รถไฟฟ้าใต้ดินคือยานพาหนะที่นำพาผมไปสู่ที่ทำงานเป็นประจำทุกวัน
เช้าวันทำงาน เพียงแค่สามสถานีก่อนจะถึงสถานีสวนจตุจักร ที่ว่างในขบวนก็ถูกจับจองจนแทบจะเต็มพื้นที่เสียแล้ว และสำหรับบางวัน ผมต้องยืนต่อแถวรอขบวนถัดไป เพราะไม่มีที่ว่างให้เบียดเข้าไปในขบวนได้อีก
ก่อนจะไปชมนิทรรศการผลงาน ‘ความเกรงใจในดีไซน์’ การขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินในเช้าวันทำงาน คือสิ่งแรกที่ผมนึกถึงเมื่อเห็นชื่อนิทรรศการ
การยืนแนบชิดกับคนไม่รู้จักในรถไฟฟ้า คือประสบการณ์ ‘ความเกรงใจ’ ที่ผมคุ้นเคยดี
โชคดีที่เป็นตอนเช้า กลิ่นกายเหงื่อไคลจึงไม่เป็นปัญหา เราเพียงแค่รักษาสมดุลของร่างกายให้ดี ยืนให้มั่น ทรงตัวให้อยู่ในยามไม่มีอะไรยึดเกาะ และพยายามไม่ถูกเนื้อต้องตัวคนรอบข้าง ระยะเวลาราว 16-17 นาทีก็จะผ่านไปโดยไม่สร้างความลำบากใจให้กับทุกฝ่าย
แต่หากค่ำคืนที่ผ่านมาเผลอไผลกับแสงสียาวนานไปหน่อย
แอลกอฮอล์ที่แผ่ซึมอยู่ในเส้นเลือดและลมหายใจก็คงจะส่งกลิ่นไปถึงคนรอบข้างอยู่บ้าง
ซึ่งสถานการณ์แบบนี้แหละครับที่ผมยิ่งตระหนักถึง ‘ความเกรงใจ’
นิทรรศการผลงาน ‘ความเกรงใจในดีไซน์’ คือการแสดงผลงานสร้างสรรค์ที่แฝงไว้ด้วยนัยของความเกรงใจในลักษณะต่างๆ เช่น เก้าอี้ แจกัน พรม โคมไฟ ภาพถ่าย เข็มกลัด ไปจนถึงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม จากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร ช่างภาพ และนักออกแบบ ภายใต้โครงการ ‘เกรงใจ ไม่เป็นไร อะไรก็ได้ …วิถีแบบไทยๆ แรงบันดาลใจสู่งานออกแบบสร้างสรรค์’ ซึ่งริเริ่มโครงการโดยศาสตราจารย์ เอกชาติ จันอุไรรัตน์ จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
วันที่ผมไปชมนิทรรศการมีการจัดเสวนาหัวข้อเดียวกับนิทรรศการ ทำให้มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวของความเกรงใจในหลากหลายมิติ
รองศาสตราจารย์ ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติและราชบัณฑิต กล่าวถึงความเกรงใจที่แฝงอยู่ในเรือนไทยภาคกลางประเภทเรือนหมู่ ซึ่งเป็นที่รวมของหลายครอบครัวในบ้านหลังเดียวกัน อาจารย์ภิญโญกล่าวว่าเรือนหมู่นั้นถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของคนหลายรุ่นหลายวัย โดยเฉพาะ ‘หอรี’ ซึ่งมีที่มาจากความเกรงใจระหว่างพ่อแม่กับลูก เมื่อลูกโตขึ้น พ่อแม่จึงสร้างหอรีซึ่งเป็นเรือนหลังย่อมกว่า ‘หอกลาง’ สำหรับเป็นที่นอนของลูก
นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกและศิลปินแห่งชาติ ระบุว่าความเกรงใจของคนไทยนั้นซ่อนอยู่ในงานออกแบบที่ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อลังการ แต่คำนึงถึงความต้องการของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ พิศประไพ สาระศาลิน คณบดีคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าเรือนไทยนั้นมีที่มาจากกระบวนการคิดที่ทันสมัยอย่างมาก ช่างในสมัยโบราณซึ่งทำหน้าที่ออกแบบมีความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ลมฟ้าอากาศ ผู้อยู่อาศัย วิถีชีวิต รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี การก่อสร้างจึงมีที่มาจากการคิดอย่างละเอียดอ่อนในทุกมิติ ซึ่งก็แฝงไว้ด้วยความเกรงใจผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
สำหรับหนึ่งในเจ้าของผลงานที่ร่วมแสดงในนิทรรศการอย่าง สุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของไทย เขาเห็นว่าความเกรงใจเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก และความรู้สึกก็จะมาพร้อมกับผลงานของนักออกแบบ เขายกตัวอย่างเก้าอี้ที่เขาเป็นผู้ออกแบบ
“วันที่ผมทำเก้าอี้ตัวนี้เสร็จ แล้วผมไปแสดงงานที่นิวยอร์ก ทุกคนคิดว่ามันเป็นท่อนไม้ ผมก็บอกลูกค้าที่เป็นฝรั่งว่ามันทำด้วยกระดาษ ผมบอกว่าคุณลองนั่งสิ วันที่อาจารย์เอกชาติถามผมว่ามีความเกรงใจในงานดีไซน์ไหม ภาพของคนที่จะนั่งเก้าอี้มันโผล่ขึ้นมาทันทีเลย คนคนนั้นเขาค่อยๆ หย่อนตัวลงไป ผมบอกว่ากระแทกแรงๆ เลย ไม่ต้องกลัวพัง เขาก็ถามว่าไม่พังแน่นะ ตอนนั้นผมรู้สึกได้เลยว่าเขาเกรงใจ หรือกลัวว่าของของเราจะเสียหาย หรือกลัวว่ากระดาษจะฉีกขาด ผมก็เลยกลับมาคิดว่า ถ้าอย่างนั้นความเกรงใจในมิติของผมตอนนี้คือความบอบบาง ความอ่อนแอมันสร้างความรู้สึกเกรงใจขึ้นมาได้”
ส่วนเก้าอี้อีกตัวหนึ่งในนิทรรศการ เป็นผลงานการออกแบบของ ปิติ อัมระรงค์ หนึ่งในนักออกแบบจากสตูดิโอ o-d-a
เก้าอี้ตัวนี้มีชื่อว่า ‘Rush Chair’ คำบรรยายบนผนังระบุไว้ว่ามันมีที่มาจากแนวคิด ‘ของก็ได้ใช้ ต้นไม้ก็ได้โต’ และ ‘เป็นท่าทีที่นำมาใช้เป็นกรอบในการทำงานที่จะทำให้เกิดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องทำลายอีกสิ่งหนึ่ง’
ปิติบอกว่าที่มาของ Rush Chair พูดง่ายๆ ก็คือความเกรงใจที่มีต่อต้นไม้ โดยไม้ที่จะนำมาทำเก้าอี้คือกิ่งไม้ที่ถูกตัดทิ้งหรือไม้ที่ยืนต้นตาย ไม่ใช่การโค่นต้นไม้เพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์
“ผมรู้สึกว่าถ้าเราคิดอย่างนี้ วิธีการมันเปลี่ยน มันเหมือนอีกโลกหนึ่ง ปกติเวลาออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผมก็จะไปดูขนาดไม้แปรรูป ไม้หนา 1 นิ้ว 2 นิ้ว กว้าง 4 นิ้ว ขนาดของไม้พวกนี้มันอยู่ในหัวของนักออกแบบอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนมาเป็นกิ่งไม้ มันก็เหมือนกับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เลย เฮ้ย ต้องใช้กิ่งไม้ วิธีการออกแบบมันก็จะเปลี่ยน”
ที่สำคัญก็คือ เขาหวังว่ามันจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปหันมาทำสิ่งของเครื่องใช้ด้วยตัวเองมากขึ้น
เก้าอี้ของปิติทำง่าย เพียงแค่มีเลื่อย สว่าน มีดสำหรับเหลาไม้ และกิ่งไม้อะไรก็ได้ที่เรามี
เขามองว่าหากเรามุ่งหวังความแข็งแรงทนทานหรือคุณภาพของไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ไม้คุณภาพดีที่เหลืออยู่น้อยเต็มทีก็จะยังคงทยอยหายไปจากผืนดิน
เก้าอี้ที่เราทำเองอาจจะมีอายุไม่ยืนยาว แต่ปิติบอกว่าเราซ่อมมันได้ และด้วยการออกแบบของเขา เราจะเสียเวลาไม่มากสำหรับการทำเก้าอี้หนึ่งตัว
“เจาะรู เหลา เสียบเข้าด้วยกัน สานที่นั่ง จบ”
จากสถาปัตยกรรมสู่เฟอร์นิเจอร์ เรื่องราวของความเกรงใจยังแผ่ซึมมาถึงงานถ่ายภาพ
ศุภชัย เกศการุณกุล คือเจ้าของภาพถ่าย 4 ชิ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เขาอธิบายว่าความเกรงใจในภาพถ่ายนั้นอยู่ในกระบวนการทำงาน เนื่องจากเป็นการทำงานระหว่างคนสองคนซึ่งอาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน ดังนั้น สำหรับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ระยะห่างทางความรู้สึกจึงเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา
“อย่างคนแก่ เขาก็จะมีพื้นที่ที่กว้าง เราซึ่งอายุน้อยกว่าก็จะรู้สึกเกรงใจ จะไม่ค่อยกล้าพูดคุย ไม่ค่อยกล้าบอกให้เขาทำนั่นทำนี่ ดังนั้น การถ่ายภาพพอร์ตเทรตก็คือทำอย่างไรให้ระยะห่างทางความรู้สึกมันหดแคบลง ซึ่งมันจะทำให้เราขยับกล้องเข้าไปได้ในทางกายภาพ เพราะผมใช้เลนส์ตัวเดียว และไม่ใช่เลนส์ซูม สิ่งที่จะบันทึกภาพกับระยะห่าง มันเป็นระยะที่ใกล้เคียงกับระยะสายตา ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้เขาเปิดให้เราเข้าไปในพื้นที่ของเขาได้อย่างสบายใจมากขึ้น”
ภาพถ่ายของ เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามปากกาของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ) คือหนึ่งในสี่ภาพที่ศุภชัยเลือกมาแสดง และเป็นตัวอย่างที่ดีของการลดระยะห่างทางความรู้สึก
“ตอนแรก ผมถ่ายลุงเสนีย์ เสาวพงศ์ ในระยะไกล แต่ผมค่อยๆ ขยับเข้าไปใกล้ๆ รูปนี้เป็นรูปสุดท้ายก่อนที่ผมจะสวัสดีแล้วก็ออกมา ซึ่งมันเป็นระยะที่ใกล้ ด้วยแววตา สายตา เขาคุ้นเคยกับผมมากขึ้น เมื่อเทียบกับรูปแรกๆ ที่ผมถ่ายในระยะค่อนข้างไกล”
ถึงตอนนี้ ผมจึงไม่แน่ใจว่า ‘ระยะห่างทางความรู้สึก’ คือสิ่งเดียวกันกับ ‘ความเกรงใจ’ จริงๆ หรือ
ศุภชัยอธิบายเพิ่มเติมว่า “มันคือการทำความรู้จักกันมากกว่า คนเรามีระยะห่างระหว่างกันอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรให้ระยะห่างมันน้อยลง ทำอย่างไรให้เราคุ้นเคยกับเขามากขึ้น ทำอย่างไรให้เรารู้จักกับเขามากขึ้น มันคือการก้าวเข้าไปในระยะที่ปลอดภัยของเขา”
ผมเดินออกจากหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินตอนหัวค่ำ นึกถึงสีหน้าและแววตาของบุคคลในภาพถ่าย แล้วก็จินตนาการถึง ‘ระยะที่ปลอดภัย’ ของตัวเองกับของคนอื่นๆ
ใช่ ในขบวนรถไฟฟ้าใต้ดิน ระยะที่ปลอดภัยของทุกคนเหมือนไม่มีอยู่จริง แต่ละคนเข้ามาอยู่ใกล้กันโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต และทุกคนต่างก็ยินยอมพร้อมใจ
ผิดกันก็แต่ว่าเราไม่ได้รู้จักกันมากขึ้นแค่นั้นเอง
Tags: สุวรรณ คงขุนเทียน, Rush Chair, เสนีย์ เสาวพงศ์, ศักดิชัย บำรุงพงศ์, ภิญโญ สุวรรณคีรี, นิธิ สถาปิตานนท์, พิศประไพ สาระศาลิน, ปิติ อัมระรงค์, ศุภชัย เกศการุณกุล, ความเกรงใจในดีไซน์