ก่อนจะเริ่มอ่านบทความ อาจต้องขอถามว่าในฐานะที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นศิลปินชาย หรือศิลปินหญิง คุณเคยดูรายการเซอร์ไววัลหรือไม่ ถ้าเคยแล้วดูรายการอะไรบ้าง?
แล้วถ้าคนที่ไม่ได้ชื่นชอบความเป็นเกาหลีและอุตสาหกรรมเกาหลีอะไรขนาดนั้น เคยเห็นรายการเซอร์ไววัลของไอดอลผ่านตาบ้างหรือไม่?
คำตอบที่ได้คงมีหลากหลาย บางคนเคยดูบางรายการ หลายคนไล่ดูแทบทุกรายการ บางคนไม่ดูสักรายการแต่เห็นมีม เห็นชื่อรายการเซอร์ไววัลถูกเทรนด์ติดอันดับความนิยมทวิตเตอร์ในประเทศไทย และถ้าจะอนุมานเอาเอง รายการเซอร์ไววัลเกาหลีที่คนไทยจำนวนหนึ่งเคยดูหรือเคยเห็นผ่านตาคงหนีไม่พ้นตระกูล Produce และ Queendom ที่การแข่งขันเพิ่งจบลงไม่นานมานี้
หากจะไล่เรียงรายการเซอร์ไววัลดังๆ ก็คงเป็นการรวบกว้างๆ ตั้งแต่ Produce 101 การแข่งขันของเด็กฝึกหญิงฉายครั้งแรกในปี 2016 ต่อด้วย Produce 101 การแข่งขันของเด็กฝึกชายในปี 2017 รายการ Produce 48 ความร่วมมือระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นในปี 2018 หรือรายการอื่นๆ อย่าง Queendom การแข่งขันของไอดอลหญิงในปี 2019 Road to Kingdom การแข่งขันของไอดอลชายที่ยังไม่ดังมากในปี 2020 และการแข่งขันหาสุดยอดของสุดยอดไอดอลชายอีกครั้งในรายการ Kingdom: Legendary War ปี 2021 มาจนถึง Queendom 2 ที่นำไอดอลหญิงมาแข่งกันซ้ำแล้วซ้ำอีกในปี 2022 …
รายการเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของรายการเซอร์ไววัลไอดอลเกาหลี ทุกๆ ปีผู้ที่ชื่นชอบไอดอล ดนตรีเคป๊อป ดูโชว์วาไรตี้ จะได้รับชมรายการแข่งขันไม่น้อยกว่าสองรายการ สถานีโทรทัศน์หลายเจ้าต่างหาวิธีการแข่งขันที่ไม่ซ้ำใคร บ้างก็เอาเด็กฝึกที่ยังไม่เดบิวต์มาแข่งขันกันเพื่อให้กลุ่มที่อันดับสูงที่สุดได้ฟอร์มวงเป็นศิลปินจริงๆ บ้างก็นำวงไอดอลมาแข่งขันกันเอง เพื่อหาสุดยอดของสุดยอดในหมวดหมู่ต่างๆ
แล้วมีเหตุผลหรือปัจจัยใดบ้างที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ มักแข่งขันกันผลิตรายการเซอร์ไววัลกันออกมาอย่างต่อเนื่อง?
“แพ้คัดออก ชนะได้เดบิวต์” การต่อสู้ของเด็กฝึกในเกาหลีใต้
ในช่วงแรกที่เคป๊อปเริ่มได้รับความนิยมในต่างแดน หลายคนมองว่ากระแสนี้อาจอยู่ได้แค่ 5-10 ปีแล้วจบไป แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมในวงกว้าง วงไอดอลที่มีชื่อเสียงบางวงก็อยู่มานานกว่า 15 ปีและยังคงมีฐานแฟนอยู่ทั่วโลก ส่วนวงน้องใหม่ก็เกิดขึ้นแทบทุกวันจนทำให้เกาหลีใต้มีไอดอลมากกว่า 200 วง ที่แต่ละวงก็มีจำนวนสมาชิกต่างกันออกไปโดยเริ่มตั้งแต่ 2-20 คน หรือมากกว่านั้น
เมื่อลองคิดเป็นเลขกลมๆ ว่าเกาหลีใต้มีวงไอดอลสองร้อยวง แล้วในสองร้อยนั้นมีสมาชิกปลีกย่อยอีกต่างหาก เท่ากับว่าเกาหลีใต้มีไอดอลหลายพันคน และไอดอลหลักพันคนที่ว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกคน เหมือนกับวงบอยแบนด์หรือเกิร์ลกรุ๊ปที่ไม่ได้ดังไปทั้งหมด
ไอดอลเกาหลีก็เป็นไปตามกลไกทุนนิยม ยิ่งมีเยอะการแข่งกันยิ่งสูง ซ้ำร้ายตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงเด็กฝึกหัดในค่ายต่างๆ ที่กำลังเตรียมตัว ฝึกซ้อมอย่างขะมักเขม้นเพื่อรอวันจะได้เดบิวต์กับเพื่อนๆ ที่ฝึกมาด้วยกัน เมื่อคิดแบบนั้นการแข่งขันของไอดอลก็ยิ่งสูงขึ้นอีกขั้น
ช่วงยุคแรกของกระแสเคป๊อปเรายังไม่เห็นรายการเซอร์ไววัลมากนัก ศิลปินแต่ละกลุ่มต่างพยายามโชว์ของที่พวกเขามี หน้าตา ความสามารถ บทเพลงจังหวะสนุกสนาน การเต้นที่พร้อมเพรียง หรือรายการวาไรตี้ที่ทำให้แฟนคลับรู้จักตัวตนของศิลปินมากขึ้นกว่าการดูมิวสิกวิดีโอหรือการฟังเพลงเพียงอย่างเดียว จนกระทั่งค่ายเพลงและสถานีโทรทัศน์หลายแห่งมองเห็นตัวเลขของคนในวงการไอดอลที่เพิ่มขึ้นทุกวัน พานทำให้คิดว่ารายการทำนองค้นฟ้าคว้าดาว จับเด็กๆ มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ให้ฝึกร้อง ฝึกเต้น เล่นกันให้คนดู อาจรุ่งมากกว่าที่คิด
ค่ายเพลงชื่อดังหลายค่ายเคยทำรายการเซอร์ไววัลโดยใช้เด็กฝึกของตัวเองเป็นตัวเดินเรื่องหลัก เช่น รายการ MIX&MATCH (2014) ของค่าย YG Entertainment ให้เด็กฝึกชายแข่งขันกันจนเหลือ 7 คนสุดท้ายที่จะได้เดบิวต์เป็นบอยแบนด์ชื่อ iKON หรือรายการ No Mercy (2014) ของค่าย Starship Entertainment แข่งกันเพื่อหาสมาชิกเดบิวต์เป็นบอยแบนด์ชื่อ MONSTA X และรายการ SIXTEEN (2015) ของค่าย JYP Entertainment กับการเฟ้นหาเด็กฝึกหญิงเพื่อเดบิวต์เป็นเกิร์ลกรุ๊ปวง Twice
การนำเด็กฝึกมาแข่งขันส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีจำนวนมากเกินไป ข้อมูลจาก medium ระบุว่า ในการทดสอบรอบออดิชันเพื่อหาเด็กเข้าสังกัดของค่ายเพลงที่ไม่ระบุชื่อ มีผู้เข้าร่วมการทดสอบมากกว่า 50,000 คน ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเยาวชนจำนวนมากต่างหวังว่าพวกเขาอาจเข้าตากรรมการและได้เป็นเด็กฝึก อยู่ในค่ายเพลงนั้นๆ รอเวลาแบบคาดเดาไม่ได้ตั้งแต่ 1-10 ปี เพื่อจะได้เดบิวต์เป็นไอดอล
Produce 101 (2016) ถือเป็นรายการเซอร์ไววัลที่สร้างชื่อมากที่สุดรายการหนึ่งของวงการเคป๊อป รูปแบบรายการคือการนำเด็กฝึกหญิงจำนวน 101 คน มาแข่งขันกันในทุกคุณสมบัติที่ไอดอลควรจะมี เช่น การร้อง การเต้น การแร๊ป แล้วคัดให้เหลือเพียง 11 คน โดยผู้ชนะกลุ่มนี้จะได้เดบิวต์กลายเป็นไอดอลวง I.O.I และคนที่ได้อันดับ 1 ในสัปดาห์สุดท้ายจะกลายเป็นเซ็นเตอร์ของวงโดยอัตโนมัติ
สิ่งที่ Produce 101 แตกต่างจากรายการเซอร์ไววัลของค่ายเพลงอย่างเห็นได้ชัดคือบุคลิกผู้เข้าแข่งขันที่หลากหลาย รายการนี้เปิดรับเด็กฝึกจากทุกค่าย ทุกสังกัด แม้กระทั่งเด็กฝึกที่ยังไม่มีค่ายเพลงเป็นของตัวเอง เดิมทีการแข่งแค่เฉพาะเด็กฝึกในค่ายเพลงหนึ่งจะทำให้ผู้ชมเห็นกรอบที่ชัดเจนของความเป็นค่อยนั้นๆ เช่น YG มักถูกมองว่า เท่ ฮิปฮอป หรือ JYP โดดเด่นเรื่องความสดใส ความเป็นธรรมชาติมากกว่าค่ายก่อนหน้า และสไตล์ที่ชัดเจนของแต่ละค่ายจะถูกจริตผู้ชมแค่บางกลุ่มเท่านั้น การลบกรอบที่เรียกกันว่าสไตล์ของค่ายที่ติดตัวเด็กฝึก มาเจอกับผู้เข้าแข่งขันที่หลากหลายทำให้ Produce 101 ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก
ความสำเร็จของ Produce 101 กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนเริ่มหันมาดูเซอร์ไววัลไอดอลมากขึ้น เห็นได้จากหลังจบซีซันแรก Produce 101 Season 2 (2017) เวอร์ชันเด็กฝึกชายก็พร้อมออกอากาศต่อในปีถัดมา ต่อยอดกระแสเก่าจนฮิตทั่วบ้านทั่วเมืองจนมีผู้ชมโหวตมากกว่า 10 ล้านคน ผู้คนเอาคอนเซ็ปต์ของรายการไปทำมีม เพลงที่ใช้แข่งขันในรายการไต่อันดับชาร์ตเพลงระดับประเทศ ในสัปดาห์สุดท้ายที่รายการถ่ายทอดสดประกาศผู้ชนะเตรียมเดบิวต์เป็นวง Wanna One แฮชแท็ก #Produce101 ก็ทะยานขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ ตอกย้ำว่าผู้คนต่างให้ความสนใจกับการแข่งขันของเด็กๆ ที่มีความฝันอยากเป็นไอดอล
อย่างที่กล่าวไปข้างตนว่าปกติแล้วเด็กฝึกในค่ายต่างๆ จะใช้เวลาฝึกตั้งแต่ 1-10 ปี เพื่อจะได้เดบิวต์ แต่ถ้ามาเข้าร่วมรายการเซอร์ไววัลแล้วเกิดเป็นที่ถูกใจของผู้ชมทางบ้าน จากเวลาเกือบสิบปีที่ต้องรอคอยอาจเหลือเพียงแค่สามเดือนเท่านั้น เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในรายการเซอร์ไววัล
จักรวาล Produce ยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น ในปี 2018 การแข่งขันเซอร์ไววัลก็ยังคงติดลมบนอยู่ คราวนี้เกาหลีใต้เล่นใหญ่กว่าที่เคยด้วยการจับมือกับญี่ปุ่น จัดรายการ Produce 48 แบ่งผู้เข้าแข่งขันเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือเด็กฝึกชาวเกาหลีใต้ ส่วนกลุ่มที่สองคือไอดอลจริงๆ จากตระกูล 48 ทั้ง AKB48, NMB48, SKE48 และ HKT48 ที่มีกติกาเหมือนเดิมคือหาผู้ชนะ 12 คน รวมกลุ่มเดบิวต์เป็นไอดอลวงใหม่ชื่อ IZONE ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมทั่วโลกไม่น้อยว่าไอดอลญี่ปุ่นต้องมาแข่งขันกับเด็กฝึกของเกาหลี
หลังจากนั้นเราจะเห็นรายการเซอร์ไววัลอีกมากที่ทยอยสร้างกันให้ผู้ชมได้เลือกดูและติดตามชีวิตคนที่กำลังไล่ตามฝัน กระแสที่ยอดเยี่ยมทำให้หลายชาติซื้อลิขสิทธิ์ของ Produce ไปทำต่อ เช่น Produce 101 China (2018) ที่มีผู้ชมมากกว่า 4.3 พันล้านครั้ง ตามมาด้วยรายการ Produce Camp (2019-2021) ในประเทศจีนที่จัดการแข่งขันกันทุกปีแล้วมีถึงสามซีซัน หรือ Produce Japan Season 1 (2019) และ Produce Japan Season 2 (2021) เซอร์ไววัลที่จัดการแข่งขันในประเทศญี่ปุ่น สร้างรายได้มหาศาลให้กับอุตสาหกรรมเคป๊อป
รายการเซอร์ไววัลที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งที่ว่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันของเด็กและเยาวชนเกาหลีใต้ที่อยากเป็นไอดอลนั้นสูงลิบ ยิ่งแข่งขันกันมากเท่าไหร่ ยิ่งคะแนนเชือดเฉือนกันเท่าไหร่ ผู้ชมก็จะยิ่งรู้สึกว่าหยุดดูไม่ได้มากเท่านั้น
เซอร์ไววัลทำให้รู้สึกมีส่วน ‘ผลักดัน’ หรือ ‘กำหนดชีวิต’ ผู้เข้าแข่งขัน
รายการเรียลลิตี้กึ่งเซอร์ไววัลดึงดูดผู้ชมได้อยู่หมัด หลายรายการมีรูปแบบการแข่งขันที่คล้ายคลึงกัน เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวเด็กฝึกแต่ละคนให้ผู้ชมได้ทำความรู้จักผ่านแอร์ไทม์ การแสดงความสามารถ หรือเผยให้เห็นอุปนิสัยบางอย่างเรื่อยมา นานวันเข้าผู้ชมจะรู้สึกเริ่มผูกพันกับผู้เข้าแข่งขันด้วยเหตุผลที่หลากหลาย บางคนเชียร์เด็กฝึก A เพราะร้องเพลงเก่ง เชียร์เด็กฝึก B เพราะเต้นเก่ง เชียร์เด็กฝึก C เพราะโชว์ความเป็นนักสู้ไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคตรงหน้า แล้วรายการก็ยิ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกแน่นแฟ้นกับเด็กฝึกที่เชียร์ไปอีกขั้นด้วยการเปิดให้ร่วมโหวตคนที่ชอบ คล้ายกับบอกว่าพวกคุณมีสิทธิกำหนดชีวิตและความฝันของผู้เข้าแข่งขันในรายการ
ความรู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกได้ผลักดัน การได้ลุ้นว่าคนที่เราชอบคนที่เราเชียร์จะไปถึงฝันได้ไหม ถือเป็นความรู้สึกผูกพันอยู่ฝ่ายเดียว แต่สิ่งนี้คือใจความสำคัญของรายการเซอร์ไววัล รายการจะไม่มีกระแสเลยหากไร้ผู้ชมที่อินกับการแข่งขัน ดังนั้นรายการต่างๆ จึงต้องพยายามดึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เข้าแข่งขัน ดึงดราม่า หรือโชว์ไฮไลต์ต่างๆ บนเวทีการแสดงออกมาให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับกติกาที่กระชับความสัมพันธ์ของผู้ชมกับผู้แข่งขันให้ใกล้ชิดกันอยู่เสมอ
มีหลายครั้งที่ทำให้เห็นว่ารายการเร้าอารมณ์คนดูด้วยการตัดต่อที่ไม่เป็นความจริง ยกตัวอย่างกรณีสมมติเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เด็กฝึก A ถูกเรียกมาให้สัมภาษณ์เพื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรกับการแข่งขันรอบกลุ่ม มองตัวเองไว้แบบไหน เด็กฝึก A ตอบว่า “ฉันคิดว่าตัวเองจะต้องได้อันดับสูงๆ เพราะฉันเชื่อในความสามารถของตัวเอง และขอบคุณเพื่อนร่วมทีมมากๆ ที่ช่วยผลักดันให้ฉันมีความมั่นใจมากขึ้น ขอบคุณที่ร่วมมือกันแสดงโชว์ที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยทำมา” แต่รายการอาจหั่นประโยคลงเหลือเพียงแค่ “ฉันต้องได้อันดับสูง เพราะความสามารถของฉัน” สร้างคาแรกเตอร์เป็นคนมั่นใจแล้วตัดถ้อยคำขอบคุณเพื่อนๆ ออกไปจนหมด
การตัดฉากบางฉากที่ไม่เกี่ยวข้องกันแล้วประกบให้ดูเหมือนอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมพบเห็นได้บ่อยๆ เช่น ระหว่างออกอากาศ ผู้ชมจะเห็นว่าเด็กฝึก B หัวเราะเยาะเด็กฝึก C ที่ทำพลาด แต่ความจริงเด็กฝึก B กำลังหัวเราะเรื่องอื่นอยู่ แต่ถูกตัดต่อให้เหมือนว่ากำลังขำกับความล้มเหลวของคนอื่น ผู้ชมบางคนที่รู้ทันหรือรู้สึกได้ก็จะมองออกว่าอาจเป็นการสร้างดราม่าเพื่อให้รายการมีกระแส ส่วนผู้ชมบางกลุ่มที่เห็นแล้วเชื่อไปเลย พวกเขาจะกลายเป็นผู้กระพือประเด็นในโซเชียลมีเดีย เช่น การโพสต์ว่า “เด็กฝึก B ทำตัวไม่เหมาะสม ฉันจะไม่โหวตให้เด็กคนนี้ และขอให้คนอื่นอย่าโหวตให้กับเขาหรือเธอ” ที่ทำให้รายการได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการตัดต่อ
นอกเหนือจากการสร้างอารมณ์ร่วมด้วยวิธีการต่างๆ อีกหนึ่งความสำเร็จของรายการเซอร์ไววัลคือ ‘ความไร้ระเบียบแบบแผน’ แม้รายการส่วนใหญ่จะมีสคริปต์ มีการตัดต่อตามคำสั่งโปรดิวเซอร์ ทีมงานเลือกให้แสงส่องไปยังเด็กบางคนมากกว่าเด็กอีกคน (เห็นได้จากแอร์ไทม์ที่ไม่เท่ากัน และเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กฝึก 101 คน จะได้ออกกล้องในเวลาที่เท่าเทียมกัน) รวมถึงตัวของเด็กฝึกหรือไอดอลเองที่ต่างรู้อยู่แล้วว่าระหว่างถ่ายทำจะมีกล้องคอยจับตาอยู่ทุกมุม พวกเขาต้องทำตัวดี ทำตัวน่ารัก บ้างก็เลือกทำตัวเป็นธรรมชาติที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเรียกคะแนนจากคนดู ส่งผลให้ทีมงานไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนการถ่ายหนังหรือละคร
ผู้ชมและการปล่อยของแบบไม่คาดฝันของผู้เข้าแข่งขัน เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการพลิกล็อกตลอดเวลา สัปดาห์แรกเด็กฝึก A อาจได้รับความนิยมมากจนกลายเป็นตัวเต็ง เพราะแอร์ไทม์เยอะ หน้าตาดี แต่กลายเป็นว่าสัปดาห์ที่สอง เด็กฝึก B โชว์ทักษะการร้องด้วยการไฮโน้ตที่ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ จนผู้ชมที่ไม่เคยมองเด็กฝึก B เริ่มให้ความสนใจและเชียร์ให้เป็นหนึ่งในคนที่จะได้เดบิวต์
เมื่ออะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ในเซอร์ไววัล ผู้ชม ผู้เข้าแข่งขัน รวมถึงทีมงานจึงได้ลุ้นว่าสุดท้ายแล้วผลสรุปจะออกมาในรูปแบบไหน และการที่เซอร์ไววัลสามารถควบคุมได้แค่บางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด จึงทำให้เกิดการ ‘โกง’ เพื่อให้ผลคะแนนเป็นไปตามที่หวัง เห็นได้จากการแฉครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้ในช่วงปี 2020 สำนักข่าวเผยข้อมูลการโกงคะแนนของโปรดิวเซอร์รายการ Produce เพราะอันดับไอดอลที่ประชาชนเลือกมาไม่ตรงไปตามเป้าที่วางไว้ พบว่ามีการปรับคะแนนตั้งแต่ Produce ซีซันแรกในการเปิดโหวตรอบแรก และปรับคะแนนมากที่สุดในการแข่งขันแทบทุกรอบของรายการ Produce X (2019) จนผู้อำนวยการสร้างถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี ส่วนหัวหน้าโปรดิวเซอร์ถูกสั่งจำคุก 1 ปี 8 เดือน จากคดีรับสินบนโกงคะแนนโหวตของผู้เข้าแข่งขันในรายการ
ข่าวเด็กฝึกที่ควรจะได้เดบิวต์ถูกโกงคะแนน การที่สถานีโทรทัศน์หลายเจ้าแห่ทำเซอร์ไววัล รวมถึงปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้ผู้คนเริ่มเอียนรายการเซอร์ไววัล พวกเขากลัวว่าคะแนนเสียงของตัวเองจะส่งไปไม่ถึงผู้เข้าแข่งขัน กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย รวมถึงเหล่านักวิเคราะห์ที่มองไปถึงปัญหาการเดบิวต์ไอดอลจากรายการเซอร์ไววัลว่าจะทำลายวงการเพลงเกาหลีใต้ และสร้างผลกระทบทางลบต่อค่ายเพลงและเอเจนซี่ ทำให้ช่วงเวลาหนึ่งกระแสการแข่งเริ่มจางลงไปบ้างหลังจากเคยพุ่งถึงขีดสุด
แต่ความกังวลและกระแสต่อต้านที่ว่ามาแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะจนถึงตอนนี้ เราก็ยังคงเห็นรายการเซอร์ไววัลไอดอลเกาหลีถูกสร้างใหม่ขึ้นในทุกปี มีหลายรายการให้เลือกชมกันเหมือนเคย คล้ายกับว่าแม้จะมีการโกง แม้จะเจ็บปวด แต่ผู้ชมจำนวนมากก็ยังคงไม่เข็ดกับเซอร์ไววัลเกาหลี
ขั้นกว่าของเซอร์ไววัลเด็กฝึกคือการนำ ‘ไอดอล’ มาแข่งกันเอง
หลังกระแสเซอร์ไววัลเด็กฝึกเริ่มซาลง ประกอบกับวิธีการแข่งขันไม่สามารถฉีกแนวไปจากเดิมได้มากเท่าที่ควร แต่รายการเซอร์ไววัลยังคงมีอยู่ และบางครั้งก็มาในรูปแบบการนำเกิร์ลกรุ๊ปที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้ามาแข่งกันใน Queendom (2019)
การแข่งขันระหว่างไอดอลด้วยกันเองทำให้ผู้ชมเห็นว่าการตัดต่อของเจ้าของรายการดูเป็นมิตรมากขึ้น ไม่เร้าอารมณ์ หรือจงใจทำให้เกิดดราม่าได้เท่ากับการเซอร์ไววัลของเด็กฝึก อาจเป็นเพราะการแข่งครั้งนี้คือการแข่งของคนที่มีชื่อเสียงแล้ว เป็นวงไอดอลที่มีฐานแฟนคลับเป็นจำนวนมาก รูปแบบรายการจึงเทไปยังการโชว์ความสามารถของศิลปิน การบริหารเวที คอสตูม การออกแบบท่าเต้น ความเป็นทีมเวิร์ก การมิกซ์เพลงใหม่หรือกติกาที่กำหนดให้วงที่เข้าแข่งขันแลกเพลงเพื่อทำการแสดงที่แตกต่างจากต้นฉบับ นับเป็นบรรยากาศใหม่ๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย
รายการ Queendom ที่นำศิลปินชื่อดังอย่าง MAMAMOO, AOA, Lovelyz, Oh My Girl, (G)I-DIE และ ปาร์คบอม อดีตสมาชิกวง 2NE1 มาร่วมแข่งขันในโจทย์ต่างๆ สร้างเสียงฮือฮาได้มากกว่าที่หลายคนคาดคิด ศิลปินแต่ละกลุ่มมีแนวเพลงและสไตล์ที่ต่างกัน เช่น การให้พวกเขานำเพลงฮิตของตัวเองมาแลกกันแสดง การรวมกลุ่มเฉพาะกิจตามความถนัดทั้งกลุ่มร้องและกลุ่มเต้น เพื่อให้ศิลปินแต่ละวงจับมือร่วมงานกันชั่วคราว เหล่านี้คือความพิเศษที่จะเห็นได้แค่โชว์ในรายการประกาศรางวัลช่วงสิ้นปีเท่านั้น
กติกาการแข่งที่กดดันมีส่วนสร้างที่ความสนุกชวนลุ้นแก่ผู้ชม เช่น กฎที่ระบุว่าหากศิลปินกลุ่มใดทำการแสดงแล้วมีคะแนนอยู่ในอันดับต่ำสุดเกินสองครั้ง พวกเขาจะต้องออกจากการแข่งขันทันที กติกาที่บังคับให้ผู้เข้าแข่งขันทุกกลุ่มต้องทำเพลงใหม่ แล้วปล่อยเพลงที่ว่าพร้อมกันในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อดูว่าชาร์ตเพลงของใครจะได้อันดับสูงที่สุด ส่งผลให้เหล่าศิลปินต้องงัดความสามารถที่มีออกมาสร้างความประทับใจแก่ผู้ชม หวังไต่ระดับในแต่ละรอบ เก็บคะแนนเพื่อเอาไปทบกับคะแนนโหวตของผู้ชมในการถ่ายทอดสดรอบสุดท้าย ความพยายามหนีตำแหน่งท้ายตารางยิ่งทำให้ผู้ชมและแฟนคลับต้องช่วยกันโหวต ชวนกันสนับสนุน เพราะไม่อยากให้ศิลปินที่ตนชอบต้องเสียใจหรือถูกทำข่าวว่าล้มเหลวระหว่างการแข่งขัน จนท้ายที่สุด MAMAMOO กลายเป็นแชมป์ในการแข่งครั้งนี้
ถ้าเรตติ้งและกระแสของ Queendom ไม่ดีก็คงไม่มี Road to Kingdom ในปี 2020 การแข่งขันรูปแบบเดียวกันกับควีนด้อม แต่เปลี่ยนจากวงเกิร์ลกรุ๊ปเป็นบอยแบนด์ ทั้ง The Boyz, ONF, VERIVERY, TOO, ONEUS, Golden Child และ PENTAGON แต่การแข่งครั้งนี้ถือว่าแตกต่างจากการแข่งของเกิร์ลกรุ๊ปอยู่พอสมควร เพราะ Road to Kingdom คือการนำไอดอลที่ยังไม่ดังมากและไม่มีกระแสมาแข่งกัน เพื่อหาผู้ชนะที่จะไปแข่งรายการถัดไปที่มีชื่อว่า Kingdom: Legendary War ในปี 2021 โดยวง The Boyz ที่ชนะในการแข่งรายการแรกกลายเป็นผู้มีสิทธิมาแข่งขันต่อโดยอัตโนมัติ แล้วคู่แข่งก็จะไม่ใช่วงน้องใหม่หรือวงที่ยังไม่มีกระแสมาก แต่เป็นวงที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม ทั้ง ATEEZ, Stray Kids, The Boyz, SF9, iKON (วงเซอร์ไววัลจากค่าย YG ที่กล่าวไว้ในช่วงต้นของบทความ), และ BTOB ซึ่งผู้ชนะของซีซันนี้คือศิลปินวง Stray Kids
หลังทำการแข่งขันของบอยแบนด์แบบติดๆ กัน เราก็ได้ดูเกิร์ลกรุ๊ปแข่งขันกันอีกครั้งใน Queendom 2 (2022) บางสำนักข่าวระบุว่าคุณสมบัติของวงที่ได้เข้าแข่งจะต้องเป็นวงที่เคยชนะอันดับหนึ่งในรายการเพลงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (การชนะรายการเพลงสำคัญอย่างไร? อ่านเรื่องการแข่งขันของไอดอลในรายการเพลงตามสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ในบทความ ‘จักรวาลนฤมิต เมืองทิพย์กวังยา’ ความสำเร็จ aespa ที่ไม่ไกลเกินฝัน และไม่ยากเกินความเข้าใจ) จนได้วง Brave Girl, WJSN, Loona, Kep1er, VIVIZ และ ศิลปินเดี่ยวอย่าง Hyolyn อดีตสมาชิกวง Sistar มาร่วมแข่งขัน
รายการเซอร์ไววัลเหล่านี้เหมือนกับกำลังตอกย้ำว่า ถึงพวกเขาจะเป็นไอดอล แต่ทุกคนก็ยังคงถูกจัดอันดับและต้องแข่งขันอยู่เสมอ
แรงจูงใจของศิลปินที่เข้าแข่งขันคือส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้คนลุ้นตาม ระหว่างแข่งขันรายการจะเน้นย้ำความรู้สึกอยากชนะ ศิลปินแต่ละกลุ่มต่างมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง บางวงโดดเด่นเรื่องการร้องและการแสดงสดที่เล่นกับผู้ชมได้อยู่หมัด บางวงเด่นเรื่องการเต้นและแนวเพลงที่ไม่เหมือนใคร บางวงให้ความรู้สึกเข้าถึงได้และเป็นกันเองกับแฟนคลับมากกว่าอีกหลายวง หรือศิลปินบางกลุ่มมีเส้นเรื่องน่าเศร้าที่ทำให้ผู้คนอยากเทคะแนนให้ แม้เรื่องราวจะแตกต่างกันไป แต่พวกเขามีจุดร่วมเดียวกันคือการเป็นที่หนึ่งในการแข่งขัน
ไม่มีใครอยากมาแข่งแล้วแพ้ ไม่มีใครอยากมาแข่งเพื่อให้ได้อันดับสอง ทุกคนมาเพื่อหวังว่าตัวเองจะเป็นผู้ชนะ
สิ่งนี้เองที่ทำให้แฟนคลับของศิลปินแต่ละกลุ่มสู้ไม่ถอยไปพร้อมกับศิลปินของพวกเขา เพราะนอกเหนือจากการเน้นเรื่องเพอร์ฟอร์แมนซ์ของศิลปิน เซอร์ไววัลประเภทนี้ยังเน้นเรื่องพลังของแฟนคลับที่วัดผ่านการโหวต ยอดวิว ยอดไลก์ ยอดสตรีมเพลงควบคู่ไปด้วย แม้จะมีบางความรู้สึกที่ทำให้เห็นว่าการแข่งของไอลดอลมีกลิ่นอายแตกต่างจากเซอร์ไววัลเด็กฝึก แต่รายการก็ยังสร้างความรู้สึกว่าผู้ชมมีส่วนร่วมได้เหมือนเคย และสุดท้ายผู้ชนะในการแข่ง Queendom 2 คือ WJSN (อูจูโซนยอ) ที่เก็บคะแนนจากการแข่งขันในรอบต่างๆ ด้วยอันดับหัวตารางที่ไม่เคยต่ำกว่าอันดับ 3
อาจกล่าวได้ว่าบนโลกใบนี้มีผู้คนไม่น้อยที่ชื่นชอบการแข่งขัน ทั้งลงแข่งเองหรือดูคนอื่นแข่งขัน เพราะทุกการแข่งขันจะต้องมีการจัดอันดับ วัดความสามารถ วัดความนิยมด้วยกรอบกติกาต่างๆ การแข่งขันทำให้ผู้ชมได้เห็นความพยายาม เห็นหยาดเหงื่อและน้ำตาของผู้เข้าแข่งขันที่ต่อสู้จนถึงศึกสุดท้าย
การได้ลุ้น ตามติดชีวิต ดูพัฒนาการ สิ่งเหล่านี้สร้างความรู้สึกสนุกสนานและมีส่วนร่วมได้มากกว่าดูละครที่มีบทชัดเจน การที่ผู้ชมมีโอกาสกำหนดทิศทางบางสิ่งผ่านการโหวตที่ถึงแม้จะไม่มากนัก ก็กลับทำให้ผู้ชมบางกลุ่มรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ มีอำนาจ มีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จหากคนที่เชียร์หรือทีมที่เราเชียร์ได้รับชัยชนะ อำนาจน้อยนิดนี้ก่อร่างสร้างความรู้สึกดีได้ง่ายๆ แม้ในความเป็นจริงเราแทบไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแข่งที่ว่าเลยก็ตาม
อ้างอิง
https://www.quora.com/What-is-your-opinion-on-K-pop-survival-shows
https://keia.org/the-peninsula/survival-shows-redefine-the-k-pop-industry/
Tags: ไอดอลเกาหลี, pop culture, อุตสาหกรรมเกาหลี, ไอดอล, วาไรตี้เกาหลี, Screen and Sound, เรียลลิตี้เกาหลี, ควีนด้อม, Analysis, เซอร์ไววัล, ตรีนุช อิงคุทานนท์, WJSN, Produce101, QUEENDOM 2, Survival Show, Culture, เคป๊อป, Kpop