วันนี้ (9 พฤษภาคม 2022) ชาวฟิลิปปินส์ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 18,000 ตำแหน่ง หลังประธานาธิบดีคนก่อนอย่าง โรดรีโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Duterte) หมดวาระจากการดำรงตำแหน่งครบ 6 ปี

ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวน 67 ล้านคน พากันออกมาต่อแถวหน้าคูหาเลือกตั้งกันตั้งแต่เช้าตรู่ ทุกคนดูกระตือรือร้นอยากใช้สิทธิของตัวเอง จนสื่อท้องถิ่นอย่าง อินไควเรอร์ (Inquirer) ถึงกับรายงานข่าวว่า เครื่องนับคะแนนเสียงในเมืองมะนิลา 1,800 เครื่อง เกิดขัดข้องพร้อมกันชั่วคราว จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการทุจริตหรือไม่

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนที่ 10 มีผู้สมัครที่เป็นตัวเต็งทั้งหมด 3 คนด้วยกัน ได้แก่ แมนนี ปาเกียว (Manny Pacquiao) อดีตนักมวยสากล และสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์, เลนี โรเบรโด (Leni Robredo) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และ ‘บองบอง’ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Bongbong-Ferdinand Marcos Jr.) โดยมีรายงานว่า ผู้ที่เข้าใกล้ชัยชนะมากที่สุดในช่วงหยั่งเสียงเบื้องต้น และมักอยู่อันดับหนึ่งในการจัดโพลของสื่อมวลชนหลายสำนัก คือ บองบอง มาร์กอส ที่มีคะแนนความนิยมนำผู้สมัครรายอื่นถึง 56 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอันดับสอง คือ เลนี โรเบรโด อยู่ที่ 23 เปอร์เซ็นต์ และแมนนี ปาเกียว ที่มีคะแนน 7 เปอร์เซ็นต์

ความนิยมของเขาชวนให้ตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว บองบอง มาร์กอส เป็นใคร? และเพราะเหตุใดเขาถึงมีคะแนนนิยมทิ้งห่างผู้สมัครรายอื่น?

บองบอง มาร์กอส วัย 64 ปี เป็นลูกชายเพียงคนเดียวของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) อดีตผู้นำจอมเผด็จการของฟิลิปปินส์ กับอิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานพรรคสมาพันธ์แห่งฟิลิปปินส์ (Partido Federal ng Pilipinas) แม้ในอดีตเธอจะมีข่าวฉาวโฉ่ ทั้งความฟุ่มเฟือยและมารยาททางสังคมที่ติดลบ แต่เธอกลับมีบทบาทในโลกการเมืองฟิลิปปินส์เป็นอย่างมาก เห็นได้จากการเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ เป็นผู้ว่าการจังหวัดอิโลคอสนอร์เตที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศถึง 2 สมัย (ปี 1983–1986 และปี 1998–2007) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นฐานเสียงสำคัญของตระกูลมาร์กอส

ขณะที่พ่อของบองบองยังคงเป็นผู้นำประเทศ ในปี 1980 เด็กหนุ่มวัย 23 ปี เข้าสู่โลกการเมืองเป็นครั้งแรก ท่ามกลางสถานการณ์ย่ำแย่หลังประเทศเผชิญกับปัญหามากมาย อาทิ นักการเมืองคอร์รัปชัน ประชาชนข้นแค้นอดอยาก ทั้งยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอีกนับไม่ถ้วน จากการจับกุมคุมขังและซ้อมทรมานผู้เห็นต่างทางการเมืองนับหมื่นราย

ในปี 1986 ความอดทนของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ถึงจุดสิ้นสุด พวกเขารวมตัวกันก่อการปฏิวัติล้มล้างอำนาจของครอบครัวมาร์กอส จนตระกูลนี้ต้องเก็บกระเป๋าลี้ภัยไปยังเกาะฮาวาย โดยหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ว่าตระกูลมาร์กอสทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในพระราชวังมาลากันยัง (Malacañang palace) ที่มีทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ภาพวาดสีน้ำมันประจำตระกูล เสื้อผ้าราคาแพง รองเท้าส้นสูงแบรนด์ดังของอีเมลดาที่มีมากถึง 3,000 คู่ และยังพบเอกสารด้านบัญชีที่ชี้ว่า ตระกูลมาร์กอสยักยอกเงินคลังของประเทศรวมแล้ว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ต่อมาในปี 1991 หลังอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เสียชีวิตได้ 2 ปี รัฐบาลฟิลิปปินส์นำโดยประธานาธิบดี คอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) อนุญาตให้ครอบครัวมาร์กอสเดินทางกลับมาตุภูมิ ทำให้ อีเมลดา มาร์กอส พยายามกอบกู้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลด้วยการลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งถึง 4 สมัย รวมถึงลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 2 ครั้ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ทางด้านของ บองบอง มาร์กอส แม้จะประสบความสำเร็จในระดับสมาชิกวุฒิสภา ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนราษฎรประจำจังหวัด แต่ความทะเยอทะยานของเขายังไม่ถึงจุดสิ้นสุด เขาตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปี 2016 และพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดให้ เลนี โรเบรโด ก่อนปี 2022 บองบอง มาร์กอส จะกลับมาลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของชาวฟิลิปปินส์ที่ต้องการให้อดีตลูกชายตระกูลผู้นำเผด็จการมาบริหารประเทศ เร่งแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ปราบปรามทุจริตในหน่วยงานรัฐ ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการระบาดของโควิด-19 และเจรจาหาข้อสรุปกับจีนเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ในทะเลจีนใต้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ บองบอง มาร์กอส ได้รับความนิยมจากกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นเพราะกลยุทธ์หาเสียงผ่าน ‘โซเชียลมีเดีย’ โดยเฉพาะการหาเสียงในเฟซบุ๊ก เขาพยายามโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ว่าในสมัยที่บิดาของตนเป็นประธานาธิบดี ประเทศมีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด

ขณะเดียวกันยังยึดฐานเสียง ‘ประชานิยม – อำนาจนิยม’ จากกลุ่มชนชั้นรากหญ้า ที่เชื่อว่าบองบองจะสามารถยกระดับพัฒนาชีวิตคนจนให้ดียิ่งขึ้น เพราะเหตุการณ์ปฏิวัติประเทศในปี 1986 เป็นเพียงความคิดของชนชั้นกลางและชนชั้นนำ ไม่ได้เกิดขึ้นจากชนชั้นแรงงาน ทั้งที่ความจริงแล้ว รัฐบาลเผด็จการในยุค เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จัดว่าอยู่ในขั้น ‘ทรราช’ ที่ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเป็นหนี้ธนาคารต่างประเทศมูลค่ามหาศาล และทำให้ประเทศเกือบอยู่ในสถานะล้มละลาย

แม้โฆษณาชวนเชื่อบนโซเชียลมีเดียจะไปได้สวย แต่บองบองยังคงถูกนักการเมืองต่างขั้วตั้งคำครหาอยู่เนืองๆ ว่าใช้บัญชีปลอม (IO) คอมเมนต์สนับสนุนตัวเอง และใช้บัญชีเหล่านั้นช่วยปกป้องความผิดในอดีตของครอบครัว รวมถึงบองบองยังมีประวัติเสียๆ หายๆ จากการถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานเลี่ยงภาษีในปี 1995 จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวมักปฏิเสธการเข้าร่วมดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

นอกจากกลยุทธ์ที่กล่าวมา บองบองยังจับมือหาเสียงร่วมกับ ซารา ดูเตอร์เต (Sara Duterte) นายกเทศมนตรีเมืองดาเวา (Davao) บุตรสาวของอดีตประธานาธิบดี โรดรีโก ดูเตอร์เต ที่ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ภายใต้สังกัด BBM-Sara Uniteam

ชื่อเสียงของสองตระกูลดังในแวดวงการเมืองที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สามารถดึงดูดฐานคะแนนเสียงของกันและกัน จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าผลโพลของบองบองจะทิ้งหนีคู่แข่งคนสำคัญอย่างโรเบรโดไปไกล แม้นโยบายที่เธอหาเสียงจะให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรากหญ้าและชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยภาพลักษณ์เดิมที่มีความเป็น ‘ชนชั้นนำ’ ทำให้เธอถูกวิจารณ์ว่าจะบริหารประเทศแบบลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่างจากผู้นำฝ่ายปฏิรูปนิยมคนผ่านๆ มา

อีกไม่นานนับจากนี้ ทุกคนจะได้ทราบกันว่า ทายาทจากตระกูลมาร์กอสจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเหมือนอย่างที่ผู้เป็นพ่อเคยได้ทำไว้จริงๆ หรือไม่ แล้วหลังจากนั้นฟิลิปปินส์จะดำเนินไปในทิศทางไหน บองบอง มาร์กอส จะเป็นผู้นำที่ดีจนสามารถลบล้างภาพลักษณ์ตระกูลเผด็จการได้หรือไม่ คงมีแต่อนาคตเท่านั้นที่รู้

Tags: , , , ,