คำพูดสองประโยคที่สามารถสะท้อนบุคลิกของปาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) ได้ดี ประโยคหนึ่งมาจากช่วงวัยแตกหนุ่ม ตอนเขาอายุราว 20 ปีและเริ่มผ่านจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ… “ภายในเวลาห้าปีนับจากนี้ ถ้าผมยังหาเงินล้านเข้ากระเป่าไม่ได้ ผมจะยิงตัวตาย” เป็นประโยคที่เขากล่าวกับเหล่าสหาย ที่ไม่กี่ปีต่อมาก็ได้ก่อตั้งแก๊งเมเดญินร่วมกับเขา

อีกประโยคเกิดขึ้นราว 15 ปีถัดมา ขณะที่นักการเมืองของโคลอมเบียเริ่มรับรู้ถึงภยันตรายของราชาผงขาว และหมายจะจับตัวเขาส่งให้กับสหรัฐอเมริกา …“ผมยอมเป็นศพในโคลอมเบีย ดีกว่าเป็นนักโทษในคุกของอเมริกา” เขาบอก พร้อมประกาศศึกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามไล่ต้อนให้เขาจนมุม เอสโคบาร์ยึดมั่นในคำกล่าวของเขาไปจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต

ชีวิตของปาโบล เอสโคบาร์ วนลูปอยู่กับการพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องอำนาจและความมั่งคั่งของตนเอง เรื่องราวชีวิตของเขาเริ่มต้นจากการพนันขันต่อ บุหรี่ จารกรรมรถยนต์ จนกระทั่งกลายเป็นอาชญากรคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 หนุ่มโคลอมเบียนและแก๊งเมเดญินเป็นกลุ่มบุกเบิกอุตสาหกรรมโคเคน ทั้งการผลิตและจำหน่าย ทำให้เอสโคบาร์กลายเป็นชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี นิตยสารฟอร์บส์บันทึกชื่อของเขาในปี 1989 เป็นมหาเศรษฐีลำดับ 3 ของโลกที่มีทรัพย์สินราว 3 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วงรุ่งโรจน์ เขามีรายได้ต่อวันถึงหนึ่งล้านดอลลาร์ เวอร์จิเนีย วัลเญโฮ (Virginia Vallejo) อดีตแฟนสาวของเขาซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวทีวีที่มีชื่อเสียงในโคลอมเบีย เคยเขียนไว้ในหนังสือ Amando a Pablo, odiando a Escobar (ปาโบลที่รัก และเอสโคบาร์ที่เกลียดชัง) “ตู้เสื้อผ้าในบ้านแต่ละหลังของปาโบลจะอัดแน่นไปด้วยธนบัตรดอลลาร์” มีเรื่องเล่าขานกันว่า เอสโคบาร์ไม่ใช้วิธีนับเงิน แต่ใช้วิธีชั่งเงิน

แอร์มิลดา (Hermilda) ผู้เป็นแม่ถือว่ามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเอสโคบาร์ เธอเป็นครูประชาบาลของหมู่บ้าน “วันไหนที่แกทำอะไรไม่ดี ก็ขอให้ทำมันอย่างมีเหตุผล โลกนี้ตัดสินกันที่คนฉลาด ไม่ใช่คนโง่” เป็นคำสอนของนางตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็นเด็ก และมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขา

ปาโบล เอสโคบาร์เป็นลูกคนที่ 3 ในครอบครัวพี่น้องเจ็ดคน เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1949 ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตอันติโอเกีย ใกล้เมืองเมเดญิน พ่อของเขาเป็นเกษตรกรเลี้ยงวัว ที่ปาโบลไม่อินังขังขอบกับวิถีคิดแบบคนจนที่ว่า จงพอใจกับทุกสิ่งที่ตนมี เพราะมันตรงกันข้ามทุกอย่างกับปาโบลที่ทะเยอทะยาน โลภ และคิดอยากแต่จะครอบครองอำนาจ เขายอมส่งคนของตัวเองไปให้แก๊งคาลี-คู่แข่งที่เขาจงเกลียดจงชัง ถ้าเห็นว่ามันคุ้มค่า หรือส่งไปสังเวยให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวลาพวกเขาทำอะไรล้ำเส้น

เส้นทางก้าวขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ของเขาไม่เพียงเพราะบุคลิก และพรสวรรค์เท่านั้น หากยังรวมถึงความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ ช่วงกลางทศวรรษ 1970s ที่เขาค้นพบธุรกิจโคเคนนั้น วิวัฒนาการผงขาวเริ่มกลายเป็นยาเสพติดแฟชั่นทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพอดี

เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น แก๊งของเขาได้ก่อสร้างโรงงานผลิตยาเสพติดขึ้นกลางป่า ‘ทรานกิลันเดีย’ (Tranquilandia) เป็นชื่อเรียกห้องทดลองขนาดยักษ์ มีนักปรุงโคเคนถึง 19 คน ผลิตผงขาวได้กว่า 300 ตันต่อปี ในทรานกิลันเดียมีคนงานทั้งชายและหญิงมากกว่าพันคน ผลิตและจัดส่งออกไปตามที่ต่างๆ จากแหล่งพักทั่วประเทศ

โคเคนถูกขนส่งทางเรือและเครื่องบินเล็กไปยังปานามา เม็กซิโก และหมู่เกาะแคริบเบียน ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังสหรัฐอเมริกา ต้นทศวรรษ 1980 แก๊งเมเดญินคุมตลาดโคเคนทั่วโลกได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กระทั่งในปี 1984 หน่วยงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐอเมริกาสืบพบทรานกิลันเดีย และมอบหมายให้ โรดริโก ลารา โบนิญา (Rodrigo Lara Bonilla) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของโคลอมเบีย สั่งการกวาดล้าง

หนึ่งปีก่อนหน้านั้น หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เซมานา ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ ‘โรบิน ฮูด แห่งอันติโอเกีย’ ปาโบล เอสโคบาร์ ช่วยเหลือคนยากจนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางกองขยะ เขาใช้เงินสร้างเมืองขึ้นใหม่ สร้างสนามฟุตบอล โรงเรียน และปรับภูมิทัศน์ป่าโดยรอบ แต่นักข่าวของเซมานา ก็ตั้งคำถามในบทความเช่นกันว่า เอสโคบาร์มีเงินล้านมาจากไหน ในเมื่อสังคมรับรู้เพียงว่า เขาเป็นแค่พ่อค้ารถยนต์ คนเลี้ยงวัว และนายหน้าขายที่ดินเท่านั้น อีกทั้งรูปลักษณ์ของผู้ใจบุญยังเรียบง่าย ธรรมดาๆ ส่วนใหญ่แล้วเขามักสวมเสื้อโปโล กางเกงยีนส์ และรองเท้ากีฬา จะมีก็เพียงนาฬิกาฝังเพชร 24 เม็ดเท่านั้นที่บ่งบอกความร่ำรวยของเขา

วันที่ 30 เมษายน 1984 ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของปาโบล เอสโคบาร์และแก๊งเมเดญิน ช่วงเวลานั้น เอสโคบาร์ก้าวถึงจุดสูงสุดของอำนาจ การที่รัฐมนตรีลารา โบนิญาสั่งทลายล้างทรานกิลันเดียเป็นเรื่องที่เขายอมไม่ได้ เอสโคบาร์ส่งมือปืนสองคนไปจัดการ สังหารรัฐมนตรีระหว่างนั่งอยู่ในรถเมอร์ซิเดสประจำตำแหน่งบนทางด่วนของกรุงโบโกตา หลังจากนั้นเอสโคบาร์หลบหนีไปปานามา ไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของมานูเอล นอเรกา (Manuel Noriega) รัฐบาลโคลอมเบียข่มขู่จะส่งตัวเขาให้กับสหรัฐอเมริกา ฝ่ายนอเรกายื่นข้อเสนอจะปรับหนี้ต่างประเทศให้กับโคลอมเบียเพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ส่งตัวเอสโคบาร์ให้กับสหรัฐอเมริกา ทว่าแผนการทั้งหมดล้มเหลวเสียสิ้น

เมื่อกลับไปโคลอมเบียอีกครั้ง เอสโคบาร์หันมาสร้างความประหวั่นพรั่นพรึง เหล่านักฆ่าของเขาปฏิบัติการลักพาตัว ฆ่า และวางระเบิด เดือนธันวาคม 1986 พวกเขาสังหารกุยแญร์โม คาโน (Gulliermo Cano) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เอล เอสเปคทาดอร์ คาโนเป็นคนเดียวในขณะนั้นที่กล้าเขียนบทบรรณาธิการแฉถึงอำนาจและพฤติกรรมของเอสโคบาร์ ภายหลังการสังหารระงับความแค้นไปแล้ว เอสโคบาร์ยังประกาศต่อสมาชิกแก๊งของเขาอีกว่า ความตายเท่านั้นเป็นเครื่องมือพยุงอำนาจของพวกเขา ต่อจากนั้น บรรดานักข่าว ผู้พิพากษา ตำรวจ และใครอื่นอีกมากมายต้องมีอันเป็นไป พร้อมกันนั้นยังมีเสียงระเบิดดังขึ้นอย่างสม่ำเสมอ มันเป็นช่วงเวลาที่โคลอมเบียเต็มไปด้วยเหตุจลาจล ความรุนแรง และโคเคน

เดือนสิงหาคม 1989 ปรากฏผลงานชิ้นเอกของฝ่ายศัตรูของรัฐ ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในพื้นที่ใกล้กรุงโบโกตา ลูอิส คาร์ลอส กาลาน (Luis Carlos Galan) ตัวเก็งของการเลือกตั้งปี 1990 ถูกลอบสังหาร กาลานนับเป็นศัตรูที่ไม่ยอมก้มหัวให้กับแก๊งมาเฟีย สามเดือนถัดมาสมุนของเอสโคบาร์บุกยิงเครื่องบินของ ‘อาเวียงกา’ ซึ่งเป็นสายการบินของประเทศ มีผู้เสียชีวิต 110 คน เป้าหมายของการโจมตีก็เพื่อสังหารเซซาร์ กาบีเรีย (Cesar Gaviria) นักการเมืองผู้รับช่วงต่อจากกาลาน แต่บังเอิญวันนั้นเขาไม่ได้อยู่บนเครื่อง

ปลายปี 1989 โคลอมเบียตกอยู่ในเงื้อมมือของการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ เป็นเหตุให้รัฐบาลในวอชิงตันและโบโกตาต้องประกาศสงครามกับแก๊งมาเฟียอย่างเป็นทางการ

จำนวนศัตรูของปาโบล เอสโคบาร์เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่จำนวนเพื่อนกลับลดน้อยลง หน่วยรบของโคลอมเบียและสหรัฐอเมริการ่วมกันจัดตั้ง ‘บล็อก เดอ บุสเกดา’ (Bloque de Busqueda) เป็นกองกำลังพิเศษเพื่อกวาดล้างแก๊งมาเฟียและจับกุมตัวเอสโคบาร์โดยเฉพาะ สมาชิกแก๊งมาเฟียนับพันคนถูกจับตัว มีการยึดรถ วิลล่า เครื่องบิน และเงินของกลาง แม้แต่ฝ่ายอาชญากรเองก็เริ่มตั้งกลุ่มขึ้น เพื่อคอยจับตาหัวหน้ากลุ่มเมเดญิน พวกเขาใช้ชื่อกลุ่มว่า Pepes (Perseguidos por Pablo Escobar หรือผู้ถูกล่าจากปาโบล เอสโคบาร์) สมาชิกประกอบไปด้วยทหารนอกเครื่องแบบ ญาติของเหยื่อเอสโคบาร์ และแก๊งมาเฟียคู่แข่ง ส่วนราชาผงขาวผู้ทรงอำนาจยังคงเหลือคนที่ไว้วางใจได้เพียงแม่ ภรรยา ลูกทั้งสองคน และนักฆ่าที่ซื่อสัตย์ของเขาเท่านั้น

ปี 1991 เอสโคบาร์ฉลองความสำเร็จครั้งสุดท้าย ด้วยการฟาดเงินสภาคองเกรสให้ผ่านมติร่างกฎหมาย ยุติการส่งตัวอาชญากรสัญชาติโคลอมเบียนให้ต่างแดน พร้อมกันนั้นเอสโคบาร์ยังปฏิบัติตามเงื่อนไขแลกเปลี่ยน โดยยอมต้องโทษติดคุกที่รัฐออกแบบสร้างให้ตามความปรารถนาของเขา ‘ลา คาเทดราล’ (La Catedral) เป็นเรือนจำที่มีสภาพคล้ายเรือนพักหรู มีห้องทำงาน ฟิตเนสสตูดิโอ สนามฟุตบอล ดิสโกเธค และห้องบิลเลียด ที่เรือนจำแห่งนี้ เอสโคบาร์ใช้เป็นที่รับรองโสเภณีและนักฟุตบอลทีมชาติโคลอมเบีย

หลังจากเอสโคบาร์สั่งการจาก ‘ลา คาเทดราล’ ให้สังหารศัตรูนอกเรือนจำรายแล้วรายเล่า ประธานาธิบดีเซซาร์ กาบีเรียเริ่มรู้สึกได้ถึงชนักที่ติดหลัง ในเดือนกรกฎาคม 1992 จึงมีคำสั่งให้จับกุมตัวผู้ต้องโทษในเรือนจำหรู แต่เอสโคบาร์เผ่นหนีไปก่อนหน้านั้นแล้ว

วันตายของเอสโคบาร์-วันที่ 2 ธันวาคม 1993-หนึ่งวันหลังจากอายุครบ 44 ปี เขาอยู่ในสภาพมอมแมม หนวดเครารุงรัง เท้าเปลือย และอ้วนเผละ เขาอยู่กับฮวน ปาโบล (Juan Pablo) ลูกชาย ที่บ้านกระท่อมของเขาในเมเดญิน กำลังคุยโทรศัพท์ แต่เป็นการสนทนาเพียงชั่วครู่ ก่อนถูกผู้ตามล่ายิงกระสุนใส่ เอสโคบาร์พยายามปีนออกจากหน้าต่างหนีขึ้นไปบนหลังคา แต่ก็หนีไม่พ้นห่ากระสุนที่กระหน่ำยิงตามหลังอีกหลายนัด จนเขาล้มฟุบ

ภาพแห่งชัยชนะของผู้ล่า เป็นภาพนายทหารใบหน้ายิ้ม จับกลุ่มยืนบนหลังคากระเบื้องสีแดง บนพื้นหลังคาใกล้เท้าของพวกเขามีศพของอดีตเจ้าพ่อมาเฟียเหยียดนอนอยู่ ดูคล้ายภาพนายพรานหลังล้มสัตว์ที่ล่าได้สำเร็จ

 

อ้างอิง:

  • Mark Bowden, Killing Pablo: Die Jagd auf Pablo Escobar, Kolumbiens Drogenbaron, Berlin Verlag (2007)
  • Virginia Vallejo, Ich liebte Pablo und haste Escobar: Ein Gangster, eine Diva und die wahre Geschichte einer un möglichen Liebe (Amando a Pablo, odiando a Escobar), Bastei Lübbe (2017)
  • www.whoswho.de

Fact Box

ปาโบล เอสโคบาร์ในโลกเซลลูลอยด์

ภาพยนตร์เรื่อง Loving Pablo ของผู้กำกับฯ แฟร์นันโด เลออง เดอรานัว (Fernando Leon de Aranoa) ที่จะเข้าฉายในเมืองไทยปลายเดือนมิถุนายนนี้ เป็นเรื่องราวที่สร้างจากหนังสือขายดีของเวอร์จิเนีย วาเญโฮ ผู้สื่อข่าวสาวที่เคยมีสัมพันธ์รักกับเอสโคบาร์ และนำไปสู่การขู่ฆ่าหลังจากที่เธอเผยเรื่องราวการคอร์รัปชั่นในรัฐบาลโคลอมเบีย

Loving Pablo เล่าถึงช่วงที่ปาโบล เอสโคบาร์ (นำแสดงโดย ฮาเวียร์ บาร์เด็ม) เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และได้พบกับเวอร์จิเนีย (นำแสดงโดย เปเนโลเป ครูซ) ความสัมพันธ์นั้นช่วยหนุนให้เขากลายเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม เสนอตัวเป็นผู้ให้กับสังคมในโคลอมเบีย จนถึงขั้นต้องการที่จะบริหารประเทศ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่ทั้งหมดนั้นกลับมีความทะเยอทะยานและความโลภของเขาแฝงอยู่ เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ถูกเล่าผ่านมุมมองของเวอร์จิเนีย หญิงสาวที่มีความรักต่อเอสโคบาร์ในฐานะชายคนหนึ่ง ก่อนจะพานพบว่าชายที่เธอตกหลุมรักนี้เป็นคนแบบไหน

นอกเหนือจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว เรื่องราวของปาโบล เอสโคบาร์เคยถูกทอม แคลนซี (Tom Clancy) ดัดแปลงเป็นตัวละครในนิยายเรื่อง Clear and Present Danger และต่อมาถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่องชื่อเดียวกันในปี 1994

ปี 1998 Parco International Inc. สร้างหนังสารคดีเรื่องราวชีวิตของปาโบล เอสโคบาร์ให้กับสถานี The Learning Channel เรื่อง Pablo Escobar: King of Cocaine

ปี 2002 History Channel สร้างหนังสารคดี The True Story of Killing Pablo จากหนังสือ Killing Pablo การไล่ล่าเอสโคบาร์ของนักเขียนอเมริกัน-มาร์ก บาวเดน (Mark Bowden)

ปี 2006 เอสโคบาร์ไปปรากฏอยู่ในหนังสารคดี Cocaine Cowboys และในปีเดียวกันยังมีสารคดีเป็นซีรีส์เรื่อง The King of Cocaine อีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง Pablo of Medellin ของฮอร์เก กราเนียร์-เฟล์ปส์ (Jorge Granier-Phelps) ถ่ายทอดแง่มุมของเอสโคบาร์ออกมาทั้งสองด้าน เป็นทั้งนักบุญและปีศาจ

ปี 2009 มีหนังสารคดีเรื่อง Pecados de mi padre (บาปของพ่อข้าพเจ้า) บอกเล่าเรื่องราวของปาโบล เอสโคบาร์จากมุมมองของลูกชายของเขา-เซบาสเตียน มาร์โรกิน (Sebastian Marroquin)

ปี 2014 ภาพยนตร์เรื่อง Escobar: Paradise Lost ถ่ายทอดเรื่องราวความรักของคนในตระกูลเอสโคบาร์ ระหว่างหลานสาวของเอสโคบาร์กับครูสอนวินด์เซิร์ฟ โดยมีเบนิซิโอ เดล โทโร (Benicio del Toro) รับบทเป็นปาโบล เอสโคบาร์

ซีรีส์เรื่อง Narcos สองซีซันแรก เน็ตฟลิกซ์สร้างขึ้นจากเรื่องราวในชีวิตของเอสโคบาร์ และในซีซันแรกของหนังสารคดีแนวอาชญากรรมของเน็ตฟลิกซ์เรื่อง Drug Lords ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอสโคบาร์เช่นกัน

Tags: , ,