งานวิจัยจำนวนมากเผยว่ามีความเป็นไปได้สูงที่แผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอาจถึงคราวล้มเหลว หากไม่มีการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่เด็ดขาด ฉับพลัน และได้ผลชะงัดมากพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ระบุในข้อตกลงปารีส ที่ดูจะสำเร็จได้ยากขึ้นทุกที

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 เครือข่าย UN Global Compact (UNGC) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของสหประชาชาติ ที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายในการดำเนินกิจการอย่างมีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ได้ร่วมมือกับสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UNRC) ในประเทศไทย จัดงานเสวนาโต๊ะกลม ‘CEO Forum on Sustainable Finance & SME Roundtable: Scaling Up Sustainable Finance Solutions for Accelerating Progress on the SDGs’ โดยมีการเชิญประธานคณะกรรมการบริหาร (CEO) จากธุรกิจเล็กใหญ่ ผู้บริหารขององค์การสหประชาชาติ และสถาบันการเงิน มาร่วมกันแบ่งปันกรณีศึกษา รวมถึงกลยุทธ์ทางการเงินและการตัดสินใจลงทุนที่จะนำพาภาคเอกชนของประเทศไทย ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนและบรรลุ SDGs ได้เร็วขึ้น เพราะยิ่งเปลี่ยนได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีต่อโลกและคนรุ่นต่อไปมากเท่านั้น

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ผู้กุมตำแหน่งนายกสมาคมเครือข่าย UN Global Compact แห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2561 ได้กล่าวเปิดประชุมว่า “ภาคการเงินและนักลงทุนกำลังให้ความสนใจการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งกำลังมีอิทธิพลต่อธุรกิจมากขึ้น โดยกำลังพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เพราะทุนทางธรรมชาติของเราเป็นรากฐานของเศรษฐกิจโลกประมาณครึ่งหนึ่ง หากไม่มีระบบนิเวศทางธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพเพียงพอ การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรโลกจะเป็นเรื่องยาก”

พร้อมทั้งยังเสนอ 5 กลยุทธ์ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่

1. การสร้างความตระหนักด้วยการกำหนดเป้าหมายและสื่อสารให้ชัดเจน

2. การใช้กลไกตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และมีส่วนร่วมกับพนักงาน รวมทั้งพันธมิตรในห่วงโซ่คุณค่า

3. การมีผู้นำที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อขับเคลื่อนองค์กร

4. การเสริมพลังให้คนรุ่นใหม่รับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืน

5. การมีวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม

ก่อนเน้นย้ำอีกว่า “เราไม่สามารถเพิกเฉยอันตรายที่กำลังคืบใกล้เข้ามานี้ได้อีกต่อไปแล้ว อาจเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่าเราจะมีวันหาทางชะลอ หยุดยั้ง หรือแม้แต่ลบล้างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกได้หรือไม่ แต่ในฐานะที่เคยได้เห็นมาแล้วว่าแม้กระทั่งเรื่องที่ยากจนดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เราก็ผ่านมันมาได้ ผมจึงเชื่อว่าหากภาคเอกชนสามารถจับมือกับภาครัฐ รวมถึงองค์กรต่างๆ เราจะสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ทันท่วงที”

ความเห็นจากตัวแทนภาคการเงินในเวทีระบุว่า ในปี 2568 ตัวเลขการลงทุนด้านความยั่งยืนจะพุ่งสูงเป็น 3 เท่าของเงินทุนที่ไหลเวียนเข้ามาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากการคาดการณ์นี้ เพียงแค่ธนาคารและสถาบันทางการเงิน น่าจะไม่สามารถขับเคลื่อนเงินทุนทั้งหมดนี้ได้โดยลำพัง ความร่วมมือจากภาคเอกชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการนี้

ขณะเดียวกันยังมีการยกตัวอย่างข้อตกลงการเป็นพันธมิตรด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition Partnership: JETP) ซึ่งจะมีการระดมเงินทุนอย่างน้อย 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท) เพื่อสนับสนุนประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ว่าเป็นโมเดลความร่วมมือที่ประเทศไทยควรติดตาม เนื่องจากการจัดหาทุนนั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน

ในส่วนของข้อมูลจากตัวแทนภาคเอกชนหลายองค์กร มีการพูดถึงความกังวลและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างทาง โดยเฉพาะผู้นำจากฝั่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น ปัญหาเรื่องการเข้าถึงเงินทุนสนับสนุนผ่านทางสถาบันทางการเงิน ว่าถึงแม้ว่าองค์กรจะได้รับข้อมูลข่าวสารว่ามีเงินทุนเพื่อความยั่งยืนสำหรับธุรกิจ SMEs อยู่ แต่เมื่อถึงขั้นตอนดำเนินการพบว่ามักถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า สถาบันการเงินยังไม่มีนโยบายที่จะให้ทุนสนับสนุนประเภทนี้กับบริษัทขนาดเล็ก

ปัจจุบันธุรกิจ SMEs คิดเป็น 90% ของธุรกิจทั้งหมดและมากกว่า 50% ของการจ้างงานทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานที่กว้างขวาง หาก SMEs ไทยรวมถึงเกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่มากขึ้นได้ ภาคธุรกิจไทยก็จะสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิต ความรู้ และเครื่องมือที่ดีขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การเงินที่ยั่งยืนขึ้น

Tags: , , , , , , , , , , , ,