ดูเหมือนว่า 2023 คือปีแห่งการเลือกตั้งของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงคะแนนเสียงที่มีนัยสำคัญนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศนั้นๆ 

หนึ่งในนั้นคือ ตุรกี ซึ่งมี ‘การเลือกตั้งประธานาธิบดี’ คนใหม่ของประเทศในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตรงกับวันใช้สิทธิเลือกตั้งของไทยที่กำลังดำเนินอย่างเข้มข้นและดุเดือด รวมถึงใกล้ได้ข้อยุติในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้บนสังเวียนเลือกตั้งแห่งอิสตันบูลยังไม่ได้บทสรุปอย่างชัดเจน หลังจากแคนดิเดตตัวเต็ง 2 คน ได้แก่ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdogan) กับคู่แข่งตัวเต็งในโพลหลายสำนัก เคมัล เคลิกดาโรกลู (Kemal Kilicdaroglu) มีคะแนนที่สูสีกินกันไม่ลง โดยแอร์โดอันได้คะแนนเสียงโหวตจากประชาชน 49.5% ในขณะที่อีก 44.89% เป็นของเคลิกดาโรกลู 

สืบเนื่องจากระบบการเลือกตั้งของตุรกีที่ได้รับอิทธิพลจากฝรั่งเศส ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญ คือหากผู้สมัครไม่ได้รับการโหวตเกิน 50% ผู้ที่มีคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกต้องลงแข่งขันในรอบสองเพื่อหาฉันทามติเป็นอันสิ้นสุด นั่นหมายความว่า ชาวตุรกีต้องลงคะแนนเสียงอีกครั้งในรอบตัดเชือกสัปดาห์หน้า หรือวันอาทิตย์ที่ 28 พฤษภาคมนั่นเอง

การเลือกตั้งครั้งนี้ของตุรกีมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าชาติใดในโลก เพราะนี่คือการตัดสินอนาคตของประเทศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการครอบงำของประธานาธิบดีแอร์โดอัน ผู้ที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ปี หลังจากไม่สามารถสร้างความมั่นใจต่อประชาชนกับการจัดการวิกฤตครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือปัญหาเศรษฐกิจ 

อีกทั้งการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ยังกำหนดชะตากรรมของยุโรปในนามกลุ่มนาโต (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ท่ามกลางสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสวีเดน ซึ่งตุรกีเป็นหนึ่งในปราการด่านสุดท้ายที่สตอกโฮล์มและชาติยุโรปจะต้องฟันฝ่า

The Momentum ชวนอ่านและทำความเข้าใจการเลือกตั้งของตุรกี ด้วยการย้อนดูเรื่องราวในอดีต ปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลต่อความนิยมของแอร์โดอัน และแนวโน้มการคว้าชัยของแคนดิเดตตัวเต็ง 

 

แอร์โดอันเป็นใคร?: ย้อนรอยประวัติความเป็นมาของชายผู้ครองอำนาจแห่งอิสตันบูลร่วม 20 ปี

ใครจะคิดว่า ชายคนนี้คือผู้ครองอำนาจในตุรกีนานนับ 20 ปี ชีวิตวัยเด็กของแอร์โดอัน คือเด็กที่ขายน้ำมะนาวกับขนมปังงาเพื่อหารายได้พิเศษ ต่อมา เขาเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี

แอร์โดอัน (ที่มา: Reuters)

แอร์โดอันเริ่มเส้นทางการเมืองของเขาด้วยบทบาทนายกเทศมนตรีแห่งอิสตันบูลในปี 1994 แต่แล้วชีวิตก็พลิกผันไปสักพัก หลังจากมีความผิดฐานยุยงให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ จากการอ่านบทกวีชาตินิยมในที่สาธารณะ ซึ่งปรากฏข้อความว่า “มัสยิดคือค่ายทหารของเรา โดมคือหมวกของเรา หออะษานคือมีดปลายปืนของเรา และความศรัทธาคือทหารของเรา”

แม้จะติดคุกเป็นเวลา 4 เดือน และถูกห้ามลงเล่นการเมือง แอร์โดอันกลับมาอีกครั้งในนามผู้ก่อตั้งพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development หรือพรรค AKP ในภาษาตุรกี) เขาได้รับเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2003 ซึ่งมีเสียงสนับสนุนมหาศาล เพราะแอร์โดอันสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนนับล้านหลุดพ้นจากความยากจน รวมถึงริเริ่มพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภค 

แต่แล้ว นักวิเคราะห์บางส่วนก็ส่งสัญญาณว่า เขากำลังกลายเป็นเผด็จการมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะแอร์โดอันด่าทอผู้ชุมนุมต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสวนสาธารณะ Gezi ใจกลางอิสตัลบูลเป็นห้างสรรพสินค้าในปี 2013 ว่า ‘พวกเหลือขอ’ และมีการปะทะกันระหว่างการประท้วง นั่นจึงทำให้เขาถูกตราหน้าในฐานะสุลต่านที่ปกครองจักรวรรดิออตโตมันมากกว่านักการเมืองที่รับใช้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม แอร์โดอันสามารถฝ่าฟันคำวิจารณ์ และขึ้นสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2014 ตุรกีกลับมาสู่ยุคศาสนาอิสลามครองเมืองอีกครั้ง ผู้นำแห่งอิสตันบูลเริ่มยกเลิกการห้ามผู้หญิงใส่ฮิญาบในที่สาธารณะ ทำให้บางส่วนมองว่า เขากำลังละเมิดหลักการสำคัญของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว คือรัฐต้องวางตัวเป็นกลางต่อศาสนา ในฐานะ ‘รัฐฆราวาส’ (Secular State) แต่แอร์โดอันปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และเน้นย้ำว่า เขาต้องการเพิ่มเสรีภาพทางศาสนาของชาวเติร์กมากขึ้น 

ในทางตรงกันข้าม ผู้นำแห่งอิสตันบูลกลับเลือกปฏิบัติและกีดกันศาสนาอื่นๆ ตั้งแต่เขากำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นวิชาบังคับ เปลี่ยน ‘ฮาเกียโซเฟีย’ (Hagia Sophia) โบสถ์อันเก่าแก่นับ 1,500 ปี ของชาวคริสต์ให้กลายเป็นสุเหร่า 

แอร์โดอันยังมีชื่อเสียงแย่ๆ ในการเหยียดเพศอย่างรุนแรง เขาประณามกลุ่มสตรีนิยม (Feminist) โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีทางที่ผู้หญิงและผู้ชายจะเท่าเทียมกัน เพราะธรรมชาติต่างกัน

“ผู้หญิงไม่ควรเรื่องมากในการเลือกสามี” เขากล่าว โดยเรียกร้องให้หญิงสาวชาวเติร์กต้องมีลูก 3 คน

ขบวนการสตรีนิยมในตุรกีบั่นทอนลงเรื่อยๆ หลังจากเขายกเลิกกฎหมายคุ้มครองต่อความรุนแรงทางเพศ และจำกัดการเข้าถึงการทำแท้งจาก 10 สัปดาห์เหลือเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น รวมถึงยังเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ชายสูงวัยไม่ต้องติดคุกเพราะแต่งงานกับเด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

อย่างไรก็ตาม แอร์โดอันได้รับความนิยมมากจากกลุ่มอนุรักษนิยม รวมถึงผู้คนบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันตุรกีเป็นชาติมหาอำนาจในภูมิภาคด้วยความทะเยอทะยาน ผ่านการดำเนินนโยบายต่างประเทศอันแข็งกร้าว ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงทางทหารในประเทศต่างๆ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน อิรัก ลิเบีย และซีเรีย รวมถึงการจัดหาโดรนให้กับพันธมิตร เช่น เอธิโอเปียและยูเครน 

ความแข็งกร้าวดังกล่าวยังรวมไปถึงชาติตะวันตก เช่น การประกาศว่าตุรกีสามารถอยู่ได้โดยปราศจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) หรือการแข็งข้อใส่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ด้วยการไม่ยอมรับอำนาจเอกอัครราชทูตจอห์น บาสส์ (John Bass) เพราะวอชิงตันระงับวีซ่าของเขา ซึ่งนี่คือการดูหมิ่นอย่างมากในทางการทูต โดยเฉพาะบทบาทของบาสส์ที่ได้รับการสนับสนุนจากทำเนียบขาวโดยตรง

อาจกล่าวได้ว่า นโยบายแข็งข้อต่อชาติมหาอำนาจส่งผลต่อการสร้าง ‘ความรู้สึกต่อต้านชาติตะวันตกร่วมกัน’ ที่ไม่ได้ยุติแค่ในประเทศ แต่ยังรวมถึงชาติอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากปูมหลังทางประวัติศาสตร์ของตะวันออกกลางจากระบอบอาณานิคมของชาติตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง นั่นจึงทำให้แอร์โดอันได้รับความนิยมบางส่วนจากต่างชาติด้วย

 

มองชัยชนะในการเลือกตั้งตุรกี 2023: ความนิยมของแอร์โดอันที่ลดลง VS การขึ้นมาของชายผู้สุภาพนุ่มนวล เคลิกดาโรกลู

ชีวิตของแอร์โดอันผ่านความยากลำบากทางการเมืองหลายครั้ง โดยเฉพาะการพยายามก่อรัฐประหารโดยกองทัพในปี 2016 ส่งผลให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2017 ผ่านการทำประชามติเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบรัฐสภาสู่ระบอบประธานาธิบดี

แอร์โดอันมีอำนาจที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แม้ว่าความเห็นของประชาชนสูสีกันมาก อย่างไรก็ตาม การทำประชามติครั้งนี้นำมาสู่การยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และใช้ระบบเลือกตั้งแบบฝรั่งเศสที่มีการเลือกตั้ง 2 รอบ เพื่อหาเอกฉันท์ในการเลือกผู้นำ หากคะแนนไม่ถึง 50% โดยประชาชนสามารถเลือกผู้นำประเทศโดยตรง ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) หรือการแทรกแซงทางกฎหมาย เพราะถือว่าได้รับความชอบธรรมจากประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรง

แต่การเลือกตั้งปี 2023 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้นำแห่งอิสตันบูลต้องเผชิญกับวิกฤตครั้งสำคัญ เขาได้รับข้อวิจารณ์อย่างหนักต่อความย่ำแย่ในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ อย่างค่าเงินเฟ้อของประเทศที่พุ่งถึง 80% ในรอบ 24 ปี และส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชน 

รวมถึงการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้กับประเทศ คือแผ่นดินไหวในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งมีผู้คนล้มตายจำนวนกว่า 5 หมื่นคน เขาถูกมองว่าดำเนินการล่าช้า ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านกลับเดินทางถึงพื้นที่เกิดเหตุก่อนเขาอย่างรวดเร็ว

“เขาต้องออกไปแล้ว การปกครองภายใต้คนคนเดียวก่อให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้

“ทั้งหมดเป็นเพราะกฎที่เขาคิดขึ้นมาเองทั้งนั้น ผู้รับเหมาหลายคนลอยตัวจากการสร้างอาคารที่ทรุดโทรม จนพังทลายลงมาและคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน” เฟอร์กาน ออซบิลกิน (Furkan Ozbilgin) อายุ 29 ปี ชาวเมืองอันทาเกีย (Antakya) ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุด และเป็นที่มั่นของฝ่ายต่อต้านแอร์โดอัน

เก้าอี้ประธานาธิบดีกำลังถูกจับตามองถึงความสั่นคลอนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความนิยมของพรรคฝ่ายค้านที่กำลังเพิ่มขึ้นโดยการนำของ เคมัล เคลิกดาโรกลู จากพรรครีพับลิกกันแห่งตุรกี (Republican People’s Party หรือพรรค CHP ในภาษาตุรกี) ชายผู้มีบุคลิกตรงข้ามกับแอร์โดอันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาและท่าทางอันนุ่มนวล หรือแม้แต่ความคิดทางการเมืองที่โอบรับความเห็นต่างโดยไม่แบ่งแยก ซึ่งเป็นสโลแกนประจำตัวของเขาในการเลือกตั้ง

เคลิกดาโรกลูกับท่าอันเอกลักษณ์ในการหาเสียง (ที่มา: Reuters)

เคลิกดาโรกลูตกเป็นเป้าหมายการใช้ความรุนแรงทางการเมืองตุรกีมากที่สุดคนหนึ่ง จนทำให้เขาต้องใส่เสื้อเกราะระหว่างการปราศรัยเลือกตั้ง เพราะเสนอประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงกลุ่มชนชาติเคิร์ด (Kurd) หลังจากถูกกดขี่และประหัตประหารโดยทางการมาตลอด รวมถึงกลุ่มแอเลวิ (Alevi) ซึ่งเขามีเชื้อสายชนกลุ่มน้อยดังกล่าว

 อีกทั้งผู้นำฝ่ายค้านแห่งพรรค CHP ยังเสนอให้ตุรกีกลับเป็นรัฐฆราวาสเหมือนเมื่อครั้งอดีตก่อนการขึ้นมาของแอร์โดอัน และผลักดันบทบาทนักเคลื่อนไหวทางศาสนาและกลุ่มสตรีนิยมอยู่บ่อยครั้ง

“บางครั้งมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรากลายเป็นบ้าจนอดไม่ได้ที่จะกรีดร้อง แต่ถึงอย่างนั้น เคลิกดาโรกลูยังสงบสติอารมณ์ได้อยู่” สมาชิกคนหนึ่งของพรรค CHP อธิบายกับบีบีซี (BBC) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่ง เขาถูกคนแปลกหน้าที่บุกเข้ามาในรัฐสภาต่อยหน้า 2 ครั้งในปี 2014 ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค แม้แก้มและตาจะมีรอยฟกช้ำ แต่เขาก็ยังเรียกร้องให้เพื่อนร่วมงานใจเย็นๆ และบอกว่า “เส้นทางสู่ประชาธิปไตยย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรค”

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจ หากเคลิกดาโรกลูกำลังค่อยๆ เข้าไปนั่งอยู่ในใจใครหลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จนทำให้เขามีคะแนนนำในโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากคอนดา (Konda) ถึง 49.3% ในขณะที่แอร์โดอันได้รับคะแนน 43.7% รวมถึงในผลสำรวจของเกซิจิ (Gezici) ก็ยังนำผู้นำแห่งอิสตันบูลด้วย 1%

ทว่าผลสำรวจตรงข้ามกับความเป็นจริง หลังจากแอร์โดอันยังได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งตามมาด้วยข้อครหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการโกงเลือกตั้งหรือใช้กลยุทธ์ต่างๆ นับตั้งแต่เครือข่ายโทรทัศน์ภาคเอกชนพยายามฉายภาพโน้มนำผู้ชมไปทางแอร์โดอัน บทบาทของรัฐบาลตุรกีที่กดดันนักการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางคน รวมถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งที่มีข้อกังขาถึงความโปร่งใส การสื่อสาร และความเป็นอิสระ

อย่างไรก็ตาม นักข่าวจากอัลจาซีรา (Al Jazeera) ซิเนม โคเซโอกลู (Sinem Koseoglu) เผยว่า โพลนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไร 

“ก่อนการเลือกตั้ง โพลสำรวจจำนวนมากถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเอนเอียงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง 

“ในทางหนึ่ง การเลือกตั้งนี้แสดงให้เราเห็นว่า โพลสำรวจก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลในทางการเมือง (…) และพวกเขาพยายามโน้มน้าวผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”

ไม่ว่าสิ่งที่เธอพูดมาจะเป็นจริงหรือไม่ แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้สนับสนุนแอร์โดอันยังคงเหนียวแน่นอยู่เช่นเดิม บางคนมองว่าความโกรธของผู้คนเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และอยู่ในเฉพาะภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

“แน่นอน มากกว่า 20 ปี มีทั้งดีและแย่ปนกันไป ประธานาธิบดีของเราไม่ได้มีความรับผิดชอบต่อแผ่นดินไหวครั้งนี้ไปเสียหมด เขาเป็นคนควบคุมการสร้างตึกทุกแห่งในตุรกีหรือไง?” อาห์เมต โกกคยา (Ahmet Gokkaya) เจ้าของร้านในเมืองอิสตันบูลในฟาตีห์ (Fatih) ย่านอนุรักษนิยม แสดงความคิดเห็น

นอกเหนือจากนั้น ปัจจัยสำคัญที่เพิกเฉยไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือคะแนนโหวตอันดับ 3 เป็นของ ซินาน โอดัน (Sinan Odan) กลุ่มฝ่ายขวาชาตินิยมถึง 5% ซึ่งเป็นตัวตัดสินในการจัดตั้งรัฐบาลของแต่ละฝ่าย ขณะนี้ โอดันไม่ได้เปิดเผยว่าสนับสนุนฝ่ายใดเป็นพิเศษ แต่กลับแสดงความคิดเห็นเป็นนัยสำคัญว่า 

“ตอนนี้ เราไม่ได้บอกว่าจะสนับสนุนคนนี้หรือคนนั้น (แคนดิเดต) ผู้ที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายไม่ควรเข้าร่วมกับเรา” เขากล่าวในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า การระบุเช่นนี้ทำให้หลายคนอาจคิดว่า โอดันคงไม่เข้าร่วมกับเคลิกดาโรกลูเป็นแน่ เพราะกลุ่มชนชาติเคิร์ดถูกตราหน้าในฐานะผู้ก่อการร้าย แต่หากกลับมาพิจารณาอย่างลึกซึ้ง พรรค AKP ของแอร์โดอันได้รับการสนับสนุนจากพรรคอิสลามของกลุ่มเคิร์ดหัวรุนแรง หรือพรรค Huda-Par โดยมีนักการเมือง 3 คนได้รับเลือกเข้าสู่รัฐสภาในนามของพรรค AKP

ทั้งหมดนี้จึงเป็นบทสรุปที่ยังไม่จบสำหรับการเลือกตั้งของตุรกี และคงต้องรอติดตามกันต่อในสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผลการเลือกตั้งได้ข้อสรุปเมื่อไร The Momentum จะกลับมาพูดถึงภาพรวมของผลการเลือกตั้ง รวมถึง ‘ชะตากรรมของสวีเดนที่ฝากไว้ในมือคนตุรกี’ เพราะการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ส่งผลต่อการเข้าร่วมนาโตของสตอกโฮล์มโดยตรง หลังจากอิสตันบูลภายใต้การนำของแอร์โดอันขัดขวางความคิดดังกล่าว จนเกิด ‘เดตล็อก’ ในทางการเมืองของนาโต ซึ่งอาจส่งผลต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ในยุโรปตะวันออก

 

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2015/11/26/middleeast/recep-tayyip-erdogan-fast-facts/index.html

https://time.com/6279055/turkey-erdogan-muslim-women-election/

https://www.bbc.com/news/world-europe-13746679

https://prachatai.com/journal/2018/07/78054?__cf_chl_rt_tk=vjXelAMZH0.5XzTFncn1VgtT7b068wSbeNOTg4x02HI-1684464065-0-gaNycGzNEpA

https://edition.cnn.com/2017/10/10/politics/turkey-us-erdogan-us-ambassador/index.html

https://www.bbc.com/news/world-europe-65309688

https://www.ft.com/content/7051e46f-5744-40aa-85af-d54b0d0878f1

https://www.aljazeera.com/features/2023/5/13/erdogan-the-man-who-has-dominated-turkish-politics-for-20-years

https://www.aljazeera.com/news/2023/5/15/erdogan-defies-politicised-polls-in-turkey-election

https://www.aljazeera.com/news/2023/5/12/turkey-elections-a-guide-on-turkeys-electoral-system

https://www.bbc.com/news/world-europe-39617700

Tags: , , , , , , , , , ,