“ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?”

เป็นคำถามที่ฉันเจอวันนี้หลังเสร็จสิ้นจากการสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ฉันฟังคำถามนี้แล้วยิ้ม เพ่งพิศใบหน้าแววตาผู้ถามแล้วคาดว่าผู้ถามน่าจะถามด้วยเจตนาที่ดี ด้วยความที่ผู้ถามสงสัยว่าภูมิลำเนาฉันเป็นคนที่ไหน พอรู้ว่าเป็นมุสลิมจากเชียงใหม่ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ผู้ใหญ่ท่านนั้นถามฉันว่า เป็นมุสลิม… “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?” ​

แล้ว… คำถามที่ว่า “ทำไมต้องใส่ฮิญาบ?” กลับเป็นคำถามที่คนต่างศาสนิกสงสัยและใคร่รู้ ถ้าต้องอธิบายเรื่องที่ยาวและซับซ้อนให้สั้นลงนั้น คำว่าฮิญาบ (Hijab) เป็นภาษาอาหรับ แปลว่าสิ่งกีดขวาง ม่านปิดกั้นและสิ่งปกปิด การคลุมฮิญาบนั้นถือเป็นวาญิบ (ข้อบังคับทางศาสนา)

ก่อนอื่นก็ต้องขอออกตัวว่า ฉันไม่ใช่ผู้รู้ทางศาสนา แต่เป็นผู้ที่สนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนา จึงไปไล่หาอ่านเกี่ยวกับประเด็นการสวมใส่ฮิญาบทั้งในเว็บเพจไทยและเทศ ก็ยิ่งเหมือนจมดิ่งลงไปในการพยายามหาความหมายจากการตีความของตัวบท เพราะมีข้อถกเถียงตีความคำว่าฮิญาบมากมาย ฉันอ่านจนมึนตึ้บ เลยต้องถอยออกมาตั้งหลัก

เอาเป็นว่า ในทางศาสนาแล้ว การสวมใส่ฮิญาบเป็นการปกคลุมตัวเองจากสิ่งชั่วร้าย รวมทั้งเพื่อเป็นแสดงถึงการอ่อนน้อมถ่อมตน (modest) ต่อพระเจ้า

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เด็กผู้หญิงที่อายุสักขวบสองขวบ พ่อแม่ก็เริ่มใส่ฮิญาบให้แล้ว ส่วนมากเป็นเพราะดูน่าเอ็นดู และเพื่อฝึกให้เด็กคุ้นเคย ดังนั้น เด็กเล็กๆ จึงเติบโตมาคุ้นเคยกับการสวมใส่ฮิญาบ ขณะที่ฉันซึ่งเติบโตในพื้นที่อื่นมาตลอดชีวิต พอมาอยู่ที่นี่ เจอการตั้งคำถามจากสังคมมากเข้า คำถามที่คนศาสนิกเดียวกันคอยถามฉันว่า “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?” พลอยทำให้ฉันเองก็เผลอตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆว่า “เออแฮะ…ทำไมฉันไม่ใส่ฮิญาบนะ?”

เดินทางไปมาก็หลายที่ ทั้งเหนือออกตกใต้ แต่พื้นที่ที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นที่เดียวที่ฉันเจอคำถาม “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?” อยู่บ่อยๆ ได้ยินจนชาชิน หากประมาณคร่าวๆ นับแต่ย้ายมาทำงานที่ปัตตานีในปี 2552 จนปัจจุบัน ราวๆ 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถามเป็นเพศชาย ซึ่งมีทั้งคนรู้จักและคนแปลกหน้า บางครั้งน้ำเสียงเป็นแบบใคร่รู้ บ้างก็ถามเชิงตำหนิ บ้างก็ถามเชิงตักเตือนด้วยความหวังดี

บางที ถูกตั้งคำถามนี้จนทำให้เราเริ่มนึกสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า ตลอดชีวิต 40 กว่าปีที่ผ่านมาที่เราไม่ได้ใส่ฮิญาบเลย เราจะตกนรกหมกไหม้หรือไม่

เมื่อไรที่คนเริ่มใส่ฮิญาบอย่างจริงจัง

ฉันมานราธิวาสครั้งแรกเมื่อตอนอายุประมาณสี่ขวบ (ประมาณปี 2523) จากนั้นก็มาอีกเรื่อยๆ ประมาณปีละครั้ง ซึ่งมักเป็นช่วงที่ปิดภาคเรียน เพราะคุณพ่อพามาเยี่ยมญาติๆ ของคุณพ่อที่สุไหงปาดี จำความได้ว่า ญาติผู้หญิงทุกคนไม่มีใครใส่ฮิญาบ คนข้างบ้าน คนเดินถนนทั่วไปก็ไม่เห็นว่ามีใครจะใส่ฮิญาบ อย่างมากก็ใช้ผ้าบางๆ พันคลุมผมพอเป็นพิธี ไม่ได้ปกปิดมิดชิดเหมือนในปัจจุบัน ไม่แน่ใจว่าคนเริ่มหันมาใส่ฮิญาบกันอย่างจริงจังช่วงไหน

หลายฝ่ายบอกว่า การใส่ฮิญาบอย่างจริงจังเริ่มเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปฏิวัติอิหร่าน (Iranian Revolution, 1979) จนเกิดกระแสชูอัตลักษณ์ของความเป็นมุสลิมขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่จากการสังเกตการณ์ของฉันเอง ฉันกลับมองว่า คนเพิ่งเริ่มหันมาคลุมผมกันอย่างจริงจังหลังเกิดเหตุตึกถล่มที่เวิลด์เทรดเซนเตอร์ในปี 2544 เพราะเท่าที่จำความได้ ฉันเห็นคนในพื้นที่ใส่ฮิญาบกันมากขึ้นก็เมื่อหลังจากที่ฉันจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (ประมาณปี 2540)

ผลจากการไม่ใส่ฮิญาบ (ในบางพื้นที่)

จำได้ว่าตอนที่มาทำงานที่ปัตตานีใหม่ๆ แล้วต้องลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลงานวิจัย เจอคำถามและคำต่อว่าที่ฉันยังจำได้จนบัดนี้ วันนั้นเจอเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่ชี้หน้าชี้ผมฉันแล้วบอกว่า “ก๊ะรู้ไหมว่า (คำว่าก๊ะแปลว่าพี่สาวในภาษามลายู) จำนวนเส้นผมบนหัวของก๊ะที่โผล่ให้ผู้ชายเห็น จะกลายเป็นจำนวนงูบนศรีษะที่ฉกก๊ะตอนตายในหลุมฝังศพ”

คำพยากรณ์หลังความตายที่หนุ่มวัยรุ่นรายนั้นชี้หน้าใส่ฉันอย่างดุดัน ทำให้ฉันทั้งตกใจและทั้งโกรธ ไม่เคยมีใครมาชี้หน้าสาปแช่งหรือสั่งสอนฉันแบบนี้มาก่อน แต่ฉันก็สงบอารมณ์ตัวเองโดยการตอบขำๆ กลับไปว่า “อ้าว…ถ้าอย่างนั้นก็ดีสิ จะได้กลายเป็นเมดูซ่า (Medusa) ใครมายุ่งด้วยมากๆ จะจ้องให้กลายเป็นหินให้หมดเลย” เด็กหนุ่มถึงกับตาเหลือก ไม่แน่ใจว่างงเพราะฉันตอบโต้ หรืองงเพราะสงสัยว่าอะไรคือเมดูซ่า

การตักเตือนด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นหนึ่งในวิถีการปฏิบัติที่สำคัญของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฉันโดนตักเตือนอยู่เป็นนิจ แต่โดยหลักการทางศาสนาก็จะมีมารยาทในการตักเตือน บางท่านก็บอกว่า ถ้าฉันใส่ฮิญาบจะทำให้ฉันดูสวยกว่านี้ ซึ่งฉันก็มองอีกว่าย้อนแย้ง ก็ในเมื่อหนึ่งในเหตุผลหลักที่ให้ใส่ฮิญาบก็เพื่อปกปิดความสวยงามของเส้นผมไม่ให้เป็นที่ต้องตาหรือยั่วยุอารมณ์ทางเพศแก่เพศตรงข้ามมิใช่หรอกหรือ

บางคนก็ว่าฉันว่าเป็นพวกไม่รู้ศาสนา ซึ่งฉันก็ยอมรับโดยดุษณี แต่ที่ฉันไม่ยอมรับคือการถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีเพราะไม่สวมใส่ฮิญาบ

ผู้ใหญ่บางท่านก็ใช้วิธีที่เมตตาหน่อย นั่นคือการซื้อผ้าคลุมศีรษะมาให้เสมือนเป็นการตักเตือนทางอ้อม บางคนไม่กล้าบอกฉันตรงๆ ก็จะใช้วิธีฝากคนมาบอก แต่บางท่านก็ตักเตือนพร้อมกับตัดสินเราเสียเรียบร้อย

คนที่ตักเตือนคนอื่น บางครั้งมักจะลืมว่ามันมีเส้นคาบเกี่ยวบางๆ กั้นอยู่ ระหว่างการตักเตือนด้วยความบริสุทธิ์ใจ กับการละเมิดสิทธิทางพื้นที่ของความคิดและพื้นที่ของการได้ใช้ชีวิต และบางครั้งก็ควรเหลือพื้นที่ให้ความศรัทธาของคนคนนั้นได้เกิดและเติบโตด้วยตัวเอง ซึ่งย่อมมีค่ากว่าการฝืนทำเพราะแรงบีบคั้นจากสังคม บางคนก็ว่าฉันว่าเป็นพวกไม่รู้ศาสนา ซึ่งฉันก็ยอมรับโดยดุษณี แต่ที่ฉันไม่ยอมรับคือการถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีเพราะไม่สวมใส่ฮิญาบ

ฉันยังเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมบางคนถึงไม่พยายามมองผ่านเส้นผมที่ว่าสวยของผู้หญิงให้เลยผ่านทะลุกะโหลก ไปสู่สมองที่มีเส้นรอยหยักได้ แต่กระนั้นก็เถอะ ฉันได้แต่เพียงคิดคำนึงเงียบๆ ไม่สามารถหาคำตอบได้ หากว่าถามอะไรขึ้นมาก็ดูเหมือนว่าเราจะไปยอกย้อนเขาอีก

ความศรัทธาของ ‘ผู้หญิง’ สะท้อนผ่านฮิญาบ?

ปราการสำคัญของการทำงานวิจัยในพื้นที่สามจังหวัดสำหรับมุสลิมะฮ์ที่ไม่คลุมผมแบบฉัน คือการถูกตัดสินเป็นที่เรียบร้อยว่าฉันไม่มีอีหม่าน (ศรัทธา) ในองค์อัลเลาะห์ (ซบ.) ซึ่งพลอยถูกเหมารวมว่าคงไม่มีความสามารถในทางวิชาการอีกด้วย

ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มักถูกมองว่าไม่มีความเข้าใจหรือมีความรู้ทางด้านการเมืองการเลือกตั้งดีไปกว่าผู้ชาย เช่นข้อมูลจากการที่ฉันลงพื้นที่ในหลายๆ หมู่บ้าน ผู้หญิงหลายคนบอกว่าเขาสนใจการเมือง สนใจในระดับกลางถึงมาก หากแต่เขาไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้เท่ากับผู้ชาย เพราะต้องอยู่บ้านดูแลลูกและทำงานบ้าน ขณะที่ผู้ชายมักมีโอกาสพูดคุยเสวนาการเมืองในวงน้ำชา ผู้ชายยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องการเมืองในช่วงที่มีการละหมาดกันวันศุกร์

ผู้ชายคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เวลาเลือกตั้ง ถ้าเขาบอกภรรยาให้เลือกผู้สมัครเลือกตั้งคนไหน ผู้หญิงก็จะเลือกตามผู้ชาย แต่พอฉันสัมภาษณ์ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงกลับบอกฉันว่า เขาไม่มีช่องทางที่จะได้เรียนรู้หรือพบปะกับผู้แทน เขาจำต้องเลือกตามสามีหรือผู้ชายในบ้าน เพราะไม่มีข้อมูลจากการหาเสียงที่เขาจะใช้ประกอบในการตัดสินใจได้

เมื่อย้อนมาที่ตัวฉัน ซึ่งเป็นผู้หญิงที่สนใจประเด็นการเมือง การเลือกตั้ง ประกอบกับการเป็นมุสลิมะห์ที่ไม่ใส่ฮิญาบ เลยพลอยทำให้ความน่าเชื่อถือและการยอมรับในทางวิชาการในพื้นที่นี้ถูกลดทอนลง

การยิงคำถาม “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?” มาที่ฉัน ทำให้ประเด็นที่ถกกันแต่แรกต้องผกผันไปเป็นเรื่องศาสนาแทน

เมื่อไม่นานมานี้ มีพี่ที่รู้จักกันมาเล่าให้ฟังว่า ผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีความรู้ระดับครูบาอาจารย์บ่นว่าว่าทำไมอาจารย์ใน ม.อ.ปัตตานีบางคนไม่ใส่ฮิญาบ เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมากกว่าความสนใจที่ว่า อาจารย์เหล่านั้นทำงานวิจัยแนวไหน เชี่ยวชาญด้านไหน ทำวิทยานิพนธ์เรื่องอะไร แต่คำถามที่สนใจมากที่สุดคือ “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?”

ในบางเวทีที่ต้องมีเวทีเสวนาประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องในพื้นที่สามจังหวัด บางครั้งเมื่อเพศชายโต้ตอบประเด็นทางวิชาการไม่ได้ ก็จะใช้ประเด็นเรื่องการไม่คลุมผมมาโต้แทน โดยการยิงคำถาม “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?” กลับมาที่ฉัน และแน่นอน มันทำให้ประเด็นที่ถกกันแต่แรกต้องผกผันไปเป็นเรื่องศาสนาแทน บางรายถึงกับตำหนิไปถึงบุพการีและเครือญาติ ผู้ใหญ่รายนั้นท้วงติงว่า ดูอาตัวเองสิ…เขาเป็นหนึ่งในคนที่อุตส่าห์สู้เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใส่ฮิญาบกันแท้ๆ (จากเหตุการณ์การประท้วงกรณีฮิญาบที่วิทยาลัยครูยะลา ในปี 2530) แต่หลานตัวเองกลับไม่ใส่ฮิญาบ

ฉันเลยไปถามคุณอา คุณอาบอกว่าเขาต่อสู้เพื่อคนที่อยากใส่ฮิญาบให้ได้ใส่อย่างถูกต้องอย่างเต็มภาคภูมิในที่ทำงาน สถานศึกษา และสถานที่ราชการ ส่วนคนที่ไม่ใคร่ใส่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปบังคับได้ นั่นมันเป็นเรื่องระหว่างเขาคนนั้นกับพระเจ้า อาบังคับเขาไม่ได้

ศรัทธาที่หลากหลาย

ฉันมานั่งดูข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ว่า ในขณะที่มุมหนึ่งของโลกมีการเรียกร้องเพื่อสิทธิ์สตรีที่จะได้สวมใส่ฮิญาบ และมุสลิมะฮ์ที่ต้องเผชิญกับความเกลียดชังจากกลุ่มขวาจัดหรือพวกสุดโต่งที่เกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) อีกมุมหนึ่งของโลกกลับประท้วงเรื่องที่เป็นหัวข้อเดียวกันแต่เป็นทิศทางตรงกันข้าม

เช่นล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการประท้วงแบบอารยะขัดขืนที่ประเทศอิหร่าน ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งได้ออกมาประท้วงเรื่องการถูกบังคับให้สวมใส่ฮิญาบ การเคลื่อนไหวนี้ถูกเรียกว่า หญิงสาวแห่งถนนปฏิวัติ (The Girls of Revolution Street)  ตามข่าวระบุว่ามีการจับผู้ประท้วงและลงโทษอย่างรุนแรง ในข่าวยังบอกอีกด้วยว่า จากการทำประชามติที่ผ่านมาสามปี ชาวอิหร่านประมาณครึ่งหนึ่งเชื่อว่า ไม่ควรบังคับให้สวมใส่ฮิญาบ ดังนั้นสิทธิเสรีภาพที่ควรพึงจะมอบให้มุสลิมะฮ์คือ ใครใคร่ใส่ให้ใส่ ใครไม่ใคร่ใส่ก็ไม่ควรบีบคั้นหรือบังคับเขาให้ต้องใส่ ในท้ายที่สุดมันเป็นเรื่องระหว่างเขากับอัลเลาะห์ (ซบ.)

ศรัทธาที่มีชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้เวลาในการเติบโต ซึ่งความศรัทธาของคนแต่ละคนก็เติบโตช้าเร็วไม่เท่ากัน

เขียนมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่ได้ตอบผู้อ่านเลยว่าทำไมฉันถึงไม่ใส่ฮิญาบ?​ สำหรับฉัน…การที่จะสวมใส่ฮิญาบไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะการใส่ฮิญาบคือตัวแทนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธา ถ้าจะใส่ก็ต้องใส่ให้ตลอด ไม่ใช่ว่าอยากจะถอดก็ถอด หรือออกนอกพื้นที่สามจังหวัดแล้วก็ถอด อยากใส่เมื่อไหร่ก็ใส่ หรือว่าใส่เพื่อให้คนในพื้นที่ชื่นชม ฉันทำเช่นนั้นไม่ได้

หลายครั้งที่ฉันตอบกลับไปว่าหากฉันจะใส่ฮิญาบ ฉันก็ขอใส่เพราะแรงศรัทธาของฉันเอง ไม่ใช่เพราะการที่จะต้องใส่เพราะแรงบีบคั้นจากสังคม ศรัทธาที่มีชีวิตเป็นสิ่งที่ใช้เวลาในการเติบโต ซึ่งความศรัทธาของคนแต่ละคนก็เติบโตช้าเร็วไม่เท่ากัน พื้นที่สามจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่ใดอื่นในประเทศไทย หากพื้นที่นี้เป็นสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมอย่างที่ใครหลายคนกล่าวอ้างจริง การที่ใครจะสวมใส่ฮิญาบหรือไม่ใส่ฮิญาบจะไม่ใช่ประเด็นที่คนจะต้องมาคอยจับจ้องกับมันเลย

ขอเพียงกดขี่ความคิดที่ชั่วร้ายและการกระทำที่ฉ้อฉลของตนก็เพียงพอ ไฉนเลยจึงต้องพาลพิพากษากดขี่คนอื่นที่เห็นต่างจากตน หากแต่ว่ามันไม่ง่าย คนมักมองไม่เห็นข้อเสียของตัวเอง กลับคอยสอดส่องมองหาข้อเสียของคนอื่น  ตราบใดที่ฉันยังไม่ใส่ฮิญาบ คำถาม “ทำไมไม่ใส่ฮิญาบ?” จะยังคงเป็นคำถามที่ฉันต้องถูกถามต่อไป

Tags: , , , , , ,