ที่จริงแล้ว โลกผลิตอาหารได้มากเกินพอสำหรับคนทุกคนในโลก แต่ข้อเท็จจริงยิ่งกว่านั้นก็คือ ทุกๆ คืน มีเด็กมากกว่า 200 ล้านคน ที่ต้องเข้านอนทั้งท้องกิ่วหิวโหย และมักต้องตื่นมาพบความว่างเปล่าในจานอาหารยามเช้า
ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ – ไม่มีแม้กระทั่งจานอาหารตั้งอยู่ตรงหน้า
ในยุโรป ปัญหาใหญ่ของผู้คนก็คือการกินแป้งมากเกินไป ตำรับอาหารประเภทโลว์คาร์บหรือแป้งน้อยเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว นักโภชนาการบอกว่า คนยุโรปควรจะกินแป้งให้น้อยลง ไม่อย่างนั้นจะเกิดอาการน้ำหนักเกินแบบเดียวกับคนอเมริกัน ดังนั้น ทุกหนแห่งจึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อลดแป้งลง แล้วหันมากินโปรตีนกับไขมันมากขึ้น คือเพิ่มสัดส่วนของโปรตีนให้เป็น 50-60% ขึ้นไป หรือบางที่ก็แทบจะไม่กินแป้งเลย ทำให้โปรตีนหรือไขมันพุ่งสูงไปอยู่ที่ 70-80% หรือกว่านั้นก็มี เช่นในสูตรอาหารแบบคีโตเจนิก หรือการกินอาหารแบบเว้นช่วง (Intermitten Diet) ที่บางครั้งส่งผลให้ต้องงดเว้นอาหารบางมื้อไป
แต่ในประเทศแถบแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศ Sub-Sahara ทั้งหลาย ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจน คนจำนวนมากไม่จำเป็นต้องพยายามอด เพราะถึงอย่างไร พวกเขาก็ไม่เคยได้รับอาหารเพียงพออยู่แล้ว โดยเฉลี่ยแล้ว ในแต่ละมื้อ ชาวแอฟริกันจะได้รับโปรตีนและไขมันเพียงราว 20% เท่านั้น น้อยกว่าค่าที่ควรจะได้รับคือ 40-50% ตั้งสองเท่า
ในประเทศยากจนอีกบางแห่ง อย่างเช่นเฮติ แม้ในมื้ออาหารที่ถือว่า ‘หนัก’ ที่สุด ก็มีการสำรวจพบว่า ครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิก 14 คน ต้องแชร์เนื้อแพะปริมาณ 330 กรัมกันกิน
โลกเจริญรุดหน้าไปมากในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะวิทยาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหาร แต่ความหิวโหยไม่เคยจางหายไป โดยเฉพาะในประเทศแถบ Sub-Sahara หรือในแอฟริกานั้น เด็กๆ หนึ่งในสาม ได้รับอาหารไม่เพียงพอ สหประชาชาติประมาณว่า มีเด็กที่ต้องเสียชีวิตในแต่ละปีราว 13 ล้านคน จากโรคต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ถ้าหากว่าได้รับวัคซีนและอาหารที่มีสารอาหารมากเพียงพอ
ว่าแต่ว่า เคยสงสัยบ้างไหม – ว่าคนในประเทศเหล่านี้กินอะไรบ้างเป็นอาหารเช้า
สาธารณรัฐคองโก
ชาวคองโกจะมีอาหารหลักคือมันสำปะหลัง นี่คืออาหารหลักของพวกเขาแบบเดียวกับที่ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย แน่นอนว่า มันสำปะหลังให้คาร์โบไฮเดรต แต่ถ้าจะต้องกินโปรตีน ชาวคองโกที่ยากจนมักต้องหันไปพึ่งพิงแมลงต่างๆ เช่น จิ้งหรีดหรือตั๊กแตน โดยกินตั้งแต่อาหารเช้าเลย แกล้มไปกับกล้วยและผัก อาหารง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือใบมันสำปะหลังที่นำมาทอดด้วยน้ำมันปาล์มและราดซอสถั่วลิสง
บูรุนดี
อาหารเช้าของชาวบูรุนดีหนักคาร์โบไฮเดรตมาก มีตั้งแต่ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง และมันหวาน โดยมักจะเอามันต่างๆ มาต้มแล้วบดจนเละเหมือนโจ๊ก ถ้าถามว่าโปรตีนมาจากไหน คำตอบคือมาจากถั่วต่างๆ เนื่องจากเนื้อเป็นสิ่งที่หายากและราคาแพง ยกเว้นคนที่อยู่ริมทะเลสาบ อาจมีปลากินได้บ้าง
ไลบีเรีย
ชาวไลบีเรียกินอาหารเช้าที่ทำจากมันสำปะหลังอีกเหมือนกัน แต่จะมีรสชาติมากกว่าประเทศอื่นๆ เล็กน้อย เพราะเสริมด้วยมะเขือเทศ พริกไทย และขิง โดยจะนำมาต้มแล้วเคี่ยวให้ค่อนข้างข้นเกือบเป็นก้อน เรียกว่า Dumboy ซึ่งถือว่าเป็นอาหารประจำชาติของไลบีเรียด้วย โดยมักจะกินกับเนื้อประเภทต่างๆ เช่น เนื้อวัวหรือเนื้อไก่ ไลบีเรียอยู่ติดทะเล จึงเป็นสถานีการค้าที่มีความหลากหลายของอาหารมากกว่าที่อื่นๆ
เอริเทรีย
เอริเทรียนับว่าอุดมสมบูรณ์เลยทีเดียว อาหารของชาวเอริเทรียจึงมีเนื้อสัตว์ค่อนข้างมาก แถมที่นี่ยังเคยเป็นอาณานิคมของอิตาลีมาก่อน ชาวเอริเทรียจึงกินอาหารแบบฝรั่งเยอะ ตั้งแต่สปาเก็ตตี้ พิซซ่า ลาซานย่า แต่ที่เป็นพื้นฐานอาหารหลักของเอริเทรีย ก็คือขนมปังพื้นเมืองที่เรียกว่า Kitcha เป็นขนมปังจากข้าววีต และอีกอย่างหนึ่งก็คืออาหารคล้ายๆ แพนเค้ก เรียกว่า Injera ซึ่งทั้งสองอย่างนี้กินคู่กับอาหารอื่นๆ ทุกมื้อ
สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
เนื้อเป็นของหายากและราคาแพง ดังนั้น โปรตีนจึงได้มาจากถั่วและแมลงเป็นส่วนใหญ่ อาหารเช้าโดยมากจะทำจากข้าวฟ่าง โดยมีผักและเครื่องเทศอย่างกระเทียม หอม และกระเจี๊ยบ เป็นส่วนผสมอยู่บ้าง ที่น่าสนใจก็คือ มีอาหารประเภทมันสำปะหลังบด หรือกล้วยแพลนเทน (Plantain) บดด้วย
ไนเจอร์
ที่นี่เป็นประเทศทะเลทรายอันแห้งแล้ง ชาวไนเจอร์จึงต้องกินอาหารที่เก็บรักษาไว้ได้นานๆ เท่านั้น เช่น ธัญพืชต่างๆ ซึ่งก็รวมไปถึงข้าวและลูกเดือย โดยอาหารที่ชาวไนเจอร์นิยมกินเป็นอาหารเช้า มีลักษณะคล้ายๆ เกี๊ยวที่ทำจากลูกเดือยบดแล้วนำไปหมัก ปรุงในนม น้ำตาล และเครื่องเทศ
มาลาวี
อาหารหลักของชาวมาลาวีคือข้าวโพด โดยจะทำเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า Nsima แล้วทั้งครอบครัวจะมานั่งกินร่วมกันโดยการล้อมวง มีซอสที่ทำจากถั่ว และอาจมีเนื้อหรือผักด้วย มาลาวีมีทะเลสาบใหญ่ ทำให้คนที่อยู่ริมทะเลสาบได้กินปลา และมีการทำปลาตากแห้งเพื่อขายให้กับคนในแถบอื่นๆ ด้วย
ซิมบับเว
ซิมบับเวอยู่ตรงกลางๆ ทวีปแอฟริกาถัดลงมาทางใต้ อาหารจานสำคัญของซิมบับเวทำมาจากข้าวโพด อาหารที่ว่าคือ Sadza ทำจากคอร์นมีลที่ปกติมักจะเสิร์ฟไปพร้อมกับสตูว์ผัก ในขณะที่เนื้อสัตว์นั้นเป็นเรื่องที่กินกันเฉพาะคนรวย คนจนก็ต้องไปเสาะหาแมลงต่างๆ มาทอด เพื่อให้ได้แหล่งโปรตีน
จะเห็นว่า หลายประเทศในแอฟริกามีอาหารการกินที่ยังไม่ค่อยดีเท่าไร หลายที่ขาดแคลนสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน แต่กระนั้น ก็มีตัวเลขของ The Guardian บอกว่าทุกวันนี้ เราปลูกธัญพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าววีต หรือธัญพืชอื่นๆ ได้มากพอจะสร้างพลังงานให้คนทุกคนบนโลกได้วันละ 3,500 กิโลแคลอรี (ซึ่งมากกว่าที่คนปกติทั่วไปต้องการ)
แต่ปัญหาก็คือ เรา ‘กระจาย’ อาหารเหล่านี้ออกไปได้ไม่เหมาะสม ตัวอย่างที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ ธัญพืชเหล่านี้ 30% ถูกนำไปเลี้ยงสัตว์ เช่นวัว เพื่อให้ได้เนื้อวัว จะได้นำเนื้อวัวนั้นย้อนกลับไปเลี้ยงคนในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ดังนั้น คนที่มีโภชนาการดีก็ยิ่งดีขึ้นไปเรื่อยๆ คนน้ำหนักเกินก็จะน้ำหนักเกินต่อไปเรื่อยๆ
เทคโนโลยีก็ช่วยให้การเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย เช่น คนอังกฤษสามารถปลูกข้าววีตได้แปดตันต่อหนึ่งเฮกเตอร์ ในขณะที่คนแอฟริกันอาจทำได้ไม่ถึงหนึ่งตันด้วยซ้ำไป ดังนั้น ผลผลิตที่ได้จึงกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่เท่านั้น
มีกลุ่มรณรงค์เรื่องอาหารชื่อ Food First ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยแล้วโลกสามารถผลิตอาหารได้ราว 4.3 ปอนด์ เพื่อให้ทุกคนกิน โดยสองปอนด์ครึ่งเป็นธัญพืชและถั่วต่างๆ อีกหนึ่งปอนด์คือผักและผลไม้ ส่วนที่เหลือคือเนื้อ นม และไข่ ซึ่งก็ไปยืนยันตัวเลขข้างต้นว่า ที่จริงแล้วเรายังไม่ได้ขาดแคลนอาหาร เราเพียงแต่ ‘กระจาย’ อาหารไม่ดีพอเท่านั้น
อาหารเช้าของเราในแต่ละถิ่นที่ของโลกจึงไม่เหมือนกัน
ทั้งไม่เหมือนเนื่องจากได้เลือก
และไม่เหมือนเพราะไม่มีโอกาสได้เลือก
Tags: เนื้อสัตว์, ซับซาฮารา, คาร์โบไฮเดรต, ทะเลทราย, อาหารเช้า, ขาดแคลนอาหาร, ซิมบับเว, มาลาวี, เอริเทีย, อาหาร, ไลบีเรีย, แอฟริกา, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, โปรตีน, ไนเจอร์, คองโก, บูรุนดี