“ลูกรัก” ผู้เป็นพ่อกล่าว “ลูกจะไม่แต่งงาน ลูกจะต้องทำงาน” และลูกสาวหนึ่งในจำนวนสองคนก็ถือปฏิบัติตามคำของพ่อ

ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) มุ่งมั่นทำงานตลอดระยะเวลาหลายสิบปีอย่างขยันขันแข็ง และไม่เคยแต่งงาน แต่เธอก็ยังมีความสัมพันธ์ เธอพบทางออกของตัวเองที่จะยึดมั่นคำของพ่อเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็หลบเลี่ยงในทางปฏิบัติ

เธอคบ ฌอง-ปอล ซาตร์ (Jean-Paul Sartre) เป็นคู่ครอง แต่ไม่ใช่สามี เธอก่อสัมพันธ์กับเขา อย่างน้อยก็ในขอบเขตของการทำงาน ไม่ใช่รูปแบบของชีวิตคู่ ต่างคนต่างมีบ้านช่องห้องหับของตนเอง ตามทฤษฎีสัมพันธ์รักแบบเปิดนานกว่า 40 ปี ที่นักวิจารณ์ร่วมสมัยให้ความเห็นทั้งดีและร้าย แตกต่างกัน ทั้งจากมุมมองของสามัญชนคนทั่วไป และมุมมองของนักสตรีนิยม

มันเป็นสัมพันธ์รักที่เรื่องเซ็กซ์ไม่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น ครั้นเมื่อหลายปีผ่านพ้น เรื่องเซ็กซ์ก็แทบไม่มีบทบาทสำคัญอะไรเลย คงมีแต่คำมั่นและสัญญาเท่านั้นที่ยึดโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองไว้

“เราต่างคนต่างนั่งที่โต๊ะ และเขียนหนังสือของตนเอง” ซีโมน เดอ โบวัวร์เขียนเล่าให้ เนลสัน ออลเกรน (Nelson Algren) ในฤดูร้อนปี 1947 เกี่ยวกับชีวิตของเธอกับฌอง-ปอล ซาตร์ ใครอ่านแล้วจะให้แปลความหมายว่าอย่างไร เรานอนด้วยกันบนเตียงและทำลูกด้วยกัน อย่างนั้นหรือ ความน่าทึ่งในชีวิตของเดอ โบวัวร์อยู่ตรงที่ว่า เธอสามารถจัดการกับความขัดแย้งในตัวเองได้สำเร็จ โดยผสานครึ่งหนึ่ง–คือการครองคู่กับผู้ชายแบบผู้หญิงทั่วไป กับอีกครึ่งหนึ่ง-ที่เธออุทิศให้กับการทำงานอย่างเคร่งครัด การเอาชนะตัวเองในแบบผู้ชายที่ผู้ชายมักทำกันนั้นเป็นความใฝ่ฝันของเธอมาตั้งแต่เมื่อครั้งวัยรุ่น

ในชีวิตของเดอ โบวัวร์มีเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นที่เธอเผยวิถีคิดเกี่ยวกับการแต่งงานออกมาอย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือระหว่างพิธีศพของเธอในปี 1986 เธอยังคงสวมแหวนอยู่ที่นิ้วมือ แหวนที่เธอได้รับจากผู้ชายคนหนึ่งเมื่อสี่สิบปีก่อนหน้า และผู้ชายคนนั้นคือ เนลสัน ออลเกรน นักเขียนชาวอเมริกัน เขาเป็นผู้ชายคนเดียวที่เธอเขียนจดหมายรักไปหา โดยใช้คำขึ้นต้นว่า “สามีของฉัน” และลงท้ายจดหมายว่า “ภรรยาของคุณ” หรือ “ภรรยาที่เป็นของคุณ”

ความขัดแย้งในตัวเองของเดอ โบวัวร์ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนปี 1947 กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมันไปไกลเกินกว่าความเจ็บปวดของรักสามเส้า หรือความขัดแย้งทั่วไปที่เกิดขึ้นระหว่างความเป็นหญิงและความเป็นปัญญาชน อย่างแรกเลย เดอ โบวัวร์ไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างซาตร์และออลเกรน อีกทั้งออลเกรนก็ไม่ต้องรู้สึกผิดกับเรื่องรักใคร่ที่เกิดขึ้นระหว่างการท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยือน ไม่ทั้งระหว่างสองเมืองหรือสองทวีป หากเป็นระหว่างสองทางเลือกของหัวใจเธอเอง

ในชิคาโก เธอได้ร่วมโต๊ะ ร่วมเตียง และร่วมใช้ชีวิตประจำวันกับผู้ชายคนนี้ คนที่เป็นแรงผลักดันให้เธอเขียน และมีผลงานหนังสือออกมาสม่ำเสมอ คนที่ทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่ประทับริมฝีปากและระบายรูปหยดน้ำตาแห่งความโหยหาลงบนกระดาษจดหมาย คนที่เป็นแรงจูงใจให้เธอเปลี่ยนแปลงชีวิตก่อนเดินทางไปเยือนอเมริกา โดยนอนมากขึ้น ดื่ม(สุรา)น้อยลง ไม่โหมงานจนล้า เพื่อให้ร่างกายพร้อมและดูดีเมื่อไปถึงชิคาโก

เดอ โบวัวร์เคยกล่าวว่า เนลสัน ออลเกรนเป็นรักที่เธอปรารถนา รักที่เธอเคยเขียนบรรยายไว้ในปี 1949 ว่า “หัวใจ จิตวิญญาณ และร่างกายเป็นหนึ่งเดียว” รักที่ถาโถม โรแมนติก และเย้ายวน แต่ปราศจากสัญลักษณ์ ปราศจากการทดลองทางสังคม และปราศจากโครงสร้างที่ซับซ้อน รวมถึงไม่มีความเปลี่ยนแปลงในบทบาททางเพศ

ปัญหาต่างๆ เริ่มปรากฏขึ้นภายหลังเธอเดินทางจากอเมริกากลับสู่ปารีส ทุกอย่างดูแปลกปลอมสำหรับเธอ ทุกอย่างไม่ใช่ชิคาโก ไม่ใช่ออลเกรน

ซีโมน เดอ โบวัวร์เขียนจดหมายฉบับแรกเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1947 “ฉันคิดว่ามีบางอย่างผิดพลาดกับหนังสือเกี่ยวกับผู้หญิงที่ต้องการทำงานต่อที่ฉันเขียนค้างไว้ก่อนเดินทางไปอเมริกา ฉันเขียนมันต่อจากที่ฉันค้างไว้ไม่ได้” เพื่อเรียกสติกลับคืน เธอจำต้องย้ายกลับไปพักอยู่ที่บ้านในชนบทสองเดือน จากที่นั่นเธอเขียนจดหมายถึงคนรักชาวอเมริกันทุกๆ สอง-สามวัน “ฉันรักคุณและคิดถึงคุณ และเป็นภรรยาของคุณเหมือนที่คุณเป็นสามีของฉัน ฉันจะนอนหลับในอ้อมกอดของคุณ ที่รักของฉัน จากซีโมนของคุณ”

แต่เธอไม่ได้เขียนเล่าความจริงกับ “สามี” ว่า ซาตร์ไปพักที่บ้านในชนบทด้วย และใช้เวลาอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างความคุ้นเคยกันใหม่ สร้างคำมั่นสัญญาขึ้นใหม่

นอกจากนั้น การอธิบายตัวเองไม่ได้เกี่ยวกับการปรากฏขึ้นของผู้ชายคนใหม่ในชีวิต ยังทำให้เธอรู้สึกหงุดหงิดถึงขั้นสติแตก ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเธอเล่มที่สาม เธอพูดถึง “ความกลัวเรื่องผิดปกติทางจิต” ที่เธอประสบเมื่อต้นฤดูร้อนปี 1947 ว่า “จู่ๆ ฉันรู้สึกคล้ายเป็นก้อนหินที่ถูกท่อนเหล็กทุบแตกเป็นเสี่ยง เหมือนตกนรกจริงๆ”

วันที่ 23 กรกฎาคม สี่เดือนหลังจากเธอรู้จักกับเนลสัน ออลเกรน และสองเดือนหลังจากเดินทางกลับจากอเมริกา ซีโมน เดอ โบวัวร์เขียนจดหมายฉบับหนึ่ง บอกกล่าวกับออลเกรนว่า เธอรักเขามาก แต่เธอไม่สามารถร่วมปันชีวิตกับเขาได้ เรื่องรักใคร่กับออลเกรนยาวนานสามปี จวบถึงปี 1950 เดอ โบวัวร์ยังเดินทางไปหาเขาที่อเมริกาอีกสองครั้ง และมีครั้งหนึ่งที่เขาเดินทางมาพักอยู่ในปารีสนานสี่เดือน ปี 1960 การติดต่อและการสื่อสารทางจดหมายก็สิ้นสุดลง

จดหมายของซีโมน เดอ โบวัวร์ถูกนำมาแปลและตีพิมพ์เป็นหนังสือในเวลาต่อมา ขณะที่จดหมายของออลเกรนไม่ถูกนำมาเปิดเผย ใครอื่นจึงรับรู้ได้เพียงจากน้ำเสียงของสุภาพสตรีจากปารีส ที่ฟังดูพะเน้าพะนอ พร่ำเพ้อหาหนุ่มมาโชชาวอเมริกัน ด้วยเรื่องเล่า เรื่องพรรณนา เธอเขียนแล้วเขียนเล่า และสุดท้ายก็จบลงที่ความขัดแย้งในตนเอง ซึ่งออลเกรนน่าจะสังเกตได้ว่า ตั้งแต่ปี 1948 เดอ โบวัวร์ไม่ได้เอ่ยเรียกเขาด้วยคำขึ้นต้นว่า ‘สามีของฉัน’ อีกแล้ว หากแต่มันถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘mon cher amour’ (ที่รักของฉัน)

นั่นเป็นจุดเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่น่าสังเกตเพียงไม่กี่จุดในการเขียนจดหมายโต้ตอบ รวมถึงคำอุปมาที่ขาดพลัง ความลุ่มหลงที่เพ้อคลั่ง และบทจบที่น่างงงวย หรือลายเซ็นลงท้ายของเธอที่สะท้อนลักษณะนิสัย เป็นส่วนผสมของความรักที่พลุ่งพล่าน และจังหวะการยับยั้งตนเอง บางคราวก็บ่งบอกถึงอารมณ์แข็งทื่อ เหมือนเช่นที่เธอเคยเปรียบเปรยตัวเองเป็น ‘ก้อนหิน’

ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับฌอง-ปอล ซาตร์เป็นประเด็นที่เธอไม่สามารถอธิบายให้คนรักชาวอเมริกันรับฟังได้ “ฉันขอให้คุณเชื่อ ฉันจะอธิบายให้คุณฟัง แต่ตอนนี้ขอให้เชื่อฉัน ได้โปรด ได้โปรด ถ้าหากการได้อยู่กับคุณเป็นพรหมลิขิตละก็ โอ…พระเจ้า ฉันจะทำ” และจดหมายฉบับถัดมาในเดือนกรกฎาคม 1948 เธอกลับเขียนมันอีกอารมณ์ “ในอนาคต ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร ฉันอยากให้คุณรับรู้ไว้ว่า ฉันไม่อาจอยู่กับคุณได้ ไม่ใช่เพราะหมดรัก”

ฤดูร้อนปี 1950 เดอ โบวัวร์เขียนจดหมายจากอเมริกาถึงฌอง-ปอล ซาตร์ “…ฉันไม่เสียใจที่เรื่องนี้ตายไป เพราะความตายของมันถูกบรรจุอยู่ในชีวิตของฉันแล้ว ชีวิตที่ฉันเลือก และที่คุณมอบให้ฉัน ฉันรู้สึกว่า ที่นี่ถูกรัดรึงด้วยความปรารถนาเก่าๆ ในขณะที่สิ่งใหม่ ความเสน่หา และความสุขของชีวิตฉันยังอยู่กับคุณ เพื่อนตัวน้อยของฉันเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว”

สามปีก่อนหน้านั้น ความสัมพันธ์ของเธอกับซาตร์ยังเป็นแบบอื่น ครั้งนั้นเธอเพิ่งตกหลุมรัก และยังสับสนกับการกลับมาถึงปารีส หรือจะเป็นเพราะหนังสือเล่มนั้น ที่ทำให้เธอรู้สึกเหมือน ‘ตาย’ และติดขัดที่จะเขียนต่อ

หนังสือเล่มนั้น Le Deuxième Sexe (เพศที่สอง) จุดชนวนความอื้อฉาวขึ้น และทำให้นักเขียนมีชื่อเสียงโด่งดัง

 

อ้างอิง:

Tags: , , ,