“แอลจีเรีย เป็นของฝรั่งเศส และจะเป็นเช่นนั้นตลอดกาล” – คำขวัญของสมาคมทหารลับ

1

วันที่ 22 สิงหาคม 1962 นาวาอากาศโท ฌอง บาสเตียน-ตีรี (Jean Bastien-Thiry) นั่งดื่มเบียร์อยู่ในบาร์ ย่านชานเมืองของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พอถึงช่วงค่ำเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น เจ้าของร้านไปรับ ปลายสายแจ้งว่าต้องการคุยกับทหารหนุ่มรายนี้

คนที่โทร.มาคือสายข่าวของฌองที่อยู่ในวังเอลิเซ่ ซึ่งมอบข้อมูลล้ำค่ามาว่า ขณะนี้ ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประชุมกับคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังจะเดินทางออกจากวัง เพื่อไปปฏิบัติภารกิจต่อ

นาวาอากาศโทหนุ่มวัย 35 ปี แต่งงานแล้วและมีลูกสาว 3 คน เขาขอบคุณปลายสาย ก่อนจ่ายค่าเบียร์ แล้วออกมานอกร้าน เดินไปตรงทางเท้า ซึ่งเป็นจุดนัดพบ แล้วโบกหนังสือพิมพ์ 2 ครั้ง

หากมองผ่านๆ มันไม่มีอะไรน่าแปลกใจ แต่นี่คือสัญญาณสำคัญที่ฌองตกลงไว้กับทีมงาน มันเป็นสัญลักษณ์ว่า เป้าหมายออกจากที่ตั้งแล้ว ให้ทุกคนเตรียมพร้อม

ปฏิบัติการชาร์ลอตต์ คอร์เดย์ (Charlotte Corday) เริ่มขึ้นแล้ว

สำหรับชื่อปฏิบัติการนี้ เป็นการยกย่องสดุดีชาร์ลอตต์ หญิงนักปฏิวัติฝรั่งเศสผู้ตัดสินใจฆาตกรรมฝ่ายหัวรุนแรง ในยุคแห่งความกลัว หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งทีมสังหารรวมถึงฌองกำลังดำเนินรอยตาม ด้วยการสังหารประธานาธิบดีเดอ โกล 

ในวันที่อากาศเย็นสบาย มีฝนโปรยปรายลงมา ช่างเหมาะที่จะเป็นวันสุดท้ายในชีวิตของบุรุษเหล็กแห่งฝรั่งเศส ผู้ทรยศกองทัพ ยอมให้แอลจีเรีย อาณานิคมในทวีปแอฟริกา ได้รับเอกราช สร้างความผิดหวังและปวดร้าวให้กับทหารที่ต่อสู้ป้องกันดินแดนแห่งนี้อย่างมาก

นักรบขวาจัดเหล่านี้รับไม่ได้ที่ฝรั่งเศสจะต้องสูญเสียอาณานิคม พวกเขาจึงรวมกันก่อตั้งสมาคมทหารลับ โดยมีคำขวัญว่า ‘แอลจีเรียเป็นของฝรั่งเศสและจะเป็นเช่นนั้นตลอดกาล’

สมาคมนี้ตกลงกันว่า พวกเขาจะลอบสังหารเดอ โกล หลังจากนั้นแนวร่วมจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ส่งกองทัพเข้ายึดครองแอลจีเรียให้กลับมาอยู่ในอ้อมอกฝรั่งเศสอีกครา และพวกฝ่ายซ้ายทั้งหลายที่ออกมาประท้วงพูดอะไรไร้สาระ จะต้องถูกกวาดล้างให้หมด

การปฏิวัติของพวกขวาจัดเริ่มขึ้นแล้ว

โดยมีนาวาอากาศโทหนุ่มเป็นผู้นำ

เมื่อชาย 12 คนเห็นสัญญาณการโบกหนังสือพิมพ์ พวกเขาไปเตรียมรถ หยิบปืน แผนก็คือ เมื่อขบวนรถเดอ โกล ขับผ่านมา พวกเขาจะระดมยิง แล้วเอารถ ขับปิดหน้าหลัง สาดกระสุนให้อีกฝ่ายตายดับยกคัน

ง่ายๆ เพียงแค่นี้

ทุกคนพร้อม

สายข่าวของนาวาอากาศโทฌอง แจ้งว่าประธานาธิบดีเดอ โกล จะนั่งอยู่ในรถซีตรอง ดีเอส 19 ซึ่งมีสมญานามว่า รุ่นเทพธิดา

ขบวนรถของผู้นำฝรั่งเศสประกอบด้วยมอเตอร์ไซค์รถนำ 2 คัน จากนั้นตามมาด้วยรถของเดอ โกลที่นั่งเบาะหลังร่วมกับภรรยา มีคนขับเป็นตำรวจและลูกเขย ทหารยศพันเอกนั่งอยู่ข้างโชเฟอร์ ส่วนคันหลังเป็นทีมรักษาความปลอดภัย

รายละเอียดที่สายข่าวแจ้งแก่ผู้พันฌองนั้นถูกต้องทุกอย่าง เส้นทางถูกกำหนด แม้เดอ โกลรู้ดีว่า การให้เอกราชแอลจีเรียทำให้ชีวิตเขาตกอยู่ในอันตรายจากทหารฝ่ายขวาตกขอบทั้งหลาย จึงไม่อยากใช้เส้นทางสัญจรเดิมๆ และจะเปลี่ยนทุกวันเพื่อป้องกันการลอบฆ่า

แต่วันนี้เขาเลือกเส้นทางอื่นไม่ได้ ต้องใช้ทางนี้ซึ่งพวกมือสังหารก็รู้และดักรอ

รถของประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกจากวัง ตอน 19.35 น. มันจะต้องผ่านย่านเปอตี-คลามาร์ต (Petit-Clamart) ซึ่งอยู่ชานเมืองทางตอนใต้ของปารีส

ที่แยกตรงนี้จะเป็นสถานที่ซึ่งเดอ โกลถูกฆ่า

2

ที่ผ่านมานาวาอากาศโทฌองและพรรคพวก พยายามสังหารบุรุษเหล็กแห่งฝรั่งเศสมากว่า 20 ครั้ง แต่ทุกอย่างแคล้วคลาด แต่ครั้งนี้พวกเขามั่นใจมากว่างานจะออกมาสำเร็จ

หากผู้พันแห่งกองทัพอากาศเห็นขบวนรถเดอ โกลขับผ่านมา เขาจะโบกหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เป็นสัญญาณสั่งให้ลั่นกระสุน

ระหว่างนั้นเดอ โกลมีสีหน้าหงุดหงิดกับรถที่ขับช้า โชเฟอร์อ่านสีหน้าประธานาธิบดีถูก จึงเหยียบคันเร่ง แซงขบวนมอเตอร์ไซค์ นั่นกลับทำให้รถวิ่งเข้าไปสู่จุดสังหารในไม่กี่นาที

เวลา 20.18 น. รถซีตรอง ดีเอส 19 ขับมาถึง ผู้พันโบกหนังสือพิมพ์ในทันที

แต่แล้วความผิดพลาดก็เกิดขึ้นจากนาวาอากาศโทฌองเอง 

เพราะเขาดันดูปฏิทินพระอาทิตย์ตกดินผิดปี เขาไปหยิบของปีก่อน ซึ่งแจ้งว่าความมืดจะปรากฏให้เห็นในเวลา 20.35 น. แต่ความจริงแล้วในวันดังกล่าว พระอาทิตย์จะลาลับไปในเวลา 20.10 น. ต่างหาก

25 นาทีที่แตกต่าง ส่งผลต่อประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสในฉับพลัน

เพราะความมืดมาเร็วกว่าเดิม นั่นทำให้ทีมฆ่าไม่แน่ใจว่า ฌองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะพวกเขาเห็นไม่ชัด กว่าจะเห็นแสงไฟจากรถพุ่งเข้ามา

ก็สายเกินไปแล้ว

แต่มือสังหารก็ยังตะโกนลั่นว่า “ลงมือเลย”

ราวนรกแตก กระสุนดังสนั่นขึ้นหลายนัด พุ่งเป้าเข้าใส่รถของเดอ โกลตามแผนทุกประการ โดยรถรุ่นเทพธิดาถูกยิงพรุนไปกว่า 187 นัด

แต่เพราะความล่าช้าในการอ่านสัญญาณ ทำให้รถที่จะต้องไปปิดหน้าขบวนประธานาธิบดี ไปไม่ทัน แม้จะยิงใส่ยางรถ อัดใส่ตัวเครื่อง จนมีคนที่อยู่แถวนั้น โดนลูกหลงเจ็บ 1 ราย

แต่กลับไม่มีใครเสียชีวิตเลย

เดอ โกลยังมีชีวิตรอด เช่นเดียวกับคนในรถขบวน ราวปาฏิหาริยที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลยแม้แต่รายเดียว 

ทุกอย่างกินเวลาเพียง 45 วินาทีเท่านั้น

เมื่อถึงที่หมาย ประธานาธิบดีฝรั่งเศสถึงกับปล่อยมุขออกมาว่า 

“พวกมันยิงได้ห่วยชะมัด ควรจะไปฝึกยิงปืนใหม่ซะ”

3

แท้จริงแล้วชะตาของเดอ โกลถือว่าเส้นยาแดงผ่าแปดมากๆ เพราะขณะมือสังหารสาดกระสุนนั้น มีนัดหนึ่งพุ่งทะลุกระจก แล้วเฉียดจมูกเดอ โกลเพียงนิด โดยระหว่างนั้นภรรยาของเขา หมอบลงที่ตัก และประธานาธิบดีฝรั่งเศสเอนตัวไปข้างหลังเล็กน้อยจึงรอดชีวิตมาได้

พระเอกตัวจริงในงานนี้ นอกจากโชเฟอร์ที่คุมสติได้อย่างเหลือเชื่อ เขาคอยประคองรถ ทำความเร็ว แล้วแล่นผ่านจุดสังหารได้อย่างฉิวเฉียด มันก็ต้องยกความดีความชอบให้กับเทพธิดา เพราะแม้จะถูกยิงจนยางแบน เครื่องยนต์เสียหาย แต่เพราะนวัตกรรมของซีตรองรุ่นนี้ที่ออกแบบมาอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ มันสามารถวิ่งได้ยาวๆ แม้จะเครื่องพังหรือยางเสียหาย

นี่จึงทำให้เดอ โกลรอดตายมาได้

เมื่อไปถึงสนามบิน ทีมงานของประธานาธิบดีวิ่งล้อมหน้าล้อมหลัง แต่บุรุษผู้กอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลที่ไม่กลัวตาย ลงจากรถพร้อมภรรยาด้วยมาดองอาจ เดินปัดเศษกระสุนแล้วบินขึ้นฟ้าเพื่อทำภารกิจต่อ

กระนั้นขณะเดินทางกลับที่พัก ประธานาธิบดีเดอ โกลกระซิบกับคนใกล้ตัวว่า

“ครั้งนี้ถือว่าเฉียดจริงๆ ว่ะ”

เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก หลังเกิดเหตุคะแนนเสียงในตัวประธานาธิบดีพุ่งสูงขึ้นมาก การถูกลอบฆ่าแต่ไม่ตาย ทำให้คนยิ่งศรัทธาในตัวเดอ โกลจนนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพิ่มอำนาจประธานาธิบดีให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง อันเป็นการก่อกำเนิดสาธารณรัฐที่ 5 ในเวลาต่อมา

ส่วนทีมสังหารพอรู้ตัวว่าล้มเหลว พวกเขาก็รีบหนีไปในทันที

ฌองหลบหนีไปอังกฤษ กระนั้นหลายเดือนต่อมา เขาลอบเข้ามายังฝรั่งเศสเลยถูกจับกุม พร้อมทีมงานเกือบทั้งหมด ถูกส่งตัวขึ้นศาลทหาร 

คดีนี้มีโทษสูงสุดคือ ประหารชีวิต

4

เพื่อนทหารที่ร่วมสมาคมลับกับนาวาอากาศโทฌองเผยว่า ตอนเห็นชายคนนี้ครั้งแรก เขาไม่คิดว่าอีกฝ่ายเป็นนักรบ

“เขาแก้มอูม ท่าทางเหมือนบรรณารักษ์มากกว่า”

กระนั้นนาวาอากาศโทฌอง เรียนเก่ง รูปงาม และเคยปฏิบัติภารกิจในแอลจีเรีย อย่างไรก็ดีความผิดพลาดที่สมาคมเลือกให้เขาเป็นคนสั่งการลอบฆ่าเดอ โกลก็คือ ชายคนนี้ไม่เคยออกรบจริงๆ ไม่เคยนำทัพ บังคับบัญชาลูกน้อง เขาเป็นทหารเฝ้าขีปนาวุธเท่านั้น และมีแนวคิดว่า แอลจีเรียไม่ควรได้รับเอกราช เดอ โกลมีความผิดและต้องถูกฆ่า

เพียงแค่นี้พวกขวาจัดกลับเห็นว่า เขามีคุณสมบัติเพียงพอจะวางแผนลอบสังหารประธานาธิบดีได้ แต่ผลที่ได้ก็คือความล้มเหลว

ทางการฝรั่งเศสใช้เวลาหลายเดือน ล่าตัวผู้ก่อเหตุ ความโชคดีคือ ตำรวจตั้งด่านจับกุมชายต้องสงสัยรายหนึ่ง ที่ไม่มีเอกสารประจำตัว พอส่งลายมือไปยังหน่วยงานความมั่นคง ก็ได้รับผลว่า บุรุษรายนี้ข้องเกี่ยวกับสมาคมลับ เจ้าหน้าที่จึงวางแผนสอบปากคำ โดยแกล้งทำทีว่า ชายคนนี้เป็นเพียงมิจฉาชีพกระจอก จนเขาทนไม่ไหว แจ้งว่าตัวเองไม่ใช่โจรธรรมดา แต่อยู่ในสมาคมลับของพวกทหารขวาจัด

“แล้วเอ็งรู้เรื่องที่เปอตี-คลามาร์ตหรือเปล่าล่ะ”

ตำรวจวางหมาก และผู้ก่อเหตุหลงกลด้วยความอหังการและมั่นใจแบบโง่ๆ จึงเปิดปากเล่าทุกอย่าง จนนำไปสู่การค้นพบหลักฐานโยงใยไปถึงฌองได้สำเร็จ

มันเป็นความภาคภูมิใจที่นำพาสู่หายนะ

ณ ศาลทหาร ขณะที่ผู้ก่อเหตุรายอื่นๆ สงวนปากสงวนคำให้การ แต่ดูเหมือนนาวาอากาศโท เจ้าของแผนลอบฆ่าเดอ โกลจะไม่เป็นเช่นนั้น เขาใช้คำเรียกขานประธานาธิบดีว่าเป็นเผด็จการ เคยถึงขั้นเปรียบเทียบว่าเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีเยอรมัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเดอ โกลเกลียดมาก

กระนั้นฌองกลับแจ้งต่อศาลว่า เขาไม่เคยคิดฆ่าประธานาธิบดี แค่ต้องการลักพาตัว เพื่อกดดันให้รัฐทำตามข้อเรียกร้อง คือยึดแอลจีเรียกลับมาเป็นอาณานิคม

“ถ้าท่านไม่ยอมทำตามที่คุณบอกล่ะ ถ้าประธานาธิบดีไม่ลงจากรถ คุณจะทำอย่างไร” ผู้พิพากษาถาม

“ผมก็แค่กระชากแว่นตากับเข็มขัดท่าน เท่านี้อีกฝ่ายก็ต้องยอมทำตามแล้ว”

เสียงหัวเราะดังกระหึ่มในชั้นศาล ฌองยิ้มสะใจกับมุขตลกของตัวเอง

แต่ทนายความของเขาพูดเสียงเบาๆ มาว่า

“คุณเพิ่งเซ็นใบมรณบัตรให้กับตัวเอง”

คำพูดตลกๆ ของทหารอากาศรายนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเดอ โกลอย่างมาก เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ประหารชีวิตยกชุด ประธานาธิบดีสั่งให้ลดโทษผู้ก่อเหตุ เป็นจำคุกตลอดชีวิต

แต่สำหรับนาวาอากาศโท ฌองนั้น ผู้นำฝรั่งเศสยืนกรานให้ประหารชีวิต 

5

อย่างที่บอกไปว่า เหตุการณ์ลอบสังหารเดอ โกลกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั้งโลก และมันสร้างความสนใจให้กับนักข่าวหนุ่มวัย 31 ปีเป็นอย่างยิ่ง ในปี 1969 เขาเพิ่งเดินทางกลับจากสงครามกลางเมืองไนจีเรียได้เพียง 18 เดือน พอได้ยินเรื่องราวประธานธิบดีฝรั่งเศสรอดตายและสมาคมทหารลับ ทำให้เจ้าตัวตัดสินใจสืบหาข้อมูลเพิ่มเติม

และนั่นนำไปสู่นวนิยายเปลี่ยนโลกในเวลาต่อมา

นักข่าวหนุ่มใช้เวลาเพียง 35 วันเท่านั้นกับการเขียนนิยายเรื่อง วันลอบสังหาร (The Day of the Jackal) โดยหยิบฉากผู้พันหนุ่มลอบฆ่าเดอ โกลใส่ในบทแรก ก่อนแต่งแต้มเรื่องมือสังหารจากอังกฤษที่ถูกจ้างจากสมาคมทหารลับให้ฆ่าประธานาธิบดีฝรั่งเศส

หนังสือเล่มนี้ดังไปทั่วโลก และทำให้นักข่าวรายนี้กลายเป็นผู้จุดกระแสนิยายสกุลสืบสวนสอบสวนระทึกขวัญ กลายเป็นทางที่นักเขียนหลายรายดำเนินรอยตาม

ชื่อของเขาคือ เฟรเดอริก ฟอร์ไซธ์ (Frederick Forsyth) เจ้าพ่อนิยายสืบสวนสอบสวนในเวลาต่อมา

ในบทแรกของนิยายเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงที่ฟอร์ไซธ์ไปคุยกับแหล่งข่าวมา ทุกอย่างถูกต้อง เผยเบื้องลึกเบื้องหลังทุกอย่างที่สะท้อนความโอหังของนาวาอากาศโทฌอง ผู้ไม่เคยสำนึกและคิดว่าตัวเองกำลังทำความดีต่อประเทศชาติ แม้จะตกเป็นอาชญากร เขาไม่ตระหนักว่าได้ทำผิดกฎหมายเพียงใด และยังคิดว่าตัวเองทำทุกอย่างชอบธรรม

กว่าจะรู้ตัวก็ถูกพาตัวเข้าสู่แดนประหาร ทุกอย่างก็สายเกินไป

ฟอร์ไซธ์เผยว่า พลันที่ทนายแจ้งนาวาอากาศโทฌองว่า เขาจะถูกประหารชีวิตในวันพรุ่งนี้ อีกฝ่ายยังยิ้มแย้ม แล้วพูดออกมาว่า “คุณไม่เข้าใจ ไม่มีทหารหน่วยไหนจะถือปืนมายิงผมหรอก”

เวลา 06.40 น. ของเช้าวันที่ 11 มีนาคม 1963 อดีตทหารอากาศ ถูกพาตัวจับมัดในหลักประหาร โดยมีทหารถืออาวุธ เมื่อได้รับคำสั่ง กระสุนก็รัวใส่ตัวเขาจนขาดใจตายอย่างอนาถ

ฌอง บาสเตียน-ตีรี กลายเป็นนักโทษประหารรายสุดท้ายของฝรั่งเศสที่ถูกลงโทษด้วยการยิงเป้า

 

ข้อมูลอ้างอิง

นิยาย วันลอบสังหาร โดยเฟรเดอริก ฟอร์ไซธ์ แปลโดย ธนิต ธรรมสุคติ (โดยบทแรกแทบจะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลอบฆ่าในวันดังกล่าว)

https://www.yahoo.com/news/saw-himself-noble-soldier-saving-060000421.html

https://www.history.co.uk/articles/the-assassination-plot-that-inspired-the-day-of-the-jackal

https://www.nytimes.com/1973/09/02/archives/the-real-jackal-his-only-regretnot-to-have-killed-de-gaulle-1.html?smid=url-share

https://time.com/archive/6624170/france-the-life-of-one-man/

https://www.theguardian.com/world/2022/aug/22/france-charles-de-gaulle-assassination-attempt-the-day-of-the-jackal

https://www.history.com/this-day-in-history/citroen-helps-de-gaulle-survive-assassination-attempt

https://www.theguardian.com/commentisfree/2011/jun/03/day-jackal-frederick-forsyth?CMP=Share_iOSApp_Other

https://jalopnik.com/gateway/nightmare-projects-you-ditched-cars-that-deserve-deser-1851732184

https://www.theguardian.com/world/2020/mar/12/de-gaulle-assassination-plot-leader-executed-at-dawn-1963

https://www.historynet.com/de-gaulle-assassination/

https://www.france24.com/en/live-news/20220821-close-shave-how-de-gaulle-escaped-assassin-s-bullets-60-years-ago

Tags: , , , ,