ปี 2010 มาร์ก เบอร์นาดิน (Marc Bernadin) คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซต์ io9.com เขียนบทความชื่อ “สิ่งสุดท้ายที่สไปเดอร์แมนควรจะเป็นคือหนุ่มผิวขาวอีกคนหนึ่ง” (The Last Thing Spider-Man Should Be is Another White Guy.) เพื่อตอบโต้ข่าวขณะนั้นที่กำลังแคสต์นักแสดงหนุ่มเพื่อรับบทปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ในภาพยนตร์ Spider-Man ฉบับยกเครื่องใหม่
อย่างที่คงพอจะเดากันได้ รายชื่อของเหล่าดาราชายที่มีสิทธิลุ้นจะได้รับบทนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเด็กหนุ่มผิวขาวแทบทั้งนั้น
เบอร์นาดินเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อตั้งคำถามว่า “ทำไมนักแสดงผิวดำ หรือนักแสดงที่มีเชื้อสายฮิสแปนิกจะรับบทปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ไม่ได้” ซึ่งในไม่ช้าก็กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าบนโลกออนไลน์ เพราะแน่นอนว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ก็มี แต่ฝั่งที่เห็นตรงกับเบอร์นาดินก็มีอยู่เช่นกัน ถึงขนาดเกิดกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ ‘Donald Glover 4 Spiderman!!’ เรียกร้องให้ค่ายโซนี่แคสต์ โดนัลด์ โกลเวอร์ (หรือที่ปัจจุบันหลายคนรู้จักในฐานะ ไชล์ดิช แกมบิโน (Childish Gambino)) มารับบทไอ้แมงมุม
หากถึงที่สุด แม้ผู้ที่คว้าบทปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ไปได้จะเป็นแอนดรูว์ การ์ฟีลด์ (Andrew Garfield) ดาราหนุ่มผิวขาว ทว่าแรงกระเพื่อมนี้ก็ได้ส่งผลให้ในปี 2011 มาร์เวลได้แนะนำแฟนๆ คอมิกส์ให้รู้จัก ‘ไมล์ส โมราเลส’ (Miles Morales) สไปเดอร์แมนผิวดำคนแรกผู้มารับไม้ต่อจากปีเตอร์ ปาร์คเกอร์นั่นเอง
กล่าวได้ว่า ในโลกคอมิกส์ แฟนๆ ได้รู้จักสไปเดอร์แมนผิวดำมาแล้วสักพัก แต่กับโลกภาพยนตร์นั้นเรียกได้ว่าไมล์ส โมราเลส เป็นตัวละครหน้าใหม่ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักสักเท่าไร และใน Spider-Man: Into the Spider-Verse นี่เองที่ไมล์ส โมราเลสได้กระโดดขึ้นมารับบทนำเป็นครั้งแรก
Into the Spider-Verse เริ่มต้นเรื่องราวผ่านชีวิตของ Miles Morales เด็กหนุ่มผู้ชื่นชอบในตัวสไปเดอร์แมนพอๆ กับที่หลงใหลการได้พ่นกราฟิตีบนกำแพง แต่ก็เหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ ที่ล้วนมีปัญหาให้ต้องขบคิด ไมล์สหงุดหงิดกับชีวิตที่ต้องดำเนินตามเส้นทางที่พ่อแม่คาดหวัง แถมยังต้องยอมทนเรียนในโรงเรียนประจำท่ามกลางลูกคุณหนูที่เขาไม่ค่อยจะสนิทใจด้วยนัก ภายใต้โลกใบเล็กๆ อันแสนจะเคร่งครัด ไมล์สมีเพียงแค่ ‘แอรอน เดวิส’ อาแท้ๆ ผู้ไม่ค่อยถูกโฉลกกับพ่อของไมล์สสักเท่าไร ที่คอยเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เขาได้ทำในสิ่งที่รัก กระทั่งวันหนึ่งแอรอนชวนไมล์สไปยังสถานีรถไฟใต้ดินรกร้างและมีผนังโล่งๆ ให้สามารถพ่นกราฟิตีได้ดังใจ และก็เป็นสถานที่นั้นเองที่ไมล์สโดนแมงมุมกัดจนได้รับพลังเหนือมนุษย์มา
ก็เหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ ที่ล้วนมีปัญหาให้ต้องขบคิด ไมล์สหงุดหงิดกับชีวิตที่ต้องดำเนินตามเส้นทางที่พ่อแม่คาดหวัง แถมยังต้องยอมทนเรียนในโรงเรียนประจำท่ามกลางลูกคุณหนูที่เขาไม่ค่อยจะสนิทใจด้วยนัก
อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า ไมล์สชื่นชอบสไปเดอร์แมนอยู่ก่อนแล้ว นั่นเท่ากับว่าในจักรวาลของ Into the Spider-Verse จึงไม่ได้มีสไปเดอร์แมนแค่คนเดียว เพราะก่อนหน้าที่ไมล์สจะได้รับพลัง ก็มีมนุษย์แมงมุมอีกคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างแข่งขันอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งนั่นก็คือ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ หนุ่มนักหนังสือพิมพ์ที่เราคุ้นเคยกันดี การมีสไปเดอร์แมนสองคนอยู่ร่วมในจักรวาลเดียวกันก็ดูจะวุ่นวายพอแล้ว แต่เหตุการณ์กลับยิ่งโกลาหลขึ้นเมื่อ ‘คิงพิน’ (Kingpin) วายร้ายของเรื่องได้เปิดประตูมิติสู่โลกคู่ขนาน ซึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาชักพาสไปเดอร์แมนจากโลกอื่นๆ อีกถึงห้าคนเข้ามาสู่จักรวาลของไมล์สเสียอย่างนั้น
Into the Spider-Verse แนะนำให้เราได้รู้จักกับ ‘ปีเตอร์ บี ปาร์คเกอร์’ สไปเดอร์แมนอายุสามสิบกว่าผู้ล้มเหลวทั้งในฐานะฮีโร่ และมนุษย์ธรรมดา ‘เกว็น สเตซี’ (Gwen Stacy) หรือ สไปเดอร์-เกว็น แมงมุมสาวผู้สูญเสียเพื่อนรักไประหว่างปฏิบัติงาน ‘เพนี ปาร์คเกอร์’ (Peni Parker) สาวน้อยผู้บังคับ ‘SP//dr’ หุ่นยนต์ที่มาพร้อมพลังแมงมุม ‘สไปเดอร์-นัวร์’ (Spider-Man Noir) ฮีโร่จากอดีตผู้ต่อสู้กับเหล่านาซีในยุคสงคราม และ ‘สไปเดอร์-แฮม’ (Spider-Ham) สไปเดอร์หมูผู้มาพร้อมค้อนปอนด์คู่ใจ
เมื่อพูดถึงสไปเดอร์แมน แน่นอนว่าหลายๆ คนย่อมนึกถึงประโยคคลาสสิคของลุงเบนที่ว่า “พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง” แต่ผ่านกลุ่มตัวละครสไปเดอร์แมนที่หลากหลาย ที่ Into the Spider-Verse กลับไม่เลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวผ่านคำพูดของลุงเบนอย่างที่แล้วมา หากเลือกจะหันไปให้เทน้ำหนักกับประโยคที่ว่า “ทุกคนสามารถเป็นสไปเดอร์แมน” แทนต่างหาก
“ทุกคนสามารถเป็นสไปเดอร์แมน”
ด้วยไม่เพียงแค่หนังจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ใครๆ ก็สามารถเป็นสไปเดอร์แมนได้ผ่านตัวละครที่หลากหลาย จากระดับที่ว่าการจะเป็นไอ้แมงมุมได้คุณต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เพราะต่อให้เป็นหุ่นยนต์หรือสิ่งมีชีวิตอื่น (ในเรื่องคือ ‘หมู’) ก็ล้วนมีโอกาสที่จะเข้าถึง และเป็นเจ้าของพลังพิเศษได้เหมือนๆ กัน พูดอีกอย่างคือ Into the Spider-Verse กระจายอำนาจการนิยามความเป็นสไปเดอร์แมน ซึ่งเดิมกระจุกอยู่แค่กับปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ เพียงคนเดียว ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องยึดถือนิยามหรือความสามารถเฉกเช่นสไปเดอร์แมนต้นฉบับเสมอไป มันจึงไม่แปลกที่บรรดาสไปเดอร์แมนในเรื่องต่างมีรูปลักษณ์และพลังพิเศษที่แตกต่างกันไป แม้ว่าพวกเขาล้วนมีสัญลักษณ์แมงมุมอยู่บนร่างกายเหมือนกันก็ตาม
ท่ามกลางความหลากหลายนี้ สไปเดอร์แมนคนหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ปีเตอร์ บี ปาร์คเกอร์ ไอ้แมงมุมขี้แพ้ที่ดูจะทำอะไรก็ดูพลาดไปหมด ไม่เพียงแต่ปีเตอร์ บี ปาร์คเกอร์จะขัดแย้งต่อสำนึกความเป็นซูเปอร์ฮีโรที่เราคุ้นเคยกัน แต่ในทางหนึ่ง การมีอยู่ของตัวละครนี้อาจมองได้ว่า เป็นการคานความสมบูรณ์แบบของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ในจักรวาลของไมล์ส กล่าวคือ ตัวตนของปีเตอร์ บี ปาร์คเกอร์ เป็นดั่งขั้วตรงข้ามของอุดมคติที่มนุษย์และซูเปอร์ฮีโร่คนหนึ่งๆ พึงเป็น
เช่นกันที่ตัวละครนี้ก็คัดง้างต่อจินตนาการที่ว่า การครอบครองพลังวิเศษจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งๆ เหนือกว่ามนุษย์คนอื่นๆ โดยทันที เพราะแม้ว่าพลังจะหยิบยื่นอำนาจให้จริง แต่ไม่ใช่ทุกรูปแบบของอำนาจจะทาบทับกับทุกรูปแบบชีวิตได้อย่างลงตัวเสมอไป
อีกประเด็นน่าสนใจของ Into the Spider-Verse คือการที่ไมล์สไม่ได้มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมเข้มข้นเท่ากับซูเปอร์ฮีโรทั่วๆ ไปที่เราคุ้นเคย เพราะการที่เขาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจในหนังถูกขับเคลื่อนผ่านคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับคนๆ หนึ่งเท่านั้น เช่นนี้ สิ่งที่ผลักดันไปข้างหน้าของไมล์สจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ประหนึ่งแบกมหานครนิวยอร์กทั้งเมืองไว้บนสองไหล่ แต่คือความพยายามที่จะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้เพียงเพื่อจะได้เติมเต็มตัวเองในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ตลอดชีวิตต้องทุกข์ทนอยู่กับการไม่อาจตอบรับความคาดหวังของพ่อแม่ได้เลย
สำหรับไมล์ส ความคาดหวังไม่เพียงจะสร้างความกดดัน หากยังคอยกดทับพลังอีกมากมายที่ซุกซ่อนในตัวเขาให้จมลึกอยู่อย่างนั้น ไม่มีโอกาสได้เปล่งประกายเสียที เราจะเห็นว่าตลอดเรื่อง แม้ว่าไมล์สจะไม่เคยเกี่ยงที่จะร่วมสู้เคียงบ่ากับสไปเดอร์แมนคนอื่นๆ ทว่าเพราะต้องคอยแบกไว้ซึ่งความคาดหวัง ทั้งในฐานะไมล์สและสไปเดอร์แมน เขาจึงไม่เคยได้ปลดปล่อยความสามารถอย่างเต็มที่เสียที
สิ่งที่ผลักดันไปข้างหน้าของไมล์สจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ประหนึ่งแบกมหานครนิวยอร์กทั้งเมืองไว้บนสองไหล่ แต่คือความพยายามที่จะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้เพียงเพื่อจะได้เติมเต็มตัวเองในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ตลอดชีวิตต้องทุกข์ทนอยู่กับการไม่อาจตอบรับความคาดหวังของพ่อแม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้ ในฉากเล็กๆ ที่พ่อของไมล์สพูดกับเขาด้วยนำเสียงจริงใจว่า “พ่อเห็นประกายในตัวลูก มันวิเศษมาก และไม่ว่าลูกเลือกจะทำอะไร ลูกจะยิ่งใหญ่” จึงเท่ากับการปลดเปลื้องความคาดหวังที่คอยเหนี่ยวรั้งไมล์ส พร้อมยังยืนยันกับเขาว่า ตัวตนที่ไมล์สเป็นไม่ใช่อะไรที่ไร้ค่า เช่นกันที่การจะหลงใหลในศิลปะกราฟิตี (หรือการจะเป็นสไปเดอร์แมนในแบบฉบับของตัวเอง) ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องรู้สึกผิดแม้แต่น้อย
ทว่าภายใต้ความหลากหลายที่หนังพยายามนำเสนอ ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้มีความพยายามจะยกชูคนผิวดำ หรือผู้หญิง อย่างเกว็น สเตซี และให้น้ำหนักกับซูเปอร์ฮีโรที่ขัดต่อขนบ Into Spider-Verse กลับไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายอื่นๆ อย่างเท่าเทียมสักเท่าไร นั่นคือ เพนี ปาร์คเกอร์ (ที่อาจมองว่าเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมตะวันออก) สไปเดอร์-นัวร์ (ที่อาจมองว่าเป็นตัวแทนของซูเปอร์ฮีโรจากยุคก่อน) และสไปเดอร์-แฮม (ที่อาจมองว่าเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์) มีบทบาทในเรื่องน้อยมากเมื่อเทียบกับสไปเดอร์แมนคนอื่นๆ
แน่นอนว่าจุดนี้อาจมองว่าเป็นปัญหาเรื่องการกระจายบทของหนัง แต่เช่นกันที่ภายใต้การจะเชิดชูความหลากหลายของสังคม น่าเสียดายที่หนังกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสไปเดอร์แมนทุกๆ คน แม้ด้วยเงื่อนไขของเวลาจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ก็ตาม
ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง แสตน ลี (Stan Lee) เคยกล่าวไว้ว่า “ผมเคยรู้สึกอับอายที่ผมเป็นเพียงคนเขียนการ์ตูน ในขณะที่คนอื่นๆ เขากำลังสร้างสะพานหรือเป็นหมอ แล้วผมก็นึกขึ้นได้ว่า ความบันเทิงเองก็ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ เพราะถ้าไม่มีมัน พวกเขาอาจจมหายไปในทางตันก็ได้ ผมว่าถ้าคุณสามารถจะให้ความบันเทิงกับใครได้ นั่นคือคุณกำลังทำเรื่องดีอยู่นะ”
ซึ่งเอาเข้าจริง Into the Spider-Verse เองก็คล้ายจะโต้ตอบต่อประโยคนี้อย่างน่าสนใจ เพราะหนังไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และคุณค่าของโลกบันเทิง แต่ยังเชิดชูเอกลักษณ์ และคุณสมบัติส่วนตัวอันหลากหลายที่ซุกซ่อนอยู่ในมนุษย์แต่ละคนอย่างจริงใจ
เมื่อปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ไม่ใช่สไปเดอร์แมนเพียงคนเดียวอีกต่อไป การเป็นซูเปอร์ฮีโรจึงไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องหยุดรถไฟได้หรือต้องคอยแบกรับความคาดหวังของสังคมไว้บนสองไหล่อย่างยินดี แน่นอนว่าบางคนย่อมจะมีนิยามความเป็น ‘ซูเปอร์ฮีโรที่ดี’ แต่แค่คำว่า ‘ดี’ ก็ยังสามารถถกเถียง และตีความได้อีกมากมายไม่ใช่หรือ
Tags: Childish Gambino, Spider-Man, Bernadine, Peter Parker, Miles Morales, Andrew Garfield, ผิวขาว, ผิวดำ, สไปเดอร์แมน