม่ควรที่จะเผยแพร่ออกไป 

หมายความว่า หนึ่งในกองเซนเซอร์หนังเรื่องนี้คือตัวป้าสมหมายเอง?

ป้าสมหมายเอง คือหลังจากเขาถ่ายเสร็จหมด เขาก็ตัดต่อแล้วก็ฉายให้เราดูก่อน แล้วเขาก็ให้สิทธิเราเต็มที่ว่าอยากตัดตรงไหนออก ก็มีบางคำพูดที่ถูกตัดออก แต่ทุกอย่างที่ถูกถ่ายไว้มันปรากฏอยู่ในหนังหมดเลยนะ แต่ก็จะมีบางซีนเช่นตรงที่ถ่ายที่พัทยา มันจะมีภาพสาวนั่งดริงค์ นั่งจูบปากกับฝรั่ง เราคิดว่าภาพเหล่านี้มันล่อแหลมจนเกินไป ก็ขอให้เขาตัดออก ป้าว่ามันจะส่งผลต่อวัฒนธรรมไทยเรา 

ป้าว่าจุดประสงค์ของหนังต้องการพูดถึงสังคมสวัสดิการ ในความเข้าใจของป้านะ คนสร้างเขาคิดว่าคนดูแล้วจะนึกถึงเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่ได้ต้องการจะพูดถึงสิ่งไม่ดีของสังคมไทยจนเกินไป ป้าว่าเขาก็ระวังเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

เห็นว่าคุณป้าพาลูกไปอยู่ด้วย อะไรที่ทำให้ลูกของคุณป้าไม่ปรากฏตัวในสารคดีเลย

ใช่ ป้าพาลูกไปสองคน คนแรกไปตั้งแต่ปี 1991 ตอนนั้นเขาหกขวบครึ่ง อีกคนก็ตามไปทีหลังตอนเขาอายุ 12 ขวบ

ทีนี้ตอนแรกที่เริ่มทำสารคดี เขาก็อยากทำแค่ส่วนของป้า ประกอบกับลูกเขาก็อาย เขาไม่ได้อยากจะถ่ายทำ แต่จริงๆ เขาก็อยู่เบื้องหลัง ตอนมาถ่ายที่เมืองไทยลูกสาวป้าก็มาเป็นล่าม อีกอย่างป้ารู้สึกว่าลูกป้าไปอยู่นานแล้ว ก่อนที่สารคดีจะถ่ายทำ คือเราเริ่มถ่ายตอนปี 2006 ตอนนั้นลูกป้าก็ค่อนข้างโตแล้ว หนังเลยจะโฟกัสไปที่มาร์ก (ลูกชายของหลานสาวป้าสมหมาย เขาเริ่มไปอยู่เดนมาร์กตอนอายุ 7 ขวบ ในระยะเวลาที่หนังถ่ายทำพอดี) เพื่อจะตีแผ่ว่าเด็กที่เริ่มไปที่โน่นครั้งแรกเจอความยากยังไงบ้าง ตอนนั้นลูกป้าไปอยู่จนปรับตัวได้ ไม่ได้มีอะไรจะพูดถึงแล้ว

คนอื่นๆ ที่ปรากฏตัวในสารคดีปรับตัวกับกล้องนานไหม

อย่างแก ที่เป็นลูกของพี่สาวป้า ช่วงแรกๆ เขาจะเขินกล้องมาก คือพอเขาตัดสินใจจะมาที่เดนมาร์กป้าก็ชวนเขาว่ามาถ่ายกัน ตอนแรกเขาก็คงไม่รู้หรอกว่าจะเป็นอะไรยังไง ป้าชวนถ่ายก็ถ่าย ทีนี้พอฉายที่เดนมาร์กคนดูเขาก็จะไม่ค่อยโอเค เขาจะเห็นว่าช่วงแรกแกจะหน้าบึ้ง ไม่ยิ้มเลย คนเดนมาร์กเขาคิดว่าแกถูกบังคับมาหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ถูกบังคับ แกเขาก็อยากไปเอง เขาดีใจด้วยซ้ำที่ได้ไป เขารู้แหละว่าอะไรเป็นอะไร เขาโตแล้ว แต่เขาก็กังวลตามธรรมดา ซึ่งป้ามองว่าเป็นเพราะมีกล้องถ่ายเขาอยู่ 

แต่กลับกัน มาร์กเขาแฮปปี้นะ บางทีเวลาเขาถ่ายเสร็จแล้วเขาก็จะส่งเสียงเฮ เขาจะแฮปปี้ไปกับการถ่ายทำ ไม่เขินอายไม่อะไรเลย เด็กอาจจะปรับตัวง่ายกว่าผู้ใหญ่ ไม่มีปัญหาเรื่องถ่ายเลย 

อะไรที่ทำให้การถ่ายทำค่อนข้างราบรื่น โดยที่หนังเจาะเข้าไปในชีวิตคนค่อนข้างลึกทีเดียว

เพราะคนทำหนังเขาไม่ได้มากำหนดว่าจะถ่ายอะไรตอนไหน เขาไม่ได้บอกว่าฉันจะถ่ายสิ่งนี้พรุ่งนี้นะ พวกเธอต้องพร้อม แต่เขาต้องรอจนกว่าเราจะพร้อม หรือเรามีเหตุการณ์อะไรจริงๆ เขาให้สิทธิเราเต็มที่ว่าเราอยากให้ไปถ่ายตอนไหน อย่างเวลาเรารวมตัวกันมากินข้าวกันอะไรแบบนี้ ก็จะบอกเขาว่าอาทิตย์หน้ามีรวมตัวกันนะ ถ้าจะถ่ายก็มา แล้วเขาก็ไม่ได้มากะเกณฑ์ว่าเราต้องพูดเรื่องไหน เราพูดเอง เราคุยกันเอง เขาก็ถ่ายของเขาไป 

แล้วเขาก็ไม่ได้มาตัดสินใจว่าจะเพิ่มอะไรเข้าไปหรือเอาอะไรออก ไม่มีการจัดวางข้าวของว่าอยากโชว์อันนี้ไม่อยากโชว์อันนี้ เขาให้สิทธิเรา 100%

มีฉากที่ดูแล้วแอบตกใจ เช่นฉากงานศพที่ถ่ายเข้าไปเห็นหน้าศพที่นอนในโลงเลย

ป้าว่ามันก็ดีนะ คือเราได้ตีแผ่วัฒนธรรมเราด้วย เขาจะได้เห็นว่าบ้านเราจัดงานศพกันแบบนี้ ที่บ้านนอกเขาทำอย่างนี้จริงๆ สารคดีมันทำเรื่องจริง เราก็เสนอความจริงออกไป แต่อันนี้มันเป็นข้อตกลงระหว่างลม (ลูกสาวของแม่ที่ป่วยตาย) กับผู้ถ่าย อันนี้ป้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีของแสงกับลมที่เขาไปทำงานที่พัทยานี่เป็นส่วนที่คนสร้างเขาไปตกลงกันเอง ป้าไม่ได้เป็นคนชักชวนให้แสงหรือลมมาอยู่ในหนังเรื่องนี้ 

หลานของคุณป้าเองที่เป็นผู้พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เขาเป็นส่วนหนึ่งของหนังเพราะอะไร

เราก็อยากให้คนได้รู้ว่าเราลำบากกันมาก เราไม่มีสวัสดิการที่จะดูแลตรงนี้ เราก็ต้องดูแลกันเอง ที่เขาได้อยู่ในสารคดีเรื่องนี้เป็นความคิดของป้าเอง เราอยากให้คนเชื่อมโยงกับเรื่องการดูแลของรัฐ เราคิดว่ามันเชื่อมโยงกันได้

ขณะที่กรณีของประสิทธิ์ หลังจากหย่ากับสามีที่เดนมาร์กแล้ว เธอก็ได้หายไปจากสารคดีเลย

การที่ประสิทธิ์ไปแต่งงานกับฟรังค์ เธอก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลายๆ คนที่คิดว่า พอแต่งงานกับฝรั่งแล้วจะได้เงินมากมาย อยากได้อะไรก็ต้องได้ แล้วพอฟรังค์ไม่ได้มีเงินมากมายพอจะจุนเจือทุกอย่าง ประสิทธิ์ก็ทำงานเอา เขาก็ใช้ความอดทนสูงเหมือนกันในการอยู่กับฟรังค์ จนถึงวันที่ประสิทธิ์ได้ใบอยู่ถาวรปั๊บ เขาก็หย่ากันทันที ประสิทธิ์ไม่ได้มีปัญหาอื่นเลย นอกจากความอยากได้อยากมีของเขา เป็นเรื่องผลประโยชน์ล้วนๆ ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งที่ป้าระวังที่สุดเลย ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ประสิทธิ์นี่ป้าไม่ได้พาเขาไปนะ รู้จักกันเป็นทอดๆ มาอีกที ป้าก็ต้องอธิบายกับฟรังค์ว่าป้าไม่ได้รู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังของเขามาก่อน ถ้าเกิดอะไรขึ้นมันไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของป้านะ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ 

การได้ย้อนกลับมามองชีวิตตัวเองผ่านสารคดี ทำให้คุณป้าเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเองอย่างไรบ้าง

บอกไม่ถูกว่ามันเปลี่ยนมุมมองไหม แต่เมื่อก่อน ป้ารู้ว่าตัวเองเกิดมาในครอบครัวยากจน เราไม่มีโอกาสอะไรเลย เราเลยอยากจะได้โน่นอยากได้นี่ อยากจะทำอันโน้นอันนี้ เราไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย แค่อยากให้ตัวเองอยู่ในจุดที่ได้อะไรเหมือนคนอื่น แต่พอมาสักพักก็รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไปบ้าง สิ่งที่เราเคยอยากได้ก็ไม่ได้ช่วยให้เรามีความสุขขึ้นหรือดีขึ้น มันอาจจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่สุดท้ายเราก็ยังมีเศร้ามีเหงาเหมือนเดิม มันคงเป็นสิ่งที่เราคิดไปเองว่าจะทำให้เราดีขึ้น ถ้าย้อนกลับไปได้เราก็อาจจะไม่ต้องดิ้นรนหรือทำอะไรขนาดนั้น

เคยคิดนะว่าที่เราไม่ได้มีความสุขขนาดนั้นก็เพราะเราสร้างบาปเอาไว้ เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องมาก่อน ก็นึกไปแบบนั้น เราได้ยินเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เกิด บางทีเราก็ยังเชื่ออยู่

มีคนหนึ่งพูดในหนังว่างานบริการทางเพศต้องตัดความรู้สึกส่วนตัวออกทุกอย่าง อันที่จริงงานนี้ยากลำบากอย่างไรบ้าง

การทำงานนี้เราไม่สามารถพูดได้เลยว่าเราไม่ต้องการจะทำ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็แล้วแต่ เราต้องทำ แล้วความรู้สึกนี่ไม่ต้องไปพูดถึง พูดง่ายๆ บางครั้งไปกับแขกแล้วเขาทำรุนแรงกับเรา เราก็ไม่มีสิทธิที่จะไม่ให้เขาทำ ถ้าเราไม่ให้เขาทำ หนึ่งเราก็ไม่ได้เงิน สองเจ้าของร้านเขาก็จะอะไรกับเรา เราเลยต้องทำทุกอย่าง กดดันตัวเองทุกอย่าง ยอมทุกอย่าง มันยากมาก เราไม่มีโอกาสที่จะแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาเลย คือมันก็ไม่เชิงว่าใครถูกบังคับไปนะ มันเป็นการตัดสินใจของเราเอง เรานี่แหละกดดันตัวเอง 

มองว่างานบริการทางเพศควรถูกกฎหมายไหม

อยากให้มีกฎหมายคุ้มครองในส่วนที่บางครั้งคนเหล่านี้โดนเอาเปรียบ หรือเดือดร้อนในด้านสุขภาพอนามัย แต่ถามว่าอยากให้ถูกกฎหมายแล้วทำงานอย่างเปิดเผยเลยไหม ป้าว่ามันไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เราอยากให้สังคมเปิดใจกว้างกับเรามากกว่า ต่อให้มันถูกกฎหมายแต่คนยังคงมองเราว่าต่ำกว่า เราก็ไม่สามารถจะมีหน้าตาในสังคมได้ เราก็ยังคงรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อย 

ตั้งแต่จากบ้านไปแรกๆ จนถึงตอนนี้ รู้สึกว่าสายตาของชาวบ้านที่มองมาที่ป้าเปลี่ยนไปไหม

เปลี่ยนไปมากเลย ตั้งแต่ที่เราไปพัทยา แม้แต่คนในครอบครัวเราเองก็ยังไม่พูดคุยกับเรา ทำให้เราขายหน้า พี่สาวกับพี่เขยก็ทะเลาะกันเพราะเราไปทำงานพัทยา ต่อมาหลังจากที่เราไปอยู่เดนมาร์ก เราก็ช่วยเหลือให้คนอื่นได้ไป หรือเราก็จุนเจือเขาบ้าง เขาก็เข้าใจเรามากขึ้น ไม่ใช่ว่าเขาเห็นแก่เงินนะ เพียงแต่เขาได้เห็นว่าเราไม่ได้ไปเพื่อตัวเราคนเดียว เรายังมองเห็นคนอื่นด้วย ซึ่งเราก็ไม่ได้มองว่าเราเป็นพระเจ้าหรืออะไร เราแค่อยากให้เขาเห็นใจเราบ้างว่าเราไปเพราะอะไร มาถึงตอนนี้ทุกคนก็เข้าใจหมดแล้ว

การไปอยู่ยุโรปมานาน มีความคิดจากฝั่งยุโรปเข้ามาอยู่ในตัวคุณป้ามากน้อยแค่ไหน

มีนะ อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าบ้านนี้เขารวย เขาทำงานดี๊ดี เขาจะมีศักดิ์ศรีกว่าเรา เราเทียบอะไรกับเขาไม่ได้ แต่พอไปอยู่ที่นั่น ป้ารู้สึกว่าเราไม่ต้องก้มหัวให้ใครที่จะมาตัดสินเรา เมื่อก่อนตอนอยู่ไทยเราไม่กล้าที่จะแสดงตน เราไม่มีสิทธิพูดอะไรเลย แต่ที่โน่นเรากล้าแสดงความคิดเห็น และคนอื่นเขาก็ให้สิทธิ ให้โอกาสเราที่จะพูด เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้แตกต่างจากเขาเลย เขาจะสอนเราประจำ ไม่ว่าเพื่อนที่ทำงาน สามี หรือคนรอบข้าง เขาจะบอกว่าเธอพูดเลย เธอต้องกล้าพูด

สมมติเราทำงานทำความสะอาด เราก็สามารถพูดได้ว่าฉันทำแบบนี้เพราะแบบนี้ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นหัวหน้าแล้วเราต้องฟังอย่างเดียว เราออกความเห็นเกี่ยวกับงานเราได้ บางอย่างที่เรารู้กว่าเจ้านาย เราก็บอกเขาได้แล้วเขาก็รับฟัง

บทสนทนาที่สนุกที่สุดเวลาคุยกับคนเดนมาร์กคืออะไร

เรื่องวัฒนธรรมไทยนี่แหละ เขาก็จะอยากรู้ว่าบ้านเราอยู่กันแบบไหน เขาค่อนข้างสนใจที่จะแลกเปลี่ยนกัน อย่างป้าเวลาอยู่ที่โน่นก็จะคอยจัดงานประเพณีต่างๆ อย่างสงกรานต์ ลอยกระทง เราก็จะมีงานกัน เราพยายามปลูกฝังเด็กไทยที่โน่นให้ไม่ลืมวัฒนธรรมของเรา และให้คนเดนมาร์กเขาได้รู้จักเราด้วย

อยู่ที่โน่นนานๆ เหงาไหม

จะพูดว่าเหงาคงไม่ได้ มันยิ่งกว่าเหงาอีก มันว้าเหว่ มันไม่อบอุ่น ยิ่งตอนที่เพิ่งไปเราไม่มีใครที่รู้จัก บางครั้งมันแทบจะทนไม่ได้ก็มี แต่มันจะเอาแต่แคร์ความรู้สึกตัวเองก็ไม่ได้ มันตัดสินใจไปแล้ว ก็ต้องอยู่ให้ได้ ก็ไม่มีใครบอกหรอกว่าไปแล้วอย่ากลับมา แต่ตัวเราก็กดดันตัวเอง

ที่จริงเดนมาร์กเป็นประเทศที่อยู่ง่าย อยู่สบาย ไม่มีก่อการร้าย ไม่มีภัยพิบัติ คนจะอยู่กันเงียบๆ ง่ายๆ แต่ป้าก็ยังคิดว่าอยากจะกลับมาอยู่เมืองไทยเพราะมันเป็นบ้าน อยู่เดนมาร์กป้าไม่ได้รู้สึกว่าอยู่บ้าน คือพอเราดูข่าวอาจจะเห็นว่าเมืองไทยมันวุ่นวายมาก มีเรื่องเกิดขึ้นเยอะแยะ แต่ในความเป็นบ้านสังคมบ้านนอกกับในเมืองมันก็อาจจะไม่ได้เหมือนกัน สังคมบ้านนอกจะยังมีความผูกพัน คนยังไปมาหาสู่กันอยู่ เรามันร้อยสองร้อยหลังคาเรือนเรารู้หมดว่าใครทำอะไร บ้านนี้แกงอะไร กินอะไร คนยังเป็นห่วงเป็นใยกัน ป้าคิดถึงตรงนั้น

ถ้าขอพรให้บ้านเกิดได้หนึ่งข้อ จะขอว่าอะไร

อยากให้ประเทศเราไม่มีความเหลื่อมล้ำ อยากให้เขาดูแลคนชนบทให้ดีกว่านี้ อยากให้มีสวัสดิการให้ลูกได้มีการศึกษาดีๆ คนมีสุขอนามัยที่ดีเหมือนๆ กันหมด ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็คงไม่มีใครต้องขวนขวายจะไปอยู่ที่อื่น ไม่ต้องสปีดตัวเองด้วยการทำอะไรที่มันไม่เหมาะไม่ควร

เรื่องนี้มันอยู่กับป้ามาตลอด สลัดไม่หลุดเลย อย่างป้า เรียนหนังสือจบ ป.4 เราก็ไม่ได้เรียนต่อ ป.5 เห็นเพื่อนได้เรียนต่อเราก็อยากจะเรียนแต่พ่อแม่เราไม่มีกำลัง เราก็เลยพาลคิดว่าเพราะความจนเนี่ยที่ทำให้เราไม่มีโอกาสตรงนี้ ถ้าเราได้เรียนเราก็อาจจะได้มีโอกาสทำอาชีพอื่น เป็นครู เป็นหมอ เราอาจไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายขนาดนั้น อยากให้ทุกคนมีโอกาสได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ 

Tags: , ,