ในช่วงที่ผ่านมา สังคมไทยต้องตื่นตระหนกกับกรณีของนายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องที่ได้รับการอภัยโทษจากการทำตัวเป็นนักโทษชั้นดีแล้วหลุดออกมาก่อเหตุซ้ำ ด้วยลักษณะวิธีคล้ายเดิม และเหยื่อลักษณะคล้ายเดิม จนมีการขนานนามฆาตกรรายนี้ว่าคิด เดอะริปเปอร์ซึ่งเป็นการล้อชื่อของแจ็ค เดอะริปเปอร์ฆาตกรฆ่าต่อเนื่องลึกลับในอังกฤษเมื่อราวสองร้อยปีก่อน ที่เลือกเหยื่อเป็นหญิงโสเภณี และมีการกรีดเนื้อของเหยื่อตามฉายา  the ripper ซึ่งจนถึงวันนี้คดีของแจ็ค เดอะริปเปอร์ ก็ยังคงเป็นปริศนา

ส่วนนายสมคิด พุ่มพวงเองนั้น มีการเลือกเหยื่อที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน และใช้การบีบรัดคอเหยื่อจนหายใจไม่ออกตาย ซึ่งถ้าอ่านหนังสือเรื่องล่าปมวิปลาส ยอดฆาตกร’ (Mindhunter) เขียนโดยจอห์น อี ดักลาส (John E Douglas) และ มาร์ก โอลเซเกอร์ (Mark Olshaker) สำนวนแปลโดยวีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร จะพบว่า ฆาตกรต่อเนื่องมักมีแบบแผนหรือลายเซ็นบางอย่าง และเหยื่อมักจะเป็น บุคคลชายขอบ คือกลุ่มคนที่อยู่ในสถานะผิดกฎหมายอยู่แล้ว ที่รัฐคงไม่ใส่ใจตามสืบนัก อย่างเช่นกลุ่มโสเภณี  จากเหตุการณ์นายสมคิดทำให้มีการตั้งคำถามถึงระบบยุติธรรมและการอภัยโทษกันยกใหญ่ว่า การหลอกผู้คุมได้ว่าเป็นนักโทษชั้นดีแล้ว คือเครื่องรับประกันได้หรือว่า คนๆ นี้จะไม่ออกมาก่อคดีตาม ‘สัญชาตญาณเดิมอีก

คนเราเป็นฆาตกรเพราะอะไร มีหลายวิธีคิดทฤษฎีมาตั้งแต่เรื่องที่ว่า ลักษณะของอาชญากรนั้นสามารถสังเกตได้จากรูปใบหน้าหรือกะโหลก หรือปัจจัยทางการเลี้ยงดู ประสบการณ์ในวัยเด็กที่เคยถูกทารุณบ่มเพาะให้ชินชาต่อความรุนแรงและพร้อมจะกระทำผู้อื่นกลับ ซึ่งในส่วนนี้ทางทฤษฎีให้สังเกตเด็กที่ชอบทรมานสัตว์หรือฉี่รดที่นอนเพราะการควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกระทั่งปัจจัยรอบตัวที่ทำให้คนๆ หนึ่งเกิดอารมณ์ขาดสะบั้นขึ้นมาชั่วครู่ จนถลำไปสู่ความรุนแรงกลายเป็นเหตุโศกนาฏกรรม จากนิยายเรื่อง พรายปรารถนาของกิ่งฉัตร ได้อธิบายถึงอารมณ์ที่ขาดสะบั้นขึ้นมาชั่วครู่ว่า เปรียบเหมือนฟองพรายหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดให้ก่อความรุนแรง โดยลืมถึงผลที่ตามมา

สำหรับคอลเล็กชั่นฆาตกรรมเป็นเรื่องสั้นที่พูดถึงปัจจัยทางสังคมที่ผลักดันให้คนๆ หนึ่ง เข้าสู่ระบบความรุนแรง สิ่งที่โยชิดะ ชูอิจิ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญคือ ‘ความเป็นคนนอกคือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมหมู่มาก จนทำให้คนๆ หนึ่งเป็นได้ทั้งผู้กระทำเพื่อตอบโต้ต่อสังคม และเหยื่อที่ถูกสังคมกระทำ (ในกรณีเหยื่อที่ถูกสังคมกระทำเพราะเป็นคนนอก เห็นได้ชัดมากจากกรณีนิยายเรื่องคำพิพากษาของชาติ กอบจิตติ)

ความเป็น คนนอก

เรื่องสั้นเรื่องแรก ทางสามแพร่งแห่งทุ่งนาเขียวชอุ่ม ฟังดูชื่อเหมือนเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสดชื่นอุดมสมบูรณ์ แต่จริงๆ แล้วมันเล่าถึงปัญหาของครอบครัวๆ หนึ่งที่มีแค่แม่ลูก ประกอบอาชีพขายสินค้ากระเป๋าแบรนด์เนมก๊อปปี้ พื้นเพของแม่ลูกคู่นี้มาจากที่ไหนไม่แน่ชัด แต่ผู้เป็นแม่อ่อนด้อยเรื่องการสื่อสารภาษาญี่ปุ่น ทำให้ถูกกลุ่มยากูซ่ารังแกรีดไถบ่อยครั้ง และต้องทนปิดปากเงียบ แม้จะมีครอบครัวที่ให้เช่าพื้นที่ขายคอยให้ความเห็นใจอยู่บ้าง แต่อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดเหตุเด็กหาย คนที่ถูกเพ่งเล็งกลายเป็นครอบครัวนี้ คดียังไม่ทันสะสางก็เกิดคดีใหม่อีกครั้ง และในที่สุดก็มาถึงบทสรุปว่า ‘ใครคือฆาตกรซึ่งก็ไม่ยากที่จะคาดเดา

พรายปรารถนาในแบบนิยามของกิ่งฉัตร ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ไม่ใช่ความคุมแค้นต่อผู้ตกเป็นเหยื่อ แต่มันคือความกดดันที่ทำให้คนๆ หนึ่งอารมณ์ขาดสะบั้นขึ้นมาชั่ววูบหนึ่งเพราะเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่เพื่อนในสังคมเอื้อเฟื้อให้ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งความคุมแค้นถูกระบายออกไปยังคนที่มีฐานะทางสังคมในระดับสูงกว่า

ความเป็นคนนอกที่ส่งผลกระทบต่อผู้ก่อความรุนแรงถูกย้ำชัดขึ้นมาในเรื่องสั้นอีกตอนคือ เซนจิโร่ คนโตเบ็ดเตล็ด’ ซึ่งเล่าถึงเมืองเล็กๆ ในหุบเขาของญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่  เซนจิโร่เป็นสมาชิกรายใหม่ที่เข้ามาในชุมชนและพยายามจะรื้อฟื้นชุมชนที่กำลังจะตาย ด้วยการทำให้เป็นแหล่งส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและขายน้ำผึ้งคุณภาพดี แต่กลับมีปัญหากับผู้อยู่มาก่อนและมีอิทธิพลในหมู่บ้าน จากเรื่องการไปขอการสนับสนุนจากทางการ ซึ่งฝ่ายผู้ใหญ่ต้องการออกหน้าเอง แต่เซนจิโร่จับพลัดจับผลูได้ไปคุยก่อน ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับผู้อยู่มาก่อน

ข่าวลือเกี่ยวกับการข้ามหน้าข้ามตาของเซนจิโร่กระจายออกไปแบบปากต่อปาก และมันก็ค่อยๆ เพี้ยนไปเรื่อยๆ จนจากความหวังดี เขากลายเป็นคนร้ายของสังคม ไม่ว่าจะเพียรพยายามขอโทษสักเท่าไรแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่งเราคงเคยเห็นจากภาพยนตร์ หรือจากเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องว่า สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความกดดันสูง และใช้ความเงียบ การเมินเข้าใส่เพื่อแสดงการไม่ยอมรับ สุดท้ายเซนจิโร่ก็เข้าสู่วงจรของความรุนแรงไปอีกคนหนึ่ง ทั้งสองคดีนี้ ชูอิจิเลือกจะเล่าถึงหลายสาเหตุปัจจัยที่กดดัน และปล่อยให้ผู้อ่านคิดเองว่า ‘จุดขาดสะบั้นมันคือจุดไหนกันแน่ อย่างสำนวนไทยที่พูดว่าไม่มีใครรู้หรอกว่าฟางเส้นไหนทำให้ลาหลังหัก

ในการเป็นสมาชิกที่เป็นคนนอก หรือสมาชิกใหม่ของสังคม สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือการยอมรับ ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งทำได้โดยการที่เริ่มมีคนเปิดใจรับฟังและพาเขาเข้าสู่สังคม อธิบายความแตกต่างของเขาให้เข้าใจ ลดละอัตตาของคนที่อยู่เดิมโดยเฉพาะเรื่องชนชั้นอาวุโสกว่าหรือใครมีอิทธิพลมากกว่า ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องน่าคิดว่า ในสังคมปัจจุบันนี้เราต่างคนต่างอยู่ ทำงานเอาชีวิตตัวเองให้รอดไปวันๆ ทำให้เราละเลยต่อความเห็นใจคนรอบข้างไปหรือไม่ ปัจจุบันมีความพยายามพูดเรื่องการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจมากขึ้น หรือที่เรียกว่า empathy communication เราอาจจะหยิบยกสิ่งนี้มาใช้เพื่อไม่ผลักใครเข้าสู่วงจรของความรุนแรงทั้งการเป็นผู้กระทำและเหยื่อก็ได้

พรายปรารถนา

บางครั้งเราอาจเข้าสู่วงจรของความรุนแรงได้เพราะความต้องการของเราเองเช่นกัน มันอาจไม่ถึงระดับความรุนแรงในระดับการประทุษร้าย แต่เป็นชนวนที่ทำให้เกิดผลยากเกินควบคุมตามมาได้ ถ้าเราไม่ห้ามใจกับสิ่งที่ยั่วยวนให้ถลำไปลองเล่นไฟ

สำหรับเรื่องสั้น นิทรากลางวันของเจ้าหญิงพลับพลึง’ กล่าวถึงพรายปรารถนาที่จะเข้าสู่วังวนของปัญหา มันเป็นเรื่องของเอริโกะ หญิงแม่บ้านวัย 48 ปี ที่มีชีวิตสมบูรณ์พร้อม แต่อยู่มาวันหนึ่ง เธอได้รับข่าวว่า ยูโกะ เพื่อนสมัยมัธยมของเธอก่อเหตุฆาตกรรมสามีเพราะจับได้ว่ามีชู้  เอริโกะมีความทรงจำเกี่ยวกับเพื่อนคนนั้นอย่างเลือนราง เมื่อสืบเสาะไปพบว่า เพื่อนคนนั้นได้ไปทำงานบาร์และใช้ชื่อเอริโกะ เธอเฝ้าคิดเรื่องนี้จนฝันเห็นว่า ยูโกะยื่นดอกพลับพลึงสีแดงให้ ซึ่งพลับพลึงเป็นไม้ดอกที่ยางมีพิษ และสีแดงก็ถือเป็นสัญลักษณ์ของสีต้องห้ามในบางวัฒนธรรม (เช่น ในภาพยนตร์เรื่อง the scarlet letter )

เอริโกะอยากทำความเข้าใจกับสิ่งที่ยูโกะทำ จึงออกเสาะหาเบาะแส และในขณะเดียวกันเธอก็ได้เรียนรู้โลกใหม่ที่เป็นวงการกลางคืน และเข้าไปพัวพันกับเด็กนวด ที่สร้างความสุขแปลกใหม่ให้ชีวิตแม่บ้านเรียบง่ายของเธอ (ในสังคมญี่ปุ่น ผู้หญิงที่แต่งงานมักจะต้องออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน) เอริโกะอยู่บนทางสองแพร่งว่า จะเลือกรับดอกพลับพลึงสีแดงจากยูโกะในความฝัน หรือปฏิเสธมันทิ้งไป จะปล่อยให้พรายปรารถนามีอำนาจเหนือบรรทัดฐานทางสังคมหรือไม่ และจุดจบจะเป็นอย่างยูโกะหรือไม่

และเรื่องสั้นสุดท้ายคือ ‘บอลสีขาวกับตำนานงูขาว พูดถึงฮิโรชิ นักเบสบอลชื่อดังที่เคยเป็นดาว แต่เกิดอาการบาดเจ็บทำให้แข่งขันต่อไม่ได้ ขณะเดียวกันเขาก็ยังมีความจมไม่ลงกับชื่อเสียงเงินทองที่เคยหาได้ และไม่บอกครอบครัวถึงปัญหา กลับยังทำตัวสุรุ่ยสุร่ายจนเป็นหนี้มหาศาล  ต้องไปอ้อนวอนพยายามขอยืมเงินจากเจ้านายเก่ามาใช้หนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธจนเกิดเหตุรุนแรงขึ้นเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ปัญหาทุกอย่างจึงถูกเปิดเผย และคนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือครอบครัวของฮิโรชิที่ต้องจำยอมรับสภาพ ‘จำเลยที่ไม่ได้อยู่ในคุก (ซึ่งภาพความกดดันที่สังคมญี่ปุ่นมีต่อครอบครัวของอาชญากรเป็นอย่างไร อ่านได้จากนิยายเรื่อง ‘จดหมายจากฆาตกรของฮิงาชิโนะ เคโงะ จะเห็นภาพได้ชัดเจนมาก )

ความสำเร็จทำให้ฮิโรชิหลงระเริง และสนองทุกความปรารถนาตัวเองในช่วงที่เป็นดาวรุ่งโดยไม่อาจควบคุมได้ สิ่งหนึ่งคือหน้าตาทางสังคมที่เขาพยายามรักษามันไว้ ฮิโรชิกับเอริโกะ คือตัวละครที่ต้องเลือกการหยุดยั้งพรายปรารถนาของตัวเองหรือปล่อยให้มันเพริดออกไป พวกเขาไม่ใช่ ‘คนนอกที่ถูกกระทำอย่างเรื่องสั้นสองเรื่องที่กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ แต่เป็นผู้ที่เลือกได้ว่า จะจัดการกับชีวิตตัวเองอย่างไรเพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรของความรุนแรง

ที่สุดแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนบอกเราคือ ความรุนแรงมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่อะไรก็ทำให้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแค่เกิดจากคนที่เป็นอาชญากรโดยสันดาน คนรอบตัวเราเองก็มีโอกาสจะเข้าไปอยู่ในวังวนนั้นได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ที่บางทีเราเองก็คาดไม่ถึง อย่างที่ย้ำว่าไม่รู้ว่าฟางเส้นไหนทำให้ลาหลังหักเพียงแต่สังคมหรือตัวเขาเองเลือกที่จะจัดการปัญหาอย่างไรเพื่อไม่ให้มันบานปลายไปสู่โศกนาฏกรรม

บางที การสังเกต ช่วยเหลือคนรอบข้าง เห็นอกเห็นใจ ก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่สุด เพื่อความสงบสุขของสังคมที่จะไม่ต้องสูญเสียใครไปทั้งผู้กระทำและเหยื่อ’ .    

Tags: , , ,