ที่มีเหนือ เพราะมีกลาง

หากไม่แบ่งเส้นทาง ก็มีเพียงแต่แผ่นดินที่ไม่รู้ว่าของใคร

ถ้าฉันอยู่ที่บ้าน นั่นคือศูนย์กลางจิตใจ

ไม่มีเหนือ ไม่มีใต้ มีแต่เชียงใหม่ล้านนา

 คือท่อนหนึ่งจากเพลงเด่นในองก์หลังของ ‘Dilok Von Siam 2023’ ที่ติดอยู่ในใจนานที่สุดหลังจากดูละครจบ เพราะเป็นท่อนที่ได้ยินแล้วรู้สึกทั้งประหลาดใจและประทับใจไปพร้อมกัน

หากพูดถึงตัวบทที่ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ที่สอดแทรกแนวคิดแบบหลังอาณานิคม และชูเรื่องความสัมพันธ์ของศูนย์กลาง (Center) และชายขอบ (Periphery) นั้น เรียกได้ว่าเป็นธีมเรื่องที่ถูกใช้ในนิยาย บทหนัง บทละครอย่างเกลื่อนกลาดดาษดื่นกันมานานพอควร แต่เนื่องจากนี่ยังเป็นไอเดียที่ค่อนข้างใหม่สำหรับตัวบทภาษาไทย เราจึงตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อได้ยินเนื้อท่อนนี้

หากจะให้เท้าความกลับไป คงต้องบอกว่าเดิมทีแล้วเราไม่ได้รู้สึกกระตือรือร้นอยากจะไปดูละครเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะได้รับการบอกกล่าวมาว่าเป็นละครเล่าชีวประวัติชายหนุ่มนักเรียนนอกชนชั้นปกครองที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ

แค่ได้ยินข้อมูลโดยเบื้องต้นมาเพียงเท่านี้ ในหัวก็ประมวลผลออกมาเป็นแฟลชแบ็กความเหม็นเบื่อ ในช่วงขณะที่ต้องนั่งดู สี่แผ่นดิน และหนังตระกูล ตำนานพระนเรศวรฯ ที่โรงเรียนชอบเปิดให้ดูในวิชาประวัติศาสตร์ โชคดีที่พอได้อ่านเรื่องย่อที่แนบมากับโปสเตอร์ ถึงได้รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้นมาหน่อย

Dilok Von Siam 2023 เป็นมิวสิคัลที่อำนวยการสร้างโดยกลุ่มละคอน Anti-Thesis มีพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ โอรสในรัชกาลที่ห้ากับเจ้าจอมมารดาชาวเชียงใหม่เป็นตัวเอก เรื่องโดยย่อคือเจ้าชายลูกครึ่งสยาม-เชียงใหม่ผู้นี้ ได้ทำการปลงพระชนม์พระองค์เองเมื่ออายุได้ 29 พรรษา โดยไม่มีใครทราบสาเหตุแน่ชัด ‘เทวทูต’ จึงเชิญบุคคลที่รู้จักพระองค์ในขณะที่มีชีวิตอยู่มารวมตัวกัน เพื่อเล่าเรื่องราวชีวิต ค้นหาความจริง และบันทึกประวัติศาสตร์ให้กับ ‘ดิลก’ อีกครั้ง

       จนเมื่อได้ไปดูจริงๆ ก็พบว่า มิวสิคัลเรื่องนี้กลับกลายเป็นทุกสิ่งที่ละครเพลงชีวประวัติสมาชิกราชวงศ์ไม่น่าจะเป็นได้ อาจด้วยวิธีเล่าที่หลุดขนบการดำเนินเรื่องสไตล์ละครอิงประวัติศาสตร์ หากไม่อย่างนั้น ก็คงเป็นเพราะมันไม่เคยถูกเขียนออกมาในฐานะละครเพลงชีวประวัติตั้งแต่แรก

ความดีงามประการแรกของ Dilok ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเพลงที่ประพันธ์ด้วยเนื้อร้องละเมียดละไมและทำนองกลมกล่อมติดหู ความยาวของละครตั้งแต่ต้นจนจบนั้นอยู่ที่ 2 ชั่วโมงโดยประมาณ แต่ด้วยเวลาเพียงเท่านั้น กลับมีเนื้อและทำนองหลายท่อนทีเดียวที่ฟังแล้วเผลอเก็บกลับบ้านมาร้องฮึมฮัมตามตอนอาบน้ำ

เพลงที่เด่นที่สุดในแง่การสื่ออารมณ์ คงหนีไม่พ้น ‘รถไฟครึ่งทาง’ ที่พูดถึงประสบการณ์พลัดถิ่นและการกลับมาเยือนบ้านของ ‘ดารา’ โดยวางเส้นเรื่องให้ขนานไปกับความแปลกแยกและโดดเดี่ยวของ ‘ดิลก’ ในเพลงเดียว เข้ากันได้ดีกับการแสดงที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกซาบซึ้งและใจสลายไปพร้อมๆ กัน

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้รู้สึกแปลกใจ คือความลีน (Lean) ของโปรดักชัน ที่เรารู้สึกได้ตั้งแต่ย่างเท้าเข้าไปลงทะเบียนบริเวณห้องรีเซปชัน จวบจนถึงตอนละครเล่นจบ หลังทีมนักแสดงออกมาโค้งหน้าม่านในช่วง Curtain Call 

เพราะสมาชิกที่ยืนขายเครื่องดื่มอยู่หน้ารีเซปชัน อาจเป็นคนเดียวกันกับตัวแทนกลุ่มละคอนที่ออกมากล่าวขอบคุณผู้ชม และนักแสดงที่รับบทแม่ของพระเอก ก็อาจจะเป็นคนคนเดียวกับนักแสดงที่รับบทเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง และในขณะเดียวกันก็รับบทชาวบ้าน ก. ที่พระเอกตกเป็นขี้ปากด้วย

แม้จะไม่ได้มีการเปลี่ยนคอสตูมเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ตัวบทและวิธีการแสดงที่กำกับออกมานั้น ได้ขีดเส้นแบ่งความเป็นตัวละครแต่ละตัวไว้ชัดเจนพอ  จึงทำให้ภาพลักษณ์ภายนอกของตัวละครไม่ได้ส่งผลต่อบทบาทเท่าวิสัยทัศน์ของผู้กำกับและทักษะของนักแสดง

และสุดท้าย จุดขายที่สำคัญที่สุดของเรื่องนี้ในมุมมองของเรา คือความ Postmodern ของธีมและวิธีการเดินเรื่อง

Dilok เป็นละครที่พาดพิงการมีอยู่ของตนเองในฐานะเรื่องแต่ง และในขณะเดียวกันก็วิพากษ์สถานะ ‘เรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์’ ของตนเองอยู่ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โดยมีเครื่องมือเป็นชิ้นส่วนความทรงจำของผู้คนรอบตัวพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ที่อนุมานได้จากข้อมูลเศษเล็กเศษน้อย ที่ถูกรวบรวมเป็นหลักฐานผ่านวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเราสามารถค้นคว้าเจอได้บนอินเทอร์เน็ต

น่าเสียดายที่จุดเด่นที่ว่านี้ อาจเขียนขยายความต่อในบทความนี้ โดยไม่ให้สปอยเนื้อเรื่องได้ยาก เราจึงอยากถือโอกาสนี้ เชิญชวนผู้อ่านทุกคนที่สนใจให้ไปลองชมละครเรื่องนี้ดูสักครั้งในรอบแสดงถัดไป

Fact Box

  • สามารถจองบัตร Dilok Von Siam 2023 รอบการแสดงที่เหลืออีก 4 รอบ (ได้แก่ รอบวันที่ 7, 12, 13, 14 พฤษภาคม เวลา 19.00 น. ทุกรอบการแสดง) ล่วงหน้าได้ที่ https://www.ticketmelon.com/antithesis/dilokvonsiam2023
  • วิธีการเดินทางไปยังสถานที่จัดแสดง สามารถขึ้นรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีอารีย์ ทางออก 3 แล้วต่อรถจักรยานยนต์ รถแท็กซี่ เข้ามาที่โรงละครบริเวณซอยอารีย์ 1 (ปักหมุด ‘Yellow Lane’)

Tags: , , , , , ,