* Trigger Warnings การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศ
หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นผลสำรวจความนิยมของเมืองท่องเที่ยวทั่วโลก เห็นลิสต์รายชื่อประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง มีวัฒนธรรมหลายด้านทั้งวิถีชีวิต ความเชื่อ อาหาร การแสดง ดนตรี ฯลฯ ที่โดดเด่นเฉพาะตัว จนทำให้ผู้คนทั่วโลกอยากลองไปเยี่ยมเยียนเพื่อเห็นและสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้ง ทว่าก่อนจะเลือกประเทศแล้วเก็บกระเป๋าเดินทาง นักเดินทางเพศหญิงอาจจะต้องแวะดูรายงานผลสำรวจที่ The Momentum กำลังจะนำเสนอเสียก่อน
หนึ่งในผลสำรวจที่น่าสนใจไม่แพ้กับการจัดอันดับเมืองน่าท่องเที่ยว คือรายชื่อ 10 อันดับประเทศท่องเที่ยวชื่อดังแต่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวเพศหญิงที่เดินทางคนเดียว (Most Dangerous Countries For Women) ซึ่งจัดอันดับโดยผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว แอเชอร์ (Asher) และลิลลิก เฟอร์กูสัน (Lyric Fergusson) ที่มีเกณฑ์จัดอันดับเลือกจากประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากที่สุด 50 อันดับ
ทั้งสองเริ่มศึกษารวบรวมข้อมูลโดยใช้ปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อัตราการเกิดอาชญากรรมทางเพศ ดัชนีความปลอดภัยบนท้องถนน คดีฆาตกรรม ความรุนแรงทางเพศทั้งจากคู่ครองและไม่ใช่คู่ครอง กฎหมายที่เลือกปฏิบัติทางเพศ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความรุนแรงที่เกิดต่อผู้หญิงทั้งในแง่การกระทำและทัศนคติ โดยใช้สถิติจาก Gallup World Poll ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2018 และข้อมูลจาก Gender Advocates Data Hub ที่วิเคราะห์แนวโน้มเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสังคมต่างๆ คาดการณ์ไปจนถึงปี 2030 ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้มาประมวลผลเพื่อจัดอันดับ 10 ประเทศที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้หญิงที่เดินทางคนเดียว จนได้รายชื่อออกมาดังนี้
1. แอฟริกาใต้
2. บราซิล
3. รัสเซีย
4. เม็กซิโก
5. อิหร่าน
6. โดมินิกัน
7. อียิปต์
8. โมร็อกโก
9. อินเดีย
10. ไทย
ประเทศเหล่านี้ถึงจะอยู่กันคนละทวีป มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ค่านิยม และวิถีชีวิตมากพอสมควร แต่ประเด็นเรื่องเพศก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ทั้งในแง่กฎหมายและค่านิยมในสังคม เช่น ช่องว่างทางกฎหมายเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ คดีทำร้ายร่างกายและฆาตกรรม ดัชนีความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม และทัศนคติต่อเพศหญิงรวมถึงเพศทางเลือกที่ขาดการตระหนักรู้
ความกลัว ความห่วงใย พฤติกรรมที่ทำเป็นปกติ สามารถชี้วัดค่านิยมบางอย่างในสังคมนั้นได้
พฤติกรรมบางอย่างของคนในสังคมสามารถสะท้อนภาพรวมในประเทศนั้นๆ ได้ เมื่อนำค่านิยม การทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือบางการกระทำมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ จะทำให้เห็นว่าประเทศที่ดูแตกต่างกันอย่างชัดเจน กลับมีความคล้ายคลึงกันบางอย่างที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศ
ผลสำรวจแบบสอบถามเรื่องความปลอดภัยในสังคมหัวข้อต่างๆ ระบุว่า ผู้หญิงแอฟริกาใต้ 25 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกปลอดภัยเวลาเดินตามท้องถนนช่วงกลางคืน แต่ผู้หญิงอีก 40 เปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าตนเคยพบกับประสบการณ์แย่ๆ เวลาเดินทางกลับบ้านคนเดียว เคยถูกคุกคาม ทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ และบางรายเคยถูกข่มขืน เช่นเดียวกับผลสำรวจความคิดเห็นผู้หญิงบราซิล ประเทศที่ติดอันดับ 2 เมืองท่องเที่ยวที่อันตรายต่อนักท่องเที่ยวหญิงที่เดินทางคนเดียว มีเพียง 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้สึกปลอดภัยเวลาเดินตามท้องถนนตอนกลางคืน
ผู้คนหลายประเทศไม่ว่าจะแอฟริกาใต้ บราซิล หรือพื้นที่อื่นๆ ก็มีพฤติกรรมหรือค่านิยมบางอย่างที่คล้ายกับความคิดของคนในสังคมไทย เช่น เวลาผู้หญิงจะกลับบ้านตอนกลางคืนคนเดียว เพื่อนคนอื่นๆ มักเอ่ยปากบอกว่า “ถึงบ้านให้บอกด้วย” ถ้าต้องขึ้นรถแท็กซี่ก็มักเตือนกันว่า “ห้ามหลับ” “ต้องมีสตินะ” หรือ “อย่าลืมพิมพ์ชื่อคนขับและเลขทะเบียนรถทิ้งไว้”
ส่วนเวลาที่จะต้องเดินบนทางเท้าช่วงกลางคืนหรือเดินในซอยเปลี่ยว ผู้หญิงจำนวนมากจะรู้สึกไม่ปลอดภัยหากมีคนเดินตามหลัง จึงจำเป็นต้องเดินให้ช้าลงเพื่อให้คนด้านหลังขึ้นนำไปก่อน ถึงจะรู้สึกปลอดภัยกว่า ซึ่งพฤติกรรมนี้จะสะท้อนออกมาในการทำแบบสำรวจความคิดเห็นหลากหลายประเทศ
อีกหนึ่งค่านิยมที่น่าสนใจคือ ‘ความอับอายเมื่อต้องบอกว่าตนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกข่มขืน’ โดยเฉพาะกับเพศชาย ที่หากเคยถูกล่วงละเมิดจะไม่ค่อยกล้าออกมาแจ้งความหรือบอกให้สังคมได้รับรู้ เนื่องจากหลายคนบอกแล้วถูกล้อเลียนเสียดสี อาชญากรรมถูกทำให้กลายเป็นมุขตลก หรือก่อให้เกิดความรู้สึกพ่ายแพ้ ไม่เข้มแข็ง ไม่สมชายตามที่สังคมปิตาธิปไตยคาดหวัง เลยเลือกที่จะเก็บเรื่องราวที่เผชิญมาไว้ในใจ แล้วใช้ชีวิตต่อไปโดยที่บาดแผลทางใจยังไม่ได้ถูกรักษาอย่างถูกที่ถูกทาง
คำบอกเล่าของนักจิตวิทยาชาวแอฟริกาใต้ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ระบุว่า มีชายแอฟริกาหลายคนมาพบเขาเพราะถูกข่มขืน แต่ด้วยค่านิยมในสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเยียวยาบาดแผลถ้าเหยื่อคดีล่วงละเมิดทางเพศเป็นเพศชาย ทัศนคติทางเพศแบบภาพใหญ่ที่มองว่าเพศชายคือเพศที่จะต้องเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกล้ายอมรับว่าตัวเองเคยถูกล่วงละเมิด และไม่กล้าขอความช่วยเหลือกับใคร
หลายประเทศยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของสังคมได้เช่นกัน ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้หญิงในประเทศโมร็อกโกที่อยู่ในอันดับ 9 พบว่าผู้หญิงประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ เคยพบเจอกับประสบการณ์การทำร้ายร่างกายจากคนรัก ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในบรรดาผลสำรวจทั้ง 10 ประเทศ
ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่า ผู้หญิงโมร็อกโกกว่า 32 เปอร์เซ็นต์ที่ทำแบบสำรวจ รู้สึกว่าความรุนแรงจากคนรักเป็นเรื่องสมเหตุสมผลในบางสถานการณ์ เช่น การหึงหวงในประเด็นชู้สาว การสั่งสอนกันในครอบครัว โดยเฉพาะอินเดีย ประเทศที่ติดอันดับ 9 เมืองท่องเที่ยวอันตรายสำหรับสตรี มีผู้ทำแบบสำรวจบางส่วนคิดว่าความรุนแรงที่พบเจอหลายครั้งเป็นเรื่องยอมรับได้ โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 37.2 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้หญิงที่เห็นด้วยกับความรุนแรงนั้นราว 45 เปอร์เซ็นต์
ผลสำรวจที่ว่ามาอาจยังไม่สร้างความประหลาดใจได้เท่าผลสำรวจความคิดเห็นหญิงไทย ประเทศที่ติดอันดับ 10 เนื่องจากผู้ทำผลสำรวจ 44 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าเคยถูกคู่สมรสหรือคนรักทำร้ายร่างกาย และกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบางเหตุการณ์ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในบรรดา 50 ประเทศที่ร่วมทำผลสำรวจในหัวข้อการเผชิญและยินยอมกับการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ
ตัวเลขคดีอาชญากรรมที่พุ่งสูงหมายถึงความเสี่ยงผู้หญิงต้องเผชิญ
พฤติกรรมและการทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่าง และอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถทำให้ภาพรวมดังกล่าวชัดเจนขึ้นคือ ‘ตัวเลขคดีอาชญากรรมทางเพศ’ โดยประเทศที่ได้อันดับ 1 อย่างแอฟริกาใต้ นับเป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องจำนวนคดีอาชญากรรมทางเพศ สถานีตำรวจทั่วประเทศจะได้รับแจ้งความเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในทุก 12 นาที และจากบทสัมภาษณ์ บทวิเคราะห์ บทความของสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งระบุตรงกันว่า การข่มขืนแทบจะกลายเป็นเรื่องที่เห็นได้เป็นปกติในหลายพื้นที่ของแอฟริกาใต้เสียแล้ว
สำนักข่าว BBC เคยสัมภาษณ์ชายที่ก่อเหตุข่มขืนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาบอกว่าเคยถูกจับได้ และโดนคนในชุมชนรุมประชาทัณฑ์ แต่วันเวลาผ่านไป เขาก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิม เมื่อถามว่าเคยใช้กำลังบังคับให้ผู้หญิงมีเซ็กซ์ด้วยมาแล้วกี่คน เขาตอบกลับมาด้วยท่าทีสบายๆ ว่า “ประมาณ 21-24 คน ผมเป็น HIV แล้วก็รู้สึกดีด้วยเพราะจะได้ไม่ต้องตายคนเดียว”
ในเดือนกรกฎาคม 2022 มีข่าวอาชญากรรมที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแอฟริกาใต้ เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว เพราะบุกปล้นกองถ่ายมิวสิกวิดีโอที่มาถ่ายทำในเมืองครูเกอร์สดอร์ป กลุ่มโจรใช้อาวุธข่มขู่และข่มขืนนางแบบ 8 ราย ก่อนหลบหนีไปพร้อมทรัพย์สิน เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นข่าวใหญ่ สร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมากจน ไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ออกแถลงข่าวเร่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งจับกุมผู้ต้องหาก่อเหตุอุกฉกรรจ์ที่มีผู้ต้องสงสัยมากกว่า 20 ราย
นอกจากคดีใหญ่ที่เพิ่งเกิดขึ้น ในปี 2015 มีข่าวใหญ่ว่าชายกลุ่มหนึ่งรุมทำร้ายร่างกายคู่รัก 2 คู่ที่กำลังเดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ ก่อนจะข่มขืนฝ่ายหญิง ซ้อมฝ่ายชาย แล้วโยนร่างลงในบึงน้ำจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย หรือคดีเมื่อปี 2020 ในจังหวัดควาซูลู-นาตาล (KwaZulu-Natal) หญิงชราวัย 71 ปี เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเนื่องจากถูกคนร้ายใช้ปืนจ่อศีรษะบังคับให้ดูหลานสาว 3 คนถูกกลุ่มโจรรุมข่มขืน โดยที่เธอไม่สามารถช่วยอะไรหลานสาวได้เลย
คดีอาชญากรรมทางเพศในแอฟริกาใต้ที่สำนักข่าวต่างประเทศหยิบยกไปรายงานมักเป็นคดีรุมโทรม รุมทำร้ายร่างกาย หรือร่วมกันฆาตกรรมที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของผู้ชายมากกว่า 1 ราย นอกจากนี้ ในประเทศติดอันดับอื่นๆ ก็เคยมีการรายงานข่าวคดีสะเทือนขวัญ เช่น โมร็อกโกที่อยู่อันดับ 8 กับคดีฆ่าตัดหัวนักท่องเที่ยวหญิง ที่ทำให้ศาลโมร็อกโกตัดสินโทษประหารชีวิตผู้ก่อเหตุอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 1993
อีกหนึ่งประเทศที่คนในสังคมส่วนใหญ่มีภาพจำแย่ๆ เรื่องคดีอาชญากรรมทางเพศ คือ ‘อินเดีย’ ที่อยู่ในลำดับ 9 ของการจัดอันดับครั้งนี้ ย้อนกลับไปยังปี 2017 อินเดียมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนมากกว่า 32,500 คดี เฉลี่ย 90 คดีต่อวัน หรือทุก 16 นาทีจะมีการข่มขืนเกิดขึ้น 1 ครั้ง โดยตัวเลขดังกล่าวนับแค่เหยื่อที่กล้าออกมาแจ้งความเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังคงมีเหยื่ออีกมากที่ไม่ยอมแจ้งความเพราะความกลัว ถูกข่มขู่ รู้สึกอับอาย รวมถึงเหยื่อที่ไม่สามารถโทรหาตำรวจได้เพราะถูกฆาตกรรมอำพรางและถูกลิสต์ไว้ว่าเป็นบุคคลสูญหาย
ในปี 2021 มีคดีทางเพศหนึ่งที่สร้างความสลดหดหู่ให้กับสังคม เมื่อประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการเด็กแห่งอินเดีย ออกแถลงการณ์ถึงคดีเด็กผู้หญิงวัย 16 ปี ที่หนีออกจากบ้านมาเป็นขอทานเร่ร่อนเนื่องจากเคยถูกผู้เป็นพ่อล่วงละเมิดทางเพศ พออายุ 13 ปีก็ต้องแต่งงานแล้วถูกคู่สมรสล่วงละเมิดทางเพศซ้ำ จึงตัดสินใจหนีออกมาใช้ชีวิตคนเดียว พอออกมาเจอโลกภายนอกก็มักถูกผู้ชายมากกว่าหนึ่งร้อยคนบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ก่อนจะเข้าแจ้งความแต่ตำรวจท้องที่กลับไม่รับเรื่อง จนเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการสวัสดิการเด็กแห่งอินเดียไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุทั้งหมดได้อย่างชัดเจน เพราะเหยื่ออธิบายรูปพรรณสัณฐานได้แค่ 25 รายเท่านั้น
สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้ตัวเลขพุ่งสูงคือเหยื่อคดีข่มขืนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รู้จักผู้ก่อเหตุ เพราะเป็นสมาชิกในครอบครัว คู่สมรส เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และเมื่อเกิดคดีแบบนี้ แทนที่จะว่ากล่าวหรือประณามผู้ก่อเหตุ สังคมกลับกล่าวโทษเหยื่อ มิหนำซ้ำยังถูกล้อมให้ประนีประนอมยอมความทางคดีกับผู้ต้องหาเพื่อทำให้เรื่องจบลงโดยเร็วที่สุด
(อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ และสถิติคดีอาชญากรรมทางเพศของอินเดียได้ใน ‘อะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้อินเดียเต็มไปด้วยคดีข่มขืน’)
ประเทศไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องเมืองแห่งการท่องเที่ยวก็เต็มไปด้วยปัญหาด้านการล่วงละเมิดทางเพศ สถิติในปี 2013 ระบุว่า มีผู้หญิงไทยกว่า 31,000 คนถูกข่มขืนกระทำชำเรา ส่วนการทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มขืน ไปจนถึงการฆาตกรรมนักท่องเที่ยวก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งข้อมูลในการจัดอันดับได้ยกตัวอย่างคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวหญิงชาวสวิตเซอร์แลนด์ในจังหวัดภูเก็ต คดีข่มขืนนักท่องเที่ยวหญิงที่เกาะเต่า รวมถึงการเอ่ยถึงการดำเนินคดีของหน่วยงานรัฐที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร
ช่องว่างทางกฎหมายที่ตอกย้ำซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคม
‘ช่องว่างทางกฎหมาย’ ที่เกิดขึ้นทั้งจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจของผู้มีอำนาจในสถาบันทางกฎหมาย สถาบันทางการเมือง ไปจนถึงสถาบันทางศาสนา ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศ ส่งผลให้บางประเทศถึงไม่มีตัวเลขคดีอาชญากรรมพุ่งสูงเท่ากับแอฟริกาใต้ บราซิล อินเดีย หรือไทย ก็ติดอันดับประเทศที่มีภาพรวมว่าเป็นสังคมที่ไม่เท่าเทียมทางเพศได้ง่ายๆ เหมือนกัน
ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายหรือความเชื่อทางศาสนาที่ทำให้สิทธิทางการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไปจนถึงอำนาจทางการเมืองของสตรีถูกเลือกปฏิบัติมากกว่าเพศชาย ทำให้รัสเซียยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีกฎหมายและข้อบังคับจำกัดไม่ให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมและเศรษฐกิจมากเท่ากับเพศชายเสมอมา รวมถึงอิหร่านที่เป็นอันดับ 5 ประเทศอันตรายต่อนักท่องเที่ยวหญิงที่เดินทางคนเดียว แต่เคยมีผลสำรวจในหัวข้ออื่นระบุว่า อิหร่านเคยอยู่อันดับ 3 ประเทศที่มีกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิงมากที่สุด
สาธารณรัฐโดมินิกันถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 ทั้งในแง่ประเทศที่เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวหญิงและประเทศที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศสูง โดยวัดจากบริการด้านสาธารณสุขและตลาดแรงงาน ขณะที่อียิปต์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีรายงานช่องว่างทางเพศสูงติดอันดับโลก ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับรัสเซีย อิหร่าน โดมินิกัน จากกฎหมายและข้อบังคับที่จำกัดสิทธิและการเข้าถึงในการมีส่วนร่วมกับสถาบันต่างๆ ในสังคม
ส่วนประเทศที่มีคดีอาชญากรรมทางเพศสูงอยู่แล้วและยังมีกฎหมายที่ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมกว้างขึ้นไปอีกอย่างอินเดีย เมื่อพิจารณาคดีข่มขืนในช่วงปี 2012 ที่มีมากกว่า 600 คดี พบว่ามีเพียง 1 คดีเท่านั้นได้ไปถึงขั้นตอนการพิจารณาของชั้นศาล ส่วนคดีที่เหลือถูกตัดบทให้จบลงก่อนจะมีการสั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ครอบครัวผู้เสียหาย ไปจนถึงตัวผู้ก่อเหตุมักข่มขู่ กดดัน หว่านล้อมให้เหยื่อคดีทางเพศยอมความ บ้างก็เร่งจบเรื่องด้วยการให้คนที่ถูกข่มขืนแต่งงานกับคนที่ข่มขืนตัวเอง ประกอบกับผู้บังคับใช้กฎหมาย การดำเนินงานของภาครัฐที่ไม่ได้มาตรฐาน และตัวบทกฎหมายที่ไม่เข้มแข็งมากพอ ควบรวมกับทัศนคติทางเพศ ก็ยิ่งทำให้คดีทางเพศไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อีกหนึ่งตัวอย่างที่อาจให้ภาพบางอย่างชัดขึ้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2022 คณะกรรมการที่ปรึกษาเรือนจำของเมืองปัญจมหัล ตัดสินใจปล่อยตัวนักโทษคดีข่มขืนหมู่และฆาตกรรมเหยื่อ 11 ราย โดยอ้างว่านักโทษเหล่านี้ประพฤติตัวดี เป็นนักโทษตัวอย่างที่สมควรลดโทษให้เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปีการเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ของประชาชน นักกฎหมาย รวมถึงครอบครัวของเหยื่อที่ไม่เห็นด้วยกับการอภัยโทษครั้งนี้
สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวที่สามารถพบเจอได้ในทุกวัน ทุกนาที ทุกวินาที การล่วงละเมิดทางเพศและการข่มขืนยังคงเกิดขึ้นเสมอมา ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้งค่านิยม แนวคิด วิถีชีวิต ไปจนถึงตัวบทกฎหมาย ที่อาจทำให้แต่ละสังคมต้องทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง เพื่อลดปัญหาการคุกคาม เบียดเบียน ขณะเดียวกันก็สร้างการตระหนักรู้ไม่ให้ผู้คนลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
อ้างอิง
https://worldpopulationreview.com/country-rankings/most-dangerous-countries-for-women
https://www.bbc.com/thai/international-44885284
https://edition.cnn.com/2019/07/18/europe/morocco-scandinavian-tourist-deaths-intl/index.html
Tags: ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, ท่องเที่ยว, การเหยียดเพศ, Gender, คดีข่มขืน, Feature, ประเทศอันตรายต่อสตรี, การล่วงละเมิดทางเพศ, เจนเดอร์, เพศ, ผู้หญิง, สิทธิสตรี, ความเท่าเทียมทางเพศ