ในปี 1962 นักศึกษาพม่าลุกฮือต่อต้านประท้วงการรัฐประหาร ‘ซ้อน’ ของ พลเอก เน วิน (Ne Win) แต่กองทัพตอบโต้ด้วยการทิ้งระเบิดใส่อาคารสหภาพนักศึกษาย่างกุ้ง (Rangoon University Students’ Union: RUSU) อนุสรณ์สถานแห่งการต่อต้านเจ้าอาณานิคมในทศวรรษ 1920
ในปี 1988 ทหารปราบปรามประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเน วิน นายพลผู้แปรเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็น ‘ฤาษีแห่งเอเชีย’ และคุมขัง อองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) ไอคอนแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในบ้าน เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ
ในปี 2007 พระสงฆ์เป็นผู้นำการประท้วงต้านระบอบเผด็จการ ‘ไม่รับบิณฑบาต’ จากกองทัพพม่า หลังเผชิญปัญหาปากท้องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แม้เหตุการณ์จะไม่รุนแรงเท่าการชุมนุมครั้งก่อน แต่ยังมีรายงานถึงผู้เสียชีวิต ซึ่งรวมถึงนักข่าวญี่ปุ่นจำนวน 1 ราย
ในปี 2021 กองทัพพม่าภายใต้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย (Min Aung Hlaing) ถืออาวุธสู้ประชาชนที่พยายามล้มการทำรัฐประหาร เป็นเหตุให้คนธรรมดาต้องลุกขึ้นจับปืนต้านระบอบเผด็จการ ซึ่งทุกวันนี้สถานการณ์ยังคงยืดเยื้อและมีเลือดเนื้อของประชาชนกำลังสูญเสียไปเรื่อยๆ
เหล่านี้คือประวัติศาสตร์การเมืองพม่าสมัยใหม่ ทั้งในห้วงความทรงจำของชาวไทยและคนทั่วโลก ซึ่งมักผูกโยงกับตัวแสดงอันคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพที่ใช้อำนาจอันฉ้อฉล นักการเมืองในรัฐสภา และประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย
ทว่าในพื้นที่อีกฟากฝั่งหนึ่ง ซึ่งก็คือประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ Power of Powerless ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เลือกที่จะเล่าเรื่องของ ‘นักโทษการเมืองพม่า’ กลุ่มคนที่โดนระบอบเผด็จการผลักไสในฐานะคนชายขอบ ให้เลือนหายไปจากความทรงจำร่วมของชาติ ซ้ำยังถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์
“จะไม่มีการปรองดองในพม่า ตราบเท่าที่ยังมีนักโทษการเมือง”
คือความเชื่ออันแรงกล้าและเปรียบดังคำขวัญของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assitance Association for Political Prisoners: AAPP) กลุ่มผู้สร้างพิพิธภัณฑ์ Power of Powerless ที่พยายามเปิดเผย ‘ความจริง’ จากเหยื่ออธรรมบนพื้นที่แห่งนี้ โดยหวังว่า สักวันหนึ่ง พวกเขาจะเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่านของประเทศ (Transitional Justice) เมื่อพม่ากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
1
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง คือองค์กรสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งในปี 2000 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประเทศไทย และเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า แม้ AAPP เคยย้ายออฟฟิศหลักกลับไปที่เมืองย่างกุ้งในปี 2013 หลังเกิดเหตุไฟไหม้ในสำนักงานสาขาแม่สอด ทว่าในปัจจุบันองค์กรยังคงเปิดทำการที่ประเทศไทยเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์สงครามและความไม่สงบในพม่า
นอกจากให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง AAPP ยังปฏิบัติภารกิจอื่นภายใต้จุดประสงค์สำคัญคือ การทำให้ประชาชนได้รับสิทธิทางการเมือง และการผลักดันให้พม่าเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ได้แก่ การเก็บข้อมูลและประสานกับนักโทษการเมือง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับสื่อและองค์กรนานาชาติ, การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน, การสร้างความตระหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้งระดับสากลและประเทศ, การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อจากบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงการเปิดเผย ‘ความจริง’ ให้คนรุ่นใหม่ในพม่าและทั่วโลก ได้ทราบถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม
สำหรับการมาเยือน AAPP ของผู้เขียนในครั้งนี้ (และครั้งแรก) เป็นส่วนหนึ่งของทริปผู้สื่อข่าวภายใต้โครงการของเสมสิกขาลัย (Spirit in Education Movement: SEM) ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรในแวดวงสื่อจำนวนหนึ่ง รวมถึง The Momentum ได้ร่วมเรียนรู้เรื่องราวและสถานการณ์ในพม่า หลังรัฐประหารปี 2021 เป็นต้นมา โดยมีแม่สอดเป็นจุดหมายสำคัญ ในฐานะเมืองชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทันทีที่เดินทางมาถึง ผู้เขียนรู้สึกสะดุดตากับลักษณะภายนอกของพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบให้เหมือนกับเรือนจำคุมขัง นับตั้งแต่กำแพงที่ทาด้วยสีแดงทั้งหมด ขณะที่อีกมุมหนึ่งคือ ประตูขนาดเล็กที่ทุกคนต้องก้มตัวลอดผ่าน ซึ่งข้อมูลจากในเว็บไซต์ AAPP อธิบายเบื้องหลังของสถาปัตยกรรมนี้ว่า เป็นวิธีการ ‘ลดทอน’ ความเป็นมนุษย์ของทหารพม่าต่อนักโทษ
นอกจากนี้ด้านบนของประตูยังปรากฏชื่อพิพิธภัณฑ์คือ Power of Powerless หรือ ‘พลังของคนที่ไร้พลัง’ ซึ่งเป็นชื่อใหม่ของสถานที่ และได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อหนังสือของ วาตสลัฟ ฮาเวล (Václav Havel) อดีตประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย นักเคลื่อนไหว และรัฐบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
2
อึดอัดอย่างบอกไม่ถูก
คือความรู้สึกของผู้เขียน หลังจากเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ด้วยการลอดตัวผ่านประตูนักโทษ อาจเป็นเพราะปัจจัยแวดล้อม เช่น แสงไฟสลัว และห้องปิดทึบที่ไม่ได้รับอากาศจากภายนอก จนทำให้ต้องถอดเสื้อกันหนาวออกในระหว่างการบรรยาย
เราพบกับชายวัยกลางคนที่มีท่าทางใจดีคือ จ่อ โซ วิน (Kyaw Soe Win) ผู้ดูแลโปรแกรมสุขภาพจิตของ AAPP และอดีตนักโทษการเมืองพม่าในปี 1992-1998 เขารับหน้าที่บรรยายเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแบ่งแยกย่อย 2 ส่วนคือ ประวัติศาสตร์การเมืองและเรื่องราวของนักโทษการเมือง
จ่อ โซ วินเริ่มต้นการบรรยายอย่างคุ้นเคย พร้อมกับชี้แผนที่ประกอบว่า คุกขังนักโทษตั้งอยู่ทั่วประเทศพม่าถึง 53 แห่ง ส่วนหนึ่งเป็นคุกใหม่อีก 6 แห่ง ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2021 โดยตัวเลขนี้เป็นเพียงคุกที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ไม่รวมถึงคุกของกลุ่มพระหรือทหาร ซึ่งอาจรวมทั้งหมดได้ถึง 60 แห่งตามรายงานของกองทัพพม่า
ถัดมาเป็นภาพถ่ายทางดาวเทียมของคุก หนึ่งในนั้นมี ‘คุกอินเส่ง’ (Insein Prison) ในเมืองย่างกุ้ง พื้นที่จองจำใหญ่ที่สุดในประเทศ ฉาวโฉ่ในเรื่องความโหดร้ายทารุณ และมีความปลอดภัยรัดกุมเป็นพิเศษ ทั้งยังเคยเป็น ‘ที่คุมขัง’ ของผู้บรรยายอีกด้วย ทว่าจ่อ โซ วินเล่าเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่รัฐประหารปี 2021 คุกในพม่ามีนโยบายรัดกุมมากกว่าในอดีต เพื่อกดดันและข่มเหงนักโทษทางการเมือง
สำหรับในเรื่องสภาพความเป็นอยู่ในคุก อดีตนักโทษการเมืองเล่าว่า คุกเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย หนึ่งในนั้นคือการห้ามอ่านและการเขียนหนังสือ เพราะรัฐบาลทหารไม่อยากให้ประชาชนลุกฮือ โดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ของประเทศว่า ครั้งหนึ่งนักโทษการเมืองพม่าเคยได้รับสิทธิเหล่านี้ เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับสารลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจรัฐ
“ทหารไม่ได้ต้องการจะฆ่าเราแค่ร่างกาย แต่ยังรวมถึงสติปัญญา” จ่อ โซ วินเล่าว่า เขามีโอกาสได้เขียนและเรียนภาษาไทยบางส่วนจากนักโทษไทยในคุก
แม้ข้อห้ามดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงในปี 2006 เพราะแรงกดดันจากนานาชาติและคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) หลังทางการพม่าอนุญาตให้นักโทษอ่านหนังสือบางอย่างเช่นหนังสือศาสนา ทว่าจ่อ โซ วินและนักโทษอีกหลายคนยังหาหนทางอื่นๆ ในการรับรู้และสื่อสารเพิ่มเติม เช่น การอ่านจากกระดาษมวนบุหรี่ การเขียนข้อความลงบนพลาสติกจากภาชนะใส่อาหาร หรือการใช้ลวดขีดเขียนบนกำแพง
ขณะที่ระบบสาธารณสุขและสุขอนามัยในคุก ผู้บรรยายเล่าว่า ยังย่ำแย่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด แม้จะถูกส่งตัวไปรักษาในภายนอก แต่การจัดการเป็นไปอย่างล่าช้า จนรักษาชีวิตพวกเขาไม่ทัน
ซ้ำร้ายหากนักโทษบางคนถูกบังคับใช้แรงงาน ทั้งการเพาะปลูก การทำเหมือง หรือการใช้แรงงานหนักอย่างอื่น ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตยิ่งขึ้น จนจ่อ โซ วินนิยามพื้นที่แห่งนี้ว่า ‘ทุ่งสังหาร’
“เราเรียกที่แห่งนี้ว่าทุ่งสังหาร นักโทษบางคนก็ตัดมือหรือเท้าของตนเอง โดยหวังว่า พวกเขาหวังจะได้พักผ่อนจากการใช้แรงงาน” เขาอธิบาย
เมื่อถึงจุด ‘คุกจำลอง’ ในมุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ จ่อ โซ วินบรรยายลักษณะว่า ของจริงมีขนาดกว้างกว่านี้ เขาเคยอาศัยอยู่กับเพื่อนนักโทษถึง 4 คน โดยมีอุปกรณ์ในการใช้ชีวิตไม่กี่อย่าง คือ กะละมังสำหรับปัสสาวะ ถ้วยอาหาร และที่หลับพักผ่อน
เขาเล่าว่า ด้วยความที่เป็นนักโทษการเมือง จึงมักจะถูกจำกัดกิจกรรมหลายอย่างเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานในพื้นที่ภายนอกเหมือนนักโทษทั่วไป เพราะรัฐกลัวติดต่อกับกลุ่มต่อต้านอื่น และต้องใช้ชีวิตโดยมี ‘ตารางจำกัดเวลา’ กำกับ โดยที่เขาจะไม่ได้ออกไปข้างนอก ทำได้เพียงเดินไปเดินมาบริเวณ ‘พื้นที่นอกห้องขังขนาดเล็ก’ ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่สภาพความเป็นอยู่อันย่ำแย่ยังก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคผิวหนังในหมู่นักโทษ
แม้จะห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย แต่บรรยากาศในคุกจำลอง อาจทำให้คุณรู้สึกขนหัวลุกและหวาดกลัวได้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการอยู่ในห้องขนาดเล็กสีขาว ที่มีเพียงหน้าต่างลูกกรงข้างบนเป็นแหล่งเข้าออกของอากาศ ขณะที่ภาพข้างหน้าคือ วิธีการ ‘ทรมาน’ นักโทษสารพัดชนิด เช่น การให้นักโทษยืนนิ่งเป็นระยะเวลายาวนาน หรือการซ้อมทรมานนักโทษจนใบหน้าเต็มไปด้วยเลือด ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะเดินออกมาข้างนอก เพื่อหลีกเลี่ยงความอึดอัดที่เกิดขึ้นระหว่างเห็นภาพดังกล่าว
เมื่อเดินมาถึงจุดกึ่งกลางของพิพิธภัณฑ์ ยังมีผังจำลองคุกอินเส่ง พื้นที่ที่จ่อ โซ วินเคยถูกจองจำ เขาค่อยๆ ชี้พื้นที่ไปแต่ละส่วนและเล่าว่า เคยอยู่และคุ้นเคยกับส่วนนี้ หรือนักโทษอื่นๆ อยู่ที่ใด
“มีภาษาคนคุกหรือโค้ดลับในเรือนจำไหม” เพื่อนร่วมทริปคนหนึ่งถาม
“มี แต่ผู้คุมก็รู้ว่า เราพูดอะไรอยู่ดี (หัวเราะ)” อดีตนักโทษการเมืองยังเสริมว่า ส่วนใหญ่ถ้าพวกเขาอยากคุยกัน ก็มักจะเขียนลงบนพลาสติกหรือกระซิบกันมากกว่า ขณะที่โค้ดลับคือ ‘เคาะผนังกำแพง’ ไปเรื่อยๆ แต่ค่อนข้างใช้เวลานาน หากข้อความยาว
ขณะที่มุมหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยังปรากฏสิ่งของแปลกตาหลากชนิด เช่น กระเป๋าผ้า หมวกถัก และกีตาร์ที่ทำจากกะละมังและเบ็ดตกปลา โดยจ่อโซวินเฉลยในภายหลังว่า นี่คือสิ่งประดิษฐ์จากเหล่านักโทษ เพื่อใช้เวลาเยียวยาตนเองในห้องขัง
“เราทำของเหล่านี้เพื่อใช้เวลา และเยียวยาสภาพจิตใจของตนเอง” เขาเล่า
3
นอกจากพื้นที่ของนักโทษการเมือง Power of Powerless ยังฉายภาพให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่า ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 7 กรกฎาคม 1962 กองทัพพม่าปราบปรามนักศึกษาที่ประท้วงการทำรัฐประหาร ด้วยการทิ้งระเบิดที่สหภาพนักศึกษาย่างกุ้ง, เหตุการณ์การประท้วงปี 1974 หลังทหารปราบปรามนักศึกษาในพิธีศพของ อู้ ตั่น (U Thant) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations: UN) และผู้เป็นดังวีรบุรุษของชาติ, เหตุการณ์ปี 1988 ขับไล่นายพลเน วิน, เหตุการณ์ปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ (Saffron Revolution) ในปี 2007 จนถึงปฏิวัติใบไม้ผลิ (Spring Revolution) ต้านรัฐประหารปี 2021
“คุณคิดว่า การประท้วงต้านรัฐประหารปี 2021 แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมาไหม” เราถามจ่อ โซ วินด้วยความสงสัย
“ไม่เลย ไม่ต่างกัน เราก็ประท้วงอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลและเผด็จการทหาร แต่พวกเขาปราบปรามเราเหมือนกันทุกครั้ง” อดีตนักโทษการเมืองตอบคำถาม พร้อมกับย้ำว่า การที่ประชาชนลุกขึ้นมาจับอาวุธในนามกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF) เป็นสิ่งที่ไม่มีทางเลือก
จ่อ โซ วินยังเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟังว่า ทหารพม่ามีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติและไสยศาสตร์มาก จนครั้งหนึ่งประชาชนต้องนำ ‘ผ้าถุง’ มาแขวนบนท้องถนน เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารเข้ามาทำร้าย เพราะมีความเชื่อว่า ผ้าถุงเป็นของต่ำ หากเดินลอดแล้ว อำนาจจากไสยศาสตร์ในตัวจะเสื่อมลง
ขณะที่ในมุมสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์ คือรายชื่อของเหล่าวีรบุรุษผู้เสียสละและคณะรัฐมนตรีที่ถูกคุมขังในคุก ผู้บรรยายค่อยๆ ชี้ไปที่รูปของอองซานซูจี พลางบอกว่า การคุมขังคนที่อายุ 70-80 ปีแสดงให้เห็นว่า ทหารพม่าตั้งใจจะทำให้คนเหล่านี้เสียชีวิตในคุก ก่อนจะย้ำเตือนพวกเราทุกคนว่า สถานการณ์เลวร้ายยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันรู้จบ สะท้อนจากตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3 เท่าหลังรัฐประหารปี 2021 ซ้ำรัฐยังคุกคามครอบครัวของนักโทษการเมือง ทั้งจับตัวครอบครัวหรือซ้อมทรมานต่อหน้าครอบครัว
“เพื่อนของผมเอง” จ่อ โซ วินชี้ไปที่รูปของ จ่อ มิน ยู (Kyaw Min Yu) หรือ โค จิมมี (Ko Jimmy) นักเขียนชื่อดัง และสมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง 88 Generation Students Group ที่รัฐบาลทหารประหารชีวิตในข้อหาก่อการร้าย
ผู้บรรยายเสริมว่า การจากไปของโค จิมมีและนักโทษคนอื่น ไม่ได้ผ่านกระบวนการที่ยุติธรรมและโปร่งใส เช่น ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะประหารชีวิต หรือแม้แต่การจัดพิธีศพอย่างเหมาะสม เป็นเหตุให้ต้องคาดเดาวันเสียชีวิตของนักเขียนชื่อดัง ในระหว่างวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2022 แทน
4
“สถานการณ์นักโทษการเมืองในประเทศไทยเป็นอย่างไร”
จ่อ โซ วินถามไถ่ ก่อนที่พวกเราจะตอบกลับไปว่า สังคมไทยยังมีความคืบหน้าในการต่อสู้บางอย่างคือ การเรียกร้องสิทธิการประกันตัว สิทธิการพบทนาย หรือการใช้สื่อเป็นแรงกระเพื่อมกดดันเจ้าหน้าที่รัฐ
อดีตนักโทษการเมืองตอบกลับมาว่า พม่าไม่มีการเรียกร้องเช่นนี้เลย เพราะทุกคนกลัวที่จะส่งเสียงต่อต้านระบอบเผด็จการ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม AAPP จึงพยายามทำหน้าที่เหล่านั้น ด้วยการรับฟังเรื่องราวจากโลกภายนอก เก็บข้อมูลและทำสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยครั้งหนึ่ง ข้อมูลดังกล่าวเคยถูกใช้โจมตี มิน อ่อง หล่าย กลางที่ประชุม เป็นเหตุให้ผู้นำเผด็จการขึ้นชื่อบัญชีดำและสั่งแบนองค์กรในไม่กี่วันต่อมา
“ความยุติธรรมในการเปลี่ยนผ่าน”
คือคำสำคัญที่จ่อ โซ วิน ทิ้งท้ายกับเราในฐานะผู้มาเยือนว่า หากสังคมปราศจากสิ่งนี้ พม่าจะไร้ซึ่งสันติภาพและการปรองดอง แต่ต้องเข้าใจหลักการอย่างถ่องแท้ ไม่เช่นนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะกลายเป็น ‘การแก้แค้น’ แทน
ฟังดูราวอาจเป็นคำพูดที่ดูธรรมดา แต่กลับทำให้ผู้เขียนขบคิดอย่างหนักตลอดการเดินทาง แม้ไทยและพม่าจะตกในที่นั่งลำบากไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ แต่ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์ดีกว่า เราจะมีส่วนช่วยผู้บริสุทธิ์จากต่างแดนอย่างไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการโอบรับผู้คนที่หนีภัยสงคราม และการประหัตประหารจากรัฐ ไปจนถึงการเสริมสร้างความเข้าใจ (ครั้งใหญ่) ในสังคมไทยว่า ผู้ลี้ภัยไม่ใช่ ‘ภาระ’ หรือ ‘กลืนชาติ’ ดังที่มีการปลุกปั่น จนกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังสาดใส่ผู้เห็นต่างในทางการเมือง
ขณะที่ได้แต่นึกว่า ผู้ชายคนนี้ต้องแข็งแกร่งมากแค่ไหน จึงสามารถระงับความโกรธ ก้าวข้ามบาดแผลทางจิตใจ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างไร้อคติด้วยกระบวนการยุติธรรม
จึงได้แต่หวังว่า สักวันหนึ่งผู้เขียนจะมีโอกาสเห็นไทยและพม่า สองประเทศเพื่อนบ้านที่ประชาชนต่างเชื่อในเรื่องความเท่าเทียมและเสรีภาพ ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และข้ามผ่าน ‘วงจรอุบาทว์’ อย่างแท้จริง
ทั้งการรัฐประหาร เสรีภาพของประชาชน รวมถึงคุกที่ไร้ ‘นักโทษการเมือง’ ผู้โดนกระทำเหมือนไม่ใช่มนุษย์ เพียงเพราะแสดงความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ
Fact Box
- Power of Powerless ไม่เปิดให้เข้าชมด้วยการ Walk-in ตามปกติ หากสนใจสามารถนัดหมายและติดต่อ AAPP โดยตรงทาง info@aappb.org
- AAPP ยังเปิดพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบออนไลน์ สามารถเข้าชมได้ทางเว็บไซต์ https://aappmuseum.wixsite.com/museum/entrance
- จ่อ โซ วินอธิบายว่า ชื่อของพิพิธภัณฑ์ Power of Powerless เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อคนไร้พลังรวมตัวกันจำนวนมาก จะก่อให้เกิด ‘พลัง’ ในการต่อสู้บางอย่างขึ้นมา
- ชื่อเดิมของพิพิธภัณฑ์คือ Memory of the Past แต่ AAPP เปลี่ยนชื่อในภายหลัง ด้วยเหตุผลว่า ชื่อเดิมไม่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อยังมีนักโทษการเมืองในพม่า และประชาชนยังคงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่
- สาเหตุที่บทความนี้ใช้คำว่า ‘พม่า’ แทนคำว่า ‘เมียนมา’ เนื่องจากในการบรรยาย จ่อ โซ วินใช้คำว่า ‘Burma’ ทั้งหมด ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญะการต่อต้าน ‘มรดก’ จากรัฐบาลทหาร หลังเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเมียนมา โดยอ้างว่า รักษาภาพลักษณ์ของประเทศ