2 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ผมได้รับมอบหมายให้ปรับโฉมของ The Momentum อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) คือบุคคลในลำดับต้นที่ผมติดต่อทางโทรศัพท์ 

‘อาจารย์ทศ’ คือผู้สอนวิชากฎหมายตอนผมเรียนปี 1 ที่ มช. ที่ผมอยากเชิญเป็น ‘คอลัมนิสต์’ ให้กับ The Momentum 

ผมเดินทางไปหาอาจารย์ที่เชียงใหม่ ก่อนอาจารย์จะแนะนำให้ผมรู้จักกับทีมงานกลุ่มหนึ่ง เป็นนักศึกษาปริญญาโทของคณะนิติศาสตร์ มช. บ้างเป็นผู้ช่วยงานวิจัย บางคนเป็นทนายความอยู่ในสนามจริง บางคนทำงานใน Law Firm ทั้งหมดนี้ประกอบกันเป็นกลุ่มนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์อันแตกต่าง มีความสนใจหลากหลาย แต่มี ‘จุดร่วม’ เดียวกัน คืออยากเห็นพลวัตในวงการนิติศาสตร์และแวดวงกฎหมาย

นั่นทำให้คอลัมน์ Rule of Law ของเรา ไม่ได้มีผู้เขียนเพียงคนเดียว หรือมีมุมมองจากมุมเดียว หากแต่เป็นคณะผู้เขียนที่เป็น ‘ทีม’ คนรุ่นใหม่ นำเสนอแง่มุมต่างๆ ของกฎหมายอย่างมีสีสันให้ The Momentum เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ The Momentum มีโอกาสไปเยือนเชียงใหม่ เราจึงถือโอกาสไปเยี่ยมเยียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักบรรดานักกฎหมายผู้เป็นคอลัมนิสต์ของเราให้มากขึ้น เพิ่มเติมจากที่หลายคนอาจรู้จักทัศนะของบุคคลเหล่านี้ผ่าน ‘ตัวหนังสือ’ กันไปบ้างแล้ว

ไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่า พวกเขาถือเป็นส่วนหนึ่งของความหวังที่จะให้ ‘กฎหมาย’ ทำงานอย่าง ‘เที่ยงธรรม’ เพื่อรับใช้ ‘ประชาชน’ อย่างแท้จริง

วัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิตร 

ปัจจุบัน วัลย์นภัสร์เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจในสถานีตำรวจ’ และเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์อันขันแข็งของ Rule of Law

ขณะเดียวกัน วัลย์นภัสร์ยังมีโอกาสทำคดีให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในส่วนของคดีที่เกิดในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน มีโอกาสรับรู้ตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการยุติธรรมจากชั้นตำรวจ ไปจนถึงชั้นอัยการสั่งฟ้อง และไปถึงชั้นศาล จนทำให้เธอมีแรงบันดาลใจที่จะเผยแพร่ประสบการณ์ต่างๆ ออกมา

“ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา หลังจากที่เริ่มมีการชุมนุมในหลายมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น

“แต่หลังจากรัฐบาลเริ่มตั้งตัวได้ เริ่มมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น กฎหมายก็ถูกปรับให้เชื่อมโยงกับการดำเนินคดีแกนนำนักศึกษาในกรุงเทพฯ มีการดำเนินคดีคนรุ่นใหม่อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมาย ยุยง ปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จนมีการดำเนินคดีทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเต็มเชียงใหม่

“ประเด็นคือเราอยู่ในจังหวัดที่มีการแสดงความคิดเห็นค่อนข้างเยอะ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือปรากฏการณ์ของการใช้กฎหมายในการดำเนินคดี ทำให้เห็นว่ามีความอยุติธรรมเกิดขึ้น

“เราเป็นนักกฎหมายมาก่อน เราเป็นทนายความคดีทั่วไปด้วย ก็พบสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น คนที่เดินไปซื้อลูกชิ้นปิ้งในที่ชุมนุม ก็ถูกแจ้งข้อหาในความผิดตามมาตรา 116 ในฐานะนักกฎหมายเราก็รู้สึกใจสลายพอสมควร แล้วก็รู้สึกอยากที่จะช่วยเหลือตรงนี้

“ก่อนหน้านี้เราเป็นทนายความอิสระ ยอมรับว่าเราก็เป็นเนติบริกรพอสมควร กฎหมายว่าอย่างไร คำพิพากษาฎีกาว่าอย่างไร เราใช้ตามนั้น เราก็ต้องถือตามคำพิพากษาที่มีอยู่ หรือว่าการต่อสู้คดีจะไม่ค่อยออกนอกกรอบเท่าไร เราแค่เห็นว่าการกระทำเข้าองค์ประกอบความผิดไหม ถ้าเข้าองค์ประกอบความผิดก็ตามนั้น 

“จากที่ได้อยู่ตรงนี้ เราเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดค่อนข้างเยอะ เพราะพอเป็นคดีการเมือง มันใช้ Mindset แบบนักนิติศาสตร์ทั่วไปไม่ได้”

วัลย์นภัสร์เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ที่เธอเคยทำงานกับผู้ที่กระทำความผิดจริง ไม่ว่าจะลัก วิ่ง ชิง ปล้น ซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับผู้ที่ไปร่วมชุมนุม ไปถือป้ายแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์แสดงความคิดเห็นในที่ต่างๆ 

“แต่พวกเขาไม่ใช่อาชญากร เราก็จะพยายามที่จะหาความคิดทางกฎหมายว่า เราจะใช้กระบวนการยุติธรรมให้เกิดความยุติธรรมได้จริงอย่างไร เพราะว่าคนที่อยู่ในระบบ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหมือนเราเมื่อก่อน ก็คือคุณไปชุมนุมจริงนี่ คุณเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค เข้าองค์ประกอบของกฎหมายแล้ว ผิดกฎหมาย แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งก็จะเห็นว่า การกระทำนี้มันเป็นความผิดขนาดนั้นเลยหรือ”

ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริง เธอมองว่าการบังคับใช้กฎหมายยังควรต้องนำศาสตร์อื่นๆ มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกชัดเจน 

ทว่าสิ่งที่วัลย์นภัสร์เห็นก็คือ นักกฎหมาย ‘ในระบบ’ กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญใน 2 จุดนี้ นอกจากนี้ ปัญหาเชิงเทคนิคยังรวมไปถึง ‘ตำรวจ’ เพราะต้นทางของกระบวนการยุติธรรมบางคนก็ไม่ได้จบกฎหมายโดยตรง จนลงท้ายด้วยการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง 

“ผู้ต้องหาก่อนหน้านี้เขาไปแสดงความคิดเห็นอยู่บนถนน ไปโพสต์แสดงความคิดเห็น แต่พอเขาถูกแจ้งข้อกล่าวหา มันเกิดภาระทางคดี มันทำให้เขาได้รับผลกระทบทางชีวิต ไหนจะต้องเดินทางไปรายงานตัวกี่ครั้ง แบกรับความเครียดอีก ไหนจะขึ้นศาล เขาก็จะไม่มีเวลาไปแสดงความคิดเห็น หน้าที่ของเราที่คิดว่าทำได้ก็คือให้สิทธิในการต่อสู้ของเขาในชั้นศาลให้ดีที่สุด” 

ทั้งหมดนี้ วัลย์นภัสร์เห็นว่าปัญหาชัดๆ ของกระบวนการยุติธรรมก็คือ ทุกอย่างเป็นไปตามระบบเพื่อใช้ในการปราบอาชญากรรม และจัดการกับอาชญากร เพราะฉะนั้นจึงทำให้ทุกอย่างเป็น ‘ความผิด’ ให้ได้มากที่สุด เมื่อโต้แย้งว่าการแสดงความคิดเห็นไม่ใช่การกระทำผิด และบริบทต่างๆ ยังคงเป็นที่ถกเถียงก็ถือเป็นเรื่องท้าทาย

บทความที่วัลย์นภัสร์แนะนำ

ภาสกร ญี่นาง 

ปัจจุบัน ภาสกรเป็น ‘นักวิจัย’ ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นที่เขาสนใจคือการที่กฎหมายไทยไม่ได้ ‘แตะ’ ไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ จนมักทำให้เกิดสภาวะ ‘ลอยนวลพ้นผิด’ กับบรรดาผู้มีอำนาจ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาทำวิทยานิพนธ์ ศึกษากระบวนการนี้อย่างจริงจัง

“ความสนใจของผม คือปฏิสัมพันธ์ของกฎหมายกับมนุษย์ ในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะเจอใน Field อื่นๆ แต่ผมเป็นทนาย ก็จะเป็นในแง่ของนักเคลื่อนไหว นักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เรียนจบมาก็เริ่มลุยทำวิจัยในหลายเรื่อง แล้วมันก็หลากหลายด้วย เช่น เรื่องแรงงาน เรื่องความรุนแรง เรื่องดิจิทัล กฎหมายกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้เรา Relate กับสังคม กับคนมากขึ้น โดยเอาแง่มุมทางกฎหมายไปจับ

“ยกตัวอย่างงานล่าสุดที่ทำ คือเรื่องสิทธิในทรัพย์สินดิจิทัลกับข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ที่ถูกเจ้าของแพลตฟอร์ม หรือเจ้าของเทคโนโลยีนำไปใช้ การศึกษาชิ้นนี้เริ่มจากอาจารย์ทศพลและเพื่อนๆ ในทีม เพื่อสังเคราะห์ว่ามีกลไกอะไรไหมที่จะช่วยให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ซึ่งกลายเป็นว่าเจ้าของแพลตฟอร์มเอาข้อมูลเราไปใช้ฝ่ายเดียวเลย ก็มองได้ทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน และด้านอื่นๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่กฎหมายยังไปไม่ถึง”

งานวิจัยอีกชิ้นที่ภาสกรกำลังทำ คืองานวิจัยร่วมกับ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ‘วิสามัญมรณะ’ อันเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมจากมุมมองของคนที่เผชิญหน้ากับความสูญเสีย โดยมี ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ เป็นคู่กรณี ซึ่งอาจเป็นทั้งกรณีวิสามัญฆาตกรรม หรือกรณีที่ผู้บังคับบัญชาทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ทหารเกณฑ์ นักเรียนเตรียมทหาร เสียชีวิต หรือกรณีที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชน 

ทั้งหมดนี้เพื่อพิจารณาว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างไรบ้าง หรือไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่กลับกลายเป็นต้องพบกับอุปสรรค สูญเสียต้นทุน สูญเสียเวลาเพิ่ม นอกเหนือจากการที่คนเหล่านั้นได้สูญเสียคนที่เขารักไปแล้ว

วิสามัญมรณะทำให้เราเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยที่ควรจะมีการ Check and Balance อะไรบางอย่าง ควรจะมีการถ่วงดุลอำนาจ แต่เรากลับเห็นกระบวนการยุติธรรมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่ช่วยเหลือโอบอุ้มกัน โดยที่ประชาชนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ต้องเผชิญ 

“หมายความว่าในวันที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือใครก็ตามที่ก่อความรุนแรงต่อญาติของเขา ต่อลูกของเขา ในเมื่อญาติเขาต้องมาเรียกร้องให้เกิดความยุติธรรม มันกลายเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากเขาไม่มีต้นทุน เช่น ถ้าเขาไม่มีเงิน ถ้าเขาไม่มีเครือข่าย เขาไม่มีเวลามากพอ ความยุติธรรมเหล่านั้นมันก็จะไม่เกิดขึ้นกับเขาเลย”

ภาสกรยกตัวอย่างกรณีของ ชัยภูมิ ป่าแส ชาวปกาเกอะญอที่ถูกทหารสังหารที่ด่านตรวจอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งนอกจากญาติพี่น้องของชัยภูมิจะต้องต่อสู้คดีโดยลำพังแล้ว ยังต้องถูกรัฐกดดัน ถูกรัฐติดตาม จนต้องออกจากหมู่บ้าน เมื่อหวนกลับมายังภูมิลำเนาเดิมก็ไม่มีสังคม ถูกสังคมตีตราว่าเป็นผู้กระทำผิด ทั้งที่ชัยภูมิเป็นผู้ถูกกระทำจากรัฐ 

“กฎหมายที่มีอยู่กลายเป็นให้ความชอบธรรมในการใช้อำนาจกดทับ กดขี่ประชาชน แต่กลับไม่มีใครต้องรับโทษตรงนั้น ถามว่าญาติๆ ที่เขาสู้กัน เขาอยากได้อะไร จริงๆ เขาไม่ได้อยากได้ตัวเงิน หรือเงินชดเชยอะไร แต่เขาอยากได้ความยุติธรรม และเขาไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับใครอีกแล้ว 

“แต่ทั้งหมด ทำให้เห็นว่ากฎหมายเองกลับห่างไกล เป็นสิ่งที่เกินเอื้อมมากสำหรับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเปราะบาง”

บทความที่ภาสกรแนะนำ

วัชลาวลี คำบุญเรือง 

วัชลาวลีเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่หยิบเอามุมมองทางกฎหมายมาเชื่อมกับวรรณกรรม ภาพยนตร์ และการ์ตูน เพื่อให้เห็นว่ากฎหมายไม่ใช่เรื่องแข็ง และไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ

“เราอยากจะทำให้เห็นว่า ในการมองเรื่องแต่ละเรื่องที่มันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน หรือว่าในหนัง ในละคร ถ้าคุณเอาสายตาของนักกฎหมาย หรือเราใส่แว่นตาแบบนิติสังคมศาตร์ หรือว่ามุมมองของคนตัวเล็กตัวน้อยเข้าไป แล้วสะท้อนระบบกฎหมายออกมา มันจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็เลยสนใจเขียนเรื่องแนวนี้”

แต่โดยหน้าที่หลัก วัชลาวลีทำงานเรื่องสิทธิใน ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นหลัก นับตั้งแต่เรื่อง ‘เหมืองแร่’ ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่โดนคดีบุกรุกพื้นที่ป่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 

“โดยปกติคอนเซปต์ของการจัดการระบบทรัพยากรของไทย คือรัฐจะเป็นคนกำหนดจากศูนย์กลาง สำหรับเรื่องป่าไม้ เรามีพระราชบัญญัติประมาณ 5 ฉบับ ซึ่งก็มีปัญหาอีกว่า จริงๆ แล้วป่ามันไม่ใช่แค่ป่า แต่คือที่อยู่อาศัยของชุมชน แล้วคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยในป่าก็โยงกับประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย”

เรื่องเหล่านี้ยิ่งซับซ้อนหนักเข้าไปอีก เพราะปัจจุบันมีการจัดการป่าไม้โดยโยงกับเรื่อง ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่ต้องมีการปลูกป่าเพิ่มขึ้น เพื่อ Offset หรือทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยที่เป็นการปลูกต้นไม้จากข้างนอกไม่ได้เกิดขึ้นจากป่าเอง ประเด็นนี้จึงส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีวิถีชีวิตในป่า และกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า

ขณะเดียวกัน พื้นที่เชียงใหม่ที่วัชลาวลีทำงาน ยังเผชิญปัญหาโครงการขนาดใหญ่จากรัฐ เช่น โครงการผันน้ำยวม ที่จะพาดผ่านพื้นที่ป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก รวมถึงต้องเจาะอุโมงค์จากอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งต่อไปยังเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก รวมถึงเรื่อง ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ ที่จังหวัดลำพูน ซึ่งเริ่มมีข้อพิพาทเรื่องสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐกับชาวบ้านเกิดขึ้นแล้ว

“การจัดการโครงการขนาดใหญ่จึงมาจากรัฐ โดยที่คนตัวเล็กตัวน้อยและชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการจัดการ ก็เลยทำให้โครงการเหล่านั้น ไม่ได้ตอบสนองกับคนในชุมชน แต่ตอบสนองกับความต้องการของรัฐ”

แน่นอนว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะหลายเรื่องอาจต้องใช้เวลาพิสูจน์กันยาวนาน ยกตัวอย่างเช่นคดี ‘อ่าวมาหยา’ ที่เป็นกรณีพิพาทระหว่างกรมป่าไม้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ The Beach นั้น ต้องใช้เวลาต่อสู้คดีตั้งแต่ปี 2542 และเพิ่งจบลงไปในปี 2565 อีกทั้งการพิสูจน์เรื่อง ‘ผลกระทบ’ ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ทั้งเรื่องสารเคมี สิ่งตกค้าง หรือผลกระทบในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศาสตร์อื่นเข้ามาประกอบการพิจารณาคดีด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น คือผลกระทบจาก ‘นายทุน’ ที่อยู่เคียงข้างรัฐในโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ จนมักกลายเป็นคดี SLAPPs (Strategic Lawsuits Against Public Participation) หรือการฟ้องปิดปากผ่านการฟ้องหมิ่นประมาท เพื่อให้บรรดานักเคลื่อนไหวหยุดแสดงความคิดเห็น หรือหยุดขัดขวางโครงการ ซึ่งการฟ้องหมิ่นประมาทในประเทศไทยมีโทษทางอาญา มีโทษ ‘จำคุก’ ทั้งที่ควรจะเปลี่ยนให้เป็นกฎหมายแพ่ง 

ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐและนายทุนได้เปรียบอยู่บ่อยครั้ง เมื่อว่ากันถึงการต่อสู้ในคดีสิ่งแวดล้อม

บทความที่วัชลาวลีแนะนำ

ดรุเณศ เฌอหมื่อ 

ในท้ายบทความของ The Momentum ดรุเณศให้คำจำกัดความตนเองในฐานะ Author ว่าเป็นนักศึกษาปริญญาโทหญิงชาวอาข่า และ “ใช้พื้นที่ในบทความสะท้อนกฎหมายในโลกของความเป็นจริง”

สิ่งที่ดรุเณศสนใจนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง คือว่าด้วย Visual หรือ ‘รูปลักษณ์’ ขององค์ประกอบที่รวมกันเป็น ‘ศาล’

“สิ่งที่เรามองเห็นคือที่จริงแล้วความยุติธรรมมันถูกสร้างขึ้น ไม่ใช่เพราะกระบวนการยุติธรรม การพิจารณา หรือคำพิพากษาเท่านั้น แต่มันถูกประกอบสร้างด้วยสถาปัตยกรรมศาล วัสดุ วัตถุภายในศาล เช่น ทำไมบัลลังก์ผู้พิพากษาจะต้องอยู่สูงกว่าจำเลยหรือโจทก์ ทำไมครุยของผู้พิพากษาจะต้องมีเนื้อผ้าที่แตกต่างออกไปจากครุยของทนาย ทำไมผู้พิพากษาจะต้องเข้าประตูอื่น ต่างจากประตูของคนทั่วไป แล้วทำไมผู้พิพากษาจึงเข้ามาทีหลัง รอให้เราเคารพ มันเกิดอะไรขึ้น หรือทำไมต้องมีพระบรมฉายาลักษณ์หรือรูปของพระมหากษัตริย์ติดไว้ด้านหลังผู้พิพากษา”

ในเวลาเดียวกัน เมื่อประชาชนเดินเข้าไปในศาล ภาพของความยุติธรรมก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง แทนที่ศาลจะเป็นเครื่องมือในการเอื้อให้ประชาชนรู้สึกว่า ‘ยุติธรรม’ ศาลต้องเป็นผู้รับใช้ของประชาชน แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อประชาชนเดินเข้าไป คนธรรมดาทั่วไปกลับยิ่งรู้สึก ‘เกร็ง’

“พอเข้าไปในศาล ทุกคนจะรู้สึกเหมือนกันว่า เราต้องไปทางไหน เราต้องติดต่อใคร แค่จะถามเจ้าหน้าที่ในศาลเราก็ต้องเกร็งๆ แล้ว กลัวโดนด่า ทั้งๆ ที่เราเป็นเจ้าของสิทธิในการใช้กระบวนการยุติธรรมนี้ 

“สิ่งที่เราพยายามหาคำตอบ คือไปดูว่าจริงๆ แล้ว สถาปัตยกรรมศาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร Visual ด้านในเป็นอย่างไร ทำให้ประชาชนรู้สึกอะไรต่อการใช้บริการศาล แล้วการที่มีรูปปั้นของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ผู้ได้รับการยกย่องเป็น ‘พระบิดาแห่งกฎหมายไทย’) นั้น สื่อถึงอะไร

“ข้อค้นพบเบื้องต้นอาจจะยังเห็นไม่ชัด แต่ในสโคปของศาลยุติธรรมอาจจะไม่เปลี่ยนไปมาก เพราะอาคารก็คืออาคาร แต่ถ้าอิงจากงานของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำเรื่องสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ก็จะพบว่าลายจั่วหรือลายกนกนั้นเริ่มหายไปจากสถาปัตยกรรมในช่วงคณะราษฎร เริ่มมีการใช้ทรงของเสาที่เป็นทรงตรง ไม่มีลวดลายอะไรมาก เพื่อลดความรู้สึกว่าเป็นการแบ่งแยกชนชั้น เป็นข้อค้นพบเบื้องต้นว่าเวลาที่เปลี่ยนไปก็มีความเปลี่ยนแปลงในเชิงการเมืองด้วย”

ส่วนความรู้สึกต่อ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ของไทยนั้น ดรุเณศให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า วันนี้ นักกฎหมายกระแสหลัก ไม่ว่าจะอัยการ ผู้พิพากษา หรือ ทนายความ – บางส่วน – ซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ กำลังทำหน้าที่ในลักษณะ ‘บูชา’ ตัวบทกฎหมาย

“เขากำลังมองว่า กฎหมายคือเครื่องมือหากิน หรือว่ากฎหมายคือเครื่องมือของเขา ที่เขาจะต้องบูชามันไว้ แต่สิ่งที่เราค้นพบจากการเรียนปริญญาโทที่นี่ก็คือ อาจารย์พยายามให้เราตระหนักอยู่ตลอดเวลา ว่าที่จริงแล้วบางทีกฎหมายก็เป็นอุปสรรค กฎหมายมันมีขึ้นแล้วสืบทอดอำนาจอะไรบางอย่างของรัฐ ซึ่งหลายอย่างควรจะถูกลดไปหรือว่าถูกตัดออก”

สิ่งที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังทำก็คือ การพยายามนำเสนออีกมุมมองว่า บุคคลในกระบวนการยุติธรรมของไทยนั้นกำลังใช้กระบวนการทางกฎหมายอย่าง ‘แข็งทื่อ’ และรวมศูนย์ทุกสถานการณ์ ทั้งที่ในความจริงแล้วเป็นไปไม่ได้

“สิ่งที่เราเห็นชัดวันนี้ก็คือ มีความพยายามในการเอาฎีกาเก่ามาตีความสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งที่จริงแล้ว สังคมมีพลวัต และประเด็นนี้ก็เสริมกับเรื่องการคัดคนเข้าไปในกระบวนการยุติธรรม ที่ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการจำฎีกาเก่า จำมาตราต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการวัดผลเรื่องทัศนคติ ความนึกคิด หรือว่าการตัดสินใจเชิงปรัชญาของคนที่จะเข้าไป”

บทความที่ดรุเณศแนะนำ

ภานุพงศ์ จือเหลียง 

นักกฎหมายรุ่นใหม่ผู้นี้สนใจประเด็นสิทธิในงานสร้างสรรค์เพื่อสู้กับ ‘เผด็จการ’ ภานุพงศ์มองงานสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะประเภทต่างๆ รวมถึงเพลงแรปที่เขาศึกษาลงรายละเอียดเป็นพิเศษ

ก่อนหน้านี้ เขาสนใจเพลง ‘ปฏิรูป’ โดยคณะ Rap Against Dictatorship เพลงที่มีเรื่องราวว่าด้วยการต่อสู้กับเผด็จการ เพลงที่ชวนผู้ฟังให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐพยายามปกป้อง ในห้วงเวลาการต่อสู้ทางการเมืองของเยาวชนคนหนุ่มสาวช่วงปี 2563 แต่อยู่มาวันหนึ่ง เพลงนี้ก็กลับกลายเป็นเพลงต้องห้าม ไม่สามารถเผยแพร่ได้ 

ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้เผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ศาลระบุว่า ผลงานชิ้นนี้มีเนื้อเพลงไม่สร้างสรรค์ มีถ้อยคำหยาบคาย มีข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และมีการแสดงความคิดเห็นกระทบต่อความมั่นคง 

คำสั่งศาลทำให้มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวไม่สามารถเผยแพร่ในประเทศ ขณะที่ต่างประเทศยังเผยแพร่ได้ตามปกติ เหตุผลสำคัญคือศาลพยายามบอกว่างานชิ้นนี้ไม่ใช่ ‘งานสร้างสรรค์’ 

“ด้วยเหตุผลนี้ ผมมองเห็นว่าการแสดงออกในฐานะงานสร้างสรรค์เองก็ถูกบีบขอบเขตลงภายใต้เหตุผลและคุณค่าบางอย่าง ที่รัฐพยายาม Shape ไว้ว่าการแสดงออกมันจะต้องเป็นไปในแนวนี้เท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง พลวัตสังคมที่จะไปข้างหน้า ถ้ารัฐอยากจะให้สังคมไปข้างหน้าก็ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นหลายๆ กลุ่ม เพื่อให้ความจริงของแต่ละฝ่ายได้ออกมาเผยแพร่กันในสังคม รับรู้ร่วมกัน ถกเถียงร่วมกัน ไม่ใช่นำออกไปโดยที่บอกว่าสิ่งนี้เผยแพร่ไม่ได้เพียงอย่างเดียว”

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ภานุพงศ์ตั้งคำถามถึงมาตรฐานและบรรทัดฐานในการผลิตงานสร้างสรรค์ว่า ‘เส้นแบ่ง’ หรือ ‘เพดาน’ นั้นอยู่ตรงไหน และ ‘ขอบเขต’ ของกฎหมายนั้นคืออะไร ภายใต้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้

“มันกลายเป็นว่าขอบเขตของการแสดงออกอาจจะถูกบีบให้แคบลง จนกระทั่งมันกลายไปเป็นเรื่องปกติ ที่บอกว่าเรื่องนี้คุณพูดไม่ได้ และแม้แต่งานสร้างสรรค์ก็เผยแพร่ไม่ได้

“ถึงแม้ว่าเรามีสิทธิในการแสดงออก และมีสิทธิเสรีภาพ แต่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเหล่านี้ยังถูกจำกัดไปด้วยคุณค่าและขอบเขตบางประการ ถึงแม้ว่ามันไม่ได้ปรากฏออกมาตรงๆ แต่มันไปปรากฏอยู่ในกฎหมายลำดับรองเรื่องอื่นๆ โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่ากฎหมายของรัฐไทยยังตามไม่ทันพลวัตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป” 

ในมุมของคนผลิตงานสร้างสรรค์ หากผลิตผลงานออกมาแล้วถูกปฏิเสธการคุ้มครองงาน รัฐไม่ยอมรับว่างานดังกล่าวคืองานสร้างสรรค์ ในที่สุด การผลิต งานสร้างสรรค์ทุกรูปแบบ ก็จะถูกบีบให้แคบลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่ภานุพงศ์ต่อสู้จึงเป็นการต่อสู้ให้ผู้ผลิตสื่อเหล่านี้มีเสรีภาพทางความคิด และปลดล็อกเสรีภาพในการแสดงออก 

บทความที่ภานุพงศ์แนะนำ

วัชรพล ศิริ 

ปัจจุบัน วัชรพลกำลังศึกษาปริญญาโทที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่นเดียวกับคอลัมนิสต์คนอื่นๆ หากแต่จะแตกต่างบ้าง ตรงที่พื้นฐานของเขาเน้นในเชิงกฎหมายธุรกิจ กฎหมายแพ่ง 

ก่อนหน้านี้ วัชรพลเคยทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายในบริษัทเอกชน หรือที่เรียกกันว่า Law Firm แต่หลังจากทำงานได้ระยะหนึ่ง เขาเริ่มสนใจกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น และเริ่มนำความรู้ทั้ง 2 ส่วนมาผสมผสานกัน

“ตอนที่เรียนมา หลักสูตรที่เรียนจะเน้นกฎหมายธุรกิจ กฎหมายแพ่งเสียมาก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เรียนหลักการพื้นฐานของกฎหมายด้วยเหมือนกัน อย่างเช่น หลักสุจริต หลักการตีความกฎหมายต่างๆ ต้องศึกษาเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องดูคุณธรรมของกฎหมาย การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด ถ้ากฎหมายมันกำกวมก็ต้องรักษาสิทธิของคนถูกบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก

“ผมอาจจะไม่ได้เรียนกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาเยอะ แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่เรียนกฎหมายแล้วก็เรียนหลักการพื้นฐานของกฎหมายมา ถ้าเกิดเราเห็นการบังคับใช้กฎหมายในสังคมปัจจุบัน สามารถดูออกได้ง่ายว่า มันบังคับใช้แบบผิดหลักเป็นอย่างมาก ไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายกับสังคมเลยก็รู้ได้”

ประสบการณ์การทำงานกับ Law Firm ของวัชรพล ทำให้เห็นบางสิ่งที่ยังคง ‘บิดเบี้ยว’ ซึ่งความเห็นของเขาก็พ้องกับหลายคนในภาคธุรกิจที่เห็นว่า กฎหมายไทยยังมีบางส่วนที่ไม่ชัดเจน กำกวม ซ้ำซ้อน มีการบังคับใช้กฎหมายบางข้อมากเกินไป และไม่สามารถสืบค้นกฎหมายได้อย่างง่ายดาย ย้อนแย้งกับหลักการในการออกกฎหมายที่มีหลักพื้นฐานอยู่ว่า – กฎหมายควรจะต้องเข้าถึงทุกๆ คนได้ และต้องมีความชัดเจนแน่นอน 

“แต่ความเป็นจริงก็คือ เราจะเห็นว่ามีการให้ดุลพินิจต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐเยอะมาก การทำธุรกิจหลายๆ อย่างโดยเฉพาะธุรกิจใหม่ๆ ธุรกิจสตาร์ทอัพ ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายมาขวางอยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจรัฐในการออกกฎหมาย”

ด้วยเหตุนี้ วัชรพลจึงเลือกเส้นทางในการศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ และให้ความเห็นเป็นต้นทาง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ที่มีอำนาจ ทั้งในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมาย กลุ่มคนที่บังคับใช้กฎหมาย และผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายคล้อยตาม

“ผมคิดว่าถ้าเกิดจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องโน้มน้าวคนที่มีอำนาจเหล่านั้นให้มีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เราก็เข้าไปเป็นเสียเอง แล้วเราก็ออกกฎหมายให้ดีขึ้น”

บทความที่วัชรพลแนะนำ

พิชามญชุ์ ทรัพย์ไพบูลย์ 

นักศึกษากฎหมายอีกคนหนึ่งที่มีมุมมองต่อกฎหมายได้น่าสนใจ โดยใช้หลักคิดเรื่อง ‘มิติทางเพศ’ หรือ Gender มาจับกับงานกฎหมาย เป็นเรื่องของ ‘สิทธิผู้หญิง’ ในกระบวนการยุติธรรม อันเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในกระบวนการยุติธรรมไทย ทั้งที่ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเด็น Feminist Jurisprudence หรือ ‘นิติศาสตร์สตรีนิยม’ นั้น ไปไกลมากแล้ว และไปไกลเกินกว่าจะศึกษาเฉพาะสิทธิของผู้หญิงเสียด้วยซ้ำ 

“ภายใต้แนวคิดนี้ เรามีความเชื่อว่ากฎหมายไม่ได้เฟรนด์ลีกับผู้หญิงขนาดนั้น วิธีคิดของกฎหมายอาจจะไม่ได้เอื้อให้เพศชายหรอก แต่ว่ามักจะสร้างอุปสรรคให้ผู้หญิงเสมอ เช่น เวลามีคดีความรุนแรงในครอบครัว วิธีการของกฎหมายเขาจะเชื่อว่า ต้องพยายามทำให้ครอบครัวกลับมาเป็นครอบครัวเหมือนเดิม โดยการใส่วิธีการไกล่เกลี่ยในทุกขั้นตอนของกฎหมาย แต่พอเวลาจะกลับมาทำให้เป็นครอบครัว มันหมายความว่าผู้หญิงที่ถูกสามีทำร้ายร่างกายไม่ได้รับการเยียวยา ขณะที่ฝ่ายผู้ชายที่เป็นคนทำร้าย จะได้รับการปกป้องจากกฎหมายเสมอ”

ด้วยวิธีคิด ‘ครอบครัว’ เป็นศูนย์กลาง ยิ่งทำให้ผู้หญิงที่ต้องต่อสู้คดีอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น ลำพังข้อกฎหมายก็ยากพอสมควรแล้ว แต่กลับมีอคติทางเพศของคนในกระบวนการยุติธรรมเติมเข้าไปอีก

หากคดีการเมืองมี ‘เพดาน’ บางอย่างครอบไว้ กระบวนการยุติธรรมอาจสอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐ แต่กระบวนการยุติธรรมในเรื่องเพศเป็นอีกแบบ ซึ่งพิชามญชุ์เห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐเลือกจะ ‘ปล่อยเบลอ’ หรือ ‘ปล่อยให้เหนื่อย’ 

“ปล่อยเบลอก็คือไม่ทำงานค่ะ ปล่อยไป ไกล่เกลี่ยให้มันจบๆ เหมือนรัฐไม่พยายามจะคุ้มครอง ไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจ คนนี้โดนทำร้ายร่างกายนะ แต่ว่ารัฐก็จะแบบ – ไม่เป็นไรหรอก พอรัฐคิดอย่างนี้เสียเอง มันก็ทำให้คนที่อยากจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนั้นลำบาก แล้วให้ฝ่ายที่เสียเปรียบยอมแพ้ไปเอง”

แน่นอนว่า พื้นที่หลักของประเด็นนี้อยู่ที่ ‘ศาลเยาวชนและครอบครัว’ ซึ่งเธอเห็นว่าในแต่ละพื้นที่ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพในการช่วยเหลือผู้เสียหายเท่าไรนัก ซึ่งทำให้คนทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิงทำงานได้ยากตามไปด้วย 

นั่นทำให้พิชามญชุ์ตั้งใจศึกษาเรื่องนี้ และทำงานวิชาการเพื่อให้สังคมเห็นปัญหาดังกล่าวชัดขึ้น

“ในประเด็น Gender สิ่งที่อยากเห็นคือจินตนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เหมือนตอนนี้ทุกคนอาจจะยอมรับละว่าเรามีการกดขี่ทางเพศอยู่ แต่ว่าเราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ เราจะทำอะไรได้บ้างกับเรื่องนี้ หรืออย่างประเด็นเรื่องข่มขืน เราพยายามจะบอกว่ากระบวนการยุติธรรมมันข่มขืนซ้ำผู้หญิง แต่อีกขาหนึ่งก็บอกว่าก็ต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะว่าเราต้องให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหา พอยันกันอย่างนี้ มันก็ทะเลาะกันไม่จบสักที เราเหมือนไม่มีจินตนาการใหม่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการยุติธรรมที่แฟร์กับทั้งสองฝ่าย นั่นคือสิ่งที่อยากเห็น”

บทความที่พิชามญชุ์แนะนำ

Fact Box

  • ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง อยู่ภายใต้การดูแลของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งมีอีกตำแหน่งหนึ่งคือ ‘อธิการบดี’ ของกลุ่มมหา’ลัยเที่ยงคืน เพื่อใช้สื่อสารประเด็นสาธารณะเป็นการส่วนตัว
  • คณะผู้เขียนคอลัมน์ Rule of Law โดยรวมแล้วมีมากกว่า 7 คนข้างต้น แต่บางคนทำงานอยู่ในพื้นที่อื่นๆ จึงไม่สามารถรวมตัวกันให้สัมภาษณ์ได้ทั้งหมด
Tags: , , , , , , , ,