ในวันที่คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ กลายเป็นหนึ่งในประเด็นกระแสหลักที่มีการพูดมากขึ้นในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ในฐานะปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีได้ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นโลกออฟไลน์หรือโลกออนไลน์ ทว่าประเด็นเรื่อง ‘สิทธิดิจิทัล’ (digital rights) กลับยังเป็นเรื่องใหม่และท้าทายความเป็นรัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะสถานการณ์ในประเทศไทย
เพื่อขยายเพดานการคุ้มครองปกป้องสิทธิเสรีภาพที่เราพึงมี ในวันที่เราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอยู่บนหน้าจอโทรศั พท์หรือคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงสนทนากับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ติดตามประเด็นเรื่องสิทธิดิจิทัลในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปี เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์สิทธิดิจิทัลในประเทศไทย และคุยกันว่าทำไมสิทธิดิจิทัลถึงเกี่ยวกับเราทุกคน
จากจุดเริ่มต้นเรื่องกฎหมาย สนใจแนวคิดที่ท้าทายความเป็นรัฐ สู่เรื่องสิทธิดิจิทัลได้อย่างไร
เริ่มด้วยความสนใจในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ให้คุณค่ากับความเป็นสากลมาก่อนแล้ว จนมาสู่เรื่องสิทธิดิจิทัลซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งในจุดนี้ เรามองว่าแต่ละคนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ต่างกันไป คนอื่นๆ อาจมองเรื่องดิจิทัลในแง่เทคโนโลยีหรือเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความที่เป็นนักเรียนกฎหมาย สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี และก่อนหน้านั้นก็สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สังคมโลก โลกาภิวัตน์ ประกอบกับในช่วงเวลาที่ได้ไปเติบโตในต่างประเทศ ก็เริ่มมองเปรียบเทียบสังคมต่างๆ ในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
ในเชิงวิชาการก็สนใจประเด็นที่ท้าทายความเป็นรัฐ เพราะความที่เรียนกฎหมายซึ่งต้องผูกติดกับความเป็นรัฐสูงมาก อินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่ทำให้ขอบเขตของอำนาจรัฐถูกเขย่าอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกันกับประเด็นปัญหาอย่างในพื้นที่ของทะเล อวกาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ข้ามพรมแดน การค้าข้ามประเทศ หรือมาตรฐานการใช้แรงงานระหว่างประเทศ
ส่วนเหตุผลที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนก็เพราะว่าวิธีคิดเรื่องนี้มันผูกติดกับความเป็นสากล จริงๆ แล้วความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพนั้นมีอยู่ในทุกประเทศ มีอยู่ในระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ อยู่แล้ว เพียงในแต่ละประเทศอาจอยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน หรือมีวิธีคิดต่างกัน แต่มันมีอยู่ ดังนั้นในทางกลับกัน ความคิดที่ว่าสิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล ผูกร้อยเข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ โดยไม่สนใจเชื้อชาติ เพศ ชนชั้น ก็มีแรงในดึงดูดให้น่าเรียนรู้
เมื่อสังคมเข้าสู่ความเป็นดิจิทัล ก่อนอื่นเราอยากชวนมองว่าโลกดิจิทัลเป็นพื้นที่ที่ท้าทายความเป็นรัฐมากเหมือนกัน ในสมัยก่อน สิ่งที่ท้าทายความเป็นรัฐอาจเป็นอะไรที่มีคุณสมบัติข้ามประเทศ แต่โลกไซเบอร์นั้นไม่ได้ต้องเคลื่อนย้ายข้ามประเทศแล้ว แต่คือการอยู่ในประเทศนี่แหละ ที่สามารถเชื่อมต่อกับโลกข้างนอกได้เลย นั่นเลยเขย่าความเป็นไปของระบบรัฐในรูปแบบเดิมๆ
คนเราใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งการเป็นคนเจเนอเรชันวาย โตมากับการใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่อายุประมาณ 12 ย่อมส่งเสริมให้จินตนาการถึงการใช้ชีวิตเหมือนในโลกที่เป็นอยู่แบบทุกวันนี้ แล้วภาพโลกในจินตนาการมันก็เริ่มค่อยๆ โผล่หน้าเป็นจริงขึ้นมาเรื่อยๆ อะไรที่เมื่อก่อนมันไม่ธรรมดา เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและน่าตั้งคำถามว่าในมุมของกฎหมายจะตามความเปลี่ยนแปลงทันไหม และยังท้าทายในแง่ของวิธีคิดว่ากฎหมายจะเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเทคโนโลยีอย่างไร โดยเฉพาะในระยะเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก
เหล่านี้เป็นโจทย์สำหรับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ ที่เราก็อยากเข้าไปคิด ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ พอมันมีประเด็นที่ท้าทายก็อยากรู้ ทำให้เราเริ่มศึกษาประเด็นสิทธิมนุษยชนในโลกดิจิทัลมากขึ้น
กลับมามองปัญหาสิทธิดิจิทัลในประเทศไทย คุณมองเห็นอะไรบ้าง
ปัญหาหลักมาจากสองส่วน ทั้งปัญหาดั้งเดิมในประเทศที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก หรือเรื่องความรู้ความเข้าใจในการอยู่ในโลกบริบทดิจิทัล ส่วนอีกด้านคือปัญหาผลกระทบของการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งรัฐไม่ได้เป็นเจ้าของ
ดังนั้น เรามองว่าปัญหาเรื่องสิทธิดิจิทัลมาจากปัญหาดั้งเดิมในประเทศไทยที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ปัญหาสิทธิดิจิทัลในไทยไม่ใช่ปัญหาที่มาจากเรื่องสิทธิดิจิทัลด้วยตัวเองอย่างเดียว แต่สะท้อนถึงปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีอยู่มาก่อนแล้ว ในเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออก หรือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ถึงประเทศไทยจะมีการยอมรับรองสิทธิต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ และพยายามจะพูดถึงเรื่องเหล่านี้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่มีความพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สู้จนถึงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเสรีภาพของสื่อ ในต่างประเทศจะเห็นได้ชัดมากว่าสื่อจะไม่ยอมถูกบังคับให้ต้องเปิดเผยแหล่งข่าวของตนเอง หรือไม่ถูกบีบให้ต้องงดเว้นการนำเสนอข่าวบางอย่างด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่สิทธิในลักษณะเช่นนี้และสิทธิอื่นๆ ยังไม่ถูกทำให้ชัดในประเทศไทย
ในขณะที่การยื้อกันไปกันมาระหว่างคุณค่าแบบอนุรักษ์นิยมและสิทธิของปัจเจกก็มียังคงอยู่ ท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ การมาของโลกดิจิทัลจึงเปิดประตูเชิงเทคโนโลยีที่ช่วยเอื้อให้มีการใช้สิทธิมากขึ้น แต่ด้วยโครงสร้างสังคมที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจน เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ จึงกลับกลายเป็นการดิสรัปต์สภาวะดั้งเดิม จากที่ปัจเจกบุคคลถูกรัฐกดไว้ เมื่อมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลก็เลิกง้อรัฐ เริ่มไม่สนใจสื่อกระแสหลัก และหันไปใช้สื่อทางเลือกอื่นๆ แทน
ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐไทยพยายามสร้างระเบียบแบบแผนเพื่อควบคุมโลกดิจิทัลด้วยวิธีคิดแบบเก่า แบบในยุคหนังสือพิมพ์ เพราะรัฐเองก็ไม่เข้าใจว่าความเป็นดิจิทัลที่เข้ามารบกวนความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิของปัจเจกบุคคลกับประโยชน์สาธารณะ จึงสะท้อนออกมาเป็นกฎหมายหรือแนวนโยบายที่มักมีความลักลั่นในตัวเอง เมื่อรัฐปรับตัวไม่ทัน ทำให้การเข้ามาของอินเทอร์เน็ตท้าทายกรอบคิดเดิมของรัฐโดยตรง เพราะการพยายามยึดโยงอำนาจทางกฎหมายกับเส้นเขตแดน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประยุกต์ใช้กับโลกยุคอินเทอร์เน็ตได้อีกต่อไป
นอกจากตัวเครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัลเอง มีปัญหาใดที่มาจากผู้ใช้งานบ้างไหม
อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องความเข้าใจของคนทั่วไปในการใช้เครื่องมือต่างๆ รูปแบบการที่คนไทยเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลและการสื่อสารทางดิจิทัลมันกระโดดจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้เข้าถึงคอมพิวเตอร์ ยกเว้นพนักงานบริษัทที่ใช้คอมพิวเตอร์จากสายโทรศัพท์บ้าน ซึ่งเป็นคนจำนวนแค่หยิบมือเดียวของประเทศ สู่การก้าวกระโดดไปยังยุคที่ทุกคนเข้าถึงโทรศัพท์อย่างง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทำให้คนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ใหม่นี้มากขนาดนั้น ถึงจะปรับตัวและใช้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้เท่าทันผลกระทบที่อุปกรณ์เหล่านั้นมีต่อเรา
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หนึ่งในข้อดีของดิจิทัลคือการเปิดโลกให้คนที่ไม่เคยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ความพร้อมของคนที่จะเข้ามาใช้งานก็มีน้อย องค์ความรู้เรื่องการใช้เครื่องมือดิจิทัลในยุคสมาร์ตโฟนเลยยังติดอยู่กับองค์ความรู้แบบในยุคคอมพิวเตอร์
ปัญหานี้ได้ไล่มาตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระบบสำนักงาน การเปลี่ยนแปลงนี้เข้ามาในช่วงที่สิ่งต่างๆ ไม่พร้อม ครึ่งๆ กลางๆ ถึงรัฐจะมีความพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ก็เป็นการใช้อำนาจรัฐในแบบที่ตรวจสอบไม่ได้อย่างที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น ในโลกสมัยก่อน หากเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาค้นบ้านเราโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ยังมีประมวลกฎหมายอาญาที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิของเราได้ หรือถ้าเราไปขอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลแล้วรัฐไม่ยอมเปิดเผย มันก็จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านั้นรองรับอยู่ แต่พอเป็นโลกดิจิทัล มันมีการผ่านกระบวนการเหล่านี้เยอะมาก ซึ่งเกิดขึ้นจากทั้งฝั่งรัฐและประชาชน อย่างถ้ามีการแบนหนังโป๊ คนก็รู้จักการใช้ VPN แล้วก็เข้าดูได้เหมือนเดิม ดังนั้น เครื่องมือเดิมๆ ที่รัฐใช้ในการควบคุมก็ใช้ไม่ได้เต็มที่
เมื่อก่อนรัฐถูกกำกับโดยกฎหมายกระบวนวิธีพิจารณาต่างๆ แต่กฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับระบบดิจิทัล มันเลยเป็นสภาวะที่ใครใช้เทคโนโลยีได้มากกว่าก็สู้กันไป มันไม่มีกลไกที่จะหาจุดสมดุลระหว่างสิทธิด้านต่างๆ
การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นทรัพยากรที่รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของ คือการเกิดใหม่ของสิ่งที่รัฐไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร
แต่ก่อนรัฐสามารถควบคุมทรัพยากรการสื่อสารให้อยู่ในมือของรัฐได้โดยการรวมศูนย์ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ แต่พอเป็นอินเทอร์เน็ต รัฐไม่ได้เป็นเจ้าของแล้ว กลายเป็นว่าโครงสร้างพื้นฐานของโลกอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่รัฐไม่รู้จะจัดการกับมันอย่างไร ไม่รู้ว่าต้องตกลงกับใครและอย่างไร รัฐมีความพยายามเอาวิธีคิดแบบโลกกายภาพอย่างเรื่องพรมแดน ไปใช้กับโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งหมายความว่ารัฐไม่ได้เข้าใจการทำงานของอินเทอร์เน็ตเลย
นั่นเลยทำให้อินเทอร์เน็ตไม่ได้แค่ท้าทายความสามารถของรัฐอย่างเดียว แต่กลายเป็นท้าทายความเป็นรัฐเลย เพราะความเป็นรัฐคืออำนาจของกฎหมายที่ผูกติดอยู่กับเส้นเขตแดน แต่อินเทอร์เน็ตกลับข้ามทุกสิ่งทุกอย่าง ทรัพยากรก็คุมไม่ได้ กฎหมายก็เหมือนจะบังคับใช้ไม่ได้ การตกลงกับบริษัทต่างชาติก็สื่อสารยาก เพราะว่าคุณค่าที่รัฐยึดถือมันไม่ใช่คุณค่าสากล ซึ่งบริษัทพวกนี้ถูกควบคุมโดยกฎหมายของรัฐ ที่เป็นผู้นำของคุณค่าสากลอีกที
การเมืองระหว่างประเทศเองก็ส่งผลต่อสถานการณ์สิทธิดิจิทัลในไทย
ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ส่งผลกระทบต่อสิทธิดิจิทัลในไทย ย้อนไปในอดีต วิธีการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนจะกระทำผ่านการให้ความช่วยเหลือแบบ International Aid ซึ่งหมายถึงการดึงประเทศต่างๆ มาเป็นพวก โดยมีเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นข้อแลกเปลี่ยนสำหรับการที่รัฐรัฐหนึ่งจะได้รับความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวได้ผลลดลงเมื่อประเทศต่างๆ มีอำนาจมากขึ้นหลังจากยุคสงครามเย็น และที่สำคัญ ในยุคปัจจุบันที่จีนก้าวเข้ามามีอำนาจ เมื่อมีจีนแล้ว ประเทศบางส่วนเริ่มรู้สึกว่าไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกแล้วก็ได้ ดังนั้น ประสิทธิภาพของกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เคยมีอยู่ในระบบระหว่างประเทศจึงเปลี่ยนไปด้วย
นอกจากนี้ยังมีตัวแสดงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือบริษัทข้ามชาติ ที่มีบทบาทในการต่อรองกับรัฐได้ อย่างแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ควบคุมยากกว่าในอดีต เพราะหากรัฐพยายามควบคุม ขู่ว่าจะปรับมาตรการต่างๆ บริษัทแพลตฟอร์มเหล่านั้นก็ขู่ถอนตลาดการลงทุน อาจจะปลดการจ้างแรงงานของคนในประเทศนั้นๆ หรือไม่ให้ใช้แพลตฟอร์มได้เช่นกัน วิธีเดียวที่รัฐต่างๆ จะควบคุมบริษัทเหล่านี้ได้ คือการขอความร่วมมือไปยังประเทศต้นทางของบริษัทแพลตฟอร์ม แต่นั่นหมายความว่า ถ้าสิ่งที่ขอความร่วมมือไปไม่สอดคล้องกับคุณค่าที่ประเทศต้นทางยึดถือ ก็จะทำให้รัฐทำอะไรได้ยากขึ้นแบบที่ต้องการ
ขณะที่ถ้าสมมติสมการการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่มีจีน บริษัทเทคโนโลยีจะมีอำนาจเยอะกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมาก เพราะบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตอนนี้มาจากสหรัฐอเมริกา แต่ต่อไปจะมีบริษัทเทคโนโลยีมาจากจีนเยอะขึ้น ทั้งในแง่เครื่องมือหรือเครือข่าย หรือแม้กระทั่งวิธีการมองเรื่องธรรมาภิบาลในโลกอินเทอร์เน็ตในมุมมองแบบจีนก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เพราะจีนเริ่มเป็นต้นแบบในการควบคุมอินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต สหรัฐอเมริกาจะไม่ใช่ตัวแสดงหลักตัวเดียวอีกต่อไป
สถานการณ์ดังกล่าวจะบีบให้รัฐอำนาจนิยมน้อยใหญ่ต้องเลือก อย่างในประเทศไทย ปัจจุบันระบบนิเวศของอินเทอร์เน็ตในไทยมีความใกล้เคียงสหรัฐอเมริกาค่อนข้างสูง แต่พอมีคู่แข่งอย่างจีนหรือบริษัทเทคโนโลยีจากประเทศอื่นๆ เข้ามา มันก็เปิดทางเลือกมากขึ้นให้กับรัฐอำนาจนิยม
บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก็มีอุดมการณ์หรือวิธีคิดเฉพาะตัว มีการปรับตัวต่อข้อวิจารณ์ต่างๆ ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ที่มีการตั้ง Oversight Board ที่เป็นคณะกรรมการที่มีความหลากหลาย สมาชิกมีตั้งแต่อดีตนักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ซึ่งอ้างอิงถึงความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ด้วย เมื่อคณะกรรมการตัดสินกรณีที่เป็นข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม คำตัดสินเหล่านี้ก็จะกลายเป็นแนวฏีกา
ตอนนี้เหมือนเรากำลังมีบริษัทเอกชนที่ทำงานเพื่อผลกำไร ที่เริ่มทำงานในการผลิตคุณค่าสากล และนำสิ่งนี้มาทัดทานประเทศเล็กๆ ที่ปกครองแบบอำนาจนิยม เวลามีการกดดันบริษัทเทคโนโลยี ส่วนใหญ่แล้วการกดดันไม่ได้ผลเพราะเสียงเรียกร้องจากประเทศเล็กๆ แต่มาจากการกดดันของประชาชนที่เห็นปัญหาที่บริษัทเหล่านี้ทำ แล้วส่งผลกระทบให้ประเทศใหญ่ๆ ต้องดำเนินการกับบริษัทต่างๆ มากกว่า อย่างเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เฟซบุ๊กถูกวิจารณ์มาตลอด ก็มาได้รับการให้ความสำคัญเมื่อหลังการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2559 และการทำประชาพิจารณ์ Brexit ที่มีข้อสงสัยว่าข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนถูกนำไปใช้ประโยชน์
ดูเหมือนปัญหาสิทธิดิจิทัลในไทยมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก แล้วเราจะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง ในการปกป้องสิทธิดิจิทัลของเราเองและสังคม
เราว่าควรรณรงค์ในระดับพลเมืองด้วย เพื่อสร้างความตระหนักรู้จากพลเมืองที่หนึ่งไปยังพลเมืองอีกที่หนึ่ง เพราะสำหรับการต่อรองกับบริษัทเทคโนโลยี มันชัดเจนอยู่แล้วว่าแพลตฟอร์มยึดถือคุณค่าสากลแบบต่างชาติ จึงฟังผู้บริโภคที่เป็นคนต่างชาติ ดังนั้นการเรียกร้องจากพลเมืองสู่พลเมืองมันมีผลมาก เพราะบริษัทและรัฐบาลประเทศเหล่านี้สนใจว่าคนของเขาคิดอย่างไร เวลาจะรณรงค์เราจึงต้องเริ่มทำในระดับพลเมือง สร้างความตระหนักรู้จากพลเมืองที่หนึ่งไปยังพลเมืองอีกที่หนึ่ง ให้เกิดการให้ความสำคัญกับประเด็นที่ต้องการเรียกร้อง
เพราะนี่คือเรื่องอำนาจ เรื่องการเมือง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงมันต้องมาจากข้างนอกอย่างเดียว สุดท้ายแล้ว ถ้ารากฐานภายในประเทศไม่เปลี่ยนมันก็ยาก ถ้าขยายเป็นการรณรงค์แบบพลเมืองต่อพลเมืองได้ มันน่าจะทำให้คนที่อยู่ในไทยได้รู้ว่าปัญหาในประเทศในสายตาชาวโลกมันเล็กมาก ถ้าอยากให้เขาสนใจปัญหาของเราคำถามคือเราต้องทำอย่างไร มันจะต้องหาทางเชื่อมร้อยเรื่องราวเข้าด้วยกัน
ในแง่หนึ่ง พลเมืองในประเทศโลกที่หนึ่งก็จะได้รู้ว่าทุนนิยมและมรดกจักรวรรดินิยมทำอะไรไว้บ้างกับโลกข้างนอก อย่างที่ตอนนี้แพลตฟอร์มหันมาสนใจเรื่องปัญหาการใช้แพลตฟอร์มที่มีผลต่อการกระตุ้นความรุนแรง ก็เพราะที่เรื่องที่กลุ่มก่อการร้ายใช้พื้นที่แพลตฟอร์มเป็นแหล่งฟูมฟักความคิดสุดโต่ง ดังนั้น เมื่อมันกระทบชีวิตคน แพลตฟอร์มพวกนี้ก็อยู่เฉยไม่ได้ อำนาจต่อรองระหว่างผู้ใช้บริการกับตัวแพลตฟอร์มมันเยอะกว่าอำนาจระหว่างพลเมืองกับรัฐเสียอีก เพราะพลเมืองกับรัฐมันผ่านการลงคะแนนโหวต ผ่านการมีผู้แทนของตัวเอง ซึ่งมันต้องเป็นเฉพาะประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง ที่จะสามารถมีอำนาจต่อรองนี้ได้ แต่ในขณะที่ทุนนิยมหน้าตาเหมือนกันทั้งโลก คือผู้ใช้ ไม่ใช้ก็เจ๊ง บริษัทพวกนี้จึงตอบสนองต่อการเรียกร้องจากผู้บริโภคเร็วพอสมควร
เมื่อดิจิทัลคืออีกพื้นที่ที่เราใช้ชีวิต ความเป็นมนุษย์และสิทธิของเราก็ควรได้รับการเคารพในที่นั้น
ในส่วนของบริบทในประเทศเอง ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า ดิจิทัลคือพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งที่เราใช้ชีวิต เราใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน ความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของเราก็ควรได้รับการเคารพในที่นั้นๆ
เวลาผู้มีอำนาจตัดสินใจที่ส่งผลในระดับนโยบายได้ ต้องการแก้ปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องยอมรับเลยว่าการมองคนเป็นศูนย์กลาง (human-centered) มันไม่หายไปจากเรื่องสิทธิดิจิทัลแน่ๆ บางครั้งเราต้องเปลี่ยนจากการคิดถึงวิธีแก้ปัญหาแบบโยนทุกอย่างให้เทคโนโลยีแก้ มาเป็นการคิดถึงคนมากกว่า เพราะแม้กระทั่งการออกแบบ User Experience หรือ User Interface ก็ต้องมองไปที่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ จึงไม่ได้หมายความเราย้ายที่ไปบนโลกดิจิทัลแล้วสิทธิเราจะหายไป สิทธิมนุษยชนมันติดตัวไปกับคนอยู่แล้วทุกที่
แต่เมื่อทำความเข้าใจพื้นที่ในโลกอินเทอร์เน็ต เราต้องตั้งคำถามเสมอ อย่าคิดเองว่าทุกอย่างมันปลอดภัย
ในการใช้ชีวิตอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต เวลาเราเริ่มใช้นั้นไม่มีใครมาสอนข้อควรระวัง ไม่รู้ว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ ในโลกกายภาพถ้าเราเดินอยู่ เห็นฝาท่อเปิดอยู่เราก็ไม่เดินตกลงไป หรือเราระมัดระวังตอนที่เราข้ามถนน แต่ในโลกดิจิทัล คุณไม่เห็นว่าตรงนี้มันคือหลุม คิดว่าทุกอย่างเรียบร้อย ปลอดภัย เมื่อเวลาใช้มันไม่มีใครมาสอนว่าอะไรปลอดภัยไม่ปลอดภัย ทำได้หรือทำไม่ได้ ดังนั้น วิธีคิดที่ควรมีคือการที่ทำตัวเหมือนตอนยังเป็นเด็ก เมื่อคุณไม่รู้คุณต้องตั้งคำถาม สงสัย และระแวงไว้ก่อน อย่าไปสันนิษฐานว่าโลกมันปลอดภัย
จากการทำงานที่ผ่านมา มองการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิดิจิทัลในไทยอย่างไรบ้าง คนไทยตระหนักถึงสิทธิด้านดิจิทัลของตนเองหรือยัง
ด้วยความที่เพิ่งมาจับเรื่องสิทธิดิจิทัลอย่างจริงจังตอนที่กลับมาที่ประเทศไทยเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว เท่าที่เคยเห็นบทบาทอย่างชัดเจนก็คือเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) เป็นความพยายามนึงที่ทำงานเรื่องสิทธิดิจิทัล และสร้างให้คนตื่นรู้ในเรื่องนี้ เพราะเครือข่ายพลเมืองเน็ตทำงานเรื่องสิทธิพลเมืองอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่เรื่องการเข้าถึงข้อมูล สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล จนไปถึงเรื่องอัลกอริทึม ลิขสิทธิ์
ความน่าสนใจคือ เครือข่ายพลเมืองเน็ตทำงานแบบที่ไม่ได้ตัดขาดสิทธิดิจิทัลออกไปจากสิทธิอื่นๆ เพราะจริงๆ แล้ว สิทธิดิจิทัลมันไม่ได้เป็นระบบที่อยู่เดี่ยว แต่มันคือสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไปที่แยกออกจากกันและกันไม่ได้ ตอนนี้เราจะกินข้าวก็สั่งผ่านแอพฯ จ่ายเงินก็ผ่าน Internet Banking แปลว่ามันพันกันไปหมด มันไม่ได้แยกโลกออกจากกัน สิ่งที่เครือข่ายพลเมืองเน็ตทำคือเชื่อมโยงประเด็นของตัวเองเข้ากับองค์กรอื่นๆ ที่ผลักดันเรื่องสิทธิเสรีภาพ เลยทำให้ประเด็นเรื่องสิทธิดิจิทัลไม่ลอยอยู่เดี่ยวๆ
ส่วนองค์กรอื่นๆ ที่ทำเรื่องสิทธิพลเมืองก็จะมีมิติด้านดิจิทัลด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) หรือแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย
ในส่วนที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ จะเน้นไปที่การฝึกให้รู้วิธีใช้ ทำให้คนเข้าใจเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้น มากกว่าการรณรงค์เรื่องพื้นฐานอย่างสิทธิเสรีภาพ
ในระดับภูมิภาค ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ Internet Governance Forum (IGF) ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และรายประเทศ ซึ่งเป็นเวทีที่พูดถึงการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เพื่อคงหลักการ Free and Open ดังนั้น ในเส้นทางการทำงานเรื่องสิทธิของเรา การได้เข้าร่วม Internet Governance Forum ก็เป็นอีกจุดสำคัญเหมือนกัน เพราะได้ไปเจอคนที่กระตือรือร้นทำงานในเรื่องนี้ เพื่อให้สิทธิดิจิทัลเป็นเรื่องของทุกคน และคนเหล่านี้ก็สามารถขยายแนวร่วมผลักดันนโยบายต่างๆ ได้จริง รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการ practice ที่ดีต่อกันข้ามประเทศได้ด้วย
ทำให้เราย้อนกลับมามองในเมืองไทยแล้วรู้สึกว่า เรายังมีบทสนทนาเรื่องสิทธิดิจิทัลน้อยไปหน่อย
แล้วจะทำอย่างไรให้คนเราหันมามองว่าเรื่องนี้สำคัญ
จริงๆ แล้วคิดว่าคนรุ่นปัจจุบันน่าจะคิดแล้วแหละ ว่าเรื่องสิทธิดิจิทัลมันสำคัญ ถ้าไปถามคนรุ่นนี้ว่าสิทธิดิจิทัลและเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตสำคัญกับชีวิตคุณไหม เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่าสำคัญ แต่คำถามคือสำคัญแล้วอย่างไรต่อ
เราสั่งอาหาร ประชุม ส่งงาน คุยกับเพื่อน เดินทางก็เปิดแอพพลิเคชันเพื่อดูเส้นทาง จองโรงแรมก็ใช้แอพพลิเคชันจอง ดังนั้นความเท่าทันเรื่องสิทธิดิจิทัลมันน่าจะเป็นทักษะ ไม่ใช่แค่ความรู้ เมื่อเป็นทักษะมันแปลว่า เราต้องทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ถึงจะเข้าใจและปกป้องตัวเองได้ เราต้องเคยโง่กันมาก่อนมันถึงจะรอด
นอกเหนือจากการเท่าทันและปกป้องตัวเองได้แล้ว เราต้องเป็น active digital citizen คือไม่อยู่เฉยเวลาเราเห็นสิทธิเสรีภาพของเราถูกละเมิด พยายามมองความเดือดร้อนของคนอื่นด้วย คิดพ้นไปจากแค่ขอบเขตของตัวเอง และทำความเข้าใจว่าการปกป้องสิทธิของตัวเราเอง คือการปกป้องสิทธิของคนอื่นด้วย
ความท้าทายของเรื่องสิทธิดิจิทัลคือมันยากที่จะเห็นภาพใหญ่ คล้ายๆ กับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ยากจะสื่อสารว่าการใช้หลอดพลาสติกเชื่อมโยงกับระบบนิเวศในทะเลหรือสภาวะโลกร้อนอย่างไร ดังนั้นมันไม่ได้แปลว่าเราตระหนักรู้แล้วจะจบ แต่มันต้องส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและนโยบายด้วย ซึ่งแน่นอนว่าปัจเจกทำคนเดียวไม่ได้ ตัวแสดงต่างๆ เช่น บริษัทเทคโนโลยี ต้องยืนข้างสิ่งที่ถูกต้องด้วย
เราคงต้องอธิบายเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันกระทบกับชีวิตของเราอย่างไร และที่สำคัญคือร่วมกันสร้างสังคมที่รับฟังเสียงของคน
และถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการปกป้องคุ้มครองอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิบนโลกดิจิทัล หากไม่มีการประกันสิทธิเหล่านี้ การใช้เสรีภาพอื่นๆ ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย
เราต้องกลับไปตั้งต้นมองเรื่องสิทธิดิจิทัลตั้งแต่จุดเริ่มที่ว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร พอเป็นเครื่องมือการติดต่อสื่อสารก็จะไปเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการพูดและความเป็นส่วนตัวไปโดยปริยาย ในยุคก่อน เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามา ผู้คนก็ตั้งคำถามกับหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ว่าจะยังสอดคล้องกับโลกในบริบทใหม่หรือไม่
การมาของอินเทอร์เน็ตสร้างบริบทให้กับโลกใบเดิม ดังนั้น การที่สิทธิมนุษยชนย้ายไปอยู่บนโลกดิจิทัล ก็ต้องหมายความว่าสิทธิของมนุษย์คนนั้นต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการปกป้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิบนโลกดิจิทัล หากไม่มีการประกันสิทธิเหล่านี้ การใช้เสรีภาพอื่นๆ ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัย
เห็นได้ชัดว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในโลกดิจิทัลมีผลต่อชีวิตมนุษย์ทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทสนทนานี้ช่วยทำให้เห็นปัญหาและทางแก้ไขที่ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อร่วมกันหาทางออกที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของเรา ในวันที่โลกดิจิทัลกลายมาเป็นความจริงชุดใหม่ในการใช้ชีวิตของมนุษย์
หนึ่งในความริเริ่มเรื่องสิทธิดิจิทัลในประเทศไทย คือ #HumanOnTheLine ซึ่งเป็นแคมเปญที่ริเริ่มโดยองค์กร EngageMedia เพื่อต้องการเปิดพื้นที่บทสนทนาในสังคมไทย ทั้งในแง่การทำความเข้าใจว่าในโลกดิจิทัลที่พวกเราเข้ามาอาศัยอยู่นั้น มีประเด็นอะไรบ้างที่เราควรพิจารณา ทั้งในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว บทบาทความรับผิดชอบของรัฐ แพลตฟอร์มและผู้มีอำนาจควรเป็นอย่างไร และเน้นย้ำว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพในพื้นที่ทางดิจิทัลคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
เราจึงอยากชวนคุณมาช่วยกันส่งเสียงว่าจะทำอย่างไรให้ ‘สิทธิทางดิจิทัลและโลกอินเทอร์เน็ตของไทยดีขึ้น’ ผ่านการเล่าถึงวิธีแก้ปัญหาในแบบของคุณเอง แล้วติด #HumanOnTheLine ในโซเชียลมีเดียของคุณ เพื่อช่วยกันขยับเพดานในโลกดิจิทัลให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน
Fact Box
EngageMedia เป็นองค์กรภาคประชาสังคมระดับเอเชีย-แปซิฟิกที่ทำงานด้านสื่อ เทคโนโลยี และการสร้างวัฒนธรรมผ่านการใช้วีดิโอ อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี เพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยทำงานกับคนทำภาพยนตร์ สื่อมวลชน คนทำงานด้านเทคโนโลยี นักรณรงค์ และผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมและประเด็นสิทธิมนุษยชน