เมื่อเช้า อาหารมื้อแรกของคุณคืออะไร?

ใครๆ ก็บอกให้เรากินอาหารเช้า เพราะอาหารเช้าเป็นมื้อสำคัญที่สุดของวัน แต่หากย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 13 นักบุญโธมัส อะไควนัส (Thomas Aquinas) บอกว่า การกินอาหารเช้าถือเป็นหนึ่งในบาปตะกละ เพราะมันคือการกินที่ ‘เร็วเกินไป’

กิจกรรมการกินอาหารเช้าในยุคโบราณจึงไม่ใช่เรื่องปกติของมนุษย์ ลองนึกถึงมนุษย์ยุคล่าหาอาหารดูก็ได้ เมื่อตื่นขึ้นมา พวกเขาไม่มีตู้เย็นเอาไว้เก็บอาหาร จึงมักไม่มีอะไรกินนอกจากของเหลือจากเมื่อวาน ดังนั้น ก่อนจะได้กินจึงต้องออกไป ‘ล่าหาอาหาร’ เสียก่อน

อาหารเช้าจึงไม่ใช่กิจวัตรที่อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ และดังนั้น คำสอนของนักบุญโธมัส อะไควนัส จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดในยุคสมัยโน้น ยุคที่อาหารการกินไม่ได้อุดมสมบูรณ์ผุดขึ้นมาจากตู้เย็น ร้านสะดวกซื้อข้างบ้าน หรือร้านอาหารเช้าในย่านออฟฟิศเหมือนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์อาหารเช้ามีความเป็นมายาวนาน ต้องผ่านการต่อสู้และได้รับการ ‘เสริมแรง’ จากหลายมิติ กว่าจะกลายร่างมาเป็น ‘อาหารเช้า’ ที่แพร่หลายให้เราได้กินกันเป็นปกติในทุกวันนี้

มิติหนึ่งที่ทำให้ยืนยันและช่วยกระพือความนิยมในการกินอาหารเช้าให้มากขึ้น ก็คือมิติทางการค้า ทว่าเป็นการค้าที่ซ่อนตัวอยู่ในงานศิลปะ

ศตวรรษที่ 17 คือ ‘ยุคทอง’ ของศิลปะในยุโรปเหนือ และยังเป็นยุคทองของอาหารเช้าด้วย โดยหลักฐานสำคัญก็คือ ‘ภาพวาด’ โดยเฉพาะภาพวาดของศิลปินดัตช์ ที่นิยมวาดภาพหุ่นนิ่งที่เรียกว่า Still Life ซึ่งในด้านหนึ่ง ศิลปินก็มักวาดภาพหุ่นนิ่งโดยได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ เช่น วาดภาพความไม่แน่นอนของชีวิต อย่างภาพผลไม้หรือดอกไม้ที่เริ่มเหี่ยว หรือภาพนาฬิกาทรายที่ค่อยๆ ไหลลงมา เพื่อเตือนให้คนดูภาพนึกถึงความตายและอำนาจของพระเจ้าที่อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ศิลปินดัตช์ก็กำลัง ‘ปลดแอก’ ตัวเองออกจากอำนาจทางศาสนาด้วย โดยมี ‘อำนาจ’ อีกด้านหนึ่งมาเสริมแรง นั่นก็คืออำนาจที่เกิดจากการค้าขาย เราจะเห็นภาพวาดที่แสดงความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ภาพงานเลี้ยง ภาพการจัดดอกไม้ ภาพผลไม้แปลกๆ ที่มาจากต่างถิ่น ภาพยาสูบ เครื่องเทศ ชา ผ้าไหม เครื่องกระเบื้อง เครื่องเงิน ฯลฯ ซึ่งแทบทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ก็เพราะอิทธิพลทางการค้าของดัตช์ที่แผ่ขยายไปทั่วโลก โดยบริษัทอย่าง Dutch East India Trading Company

ยุโรปจึงท่วมท้นไปด้วยน้ำตาลจากอาณานิคมในบราซิล ทาสจากแอฟริกา เครื่องกระเบื้องจากจีนและญี่ปุ่น เครื่องเทศและอัญมณีจากอินเดีย ยาสูบจากอเมริกา ฯลฯ จนทำให้ดัตช์ในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นยุคทองในทุกๆ ด้าน ผู้คนสำราญกับชีวิตประจำวัน ทั้งการกินอยู่ การค้าขาย รวมไปถึงการเรียนรู้ อำนาจทางการค้าทำให้เมืองท่าอย่างอัมสเตอร์ดัมถูกครอบงำด้วยอิทธิพลแบบพ่อค้าที่แทบจะมีเหนือรัฐ เสรีภาพแบบดัตช์จึงเป็นเสรีภาพในการปลดแอกตัวเองออกจากทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทางศาสนาที่มีลักษณะกดข่ม เพื่อไปมีความสุขกับชีวิตใต้อำนาจทางการค้าแทน

และแน่นอน – ความสำเริงสำราญต่อชีวิตเช่นนี้ สำแดงออกมาให้เห็นชัดเจนที่สุดในต้นศตวรรษที่ 17 กับภาพเขียนแนวที่เรียกว่า Ontbijtjes หรือ Breakfast Piece ซึ่งกลายเป็นกระแสแฟชั่น ด้วยการวาดภาพอาหารเช้าง่ายๆ ทั้งอาหารที่ประกอบเสร็จแล้วและเครื่องปรุงต่างๆ ที่กำลังตระเตรียม

ศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งในแนวทางนี้คือคลารา พีเทอร์ส (Clara Peeters) ซึ่งภาพโด่งดังของเธอคือ Still Life with Cheeses, Artichoke, and Cherries แสดงให้เห็นถึงความรุ่มรวยทางอาหารชัดเจนมาก

ศิลปินอีกคนหนึ่งที่ยิ่งแสดงความรุ่มรวยทางอาหารของดัตช์ยุคนั้นออกมาก็คือ วิลเลม เคลสซูน เฮดา (Willem Claeszoon Heda) ซึ่งภาพโด่งดังของเขาเป็นภาพงานเลี้ยง (เช่นภาพ Banquet Piece with Mince Pie) แต่ภาพเกี่ยวกับอาหารเช้าของเขาก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะมันคือภาพชื่อ Breakfast with Crab หรือ ‘กินอาหารเช้ากับปู’

ภาพนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์อาหารหลายคนสงสัย ว่าชาวดัตช์ถึงขั้นกินปูเป็นอาหารเช้าเลยหรือ ซึ่งนักประวัติศาสตร์อาหารอย่าง กิลเลียน ไรลีย์ (Gillian Riley) ก็บอกว่าปกติแล้วไม่ค่อยมีใครกินปูเท่าไรหรอก ถ้าจะมีก็เป็นปลาหรือพาย แต่ส่วนใหญ่มักจะกินแค่ขนมปัง ชีส และเนยมากกว่า ดังนั้นภาพนี้จึงไม่ใช่ภาพธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่กระนั้นก็แสดงให้เห็นว่า จะต้องมีการกินอาหารเช้าแบบนี้อยู่บ้าง ศิลปินถึงบันทึกเอาไว้ในภาพวาด

ภาพนี้ยังมีมะนาวเลมอนที่ปอกเปลือกเอาไว้ด้วย ส่วนทางขวาก็เป็นมะกอกที่อยู่ในจานสีน้ำเงินขาวแบบที่เรียกว่า Delftware ซึ่งเป็นจานกระเบื้องของดัตช์เองที่ได้รับอิทธิพลมาจากจานกระเบื้องของจีนผ่านการค้าขายอีกทีหนึ่ง ทั้งมะนาว เลมอน และมะกอก คือผลผลิตของยุโรปตอนใต้ นั่นแปลว่าต้องมีการขนส่งที่รวดเร็วและแพร่หลาย และถ้าดูภาพทั้งภาพ ก็อาจเห็นลักษณาการของการ ‘กินทิ้งกินขว้าง’ อยู่ไม่น้อย เช่นจากถ้วยที่ล้มคว่ำ หรือจานที่วางไม่เรียบร้อย คล้ายคนกินลุกไปจากโต๊ะแล้ว และทั้งหมดนี้คือของเหลือ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตีความภาพอีกทีหนึ่ง

ที่ดัตช์รุ่มรวยขึ้นได้นี้ เป็นผลมาจากการที่ดัตช์สามารถประกาศเอกราชได้สำเร็จ หลังทำสงครามยาวนานถึงแปดสิบปี (เรียกว่า Eighty Years’ War) กับสเปนที่ในตอนนั้นอยู่ภายในการปกครองของราชวงศ์ฮับสเบิร์ก แล้วได้ชัยชนะและก่อตั้งเป็น The Republic of the Seven United Netherlands จากนั้นก็แข็งแกร่งขึ้นมาในทุกด้าน ทำให้เมืองของดัตช์อย่างอัมสเตอร์ดัมและฮาร์เล็ม (Haarlem) รุ่งเรืองเฟื่องฟูขึ้นมา น่าจะเป็นครั้งแรกในยุโรปด้วย ที่เกิดคนในชนชั้นที่เรียกว่า Upper Middle Class ที่มีฐานมาจากการเป็นพ่อค้า ไม่ใช่ราชวงศ์หรือขุนนาง จนหลายคนเรียกว่าเป็น ‘ชนชั้นพ่อค้าดัตช์’ (Dutch Merchant Class) ที่มีความต้องการในการเสพทั้งอาหารการกินและงานศิลปะ

ภาพอาหารเช้าที่ปรากฏในภาพวาดของศิลปินดัตช์ยุคนั้น จึงบอกอะไรๆ กับเราหลายอย่าง ทั้งการปลดแอกออกจากอิทธิพลของศาสนา จากกษัตริย์และขุนนาง จากความยากจนและขาดแคลน ทำให้เราเห็นความเฟื่องฟูทางการค้าในระดับโลกที่เกี่ยวพันไปถึงดินแดนตะวันออกไกล

เลยไกลไปจนถึงเสรีภาพในการให้นิยามใหม่ของชีวิตด้วย

Tags: , , ,