สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ชี้ว่า การรับมือต่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากทั่วโลกจำเป็นต้องนึกถึงและให้ความสำคัญกับบุคคลทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง รวมถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะผู้พลัดถิ่นที่เป็นผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางในสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการเปิดรับการระดมทุนสำหรับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย

UNHCR ต้องการงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท (33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเร่งจัดทำแผนเตรียมความพร้อม ป้องกัน และตอบสนองต่อความต้องการด้านสาธารณสุขของผู้ลี้ภัยที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19

“จากข้อมูลที่เรามี ณ ปัจจุบัน ไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสส่งผลกระทบถึงทุกคนและถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเราร่วมกันที่จะจัดทำมาตรการรับมือที่ครอบคลุมประชากรโลกทุกคน” ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว

“การอนุญาตให้มีการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขแบบเต็มรูป รวมถึงประชากรที่ขาดแคลนที่สุดในชุมชน เป็นแนวทางที่จะคุ้มครองพวกเราทุกคน มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศควรมีสิทธิในการเข้าถึงสถานพยาบาลและบริการด้านสาธารณสุข“

ทั่วโลกมีประชากรกว่า 70 ล้านคนที่ถูกบังคับให้หนีออกจากบ้านเกิดของตนเองจากการประหัตประหาร ความขัดแย้ง ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในจำนวนนี้เป็นผู้ลี้ภัยมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 84 พักพิงอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยซึ่งมีระบบสาธารณสุข สาธารณูปโภค น้ำสะอาด และการสุขาภิบาลที่ไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ UNHCR ได้เร่งจัดทำแผนเพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และตอบสนองต่อวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก โดยสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยและเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมขององค์กรที่ประจำอยู่ในกว่า 130 ประเทศทั่วโลกเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน โดย UNHCR ได้พัฒนาแผนการรองรับมาจากประสบการณ์การทำงานในช่วงการระบาดของโรคซาร์ (SARS) ไวรัสอีโบลา และไข้หวัดใหญ่ มาตรการเหล่านี้จะมอบความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ที่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในระดับโลกครั้งนี้

ปัจจุบันมีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศมากกว่า 100 ประเทศ ในจำนวนนั้นมี 34 ประเทศที่มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่มากกว่า 20,000 คน และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อของผู้ลี้ภัยเกิดขึ้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการสื่อสารคือหัวใจหลักในสถานการณ์นี้ เพราะส่วนมากผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจะอาศัยอยู่ในพื้นที่หนาแน่นหรือที่ๆ สาธารณสุขและบริการด้านต่างๆ มีจำกัดหรือไม่ถึงมาตรฐาน

UNHCR เน้นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ จึงมีการสื่อสารต่อชุมชนผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขาภิบาล ข้อมูลเหล่านี้ได้มีการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นและปรับใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ UNHCR กำลังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด การกำจัดสิ่งปฏิกูล และจำนวนสบู่ในสถานบริการสาธารณสุข ที่พักอาศัยแบบรวม และตามชุมชนใหญ่ รวมถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการแพร่ระบาดตามศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ

 

ภาพ:  UNHCR_Ritzau Scanpix

Fact Box

ร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นกับ UNHCR บริจาคได้ที่เว็บไซต์ http://unh.cr/5e6b2c560

Tags: , , , ,