ในวันที่ ‘บองบอง’ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand ‘Bongbong’ Marcos Junior) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีแบบ ‘แลนด์สไลด์’ ด้วยคะแนนเสียงถึง 31 ล้านเสียง ในปี 2022 จนกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 แห่งฟิลิปปินส์

นั่นเป็นวันเดียวกับที่สายตาของคนทั่วโลกจับจ้องถึง ‘การกลับมาของตระกูลมาร์กอส’ ในหน้าการเมืองฟิลิปปินส์อย่างเต็มรูปแบบ หลังปรากฏภาพครอบครัวอันแสนสุขสันต์อย่างพร้อมเพรียงที่พิธีสาบานตน ได้แก่ ภรรยาของมาร์กอส จูเนียร์ มาเรีย หลุยส์ มาร์กอส (Maria Louis Marcos) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน 2 คน โจเซฟ ไซมอน มาร์กอส (Joseph Simon Marcos) และวิลเลียม วินเซนต์ มาร์กอส (William Vincent Marcos) และญาติๆ มากมาย รวมถึงคนสำคัญในประวัติศาสตร์ทางการเมืองฟิลิปปินส์ อย่างอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งมะนิลา อิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) ในวัย 92 ปี

ผู้คนบางส่วนคงไม่นึกไม่ฝันว่าภาพเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกลับมาของครอบครัวประธานาธิบดีจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ลิดรอนเสรีภาพของประชาชนในประเทศยาวนานถึง 14 ปีเต็ม ยังไม่รวมเรื่องราวล้างผลาญภาษีประชาชนขนานใหญ่ และบทบาทการกุมบังเหียนทางการเมืองของอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง จนเรื่องราวกลายเป็นสารคดีที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยไปพักใหญ่เมื่อปี 2020 คือ ‘The Kingmaker’ แด่ลูก ผัว และตัวฉันเอง… อีเมลดา มาร์กอส ฉายโดย Documentary Club

ครอบครัวมาร์กอสในพิธีสาบานตนและรับตำแหน่ง (ที่มา: AFP) 

นี่จึงเป็นคำถามที่ตราตรึงใจหลายคนอยู่ว่า ทำไมตระกูลเผด็จการแห่งฟิลิปปินส์ถึงกลับขึ้นมามีอำนาจด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย และมีที่ยืนในประเทศเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มิหนำซ้ำ ประชาชนบางส่วนยังให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีจนได้รับคะแนนเสียงมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

เพื่อคลายข้อสงสัย The Momentum ชวนย้อนรอยความเป็นมาของตระกูล ‘มาร์กอส’ ด้วยเรื่องราวในอดีตของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส และสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่มีทั้งยามขาขึ้นและยามตกต่ำ กระทั่งการกลับมาของลูกชายคนสำคัญด้วยวิธีการ ‘ฟอกขาว’ ให้ตนเองกับครอบครัว จนสามารถหวนคืนตำแหน่งประธานาธิบดีได้

วันวานที่ไม่หวานชื่น: ยุคแห่งการครองอำนาจของมาร์กอสคนพ่อและสตรีหมายเลขหนึ่ง

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 1965 ท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง จนนำไปสู่การเลือกตั้งที่นองเลือดครั้งใหญ่ ผ่านการสถาปนาตนเองเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้วิกฤตประเทศ และกุมบังเหียนรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

จนกระทั่งเมื่อเขาต้องลงจากตำแหน่งในปี 1973 เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งฟิลิปปินส์ปี 1935 จำกัดวาระทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้แค่ 2 สมัยเท่านั้น แต่เขายังคงมีความสุขกับอำนาจและกลิ่นหอมหวานของเงิน มาร์กอสจึงประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน 1972 

องคาพยพทางการเมืองของฟิลิปปินส์ตกอยู่สภาวะสุญญากาศ สภาคองเกรสปิดตัวลง ตำแหน่งรองประธานาธิบดีไม่มีอีกต่อไป ยกเลิกการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 1973 ประธานาธิบดีเผด็จการยังเดินหน้าควบคุมเสียงต่อต้าน นับตั้งแต่ปิดปากสื่อมวลชน ปราบปรามกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงอย่างไม่แยแส อีกทั้งยังควบคุมกระบวนการยุติธรรมด้วยตนเอง 

ในช่วงเวลานั้น สังคมมะนิลาเข้าสู่ยุคมืด เต็มไปด้วยเรื่องราวการกดขี่และใช้อำนาจโดยไม่ชอบ แต่มาร์กอสยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปได้ด้วยการสนับสนุนจากโลกภายนอก คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์แก่กันและกันนับตั้งแต่มาร์กอสขึ้นดำรงตำแหน่งในสมัยแรก

ฝ่ายสหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากฟิลิปปินส์ ในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับโลกคอมมิวนิสต์ เช่น การตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อป้องกันภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสม์ รวมถึงการผลักดันระเบียบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ‘EOI’ (Export-Oriented Industrialization) ผ่านองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ได้แก่ ธนาคารโลก (World Bank) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยที่มาร์กอสก็ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินมหาศาล

ในทางกลับกัน ประชาชนจำนวนมากยังต้องพบเจอสภาวะความยากจน เศรษฐกิจตกต่ำ จนกลายเป็นบาดแผลใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากครอบครัวเผด็จการล้างผลาญภาษีของประชาชนและกอบโกยทรัพย์สินสาธารณะเป็นจำนวนมาก นำโดยมาร์กอสผู้เป็นพ่อ กวาดฮุบธุรกิจต่างๆ ของคู่แข่งและผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายโทรทัศน์ ABS-CBN บริษัทไฟฟ้าแห่งมะนิลา เมราลโค (Meralco) และธนาคารต่างๆ เช่น First United Bank รวมถึงส่งมอบทรัพย์สินบางชนิดให้กับกลุ่มเทคโนแครตของเขาเพื่อสร้างความจงรักภักดี

ยังไม่รวมอดีตสตรีหมายหนึ่ง อิเมลดา อดีตนางงามที่พบรักกับผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ เธอมีชื่อเสียงจากไลฟ์สไตล์อันฟุ้งเฟ้อ ด้วยหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ถึงการครอบครองกระเป๋าแบรนด์เนม 800 กว่าใบ ยังไม่รวมรองเท้านับพันคู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังมาลากันยัง (Malacañang Palace) อดีตบ้านพักประธานาธิบดี

 อ้างอิงจากสำนักข่าวเอบีซีนิวส์ (ABC News) ช่างซ่อมรองเท้าประจำตัวของเธอเล่าว่า อิเมลดามักสั่งทำรองเท้า 10 คู่ต่อสัปดาห์ พร้อมกับกระเป๋า และสวมเสื้อผ้าที่เข้ากันเพื่อเดินทางพบปะผู้นำทั่วโลก

เมื่อครั้งมีข้อถกเถียงถึงจำนวนรองเท้าที่แท้จริงของเธอระหว่าง 1,000 หรือ 3,000 คู่ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งตอบด้วยสีหน้าปกติว่า

“ตอนที่ฉันเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ตำแหน่งนี้มันเรียกร้องให้ฉันทำ ฉันต้องแต่งตัวและทำตัวเองให้สวยยิ่งขึ้น ก็เพราะพวกคนจนมักจะมองหาดวงดาวเสมอไงละ”

แต่แล้วจุดจบของครอบครัวเผด็จการมาร์กอสก็มาถึง หลังจากผู้นำฝ่ายค้าน เบนิกโก อากีโน (Benigno Aquino) ฮีโร่ของคนฟิลิปปินส์ เดินทางกลับประเทศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย แต่เขาถูกลอบสังหารหลังจากเครื่องบินลงจอด

ความโศกเศร้าของผู้คนแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ ประชาชนนับหมื่นคนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุน คอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) ภรรยาของเบนิกโก ให้ลงเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากไม่สามารถอดทนต่อสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงที่ดำเนินมาเรื่อยๆ เพราะระบอบอุปถัมภ์ของมาร์กอสสนับสนุนกลุ่มทุนจนผลประโยชน์ทั้งหมดตกอยู่คนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเกิดระบบชนชั้นต่างๆ ตามมา

นอกจากนั้น ปัจจัยภายนอกคือมหาอำนาจของโลก สหรัฐฯ ตัดสินใจค่อยๆ ถอยห่างจากมาร์กอส หลังจากขาดความเชื่อมั่นต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ เมื่อกลุ่มทุนภายในประเทศและพรรคพวกของรัฐบาลได้รับผลประโยชน์ฝ่ายเดียว แทนที่จะนำเงินไปพัฒนาการลงทุนเพื่อดึงดูดตลาดโลกตามข้อตกลง อีกทั้งพญาอินทรียังเห็นพลังของประชาชนจำนวนมาก ที่ตัดสินใจรวมกลุ่มกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีโดยไม่สนใจปูมหลังที่ผ่านมา 

แม้ว่าวอชิงตันกดดันให้มาร์กอสใช้แนวทางเสรีในการปกครองและยุติการใช้กฎอัยการศึก แต่กลับกลายเป็นว่า จอมเผด็จการกลับโกงผลเลือกตั้งโดยใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่ออยู่ต่อในอำนาจ กระแสต่อต้านจากประชาชนยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น สุดท้าย โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในเวลาดังกล่าว ตัดสินใจยื่นข้อเสนอให้มาร์กอสและครอบครัวสามารถลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ เมื่อลงจากตำแหน่ง

สังคมฟิลิปปินส์เกิดการจลาจลขนานใหญ่ ประชาชนมากมายออกมาประท้วง อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกอาวุโสของกองทัพ ซึ่งต่อต้านจอมเผด็จการ และปฏิเสธที่จะยิงใส่ฝูงชน หลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวาย 4 วันของการประท้วง ครอบครัวมาร์กอสอพยพลี้ภัยไปยังฮาวายในปี 1986 และนำของมีค่าติดตัวไปด้วย ได้แก่ เครื่องประดับ เสื้อผ้าระดับชั้นสูง และเงินสดจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันสิ้นสุดระบอบมาร์กอสที่ปกครองมะนิลากว่า 21 ปี

การกลับมาของตระกูลจอมเผด็จการ: ‘มาร์กอส จูเนียร์’ ในฐานะแคนดิเดตประธานาธิบดีด้วยการฟอกขาวและเขียนประวัติศาสตร์อดีตใหม่

ในวัยเยาว์ เด็กชายมาร์กอส จูเนียร์ ฝันใฝ่อยากเป็นนักบินอวกาศ ท่ามกลางสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานในทำเนียบประธานาธิบดี แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผัน เพราะในที่สุดเขาก็ก้าวเข้าสู่วงการทางการเมืองตามรอยพ่อแม่ หลังจากอดีตประธานาธิบดีอากีโน อนุญาตให้มาร์กอสเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาแห่งนี้ได้

มาร์กอส จูเนียร์เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดอีโลโคสนอร์เต (Ilocos Norte) 2 สมัย ก่อนจะก้าวเข้าสู่สนามการเมืองระดับประเทศอย่างเต็มตัวในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ตามด้วยการท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งฟิลิปปินส์ในปี 2016 แต่พ่ายแพ้ให้กับ เลนี โรเบรโด (Leni Robredo)

แต่มาร์กอส จูเนียร์ ก็ไม่ลดละความพยายาม ชายคนนี้มั่นใจว่า หากลงท้าชิงในตำแหน่งสำคัญที่ผู้เป็นพ่อเคยยืน ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป เขาจึงท้าทายขีดจำกัดของตนเอง ด้วยการลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2022 โดยอิเมลดา มารดาของเขาเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์ (CNN Philipines) ว่าเธอมีความฝันอยากให้ลูกชายเป็นผู้นำของประเทศนี้ และการลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของเธอเอง

(ที่มา: AFP)

คำพูดนี้ดูราวกลับจะเป็นเรื่องปดจากอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง แต่หากย้อนไปดูภาพในพิพิธภัณฑ์พระราชวังมาลากันยัง จะพบภาพของมาร์กอส จูเนียร์ในวัยเด็กสวมมงกุฎและขี่ม้าสีขาวผ่านกลุ่มหมู่เมฆอย่างชวนฝัน ราวกับแสดงให้เห็นว่า ความฝันของอิเมลดากลายเป็นความจริงในอนาคต เพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2022 บองบอง มาร์กอสได้รับคะแนนเสียงถึง 60% ของทั้งประเทศ คิดเป็นคะแนน 31 ล้านเสียง มากกว่าโรเบรโดถึง 2 เท่า ชัยชนะของเขาเป็นการปิดฉากความพยายามของครอบครัว และกลับมาสู่จุดที่เคยเป็นอีกครั้ง

แต่คำถามที่สำคัญคือ มาร์กอส จูเนียร์และครอบครัวลบล้างความผิดที่ผ่านมาได้อย่างไร จนสามารถก้าวมาสู่จุดสูงสุดทางการเมืองได้อีกครั้ง?

คำตอบที่ชัดเจน คือการฟอกขาวและสร้างประวัติศาสตร์เรื่องราวทั้งหมดใหม่ นับตั้งแต่การใช้ ‘เฟคนิวส์’ กระจายข้อมูลผิดๆ ไปยังผู้คน และการนิ่งเฉยกับเรื่องราวในอดีตเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เผด็จการผู้ปกครองฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1965-1986 เขาคือวีรบุรุษของชาติที่ได้รับยศมากที่สุดของประเทศในสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การปกครองของเขา กองทัพฟิลิปปินส์มีความก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย และที่น่าประทับใจกว่านั้น ครอบครัวของเขามีทองคำจำนวนมหาศาล มากพอที่จะกอบกู้โลกได้ และมันจะถูกแบ่งปันให้กับประชาชน หากพวกเขาคืนสู่อำนาจ”

แม้ว่าข้อความแทบทั้งหมดจะเป็นประวัติศาสตร์สุดจอมปลอม และมีความจริงเพียงหนึ่งเดียว คือสถานะจอมเผด็จการของมาร์กอสผู้เป็นพ่อ แต่เนื้อหาอันบิดเบือนก็ยังพบเจอได้ในโลกออนไลน์เรื่อยๆ โดยเฉพาะในแอปพลิเคชัน TikTok และ YouTube มีคลิปวิดีโอของครอบครัวมาร์กอสที่ผ่านการตัดต่อให้มีภาพลักษณ์น่าชื่นชม

กลยุทธ์ดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่บางส่วนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ทันประสบเรื่องราวในอดีต เมื่อครั้งจอมเผด็จการยังครองอำนาจ ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า นี่คือช่องโหว่ขนาดใหญ่เพราะโรงเรียนไม่ได้สอนเรื่องราวดังกล่าวอย่างทั่วถึง 

อีกสิ่งที่น่าตกใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเยาวชนหลายคนไม่เชื่อว่า ครอบครัวจอมเผด็จการได้ล้างผลาญภาษีของประชาชนและฉกฉวยเงินของรัฐ แม้ว่าจะมีคำตัดสินของศาลเป็นหลักฐานประจักษ์ตาก็ตาม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือเด็กในโรงเรียนแห่งหนึ่งพูดถึงเรื่องราวความโหดร้ายในตระกูลมาร์กอสชนิด ‘หนังคนละม้วน’ กับผู้คนรุ่นเก่าแก่ หลังคุณครูผู้สอนถามว่า “เคยได้ยินกฎอัยการศึกว่าอย่างไรบ้าง?”

“ในยุคมาร์กอส คนมีระเบียบวินัย”

“กฎอัยการศึกทำให้ชีวิตคนฟิลิปปินส์ดีขึ้น”

“ช่วงที่มีกฎอัยการศึก ชีวิตคนสงบเรียบร้อย”

นี่คือคำตอบของเด็ก 3 คน ในสารคดี The Kingmaker เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งโครงสร้างการศึกษาและเฟคนิวส์สามารถแปรเปลี่ยนเรื่องราวการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การปล้นสะดมภาษีประชาชนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการทรมานผู้คนที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน กลายเป็นยุคทองแห่งความสงบสุขกับความเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่น่าเชื่อ

นอกเหนือจากนั้น กลยุทธ์หนึ่งอย่างของมาร์กอส จูเนียร์ คือการปิดปาก ไม่ขอโทษต่อเหยื่อ และหลีกเลี่ยงพูดเรื่องของจอมเผด็จการผู้ล่วงลับ หลังจากที่เขาตัดสินใจไม่เข้าร่วมวงดีเบตสำหรับแคนดิเดตในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 

ในทางกลับกัน มาร์กอส จูเนียร์กลับเลือกชูประเด็นสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชาติ และฉกฉวย ‘วิกฤตให้เป็นโอกาส’ หลังจากที่โรคระบาดโควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนมากมาย

“ผมแปลกใจมากที่เราไม่มีโรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ นับตั้งแต่ตั้งแต่ปี 1985” เขาอ้างถึงนโยบายการสร้างโรงพยาบาลของมาร์กอสผู้เป็นพ่อ พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ฝ่ายบริหารลงทุนด้านการดูแลสุขภาพน้อยเกินไป

มาร์กอส จูเนียร์ ยังยกยอปอปั้นพ่อและแม่ผ่านสื่อเสมือนวีรบุรุษและวีรสตรีผู้กอบกู้ประเทศ โดยเรียกมาร์กอสผู้เป็นพ่อว่า ‘ผู้ฉลาดทางการเมือง’ ในขณะที่อิเมลดา คือ ‘สุดยอดนักการเมือง’ ในซีเอ็นเอ็นฟิลิปปินส์

ในสุนทรพจน์พิธีสาบานตนและดำรงตำแหน่ง เขาพูดชื่นชมผู้เป็นพ่อ และให้ชาวฟิลิปปินส์มองไปอนาคตข้างหน้ามากกว่าเรื่องราวเก่าๆ 

“ตอนเด็ก ผมรู้จักผู้ชายคนหนึ่งที่เห็นความสำเร็จเล็กน้อยตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราช ในดินแดนที่ผู้คนเปี่ยมไปด้วยศักยภาพและความสำเร็จ แม้จะมีคนยากจนจำนวนหนึ่ง แต่เขาทำมันสำเร็จ 

“ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อพูดถึงเรื่องราวในอดีต แต่ผมอยู่ตรงนี้เพื่อบอกทุกคนเกี่ยวกับอนาคตของเรา อนาคตของความพึงพอใจ หรือแม้กระทั่งความอุดมสมบูรณ์ (…) ผมจะทำมันให้สำเร็จ” บองบองพูดถึงพ่อผู้เป็นเผด็จการด้วยความภาคภูมิใจ

แต่สำหรับผู้ประสบเรื่องราวอันลืมไม่ลงในระบอบมาร์กอส การยอมรับประวัติศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนในโลกโซเซียลมีเดียของสาธารณชนไม่อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ โดยเฉพาะผู้ได้รับบาดแผลจากการกดขี่ของจอมเผด็จการโดยตรง

ถ้ามาร์กอสได้รับชัยชนะ เขาก็ชนะด้วยเรื่องราวหลอกหลวงและการบิดเบือนประวัติศาสตร์”

“ผมมีชีวิตอยู่ในช่วงเผด็จการ ผมถูกจำคุกสองครั้ง ผมถูกทรมาน พี่สาวของผมหายไป หรือไม่ก็ถูกฆ่าไปแล้ว เพื่อนๆ ของผมก็เจ็บปวดเหมือนกัน และตอนนี้มาร์กอส จูเนียร์กำลังกลับมา มันช่างน่าหวาดกลัว นี่มันฝันร้ายชัดๆ” โบนิฟาซิโอ อิลาแกน (Bonifacio Ilagan) หนึ่งในคณะรณรงค์ต่อต้านการกลับของครอบครัวมาร์กอสและกฎอัยการศึกกล่าว

“ทุกวันนี้ เรากำลังต่อสู้กับเฟคนิวส์มหาศาล และต้องเลือกทำว่า อันไหนคือข้อเท็จจริง มันเยอะแยะไปหมด” มาเรีย ดิโอซา ราบิซ (Maria Diosa Labist) ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งภาควิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์กล่าว

เรื่องราวการกลับมาของตระกูลมาร์กอสในหน้าการเมืองฟิลิปปินส์อาจเป็นข้อเตือนใจให้กับหลายประเทศ เพราะสุดท้าย ข้อความที่หลายคนมักพูดติดปากกันอยู่บ่อยครั้งว่า ผู้ชนะคือคนเขียนประวัติศาสตร์” อาจลบล้างความเป็นจริงที่ว่า ‘ผู้ที่มีเงินและอำนาจ’ มากพอ ก็สามารถเปลี่ยนเรื่องราวในอดีต ‘จากหน้ามือเป็นหลังเท้า’ ได้เหมือนกัน

 

อ้างอิง

ศุภการ ศิริไพศาล, ‘เผด็จการ พลังประชาชน และอิทธิพลมหาอำนาจ: บทสรุปการล่มสลายของระบอบมาร์กอสในฟิลิปปินส์,RUSAMILAE JOURNAL, 28, no.3 (3 ก.ย. -ธ.ค.): 40-56.

https://www.bbc.com/news/world-asia-61379915

https://aaww.org/why-did-marcos-declare-martial-law/

https://www.thenationalnews.com/world/asia/2022/05/11/who-is-imelda-marcos-and-why-are-her-shoes-famous/

https://www.rappler.com/voices/thought-leaders/analysis-how-ferdinand-marcos-1965-election-campaign-turned-central-luzon-war-zone/

https://themomentum.co/report-bongbong-marcos/

https://asia.nikkei.com/Politics/Philippine-elections/Marcos-wins-Philippine-presidential-election-in-a-landslide

https://www.theguardian.com/world/2022/may/10/philippines-election-qa-why-did-macros-jr-win-and-what-can-we-expect-from-his-presidency

https://www.theguardian.com/world/2022/may/07/philippines-election-bongbong-poised-to-become-president-as-marcos-history-is-rewritten

https://edition.cnn.com/2022/06/30/asia/philippines-president-ferdinand-bongbong-marcos-inauguration-intl-hnk/index.html

https://www.theguardian.com/world/2022/may/10/ferdanand-marcos-jr-bonbong-philippines-president-promises-unity

https://www.facebook.com/DocumentaryClubTH/posts/pfbid0F6odAFtyQJt6F3gjpp7rBAkjzA7uA2GkaAHJGrpwfDi4o5gjTqGPK4nJ15W7Kg32l

Tags: , , , , , , , , , ,