เดือนตุลาคมเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน หนังหน้าตาแปลกๆ ทุนสร้าง 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้าโรงฉายในอเมริกา ใครก็ตามที่ซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังในโรงล้วนออกมาในสภาพยับเยินแหลกสลาย จนอีกหลายปีต่อมามันขึ้นแท่นเป็นหนังที่ ‘ทำร้ายหัวจิตหัวใจคนดู’ มากที่สุดเรื่องหนึ่ง กับเส้นเรื่องที่ว่าด้วยยาเสพติดที่ผลักคนให้ออกห่างจากความเป็นจริงไปสู่สภาพอันชวนหดหู่ในท้ายที่สุด

Requiem for a Dream (2000) งานกำกับลำดับที่ 2 ของ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี นักทำหนังที่มักเล่าเรื่องของคนผู้หมกมุ่นหรือจมดิ่งกับสภาวะบางประการ อันจะเห็นได้จากหนังลำดับต่อๆ มาของเขาอย่าง The Wrestler (2008) นักมวยปล้ำที่ไม่อาจวางมือลาจากสังเวียนสู้ได้ หรือ Black Swan (2010) ที่พูดถึงนักแสดงบัลเล่ต์ที่เฝ้าค้นหาความสมบูรณ์แบบ Requiem for a Dream เองก็เช่นกัน หนังเล่าถึงอเมริกาช่วงยุค 80s ที่เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างหนัก ผู้คนใช้ชีวิตหมดอาลัยไปวันต่อวัน ซารา (เอลเลน บรัสติน) หญิงชราที่ใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์เล็กๆ สิ่งบันเทิงเดียวที่เธอหาให้ตัวเองได้คือการดูโทรทัศน์ที่เต็มไปด้วยรายการเกมโชว์ซึ่งคอยพูดกรอกหูว่าเราต่างเป็นผู้โชคดีและไปให้พ้นจากชีวิตอันน่าเบื่อหน่ายกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้

แฮร์รี (จาเร็ด เลโต) ลูกชายผู้ติดเฮโรอีนของเธอก็ดูไม่เป็นโล้เป็นพาย เขากับแฟนสาว แมเรียน (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี) วาดฝันจะสร้างร้านเสื้อผ้าที่แมเรียนเป็นคนออกแบบ ขณะที่เพื่อนสนิทของแฮร์รี ไทรอน (มาร์ลอน เวนย์ส) หวังอยากประสบความสำเร็จให้แม่ภูมิใจและพาตัวเองออกไปจากสลัม เพื่อจะทำตามฝันนี้ พวกเขาจึงรับซื้อและขายเฮโรอีนซึ่งทำรายได้ให้พวกเขาเป็นกอบเป็นกำจน ‘ฝัน’ ประดามีนั้นดูจะเป็นจริงขึ้นมาได้ แม้ว่านั่นอาจหมายความถึงการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวังวนอันตรายถึงตายก็ตาม

พร้อมกันนี้ ซาราก็ได้รับโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากทีมงานรายการโทรทัศน์ที่เธอโปรดปราน บอกว่าเธอเป็นผู้โชคดีที่จะได้ร่วมเล่นเกมและได้ออกโทรทัศน์ สิ่งนี้ผลักดันให้ซาราลุกขึ้นมาเตรียมตัวทำสวยเพื่อจะใส่ชุดเดรสตัวเก่ง เพื่อการณ์นั้น เธอจึงต้องหาทางลดน้ำหนักให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และทางออกเดียวที่เธอพบคือการใช้ยาลดน้ำหนักที่มีสารกดประสาททำให้เธอไม่หิวอีกต่อไป ตัวละครทั้งหมดจึงล่องลอยอยู่ด้วยฤทธิ์ยาที่เสมือนว่าจะรังสรรค์ภาพฝันของพวกเขาให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะร้านเสื้อผ้าของแมเรียนกับแฮร์รี, อนาคตที่ดีว่าของไทรอนกับแม่ และเรือนร่างผอมบางของซารา 

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ภาพฝันที่ว่าก็เป็นเพียงภาพหลอนที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง เมื่อคู่รักต่างกลายเป็นคนติดยาและทำทุกทาง -ทั้งโกงเงินหรือขายเรือนร่าง- เพื่อให้ได้เฮโรอีนมาใช้เอง หรือไทรอนที่เผชิญหน้ากับพ่อค้ารายอื่นหรือตำรวจที่พร้อมมุ่งทำร้ายเขา ตลอดจนซาราที่สติของเธอค่อยๆ วิปลาสไปสิ้นจากฤทธิ์ยาลดน้ำหนัก และนำไปสู่สภาพอันแสนน่าสังเวชในที่สุด

“Requiem for a Dream ไม่ใช่หนังว่าด้วยเฮโรอีนหรือยาเสพติดหรอก เส้นเรื่องของแฮร์รี, แมเรียน, ไทรอน เป็นเส้นเรื่องตามขนบที่เห็นได้ทั่วไปในหนังว่าด้วยเฮโรอีนน่ะถูกแล้ว แต่พอเอาเส้นเรื่องนี้มาวางคู่กันกับเส้นเรื่องของซารา เราก็จะตั้งคำถามกันขึ้นมาทันทีว่า ‘พระเจ้า ตกลงแล้วยาเสพติดนี่มันคืออะไรแน่'” อาโรนอฟสกีเล่า “สิ่งที่เราพูดกับตัวเองในหัวเวลาตั้งใจจะเลิกยา, เลิกบุหรี่, ไม่กินอาหารบางอย่างเพื่อจะลดให้ได้สัก 20 ปอนด์ (ประมาณ 9 กิโลกรัม) ไม่ต่างกันนักหรอก และสิ่งนี้นี่แหละที่ต้องตาต้องใจผมมากๆ ผมว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในหนังและอยากลองเล่ามันผ่านภาพยนตร์ดูสักที”

ทั้งนี้ ตัวหนังดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันเมื่อปี 1978 ของ อูแบร์ต เชลบี จูเนียร์ ซึ่งอาโรนอฟสกีเป็นแฟนตัวยงของเขามาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม และหลังจากที่กำกับ Pi (1998) หนังเรื่องแรกในชีวิต อาโรนอฟสกีก็คิดว่าถึงเวลาที่เขาจะหยิบเอางานเขียนที่เขารักของเชลบีมาดัดแปลงเป็นหนังสักที และเสนอซื้อลิขสิทธิ์ด้วยเงินหนึ่งพันเหรียญฯ ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนไม่น้อยของคนทำหนังหน้าใหม่อย่างเขาที่เพิ่งเจ็บตัวมาหมาดๆ จาก Pi มิหนำซ้ำ เชลบียังร่วมเขียนบทกับอาโรนอฟสกีอีกแรงจนกลายมาเป็นหนังชวนจิตตกที่ทำเงินร่วม 7 ล้านเหรียญฯ หลังหนังออกฉาย

หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ Requiem for a Dream กลายเป็นหนังแสนทำลายล้างหัวจิตหัวใจคนดูนั้น นอกเหนือจากเรื่องราวที่ชวนหดหู่ การกำกับสุดเซอร์เรียลเพื่อขับเน้นความหลอนหลอกของการตกอยู่ในห้วงยาแล้ว สิ่งที่จะข้ามไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการแสดงระดับมหากาฬของเอลเลน บรัสตินในบทบาทของหญิงชราที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองช่างว่างเปล่ามานานแสนนาน และการได้ออกโทรทัศน์เป็นเพียงความหวังเดียวที่จะทำให้มันมีสีสันขึ้นมาบ้าง และความที่บทมันแสนซึมเซานี้เอง ที่ทำให้บรัสตินปฏิเสธการรับบทนี้ไปในวาระแรก ก่อนที่ผู้จัดการของเธอจะค่อยๆ เกลี้ยกล่อมจนเธอรับบทเป็นซาราได้ในที่สุด และมันก็กลายเป็นหนึ่งในบทบาทที่เธอรู้สึกว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตการแสดงในเวลาต่อมา โดยบทนี้ส่งเธอเข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงเวทีออสการ์ หากแต่พ่ายให้ จูเลีย โรเบิร์ตส์ จาก Erin Brockovich (2000) ที่เข้าชิงสาขาเดียวกันในปีนั้น (เล่ากันว่า ฉากที่ซาราพูดถึงความเศร้าของการแก่ตัวลง -อันเป็นหนึ่งในฉากที่แสนทรงพลังของหนัง- แมตธิว ลิบาติก ผู้กำกับภาพคู่บุญของอาโรนอฟสกีถึงขั้นปล่อยให้กล้องหลุดโฟกัสเพราะกำลังร้องไห้จากการแสดงของบรัสติน)

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ Requiem for a Dream ถูกพูดถึงอย่างหนาหูคือท่วงท่าการเล่าเรื่องและความเซอร์เรียลของตัวหนัง กล่าวคือมันแทบไม่ประนีประนอมกับคนดู อาโรนอฟสกีกับ เจย์ ราบิโนวิตซ์ มือตัดต่อสร้างจักรวาลภาพหลอนของคนติดยาด้วยคัตกว่า 2,000 ครั้ง (โดยทั่วไปแล้วหนังที่มีความยาว 100 นาทีจะมีการตัดต่ออยู่ราวๆ 600-700 ครั้ง), เล่าเรื่องด้วยการแบ่งจอออกเป็นสองฟากซึ่งปรากฏให้เห็นตั้งแต่ฉากแรกๆ ของหนังราวกับจะเป็นการเตือนคนดูกลายๆ ว่านับจากนี้หนังจะ ‘เวียร์ด’ ไปอีกขั้น, การจับจ้องตัวละครแบบใกล้ชิดสุดขีด รวมถึงงานภาพโดยลิบาติกที่สั่นสะเทือนและแกว่งไกวเกือบตลอดเวลาราวกับสะท้อนภาวะไม่มั่นคงทางจิตใจของตัวละคร เช่นเดียวกันกับการเลือกใช้เลนส์ตาปลา (Fisheye Lens) เพื่อขับเน้นความบิดเบี้ยวทั้งทางเรือนร่างและห้วงอารมณ์ของตัวละคร

ความที่ Requiem for a Dream เต็มไปด้วยฉากรุนแรงนี่เองที่ทำให้มันคว้าเรตติ้ง NC-17 มาครองเมื่อออกฉายในอเมริกา แม้อาโรนอฟสกีจะประท้วงว่าเขาก็พยายามประนีประนอมกับคนดูแล้วอย่างที่สุด (เขาแคสติ้งนักแสดงวัยผู้ใหญ่มารับบทนำทั้งหมด แม้ว่าตามต้นฉบับแล้ว ทั้งแฮร์รี, แมเรียนและไทรอนจะเป็นเยาวชนอายุเพียง 15 ปีก็ตาม) แต่ก็ยังไม่อาจทำให้หนังรอดจากการถูกแปะป้ายด้วยเรตติ้งดังกล่าวอยู่ดี ภายหลัง อาโรนอฟสกีปล่อยเวอร์ชันเดือดดาลยิ่งกว่าคือเรตอาร์ลงวิดีโอ ด้วยการเพิ่มฉากเซ็กซ์อันแสนชวนกระอักกระอ่วนใจเข้ามา (อย่างไรก็ตาม หนังได้เรต 18 เมื่อมันไปออกฉายในสหราชอาณาจักร)

จนถึงตอนนี้ ก็เป็นเวลา 22 ปีที่ Requiem for a Dream ออกฉาย และมันยังคงติดอันดับหนังที่ชวนจิตตกของหลายๆ สำนัก ซึ่งนี่เองที่ตอกย้ำถึงความแม่นยำในการกำกับของอาโรนอฟสกี ในการจะเล่าเรื่องการเสพติดบางอย่างของมนุษย์ อันไปไกลเหนือการเสพยา

 

Tags: , , , , ,