ผมเห็นโคมไฟดอกกุหลาบที่ทําจากไม้ไผ่ของ ‘กัปปะ’ ครั้งแรกที่งาน Maison & Objet Paris ราวปี 2549 ทําให้รําพึงในใจว่า ‘หมอนี่ฝีมือร้ายนัก’ ผ่านการแนะนําของพี่วิสุทธิ์ (วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์-นักธุรกิจที่ปารีส) ผมคุยกับ กัปปะ-กรกต อารมย์ดี เพียงครู่ใหญ่ๆ แต่จดจํารอยยิ้มและสําเนียงเมืองเพชรฯ ของเขาได้ดี

สองสามปีต่อมา ในงาน TIFF (Thailand International Furniture Fair) ที่กรุงเทพฯ ผ่านการแนะนําอีกครั้งจากพี่สุวรรณ (สุวรรณ คงขุนเทียน) นักออกแบบและอาจารย์ของกรกต เราได้พูดคุยกันนานขึ้น จากโคมไฟดอกกุหลาบผลิตภัณฑ์ออกแบบของเขาเพิ่มเป็นโคมไฟแขวนอีกหลากหลายรูปทรง รวมทั้งโคมไฟตั้งพื้นที่มีเส้นสายอ่อนช้อยเกี่ยวกระหวัด ซึ่งเล่นกับแสงไฟและการลวงตา เมื่อได้เห็นรายละเอียดของงานไม้ไผ่ที่ใช้เทคนิคการผูกเชือกแบบการทําว่าว ที่เขาคิดเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับเป็นผลงานธีสิสปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผมต้องรําพึงในใจอีกครั้งว่า ฝีมือและความคิดของเขาร้ายกาจจริงๆ

เมื่อสิบกว่าปีก่อน กรกตเป็นดีไซเนอร์ดาวรุ่งคนหนึ่งที่สามารถนํางานคราฟต์มาผนวกกับงานออกแบบได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ตอบโจทย์ทุกข้อได้ดีเลิศสําหรับงานที่จะได้รับการยอมรับในแวดวงออกแบบสากล เขาทํางานต่อเนื่อง รู้จักนำคําแนะนําของอาจารย์ด้านการออกแบบมาพิจารณา ปรับเปลี่ยนเทคนิคการทํางานและการออกแบบ จากโคมไฟเป็นเก้าอี้ และอินสตอลเลชันอาร์ต

สิ่งหนึ่งที่เขาพูดถึงเสมอคือ เทคนิคที่สร้างงานทั้งหมดนั้นเขาได้มาจาก ‘ก๋ง’ นักทําว่าว ก๋งถ่ายทอดวิชาผูกเงื่อน สอนวิธีคิด และพาเขาไปเล่นว่าวริมทะเลเสมอตอนเด็กๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นก็ถูกต่อยอดแตกกิ่งออกมา

สิ่งที่กรกตทําอาจเรียกได้ว่า ‘การต่อยอด’ คําว่า ‘ต่อยอด’ นั้นผมเพิ่งจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง อาจจะมาพร้อมๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยํากุ้ง มันหมายถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเดิม อาจเป็นภูมิปัญญา วิถีชีวิต และงานฝีมือ หรือผลิตภัณฑ์พื้นๆ ที่นํามาทําให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น ในการฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤตต้มยํากุ้งครั้งนั้น เราขุดค้นความรู้ และต่อยอดให้กับนวัตกรรมและธุรกิจจํานวนมาก แต่การต่อยอดนั้นห่างไกลจากการเลียนแบบ ต่างกันลิบลับกับการดัดแปลงอย่างผิวเผิน การต่อยอดอย่างที่กรกตสร้างขึ้นมานั้นเกิดจากรากที่ฝังลึกลงในดินอันอุดมสมบูรณ์ เติบโตด้วยการดูแลเอาใจใส่ในความคิดสร้างสรรค์ที่บ่มเพาะมาจากความกระหายใคร่รู้ จากนั้น ต้นไม้จึงเติบใหญ่แตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงา

เขาสร้างงานให้กับคนในชุมชน เขาสร้างงานให้กับช่างฝีมือรุ่นเก่า และสร้างช่างรุ่นใหม่ ความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นเมื่อได้รับการชี้แนะจากครู อาจารย์ และแลกเปลี่ยนกับกัลยาณมิตร เขาก็นํามาพิจารณาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ผ่านการลงมือทํา

นั่นคือการต่อยอดที่ให้ผลสดใหม่ รสชาติหวานหอม

ในฤดูร้อนหนึ่ง ผมมีโอกาสไปนั่งคุยกับก๋งของเขา พ่อแม่เป็นคนให้กําเนิดชีวิตครั้งที่หนึ่ง และกรกตเกิดครั้งที่สองจากการพร่ำสอนของก๋ง ชายชรารูปร่างผอมแต่แข็งแรง มือและนิ้วผ่านการทํางานละเอียดและหยาบในเวลาเดียวกัน ก๋งพูดน้อย แต่ยิ้มมาก กรกตก็เช่นกัน

ก๋งบอกว่าสมัยเป็นหนุ่มแกไม่ค่อยสนุกกับการทํางานนัก เมื่อเสร็จงานแกชอบหาเวลาไปเล่นว่าว ชํานาญจนเป็นเซียนว่าว ว่าวจุฬาตัวใหญ่สีขาวแต่งแต้มด้วยกระดาษสีทองชิ้นเล็กๆ ยังแขวนอยู่ที่ผนังไม้ของบ้านเป็นที่ระลึก

ก๋งชอบคิด และเล่นแปลกๆ ใหม่ๆ ครั้งหนึ่งแกทําว่าวตัวใหญ่ให้กินลมมากๆ แล้วให้ว่าวลากแผ่นไม้กระดานบนดินเลน แล่นฉิวไปตามผิวมันเงาของดินและสายลม ผมนึกภาพว่าเหมือนกับการเล่นวินด์เซิร์ฟ แต่ก๋งเล่นบนดินเลน น่าสนุกชะมัด

กรกตในวัยเด็กคงได้เห็นสิ่งเหล่านี้ และเล่นสนุกขลุกอยู่ที่บ้านก๋งทั้งวัน เขาจึงผูกพัน เมื่อชีวิตชักนําเขาเข้ามาสู่แวดวงงานออกแบบ ต้นทุนในวัยเด็กจึงตกผลึก และคลี่คลายมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ทําจากไม้ไผ่ (โครงของว่าว) และการผูกยึดด้วยเชือก (สายป่าน) ว่าวแปลงสภาพเป็นโคมไฟ เก้าอี้ อินสตอลเลชันอาร์ต งาน และความคิดของเขาค่อยๆ กินลม ไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และในที่สุด ลอยไปติดลมบนของวงการออกแบบทั้งในและต่างประเทศ

ผมได้ถ่ายภาพชุดนี้ที่บ้านเมืองเพชรฯ และในสตูดิโอของเขา ลมทะเล กลิ่นเค็มของเกลือ และความสดของอาหารทะเล ทําให้ผมบันทึกรอยยิ้มที่ปลอดโปร่งในเวิร์กช็อปเล็กๆ ใต้ถุนบ้านแห่งนั้น ผมชอบน้ำหนักสีดําลึกๆ แบบนี้ มันเหมาะกับบุคลิกจริงจังและท่าทีขี้เล่นของเขาดี ผมรู้สึกอย่างนั้น

กรกตเป็นคนอารมณ์ดี เหมือนการออกเสียงนามสกุลของเขา (อารมย์ดี) เขาเป็นคนเมืองเพชรฯ คือจริงจังขณะทํางาน เสียงนุ่มทุ้มต่ำ แต่เมื่อไม่ได้ทํางาน เขาทะลึ่งทะเล้น ห่ามๆ และตลกโปกฮา ลีลาหัวเราะและรอยยิ้มกว้างขวางของเขานั้น บอกได้ว่าอร่อย

ผมเคยร่วมงานแสดงสินค้าของ TIFF โดยมีบูธใกล้ๆ กรกต เขาชอบชวนดื่มเบียร์และกิน ‘เตี๋ยวเนื้อ’ ที่ซื้อมาฝากจากเมืองเพชรฯ อร่อย เผ็ด ตลก ไม่อยากเลิก แต่อยากเบิ้ล

ระยะหลังเห็นเขาเดินทางไปที่โน่นที่นี่ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจงานออกแบบของเขา การเล็กเชอร์ในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งต่อความรู้ การแสดงงานเพื่อเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ล่าสุด เขาได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ ประจำปี 2560 จากการทํางานจริงจังต่อเนื่อง

นานๆ พบปะกันที ไม่งานแสดงสินค้าก็งานแสดงศิลปะ เจอคราวใดผมจะพบกับรอยยิ้มกว้าง และการทักทายด้วยเสียงดังสําเนียงเมืองเพชรฯ ของเขา

 

ภาพพอร์ตเทรต โดย ศุภชัย เกศการุณกุล

Medium Format 6 x 6 | Black and White Negative Film

FACT BOX:

  • กรกต อารมย์ดี จบปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และปริญญาโท สาขาประยุกต์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • กรกตเขียนเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจว่า งานออกแบบแบรนด์ Korakot ของเขา สามารถช่วยสร้างงานให้แก่ช่างฝีมือ 60 คน
  • รางวัลศิลปาธรเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินไทยร่วมสมัย ผู้มีผลงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง รางวัลนี้จัดขึ้นโดยสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เริ่มมอบรางวัลครั้งแรก เมื่อปี 2547
Tags: , , , , , , , ,