เมย์: อ้าว แก้ว (นามสมมติ) สวัสดี ไม่ได้เจอตั้งนานสบายดีไหม แล้วตอนนี้เรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว

แก้ว: สบายดีค่ะพี่เมย์ ตอนนี้อยู่ ม.6 แล้วค่ะ กำลังยุ่งๆ อยู่กับการเรียนต่อเลยค่ะพี่

เมย์: เอ้อ แล้วครูอั๋น (นามสมมติ) ล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง ช่วงนี้ได้ข่าวว่าแกไม่สบายเหรอ

แก้ว: พี่เมย์ แก้วโดนครูอั๋นลวนลามหลายรอบเลย เวลาที่แก้วต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปรับครูอั๋น ครูก็จะซ้อนแก้วแล้วกอด หอม จับก้น ถูต้นขา แล้วเวลาที่ต้องนั่งรถบัสไปทำกิจกรรมต่างจังหวัด ครูอั๋นก็จะย้ายมานั่งข้างๆ แล้วตอนหลับเขาก็มาลูบต้นขาแก้ว

เมย์: แล้วแก้วทำยังไง ได้บอกคนอื่นหรือเปล่า?

แก้ว: แก้วเล่าให้เพื่อนๆ ในดุริยางค์ฟังค่ะ และก็บอกครูที่ปรึกษาด้วย แต่ก็อย่างว่าค่ะ ครูผู้ช่วยก็ไม่ทำอะไร พี่อีกคนในดุริยางค์ก็โดนเหมือนแก้วหลายครั้งนะคะ แต่ก็ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ทำได้แค่ระวังตัวเอง

เมย์: แล้วแก้วได้แจ้งความหรืออะไรไหม?

แก้ว: ตอนนั้นแก้วไม่รู้เรื่องอะไรหรอกพี่เมย์ มันมีหลายอย่างที่ทำให้เราพูดไม่ได้ เรื่องผลการเรียน ความปลอดภัย ปัญหาครอบครัว ความสนิทสนม ยิ่งเราบอก ผู้ใหญ่กลับบอกให้เราระวังตัวเอาเอง แล้วแก้วคิดว่า ถึงไปแจ้งความ ตำรวจก็คงคิดว่ามันเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แก้วก็แค่เด็กคนหนึ่ง อีกอย่างตำรวจส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ชายก็คงไม่เข้าใจแก้วหรอก เหมือนวัดดวงว่าคนที่มาสอบสวนแก้วจะเข้าใจเด็กผู้หญิงแบบแก้วมากขนาดไหน ถ้าเป็นตำรวจชายก็เข้าใจครูอั๋นที่เป็นผู้ชายด้วยกันมากกว่าอยู่แล้ว  

อ่านเรื่องราวของแก้วมาจนถึงตรงนี้ อยากชวนตั้งคำถามว่า เราควรรับมืออย่างไรกับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับเราเองในฐานะนักศึกษากฎหมายคนหนึ่งได้สร้างบาดแผลแก่แก้วไว้อย่างไม่น่าให้อภัย จนกลายเป็นความรู้สึกผิดที่จะไม่มีวันลบเลือนออกไปได้ เพราะตัดสินใจเลือกที่จะบอกกับแก้วว่า “แก้วสู้ๆ นะ เดี๋ยวมันจะดีขึ้น” เพียงเท่านั้น

เรื่องของแก้วชวนให้เราตั้งคำถามต่อประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศได้หลายแง่มุม แต่ในฐานะนักศึกษากฎหมายคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตั้งคำถามต่อตัวเองในเวลานั้นว่า ‘ทำไมตัวเราเองในฐานะนักเรียนกฎหมายหญิงคนหนึ่ง จึงมองไม่ออกว่า ควรแนะให้แก้วใช้กระบวนการทางกฎหมายจัดการกับปัญหานี้อย่างไร’

 

การคุกคามทางเพศไม่ได้มีเพียงในบริบทการจ้างงาน

เมื่อกล่าวถึงการคุกคามทางเพศที่มีลักษณะเป็นการข่มขืน กระทำชำเรา หรือการทำอนาจารนั้น จะมีบทบัญญัติทางอาญาที่เกี่ยวข้องกำหนดความผิดไว้ แต่เราคงไม่ทันสังเกตว่า การกระทำที่มีลักษณะเป็นการคุกคามทางเพศที่นอกจากการข่มขืนกระทำชำเราและการอนาจาร ก็ไม่มีกฎหมายอาญาใดๆ ที่มีผลบังคับใช้ต่อปัญหาการคุกคามทางเพศในแต่ละบริบทอยางจริงจัง

แต่หากเป็นกฎหมายเท่าที่มีและบังคับใช้อยู่แล้ว ก็ดูจะเป็นกฎหมายที่มุ่งแก้ปัญหาการคุกคามทางเพศในบริบทการจ้างงานเท่านั้น ได้แก่

– พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่มีผลบังคับใช้กับการจ้างงานในบางประเภทเท่านั้น[1] 

– พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ห้ามการคุกคามทางเพศต่อข้าราชการที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ[2] ที่มีบทลงโทษค่อนข้างต่ำและยังถูกยกเว้นจากระเบียบวินัยของหน่วยงานทหารและตำรวจ ที่กำหนดให้การคุกคามทางเพศเป็นเพียง ‘การประพฤติตัวที่ไม่เหมาะสม’ เท่านั้น

สิ่งที่น่าสังเกตจากประเด็นนี้ คือแม้ว่าการคุกคามทางเพศอาจเกิดขึ้นได้ในหลากหลายสภาพการณ์ แต่นอกจากข้อกำหนดเรื่องความประพฤติของข้าราชการแล้ว กฎหมายเท่าที่มีอยู่ได้ละเลยบริบทการใช้อำนาจอื่นๆ ไป พฤติการณ์การกระทำไม่กี่อย่างที่ถูกนับว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ในขณะเดียวกันที่การคุกคามทางเพศหลายกรณีไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นปัญหา[3] ส่งผลให้ไม่เกิดการนิยามความหมายและหลักเกณฑ์ด้านกฎหมายที่รองรับการกระทำนั้นๆ ทำให้ผู้หญิงที่เผชิญกับพฤติการณ์อันไม่พึงประสงค์และมีเป้าหมายทางเพศ แม้ยังไม่ถึงขั้นข่มขืนกระทำชำเราหรืออนาจาร ก็ไม่มีความชัดเจนว่าการกระทำนั้นสามารถนำมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานได้หรือไม่

จากประเด็นของแก้วทำให้เราเรียนรู้ว่า ยังมีหลายบริบทที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าในแต่ละความสัมพันธ์สามารถที่จะใช้อำนาจเพื่อล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อยู่ภายใต้อำนาจของตน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างครูกับนักเรียน ผู้มีตำแหน่งทางศาสนา ผู้ปกครองกับเด็ก ฯลฯ

 

‘คำถามที่(อาจ)มีคำตอบ’

หนึ่งในคำถามที่ถูกยกขึ้นถามอยู่บ่อยครั้ง คือเมื่อเหยื่อเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และเลือกที่จะรายงานความเสียหายนั้นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ หรือที่เรามักเรียกกันว่า ‘การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อจำเลย’

การกระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศถูกกำหนดไว้เป็นความผิดในประมวลกกฎหมายอาญา เมื่อเกิดการกระทำความผิดขึ้น เหยื่อสามารถเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ในความเป็นจริงกลับพบว่า แม้ว่าจะพบรายงานในปี 2564 ว่าผู้หญิงไทยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เคยตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศแต่เลือกที่จะเงียบและไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม[4]

ภายหลังที่กฎหมายไทยได้ปรับปรุงและบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายให้มีเนื้อหาที่โอบรับและคุ้มครองผู้เสียหายหญิงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายกำหนดความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศไว้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการกำหนดความผิดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดเกี่ยวกับข่มขืนกระทำชำเรา[6] ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอานาจาร [6] หรือกำหนดความผิดอีกหลากหลายประการเกี่ยวกับความผิดทางเพศที่กระทำต่อเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี[7] นอกจากนี้ ยังกำหนดวิธีการพิจารณาคดีที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน พิจารณา และพิพากษาคดีไว้ โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะเพศหญิงอยู่[8]

แม้จะมีการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้ให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงพบปัญหากระบวนการยุติธรรมที่ไม่สู้จะเป็นมิตรต่อเพศหญิงอยู่หลายประการ  ทั้งการดำเนินการสอบสวน การสั่งคดี และการพิจารณาพิพากษา ที่เปิดโอกาสให้เหยื่อถูกข่มขืนซ้ำไปซ้ำมา สร้างผลกระทบต่อจิตใจแก่เหยื่อหนักกว่าเดิม กระบวนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศที่ดำเนินตามการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป ทำให้ดูราวกับจำเลยไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีและเหยื่อที่เป็นผู้ฟ้องร้องเป็นเพียงพยานในอาชญากรรมเท่านั้น

 

เป็นเหยื่อคดีทางเพศจะแจ้งความก็ยากแล้ว

การแจ้งความเป็นขั้นตอนแรกที่เหยื่อคดีล่วงละเมิดทางเพศสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือเพื่อเริ่มกระบวนการทางกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจจึงเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่ในการรับแจ้งความ ดำเนินการสืบสวน รวมไปถึงการรวบรวมหลักฐานเตรียมคดีเพื่อตั้งข้อกล่าวหา  

ประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้การข่มขืนกระทำชำเรา การอนาจาร ที่ไม่เกิดในที่สาธารณะและไม่มีอาวุธ หรือการข่มขืนหรือการอนาจารนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือส่งผลแก่ชีวิต เป็นความผิดที่ยอมความได้[9] การสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ไม่อาจเริ่มขึ้นได้หากผู้เสียหายไม่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่

ระบบกฎหมายที่กำหนดเงื่อนไขการเริ่มต้นคดีเช่นนี้ เป็นการผลักหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าพนักงานรัฐ สร้างความยุ่งยากและบังคับให้เหยื่อผู้หญิงที่ต้องการแสดงความต้องการให้มีการสอบสวนและเริ่มต้นคดีอย่างเป็นทางการด้วยตนเอง มากกว่านั้นยังเป็นการหล่อเลี้ยงความเชื่อที่ว่า ความรุนแรงทางเพศมักเป็นเรื่องส่วนตัว และมีความสำคัญน้อยกว่าความผิดอาญาอื่นๆ ทำให้เจ้าพนักงานยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ พนักงานอัยการ หรือแม้แต่ศาล ดำเนินการอย่างลวกๆ ขาดความละเอียดครบถ้วน ไม่ดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อมีการแจ้งความในคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ

 

ถึงเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว แต่ผู้เสียหายหญิงก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นเคย

สารพัดอุปสรรคนอกเหนือจากตัวบทกฎหมายที่ก่อให้เกิดความความยุ่งยากและปัญญาในการตัดสินใจเข้าแจ้งความของเหยื่อ ทั้งยังสร้างความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่น้อย

จำนวนน้อยนิดของพนักงานสอบสวนหญิง – ในปัจจุบันแม้จะมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นที่บางวิชาชีพจะต้องมีเจ้าหน้าที่หญิง การบังคับใช้กฎหมายเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่จะเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่หญิงด้วย เนื่องจากประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือผู้ถูกดำเนินคดีที่อยู่ภายใต้กฎหมายไม่ได้มีเพียงเพศชายเท่านั้น ในขณะที่กฎหมายได้พยายามเปลี่ยนแปลงกระบวนการให้คุ้มครองไปถึงการสอบสวนผู้เสียหายที่เป็นเพศหญิงแล้ว แต่ข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่จัดทำโดย United Nations Office on Drugs and Crime, UN Women และ INTERPOL ระบุว่า สัดส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศไทยแยกตามเพศใน พ.ศ. 2562 แบ่งออกเป็น เพศชาย 84 เปอร์เซ็นต์ และเพศหญิง 16 เปอร์เซ็นต์ โดยในจำนวนดังกล่าวไม่ได้เจาะจงเฉพาะพนักงานสอบสวนเท่านั้น[10] 

เมื่อเจาะจงลงไปเฉพาะพนักงานที่ทำหน้าที่สอบสวนแล้วจะพบว่า ในปีดังกล่าวประเทศไทยมีจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงน้อยกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงที่น้อยเช่นนี้ย่อมสร้างความยุ่งยากและไม่เพียงพอต่อการให้หลักประกันการปฏิบัติตามกฎหมายได้ สิ่งที่น่าให้ความสนใจ คือ นอกจากจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงที่น้อยแล้ว ยังพบว่าภายในหน่วยงานเองยังขาดระเบียบการและแนวทางในการส่งเสริมการทำงานที่อ่อนไหวด้านเพศสภาพที่สอดคล้องกับการสืบสวนเหตุรุนแรงทางเพศต่างๆ

มาตรการที่จำเป็น แต่กฎหมายให้ละเลยได้ – ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีเนื้อหาในส่วนที่เป็นขั้นตอนในการดำเนินการสอบสวนผู้เสียหายที่เป็นหญิง การกำหนดขั้นตอนในการสอบสวน หากมีความจำเป็นจะต้องตรวจร่างกายผู้เสียหายหญิงจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่หญิง[11] หรือในการสอบปากคำ จะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนหญิง เว้นแต่ผู้เสียหายจะยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นจะต้องรับการสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวนชาย[12] และจะต้องให้มีการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าของผู้เสียหายกับผู้ถูกกล่าวหาในขั้นตอนต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังคงกำหนดให้เป็นแนวปฏิบัติทางกฎหมายอย่างหลวมๆ แต่ไม่ได้กำหนดรายละเอียดสำหรับคดีเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ส่งผลให้การปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปอย่างหละหลวมด้วย เห็นได้จากการที่กฎหมายปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการใช้ดุลพินิจ มากไปกว่านั้น กระบวนการทางกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้เสียหายยอมความหรือไกล่เกลี่ยกับผู้ถูกกล่าวหาได้ ทั้งที่ควรนำมาใช้เป็นกรณีเฉพาะเท่านั้น และควรเกิดจากการเริ่มต้นไกล่เกลี่ยหรือยอมความจากผู้เสียหายเอง และต้องกำหนดให้มีการควบคุมดูและจากศาล โดยมีการไต่สวนถึงเหตุที่เลือกวิธิการไกล่เกลี่ยหรือยอมความ

สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้เสียหายหญิง – ไม่ได้มีสถานที่เตรียมพร้อมเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงที่เป็นเหยื่อคดีทางเพศ เนื่องจากคดีความผิดทางเพศนั้นเป็นคดีที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้งคดี นอกจากจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่หญิงแล้วจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ชำนาญการเฉพาะ  มากไปกว่านั้น ภายในสถานที่ใช้ในการสอบปากคำยังไม่มีการจัดให้มีการสอบปากคำในห้องที่แบ่งอย่างเป็นสัดส่วนและประกันให้มีการจัดหาล่ามที่เป็นผู้หญิงเมื่อจำเป็น เช่นเดียวกันกับห้องพิจารณาคดีที่จะต้องจัดให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสม และแตกต่างจากการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป เนื่องจากเป็นลักษณะคดีที่จะต้องระมัดระวังไม่ให้โจทก์และจำเลยเผชิญหน้ากัน  

 

หรือสตรีนิยมยังไม่ชนะฐานคติเดิม

ในขณะที่แนวความคิด ‘สตรีนิยม’ กำลังก่อแรงกระเพื่อมในสังคมไทยอย่างแพร่หลาย และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้แก่กระบวนการยุติธรรมไทย เห็นได้จากในกระบวนการยุติธรรมที่เริ่มปรากฏให้เห็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เป็นหญิงมากขึ้น สร้างความหวังให้กับวงการตุลาการ แต่แนวความคิดเรื่องสตรีนิยมยังไม่สามารถเอาชนะความแข็งแกร่งของความคิดเรื่องสถาบัน ที่แม้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิตรีและความเสมอภาคของเพศหญิงจะถูกเสนอขึ้นมามากเท่าใด ความคิดเชิงสถาบันที่อยู่ภายในกระบวนการยุติธรรมยังคงทำให้เพศหญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมอยู่อย่างนั้น[13]

การใส่ใจในเรื่องความเท่าเทียมและสิทธิของสตรีในกระบวนการยุติธรรม เห็นทีจะคำนึงเพียงแค่การเพิ่มจำนวนบุคลากรที่เป็นเพศหญิงเท่านั้นคงจะไม่เพียงพอ หากยังพบว่า แม้จะมีจำนวนบุคลากรของรัฐในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นหญิงมากเท่าใด แต่บุคลากรเหล่านั้นยังอยู่บฐานอคติที่ไม่เป็นกลางทางเพศ ขาดความรู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศสภาวะ สิทธิสตรี และสิทธิมนุษยชน รวมถึงกระแสความคิดที่ครอบงำระบบกฎหมายของสังคมไทย ซึ่งทำให้เข้าใจว่าผู้พิพากษาได้ดำเนินการพิจารณาไปด้วยความยุติธรรม แต่แท้จริงแล้วการพิพากษานั้นเคล้าไปด้วยความเชื่อ ทรรศนะ และความคิดเห็นของผู้ตัดสินเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[15]

 

ถึงแก้วน้องรักของพี่

ก่อนอื่นพี่ต้องขอบคุณแก้วที่อนุญาตให้นำเรื่องราวของแก้วมาเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ขอบคุณความกล้าหาญของแก้วที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคมอีกมากมาย และพี่หวังว่าบทความนี้จะเป็นคำขอโทษอย่างเดียวที่พี่พอจะทำให้แก้วได้ ณ ขณะนี้  

สุดท้าย พี่หวังเช่นกันว่าวันหนึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยจะสามารถเอาชนะอำนาจนิยมในรูปแบบต่างๆ ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบกฎหมาย เพื่อกระบวนการยุติธรรมจะได้ทำหน้าที่ของมันจริงๆ เสียที

 

อ้างอิง

[1] พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 4 และ 22

[2] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 83(8)

[3] ภาพรวมและการวิเคราะห์โดยละเอียดใน Sexuality Education and Sexual Harassment: Two Critical Issues on Sexual Reproductive Health and Rights in Thailand (การศึกษาด้านเพศวิถีและการคุกคามทางเพศ: ประเด็นสำคัญสองประการว่าด้วยอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์), Suchada Thaweesit and Pimpawan Boonmongkon,2552, Arrow ICPD+15 Publication, หน้า 20 – 21; ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9021/2544

[4] มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้เผยผลการสำรวจประจำปีเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276-277 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550

[6] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278-279 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530

[7] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19 )พ.ศ. 2550; มาตรา 279 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530; มาตรา 282 (ย่อหน้า 3), 283 (ย่อหน้า 3) และ 283 ทวิ (ย่อหน้า 2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2540

[8] เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 (1) วรรคสอง กำหนดให้ในขั้นตอนของการสอบสวนจะต้องดำเนินโดยเจ้าหน้าที่หญิงเมื่อมีความจำเป็นจะต้องตรวจร่างกายผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 วรรคสี่ ระบุให้พนักงานสอบสวนหญิงเป็นผู้สอบปากคำ นอกจากผู้เสียหายเองจะยินยอมให้พนักงานสอบสวนชายเป็นผู้สอบสวน หรือมีเหตุจำเป็นที่ทำให้ไม่สามารถสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนหญิงได้ เช่น ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงเลย

[9] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 281 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514

[10] รายงานการศึกษาผู้หญิงในการบังคับใช้กฎหมาย จัดทำโดย United Nations Office on Drugs and Crime, UN Women และ INTERPOL เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2563 หน้า 33  

[11] ประมวลกฎหายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 (1) วรรคสอง

[12] ประมวลกฎหายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 133 วรรคสี่

[13] สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, “เมื่อเธอเอาร่างกายเรียกร้องความเป็นธรรม,” https://www.the101.world/justice-rape-case/

[14] โปรดดูใน สมชาย ปรีชาศิลปะกุล “เพศวิถีในคำพิพากษา,”  

Tags: , , , ,