Aku no Hana น่าจะเป็นมังหงะเรื่องหนึ่งที่หลายคนพอจะรู้จักนะครับ แม้ว่ามังหงะแนว Coming of age สายดาร์กนี้ จะไม่ใช่มังหงะดังระดับซูเปอร์ป็อปปูล่าร์ แต่ก็มีแฟนนานุแฟนที่หนาแน่นพอสมควร โดยคำว่า Aku no Hana นี้แปลตรงตัวว่า The Flower of Evil ซึ่งมาจากชื่อหนังสือรวมบทกวีของกวีชาวฝรั่งเศสอย่าง ชาร์ลส์ โบเดแลร์ (Charles Baudelaire) ที่ชื่อ Les Fleurs du mal (1857) อีกทีหนึ่ง ทำให้เหล่าแฟนๆ มักจะเรียกมังหงะเรื่องนี้เล่นๆ ว่า ‘อีดอกปีศาจ’ แม้จะมีแปลเป็นไทยและตั้งชื่อไทยโดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมมิกส์ว่า ‘รักโรคจิต’ แล้วก็ตาม (เป็นหนึ่งในชื่อแปลที่ผมค่อนข้างชอบด้วย)

ตอนอ่านมังหงะเรื่องนี้ครั้งแรก ผมจำได้ว่าชอบมาก อินมากขนาดต้องไปหาซื้อ Les Fleurs du mal ฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านเลยทีเดียว แต่อ่านไปได้ไม่กี่หน้าก็ต้องวาง ไม่รู้สึกว่ามันสนุกนัก (กวีนิพนธ์เล่มนี้ถูกพูดถึงในมังหงะอย่างมากด้วย) โดยมังหงะสายดาร์กเรื่องนี้เป็นผลงานของชูโซ โอชิมิ (Shuzo Oshimi) ที่บางคนเชื่อว่าอาจจะสะท้อนภาพอารมณ์ ความคิด หรือตัวตนของผู้เขียนเอง เพราะตัวชูโซ โอชิมิเองนั้นก็เป็นคนที่ชอบอ่านงานกวีนิพนธ์หนักๆ มาตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งคล้ายกับตัวเอกของเรื่องไม่น้อยทีเดียวครับ แถมเนื้อเรื่องยังเริ่มจากเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในจังหวัดกุนมะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโอชิมิเองด้วย แต่เอาเถอะ นั่นก็ไม่ใช่ส่วนที่ผมใส่ใจนัก

ผมจะพยายามเล่าเรื่องย่อแบบไม่สปอยล์ที่สุดเท่าที่จะมีปัญญานะครับ เพราะอยากเชิญชวนให้ลองอ่านเรื่องนี้กันจริงๆ มังหงะซีรี่ส์เรื่องนี้ มีตัวละครหลักๆ เลย 3 ตัว และแบ่งเป็น 2 ช่วง/ภาค (Arc) หลักๆ ด้วยกัน โดยในบทความนี้ของเรา จะพูดถึง Arc แรก ที่เป็นชีวิตของตัวละครหลักในช่วงวัยเด็ก ในเมืองเล็กๆ ในกุนมะ ตัวเอกของเรื่อง 3 คนคือทาคาโอะ คาสุกะ (Takao Kasuga) พระเอกของเรื่อง เป็นหนอนหนังสือวัยมัธยม กับตัวละครหญิงอีกสองตัวคือ นานาโกะ ซาเอกิ (Nanako Saeki) เพื่อนร่วมห้องตัวท็อปของห้องที่ทั้งสวย เรียนเก่ง เป็นที่รักและเชื่อถือของทุกคน แน่นอนว่าพระเอกเราก็แอบชอบอยู่ ตัวละครเอกตัวสุดท้ายก็คือ ซาวะ นากามูระ (Sawa Nakamura) นักเรียนหญิงที่ออกจะมีนิสัยแปลกๆ ในสายตาเพื่อนๆ และไม่มีใครอยากคบนัก (และนางเองก็ไม่ได้ดูท่าอยากจะคบกับใครด้วย)

(ซ้ายไปขวา) ทาคาโอะ คาสุกะ, ซาวะ นากามูระ, และ นานาโกะ ซาเอกิ

เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งครับ ก็คือ พระเอกของเรา อีตาทาคาโอะเนี่ย ที่นิยมชมชอบและพยายามสนิทชิดเชื้อกับแม่สาวไอดอลประจำห้องอย่างนานาโกะอยู่แล้ว เกิดเห็นเสื้อพละของนานาโกะวางอยู่ และด้วยความกลัดมันเค้าเลยพลั้งมือหยิบติดตัวมา ถ้าว่ากันตามเนื้อเรื่องก็คือเป็นการหยิบแบบค่อนข้างไม่ได้ตั้งใจ ทำตามสัญชาตญาณเลยอ่ะนะครับ พอเค้ากลับถึงบ้านก็ตั้งสติได้และคิดจะแอบเอามาคืนที่เดิมไม่ให้ใครรู้ (เพราะถ้าใครรู้เดี๋ยวจะโดนหาว่าบ้าหรือโรคจิตได้) แต่หารู้ไม่ว่าการกระทำของเค้านั้นอยู่ในสายตาของแม่นางซาวะ และซาวะก็ขู่จะแบล็คเมล์ทาคาโอะ นอกเสียจากทาคาโอะจะยอมเชื่อฟังนาง และก็เกิดเป็นสัญญาระหว่าง 2 คนขึ้นมา

ในระหว่างสัญญาอันไม่เป็นธรรมนี้ ทาคาโอะก็ถูกสั่งให้ทำอะไรแปลกๆ โดยซาวะไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การช่วยตัวเองด้วยชุดพละของนานาโกะ ไปจนเรื่องที่ใหญ่โตผิดวิถีขึ้นไปเรื่อยๆ จนหลายๆ ครั้งก็ต้องแอบตะโกนในใจว่า “อีดอกกกก” จริงๆ สมชื่ออีดอกปีศาจเค้าล่ะ แต่ในระหว่างทางของการทำสิ่งเหล่านี้เองทาคาโอะกลับรู้สึกเหมือนบางสิ่งในตัวเขาถูกปลุกขึ้นมา เขาถูกปลดเปลื้องจากกรอบบางอย่างที่ครอบกำหนดวิถีความเป็นไปของเค้าที่มีมาตลอดก่อนหน้านี้ และนั่นเองที่ทำให้ทาคาโอะรู้สึกใกล้ชิดและนิยมชมชอบซาวะมากขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมๆ กันไป นานาโกะก็สังเกตเห็นท่าทีที่แปลกไปของทาคาโอะ และพัฒนาการของความสัมพันธ์ของทาคาโอะที่เคยสนใจนาง กับซาวะที่ไม่มีใครคบว่าดูจะใกล้ชิดกันขึ้นเรื่อยๆ ความกระหายใคร่รู้นี้เอง ก็ชักนำเธอจนเริ่มจะหลุดออกจากวิถีของ ‘ความปกติ’ ตามที่ถือปฏิบัติกันโดยทั่วไป และก็ชักนำมาสู่เรื่องราวที่ใหญ่โตมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ‘ความหลุดวิถีของทั้งสามคน’ ก็ถูกทำให้ยุติลง (ด้วยวิธีการใดนั้นก็คงต้องไปอ่านเอง) และเป็นอันสิ้นสุด Arc แรกของมังหงะเรื่องนี้ไป

ภาพจากเรื่อง Aku no Hana ตอนที่ 12

หากมองจากมุมมองของเราในฐานะผู้อ่านแล้ว เราอาจจะรู้สึกว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากเรื่องเล็กๆ ไม่เป็นเรื่องเลย เราอาจจะกระทั่งรู้สึกตัดสินตัวพระเอกอย่างทาคาโอะว่าโง่ที่ไปทำตามซาวะแบบนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมานั้นมันไม่คุ้มเอาเสียเลย แต่นั่นมันเป็นมุมมองแบบ กึ่งพระเจ้า ที่ผมเคยอธิบายไปก่อนหน้านี้ครับ เพราะเรารู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่ชัดกับตัวทาคาโอะ ในขณะที่ตัวทาคาโอะเองไม่ได้รู้แบบเรา รวมไปถึงสิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องกระจิริดในสายตาเรานั้น ต่อหน้าสายตาของทาคาโอะแล้ว มันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ กับชีวิตของเค้าในโมเมนต์นั้นมากๆ

มังหงะเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของนักปรัชญาฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งยุคอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ชิ้นที่ชื่อ Folie et Déraison: Histoire de la folie à l’âge classique (1961) ซึ่งมีการแปลฉบับย่อ (Abridged version) ในปี 1964 โดยแปลตรงๆ ตัวว่า Madness and Civilization: A History of Insanity in the Age of Reason จนกระทั่งในปี 2006 จึงได้มีฉบับแปลภาษาอังกฤษเต็มๆ สมบูรณ์ขึ้นมาในชื่อว่า History of Madness

Michel Foucault (2006). History of Madness.

ส่วนต่างที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของ Aku no Hana กับงานของฟูโกต์ก็คือตัวพื้นที่ พื้นเพสังคมอันเป็น เซ็ตติ้งหลักของเรื่อง ในขณะที่งานของฟูโกต์นั้นมีฐานอยู่ที่ภาพของสังคมยุโรป แต่อีดอกปีศาจนี้ วางฐานอยู่ในสังคมญี่ปุ่นยุคร่วมสมัย ที่แม้จะเป็นยุคที่กระแสปัจเจกชนนิยม หรือ Individualism พัดผ่านแทบจะทั่วโลกแล้ว แต่ลักษณะของสังคมที่ทำอะไรตามๆ กันเป็นกลุ่มก้อนหนาแน่น (Uniformity สูง) ก็ยังคงมีอย่างชัดเจนในญี่ปุ่นอยู่ด้วย และมันก็ถูกแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในมังหงะดอกเรื่องนี้

ใน History of Madness นั้น ฟูโกต์ได้ทำการสำรวจลักษณะ กลไก และที่ยืนของความบ้าในสังคมยุโรปในสามยุคสำคัญ นั่นก็คือยุคเรอเนสซองส์ ยุคคลาสสิค (หรือช่วงปลายศตวรรษที่ 17 – ศตวรรษที่ 18 เกือบทั้งหมด) และสุดท้ายก็คือยุคสมัยใหม่ โดยส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการทำงานของเขาในโรงพยาบาลจิตประสาทด้วยครับ

ฟูโกต์เริ่มต้นจากการตั้งข้อสังเกตถึงการตีความและการให้ลักษณะของ ‘ความบ้า’ (Madness) ในยุคเรอเนสซองส์นั้นมักจะถูกแสดงออกมาผ่านภาพของการเป็นคนที่มีความรู้ หรือมีปัญญา รวมไปถึงการแบ่งลักษณะของมนุษย์เป็นลักษณะของมนุษย์ที่เป็นแบบนั้นจริงๆ ตามสันดาน กับลักษณะซึ่งมนุษย์แสร้งทำเป็นว่าตนเองเป็นคนเช่นนั้น (ก็คือการคุมจริตนั่นเอง – ดัดจริต ก็เรียก) ในแง่นี้ ในยุคเรอเนสซองส์ตามข้อสังเกตของฟูโกต์แล้ว ความบ้านั้นถูกทำให้สัมพันธ์กับความมีเหตุผล แต่พร้อมๆ กันไปลักษณะดังกล่าวนี้ก็พูดได้ด้วยว่าเป็นการเริ่มต้นของการแบ่งอย่างชัดเจนของลักษณะแบบที่เรียกว่า ‘เป็นเหตุเป็นผล’ (reasonable) กับ ‘ไม่เป็นเหตุเป็นผล’ (unreasonable) ออกจากกันด้วย

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งเหตุผล หรือ The age of reason ฟูโกต์เสนอว่า ภาพของความบ้ากับเหตุผลนั้นเริ่มพลิกความสัมพันธ์ไป จากที่เดิมทีความเป็นเหตุเป็นผลมักจะถูกผลักให้ไปอยู่เป็นความชายขอบ กลับกลายเป็นมันถูกจับแยกขาดออกจากกัน ความเป็นเหตุเป็นผลถูกวางอยู่ฟากฝั่งหนึ่ง ในขณะที่คนบ้า (ความบ้า) รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ อย่างโสเภณี คนจรจัด คนบาป (Blasphemer) เป็นต้น ถูกจับแยกไปไว้อีกฟากฝั่งหนึ่งของสังคม ไปสู่การกักขังใหญ่ที่ต่อมาถูกสร้างขึ้นเป็นสถาบัน (เพื่อการกักขัง) อย่างเป็นทางการทั่วทั้งยุโรป ซึ่งฟูโกต์เรียกมันว่า The Great Confinement หรือการกักขังครั้งใหญ่

โดยเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการแบ่งคน “ผิดปกติ ไม่ตรงหมู่พวกในสังคม” ออกไปจากผู้ซึ่งคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล อยู่ในกรอบหรือระเบียบของสังคมนั้นก็คือ “ความบกพร่องทางศีลธรรม” (Moral error) โดยคำว่าศีลธรรมนี้ไม่ได้มีเซ้นส์ในเชิงศาสนาอะไร แต่เป็นคุณค่าหลักหรือวิถีปฏิบัติหลักของสังคมนั้นๆ มากกว่าครับ กลไกสำคัญของสถาบันแห่งเหตุผลเหล่านี้ ก็คือการลงโทษคนเหล่านี้และให้รางวัลเมื่อคนเหล่านี้หวนกลับคืนจากเส้นทางอันไม่ปกติวิถีได้

ลักษณะของการรักษา (curing) และกักกัน (confine) ความบ้า ในฐานะ “ความป่วยไข้ทางจิต” (Mental illness) จึงกลายเป็นกลไกสำคัญของสังคมสมัยใหม่ไป เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของสังคมโดยรวม

อย่างไรก็ดีในกรณีของสังคมญี่ปุ่นที่สะท้อนอยู่ใน Aku no Hana นี้จะไม่ได้สะท้อนภาพของตัวสถาบันที่ชัดเจนแบบที่ฟูโกต์ต้องการจะสื่อ (เช่น รพ. จิตประสาท หรือสถานบำบัดต่างๆ) แต่ผมคิดว่ามังหงะเรื่องนี้สะท้อนภาพในลักษณะที่น่ากลัวไม่แพ้กันนั่นคือ ด้วยลักษณะของสังคมญี่ปุ่นที่มันมี Uniformity สูงมากนั้น มันทำให้ตัวสังคมทั้งสังคมหลอมรวมกัน กลายเป็น ‘สถาบันแห่งเหตุผล’ หนึ่งเดียวเลย ที่ทำหน้าที่ในการกำกับ คัดแยก กักกัน ลงโทษ และรักษาความบ้า ความหลงผิดที่ปรากฏขึ้นในตัวสังคมทั้งมวล

มื่อตัวสังคมดูจะทำหน้าที่เป็นเครื่องคัดแยกและตัดสินความบ้าในตัวมันเอง ความบ้าในสังคมของญี่ปุ่นจึงดูจะมีลักษณะที่ซ่อนเร้นและหลอมรวมอยู่ในตัวของความปกติมากกว่าในข้อสังเกตของฟูโกต์ที่วางฐานบนสังคมยุโรป ที่ดูจะมีการแยกขาดที่ชัดเจน แต่แน่นอนว่า นั่นไม่ได้แปลว่าสังคมญี่ปุ่นไม่มีสถาบันทางการในการรักษาและจัดการ อย่าง รพ. บ้า ฯลฯ ตามที่ฟูโกต์ว่ามานี้ แต่ด้วยลักษณะของสังคมแบบญี่ปุ่นที่ตัวสังคมทำหน้าที่แบบเดียวกันกับตัวสถาบันทางการควบคู่ไปด้วย ผลลัพธ์ดูจะเป็นการผลักให้เกิดการซ่อนเร้นความบ้าไว้ในซอกหลืบของสังคม มากกว่าขับเน้นให้แสดงตัวออกมาแล้วแยกขาดมันไป เพราะการที่มีคนในครอบครัวเป็นคนบ้า (ซึ่งครอบครัวก็เป็นหน่วยย่อยของสังคม ที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรแห่งเหตุผลด้วยอีกที) มันทำให้ครอบครัวนั้นสูญเสีย ‘ปกติสภาพ’ ไปในสายตาของชุมชนใหญ่ในสังคมที่มี Uniformity สูงมากๆ นั่นเอง ซึ่งเราจะเห็นบทบาทการพยายามจะ “ไม่แยกขาด ไม่พูดถึง ซ่อนมันไว้ไม่ให้สังคมรู้” ทั้งผ่านครอบครัวของซาวะ ทาคาโอะ และนานาโกะ

การที่สังคมญี่ปุ่นทำหน้าที่แบบ ‘สถาบันแห่งเหตุผล’ ไปกลายๆ ด้วย เมื่อความบ้าอย่าง 3 หน่อในเรื่องโผล่ขึ้นมาแบบยั้งไม่อยู่ มันจึงพยายามทำการรักษา โดยการจับยัดความเป็นปกติ (Normality) ของสังคมเข้าทุกทวารของตัวละครเท่าที่กำลังของชุมชนนั้นจะทำได้ เพื่อกลืนให้กลไกและระเบียบของสังคม หรือสถาบันแห่งเหตุผลนี้คงอยู่ตามเดิม แต่ในกรณีที่รักษาจนเต็มกำลังแล้วก็ยังไม่หาย การตัดขาด ทำให้แยกตัวออกจากความเป็นเหตุเป็นผลอย่างที่ฟูโกต์ว่าจึงจะก่อตัวขึ้นในสังคมที่มีลักษณะเฉพาะแบบนี้ เพื่อให้ความมั่นคงของสังคมยังคงอยู่ต่อไปได้

การแบ่งขาดระหว่างความบ้าและโลกแห่งเหตุผลนี้เอง ถูกแสดงให้เห็นถึงช่วงท้ายของ Arc แรก ที่ทุกคนต่างต้องถูกแยกตัวออกจากสังคมเดิมของตนไป ไม่มีพื้นที่ให้อยู่ร่วมได้อีกต่อไป Society must be defended. (หรือสังคมจะต้องได้รับการป้องกัน) อย่างที่ฟูโกต์ว่าไว้ แต่ละคนก็กระจัดกระจายแยกกันไป และไปผ่านการ ‘รักษา’ ให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

เพราะในโลกยุคใหม่นี้ ดังที่ฟูโกต์ว่าไว้ว่า “คนยุคสมัยใหม่ไม่สื่อสารใดๆ กับคนบ้าแล้ว เราไม่มีภาษาที่ใช้สื่อสารร่วมกัน หรือเอาจริงๆ แล้วก็คือ มันไม่หลงเหลืออีกต่อไปแล้ว” (… [The] modern man no longer communicates with madman. … There is no common language; or rather it no longer exists …)

ฉะนั้นหากท่านถูกกำหนดว่าเป็นคนบ้า ในยุคที่ความบ้าคือความป่วยไข้ นั่นแปลว่าสังคมนี้ได้ยุติความเป็นไปได้ในการพูดคุยกับท่านไปแล้ว เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าภาษากลางในการจะเข้าใจความบ้าได้อีกต่อไป เพราะความบ้าเป็นเพียงโรคร้าย และไม่มีใครมานั่งพูดคุยกับโรคร้าย คำอธิบายหรือวิธีคิดนี้ มันขยายต่อไปได้อีกมากครับ ทั้งการคิด การทำตัวสวนกระแสทั่วๆ ไป การเป็นเกย์เลสฯ หรือกระทั่งการเป็นผู้ก่อการร้าย อะไรก็ตามที่สังคมตัดสินไปแล้วว่ามันคือความบ้า มันคือความป่วยไข้ มันต้องถูกกักกัน ถีบออกไปจากสังคมหลัก และไร้ซึ่งภาษาในการสื่อสารกับมันอีก

อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกว่า Aku no Hana นี้พยายามอย่างยิ่งที่จะบอกกับเราว่า “มาสร้างภาษากลางระหว่างความปกติกับความบ้าอีกครั้งเถอะ” เพราะความบ้ามันก็เป็นความเลื่อนไหลทางการเมืองแบบหนึ่ง ในยุคหนึ่งความบ้ากับเหตุผลยังสัมพันธ์กันแนบแน่นได้เลย

ขอให้สนุกกับมังหงะครับ

Tags: , , , , , , ,