เมื่อปี 1995 ใจกลางเมืองมัณฑะเลย์ มีชายพม่าคนหนึ่งเดินตรงมายังหญิงสาวชาวตะวันตกเหมือนไม่จงใจ พลางกวัดแกว่งร่มและพูดขึ้นลอยๆ ว่า “บอกโลกด้วยว่าเราต้องการประชาธิปไตย ประชาชนเหนื่อยล้าเหลือเกินแล้ว” จากนั้นก็หันหลังเดินจากไป นั่นดูเหมือนจะเป็นฉากประทับใจแรกของ ‘เอ็มมา ลาร์คิน’ (Emma Larkin) เมื่อสบตาครั้งแรกกับประเทศที่มีฉากงามราวกับรูปโปสต์การ์ดแห่งนี้ และทำให้เธอเริ่มเห็นว่า สำหรับพม่าแล้ว สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นเสมอไป
26 ปีที่ผ่านมานับจากปี 1995 ประชาชนชาวพม่ามีการเคลื่อนไหวและลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการทหารอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
การเดินทางเข้าพม่าของ เอ็มมา ลาร์คิน มาจากแรงบันดาลใจจากนักเขียนที่เธอชื่นชอบ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ซึ่งเขาเองก็มีพม่าเป็นฉากหลังของงานเขียนหลายต่อหลายชิ้น และว่ากันว่า นิยายขนาดสั้นที่เขากำลังร่างขึ้นระหว่างนอนป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งหมอสั่งให้เลิกกิจกรรมการอ่านและเขียนทุกอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับพม่า และมันถูกร่างขึ้นได้สามหน้าก่อนที่เขาจะจากไป การเดินทางของเอ็มมาก่อให้เกิดเป็นหนังสือเรื่อง Finding George Orwell in Burma (จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา, สุภัตรา ภูมิประภาส แปล, มติชน, 2559) ที่ให้ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจต่อ จอร์จ ออร์เวลล์ และการอ่านหนังสือของชาวพม่า
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงรู้สึกว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างหนังสือ การอ่านของประชาชนชาวพม่า ความรักความปรารถนา และการลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องปกป้องประชาธิปไตย
เอ็มมา ลาร์คิน บรรยายถึงฉากที่ปัญญาชนชราคนหนึ่งที่เป็นโรคต้อกระจก ดวงตาฝ้าฟาง และมือสั่นเพราะความชรา จนเธอสงสัยว่าเขาอาจสูญเสียความทรงจำไปแล้ว หลังจากพยายามบอกชื่อ จอร์จ ออร์เวลล์ โดยออกเสียงตัวสะกดทีละตัว รวมคำครั้งแล้วครั้งเล่า ชายชราก็ได้แต่ส่ายศีรษะ จนเธอพยายามอีกเป็นครั้งสุดท้าย โดยบอกว่า “จอร์จ ออร์เวลล์ คนที่เขียนหนังสือไนน์ทีน เอตที-โฟร์” แล้วตาของชายชราก็เปล่งประกายขึ้นทันที เขาตบหน้าผากตัวเองพร้อมกับอุทานว่า “คุณหมายถึงผู้หยั่งรู้ล่ะสิ!”
ชาวพม่ามองจอร์จ ออร์เวลล์ว่า เขาไม่ได้เขียนนิยายเกี่ยวกับพม่าเพียงแค่เรื่อง Burmese Days หากแต่เป็นงานไตรภาค โดยบวกเรื่องแอนิมอล ฟาร์ม และ 1984 เข้ามาด้วย
นิยายทั้งสามเรื่องนี้บอกเล่าประวัติศาสตร์พม่าที่เพิ่งผ่านมา เรื่องแรก เบอร์มีส เดย์ บันทึกสภาพพม่าในห้วงเวลาที่อยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ ต่อเนื่องด้วย แอนิมอล ฟาร์ม ภายหลังจากที่ได้อิสรภาพในปี 1948 เผด็จการทหารก็ประกาศใช้ระบอบสังคมนิยมวิถีพม่า ปิดประเทศจนทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย สุดท้าย ไนน์ทีน เอตที-โฟร์ ออร์เวลล์พรรณาถึงสภาพการณ์อันเต็มไปด้วยความหวาดกลัวและไร้ความปราณี ในสังคมดิสโทเปียซึ่งพ้องกับสภาพพม่าในตอนนั้นจนน่าตกใจ
“ระหว่าง 3 สัปดาห์ที่ฉันเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ชมเมืองแสนงดงามราวภาพโปสการ์ดของตลาดที่คึกคัก เจดีย์อร่ามเรือง และอดีตเมืองตากอากาศของอังกฤษที่ซบเซา ยากนักที่จะเชื่อว่าฉันกำลังท่องไปในประเทศที่มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนติดอันดับเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เนื่องจากการกดขี่บีบบังคับประชาชนทั้งชาติราว 50 ล้านคนนั้นถูกอำพรางไว้จากภาพที่มองเห็น เครือข่ายอันกว้างใหญ่ไพศาลของหน่วยข่าวกรองทหารและสายข่าวของพวกเขา สร้างความแน่ใจว่าจะไม่มีผู้ใดทำหรือพูดอะไรที่อาจเป็นการคุกคามระบอบการปกครอง สื่อพม่าไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร ภาพยนตร์ และดนตรี ล้วนถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดควบคุม ในขณะเดียวกันการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลไม่เพียงถูกเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังแทรกซึมเข้าไปทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยด้วย กลไกในการควบคุมสภาพความเป็นจริงเหล่านี้อยู่ในที่ทางอย่างมั่นเหมาะด้วยอำนาจที่มองไม่เห็นแต่จับต้องได้ ในรูปของความเสี่ยงจะถูกทรมานและจับกุมคุมขังนั่นเอง”
ไนน์ทีน เอตที-โฟร์ เป็นหนังสือต้องห้ามในพม่า จากปากคำของ เอ มยิ้น หนุ่มพม่าที่รักการอ่านที่บอกว่า เป็นเพราะมันอาจทำให้คิดไปได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองประเทศ และพวกนายพลที่ครองอำนาจอยู่ทั้งหลายนั้น ก็ไม่ชอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และคงไม่ค่อยได้พบเจอชาวพม่าที่อ่านนิยายเรื่องนี้จริงๆ เหตุผลของเขาคือ “จะต้องอ่านทำไมล่ะ ก็พวกเขาใช้ชีวิตใน ไนน์ทีน เอตที-โฟร์ ทุกวี่ทุกวันอยู่แล้วนี่” แสดงให้เห็นถึงการอ่านจนแตกทั้งนิยายของ จอร์จ ออร์เวลล์ และประเทศของตัวเขาเอง ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างมีอารมณ์ขัน
รู้สึกไหมว่า สภาพการณ์ในเมืองไทยตอนนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับพม่า แต่ความเข้มข้นของการอ่านค่อนข้างต่างกัน
ในเมืองไทย ไนน์ทีน เอตที-โฟร์ (ในการแปลไทยใช้ชื่อ หนึ่ง–เก้า–แปด–สี่ หรือ 1984) ได้รับการกล่าวถึง และเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวางภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. ในปี 2557 เมื่อมีกระแสต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้ด้วยอารยะขัดขืน โดยการอ่านหนังสือเล่มนี้และกินแซนด์วิชในที่สาธารณะ และยิ่งเมื่อมีชายคนหนึ่งถูกจับ กระแสนิยายเรื่องนี้ยิ่งมีมากขึ้น
นั่นทำให้งานเขียนเล่มอื่นๆ ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ได้รับความสนใจไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอนิมอล ฟาร์ม ที่ได้รับการพิมพ์และแปลใหม่อีกหลายสำนวน รวมไปถึงเล่มอื่นๆ ของนักเขียนคนเดียวกันนี้ ก็ทยอยออกมาไม่ว่าจะเป็น พม่ารำลึก (เบอร์มีส เดย์), คนจนกับคนจรในปารีสและลอนดอน, ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ แต่ที่อยู่ในกระแสไม่ตกเลยตลอดหลายปีมานี้ก็คือ 1984 และ แอนิมอล ฟาร์ม
ถึงขนาดที่ว่าผมเห็นหนังสือสองเล่มนี้ ถูกวางอยู่ในที่อ่านในห้องสมุดประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ในสภาพถูกใช้งานจนฉ่ำ เพราะมีแค่เล่มเดียวและถูกซุกไว้ในมุมมืด (ตอนที่ผมเห็น หนึ่ง–เก้า–แปด–สี่ ฉบับสำนักพิมพ์สมมติ เมื่อหลายปีก่อน ยังคิดว่าคงมีแต่ผมนี่แหละ ที่รู้ว่าเล่มนี้มีอยู่ในห้องสมุด)
ทั้งๆ ที่ หนึ่ง–เก้า–แปด–สี่ ได้รับการตีพิมพ์ตั้งแต่กันยายน 2525 โดยสำนักพิมพ์กอไผ่ จากสำนวนแปลของ รัศมี เผ่าเหลืองทอง และอำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ แต่นิยายชั้นนำของโลกเรื่องนี้ กลับหายไปตลอดเวลา 32 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานน่าตกใจอย่างยิ่ง! ส่วนตัวผม แม้จะเป็นคนอ่านหนังสือก็แค่ได้ยินว่าเคยมีแปลเป็นไทย และเคยเห็นรูปในหนังสือบางเล่ม แต่ไม่เคยเห็นเล่มจริง จนกระทั่งอายุ 30 ปี (2550) จึงได้เห็นเล่มครั้งแรกที่ห้องสมุดแสงอรุณ ซอยสาทร 10
ในขณะเดียวกัน แอนิมอล ฟาร์ม (การเมืองของสัตว์ ฉบับแปลโดย วิเชียร อติชาตการ) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2518 ก็ได้รับการตีพิมพ์ต่อมาอีก อย่างน้อยก่อนหน้าที่จะมีกระแสในช่วงหลังนี้ สำนักพิมพ์ดอกหญ้าก็เคยพิมพ์สำนวนแปลเดียวกันนี้ออกมาในปี 2538
เป็นไปได้ไหมว่าเพราะ แอนิมอล ฟาร์ม เป็นหนังสือที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงของรัฐไทย จึงได้รับการส่งเสริมและความสนใจมากกว่า 1984 ซึ่งโจมตีระบบอำนาจนิยม (เผด็จการ) อย่างสุดขั้ว ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเงามืดนี้มาโดยตลอด
แต่อย่างไรก็ตาม ความมืดมนของรัฐประหารและอำนาจเผด็จการก็ทำให้ผู้คนต้องการแสงสว่างและอิสรภาพ อย่างน้อยที่สุดก็แสงสว่างทางปัญญา และนั่นเป็นสาเหตุของการลุกลามแห่งไฟทางปัญญาในรูปการณ์ที่เยาวชนไทยหันไปสนใจอ่านศึกษาประวัติศาสตร์นอกตำราเรียน เกิดการแสวงหาค่านิยมและคุณค่าใหม่ๆ และเมื่อพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้น ก็กลายเป็นกระแสนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ และทันทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ กระแสต่อต้านก็ลุกฮือ และลุกลามเป็นแฟลชม็อบมาจนถึงทุกวันนี้ และยังไม่รู้วันจบ
ตัดภาพกลับไปที่ประเทศเมียนมา ผมไม่รู้ว่าความใฝ่รู้และการเป็นนักอ่านของชาวพม่านั้นเริ่มมาตั้งแต่ตอนไหน แต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนมาเป็นการบริหารบ้านเมืองแบบประชาธิปไตย เอ็มมา ลาร์คิน ได้เข้าไปแกะรอยจอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนที่เธอรัก เธอได้บรรยายภาพประชาชนพม่ากับหนังสือไว้อย่างน่าทึ่งว่า
“นิสัยรักการอ่านของเอ มยิ้นไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไรในพม่า ไปที่ไหนเราก็จะเห็นคนกำลังอ่านหนังสือ พวกคนถีบสามล้อที่จอดแกร่วตรงหัวมุมถนนโรงแรมที่ฉันพักในมัณฑะเลย์ก็มักจะเอกเขนกไขว่ห้างบนเบาะที่นั่งขาดรุ่งริ่งของสามล้อ จดจ่อกับนิตยสารหรือหนังสือสักเล่ม บางทีทั้งสามคนก็มากลุ้มรุมดูหนังสือเล่มเดียวกัน ทั้งหนังสือใหม่และมือสองมีวางขายกันบนเสื่อผ้าใบกันน้ำตามทางเท้าในย่างกุ้งและตลาดหนังสือกลางคืนของมัณฑะเลย์ นิตยสารต่างๆ หาซื้อได้จากแผงขายที่เป็นโต๊ะไม้พับได้แทบทุกถนนหรือจากพวกพ่อค้าแม่ค้าเร่ที่หอบหนังสือเป็นตั้ง ตะโกนขานชื่อหนังสือ เดินเร่ขายอยู่ตามร้านน้ำชาและสถานีรถไฟ
“หญิงสูงวัยคนหนึ่งเล่าให้ฉันฟังเรื่องที่เธอสูญเสียบ้านและทุกสิ่งทุกอย่างไปกับเปลวเพลิงที่โหมกระหน่ำท้องถนนอันร้อนแล้งของเมืองมัณฑะเลย์อยู่เป็นระยะ และเธอเสียดายหนังสือที่เธอสะสมไว้มากที่สุด เธอบอกว่า ‘ฉันสูญเสียหนังสือไปทั้งหมด ทุกเล่มเลย’ เธอพูดถึงนิยายของดิกคินซ์ราวกับกำลังรำพึงรำพันชื่อคนรักที่ห่างหายไปนาน ‘เกรทเอ็กซเพกเทชันส์’ เธอบอกชื่อหนังสืออย่างอาลัยอาวรณ์”
ข้อมูลนี้ตรงกับที่ ธีรภาพ โลหิตกุล เคยพูดและเขียนถึงพม่า เช่นเดียวกับคนที่เคยไปพม่าก็จะเห็นภาพแบบนี้จนชินตาเหมือนกัน และนี่คือการ ‘เตรียมการ’
เมื่อพม่าผ่านการเลือกตั้ง และมีประชาธิปไตยเมื่อไม่กี่ปีก่อน พวกเขาก็ได้ลิ้มรสของเสรีภาพและมีการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้ลิ้มรสชาติชีวิตและอาหารที่วิเศษขึ้น แต่พออยู่ๆ มีการเลือกตั้งครั้งต่อมา ทหารกลับมายึดอำนาจไปอีก ทำให้คิดถึงคนเสื้อแดงที่ในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน พวกเขายกระดับตัวเองจากการเข้าถึงแหล่งทุนจนกลายเป็นชนชั้นกลางใหม่ ได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้ มีในสิ่งที่เคยขาด กินอิ่มและลิ้มรสชาติที่วิเศษของอาหาร ที่ตลอดชีวิตที่ผ่านมาไม่เคยได้ลิ้มลอง สามารถส่งเสียลูกหลานให้ได้มีอนาคต แล้วอยู่ๆ มีการรัฐประหารในปี 2549 และสืบทอดมาถึงปี 2553 ซึ่งพวกเขารู้สึกว่า ชีวิตที่ดีกว่าที่เพิ่งได้ลิ้มรสชาติได้ถูกพรากไปแล้ว ดังนั้นการลุกขึ้นทวงสิทธิ์แบบไม่คิดชีวิตจึงลุกลามใหญ่โตมโหฬาร
เช่นเดียวกับกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวที่ออกมาชุมนุมประท้วงเพราะไม่เห็นอนาคตและต้องการอนาคตที่ดี ต้องการโครงสร้างที่ดี มีสวัสดิภาพที่ดี มีสวัสดิการชีวิตที่ดี และที่สำคัญ ในการต่อสู้พวกเขาก็ไม่เกรงกลัวอำนาจและไม่กลัวตาย
เมื่อเราเห็นภาพของประชาชนพม่าทุกสาขาอาชีพและทุกช่วงวัยลุกขึ้นมาในวันนี้ แน่นอนทีเดียว ถ้าเราไม่มีอคติโดยการสมาทานระบอบเผด็จการจนคลั่งบ้า ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นภาพที่สวยงามและทรงพลังอย่างที่สุด จนอดคิดไปไม่ได้ว่า เผด็จการพม่ากำลังถูกผลักให้หลังชนฝา และผนังพยุงเดียวคือประเทศมหาอำนาจ ตรงนี้เองที่ผมมองว่าเผด็จการทหารพม่าอาจเสียเปรียบประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เพราะขั้วอำนาจของโลกฝ่ายประชาธิปไตยก็ยังคงเข้มแข็งอยู่ และก็ดูเหมือนว่าขั้วอำนาจของโลกฝ่ายประชาธิปไตยกับประชาชนชาวพม่าจะมีศัตรูเดียวกัน
ตรงนี้เองที่เผด็จการทหารพม่าแตกต่างจากเผด็จการทหารไทย เพราะของไทย ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต้องข้ามกำแพงหนาที่เผด็จการทหารพิงอยู่ให้ได้ก่อน ถึงจะไปต่อรองจับมือกับขั้วอำนาจของโลกฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างเต็มกำลัง
มองมุมนี้ ไทยอาภัพกว่าประชาชนชาวพม่า แต่เราก็มีจุดร่วมเดียวกันบางอย่าง
ผมเคยไปพม่ามาสองครั้ง แต่เสียดายที่ได้ไปแค่รัฐฉาน เชียงตุง ซึ่งอย่างไรเสียก็เห็นพม่าได้ไม่หมด และซ้ำยังเห็นว่าคนไทใหญ่ถูกกดขี่จากชาวพม่า ซึ่งว่าให้ตรงความจริงก็คือ จากเจ้าหน้าที่ที่เป็นพม่าซึ่งได้รับฉันทานุมัติจากรัฐบาลพม่า
การต่อสู้กับอำนาจอันอยุติธรรมนั้นไม่มีสัญชาติ เหมือนภาพเขียนหรือวรรณกรรมชั้นดี ที่เมื่อในขณะที่เราจ้องมองและอ่านมันนั้น เรารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับภาพและเรื่องราวในหนังสือ และไม่ได้รู้สึกตั้งแง่ว่า ภาพตัวละครและเหตุการณ์ในเรื่องอยู่ประเทศอะไร เช่นเดียวกับภาพของการออกมาต่อต้านการรัฐประหารของเผด็จการทหารพม่าของคนทุกภาคส่วน
แน่นอน เราจะเห็นภาพของชนชาติส่วนน้อยหรือสัญชาติอื่นในพม่า ที่ออกมาร่วมกันแสดงพลังเหมือนอย่างที่เราเองก็เป็นเช่นนั้น และไม่ว่ารัฐไทยจะสร้างภาพเสี้ยมสอนว่าพม่าเป็นศัตรูตัวฉกาจในทางประวัติศาสตร์อย่างไร เราก็ยังเห็นว่าภาพที่ประชาชนชาวพม่าออกมาต่อต้านรัฐประหารนั้นเป็นภาพที่งดงามเปี่ยมพลัง รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ความคิดจิตใจเดียวกัน เป็นเพื่อนร่วมชาติเดียวกัน ซึ่งก็คือ ความเป็นชาติประชาธิปไตย และมีศัตรูเดียวกันคือเผด็จการ
วันนี้ชาวพม่าไม่ต้องฝากบอกโลกว่า “เราต้องการประชาธิปไตย” เพราะชาวพม่าได้ลุกขึ้นมาบอกโลกด้วยตัวเองแล้วว่า พวกเขาไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ในไนน์ทีน เอตที–โฟร์ อีกต่อไป และบางทีผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คนไทยเราอยากอยู่ในเรื่องราวนิยายแบบไหน?
Tags: democracy, George Orwell, Myanmar, คนขายหนังสือ, Lost in Thought, book