ข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศอินเดียที่พวกเราคุ้นหูกันดี คงจะหนีไม่พ้นข่าวการปะทะหรือประท้วงในแคว้นแคชเมียร์ทางตอนเหนือของประเทศ และข่าวคดีข่มขืนที่ค่อนข้างสะเทือนใจและชวนให้อกสั่นขวัญแขวน เพราะหลายครั้ง เหตุเกิดขึ้นในที่สาธารณะกลางเมืองใหญ่ มีผู้ร่วมก่อเหตุหลายคน และผู้ถูกกระทำมักถูกกระทำอย่างวิปริตจนเสียชีวิต

สถิติจากสำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดียในปี 2017 ระบุว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนเกิดขึ้นมากกว่า 32,500 คดี เฉลี่ย 90 คดี ต่อวัน หรือ ในทุก 16 นาที จะมีการข่มขืนเกิดขึ้น 1 ครั้ง ภายในปีนั้น ศาลอินเดียสามารถปิดคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนได้ประมาณ 18,300 คดี แต่ยังเหลือคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนอีกถึง 127,800 คดี ที่รอการตัดสิน

คดีสะเทือนขวัญทางเพศที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในเมืองไฮเดอราบัด เมื่อสัตวแพทย์สาววัย 27 ปี ถูกข่มขืนและฆ่าเผาอำพรางศพ กระแสความไม่พอใจในความไม่ปลอดภัยของสตรีเพศทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วประเทศ ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นชายสี่คน ตามมาด้วยการวิสามัญฆาตกรรมชายทั้งสี่หลังพยายามต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์จบลงด้วยการเฉลิมฉลองของสตรีในเมืองไฮเดอราบัดที่กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำสิ่งที่ ‘ยุติธรรม’ แล้ว

แต่อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ข่มขืนครั้งแล้วครั้งเล่าในอินเดีย? ประเทศที่ถูกขนานนามว่า “ประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้หญิง” การวิเคราะห์จากมิติหลายด้าน นำมาซึ่งคำตอบที่หลากหลาย

ช่องโหว่ทางกฎหมาย ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม และ ปัญหาสภาพสังคม

หลายครั้งผู้ต้องหาคดีข่มขืนในอินเดียได้รับการปล่อยตัวเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ และสภาพสังคมอินเดียที่เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้หลายครั้งผู้หญิงถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง พ่อแม่มักให้ความสำคัญกับความคิดและความต้องการของลูกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงในสังคมอินเดียจึงถูกทำให้มีสถานะที่ต้อยต่ำตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต 

สถิติที่น่าตกใจก็คือ ร้อยละ 93 ของคดีข่มขืนในอินเดีย เป็นการกระทำของบุคคลที่รู้จักกับเหยื่อ ตั้งแต่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน คนในที่ทำงาน ไปจนถึงเพื่อนออนไลน์

ระบบศาลของอินเดียยังทำงานได้อย่างเชื่องช้าเนื่องจากขาดแคลนผู้พิพากษา อินเดียมีผู้พิพากษา 15 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน ศาลสูงแห่งนครเดลีเคยประมาณการว่า ต้องใช้เวลาถึง 466 ปี ถึงจะจัดการกับคดีที่คั่งค้างอยู่ให้เสร็จทั้งหมด

นักวิเคราะห์ยังระบุว่าความหย่อนยานของกระบวนการยุติธรรมอินเดีย อาจเป็นแรงกระตุ้นให้มีการจัดการผู้กระทำผิดแบบศาลเตี้ยเพิ่มมากขึ้น

 

ความไม่เท่าเทียมทางเพศ และ วัฒนธรรมที่นิยมความรุนแรง

งานวิจัยของมูลนิธิเพื่อสังคมที่เท่าเทียมในเมืองปูเน่ที่มุ่งศึกษาพฤติกรรมของวัยรุ่นชายจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินต่ำระบุว่า เด็กวัยรุ่นชายส่วนใหญ่เชื่อว่าเด็กสาวที่สวมใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตกสามารถล่วงละเมิดได้ เพราะพวกเธอแต่งกายยั่วยวนและแสดงให้เห็นว่ามีความต้องการถูกละเมิด นอกจากนี้ ประเด็นด้านเพศวิถี การยินยอมทางเพศ และ การเคารพสิทธิในร่างกายของเพศตรงข้าม ก็เป็นประเด็นที่ไม่ได้ถูกสอนมากนักในโรงเรียนอินเดีย รายงานขององค์การ UNICEF เมื่อปี 2012 ระบุว่า เด็กชายชาวอินเดียร้อยละ 57 และเด็กหญิงชาวอินเดียร้อยละ 53 ที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี คิดว่าการทุบตีภรรยาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเด็กชายเห็นความรุนแรงในครอบครัว ก็จะเกิดการยอมรับ และนำไปกระทำซ้ำในอนาคต

คดีข่มขืนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งยังกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคมอินเดีย โดยประชาชนต้องการให้ลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการประหารชีวิต บางคนถึงกับต้องการให้ลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการแขวนคอต่อหน้าสาธารณชน ยิ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศนี้

 

การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจหญิง

มีการศึกษาพบว่า หญิงที่ถูกข่มขืนมีแนวโน้มที่จะแจ้งความมากกว่าหากมีตำรวจหญิงปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ดี อินเดียถือเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของตำรวจหญิงน้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย ในกรุงนิวเดลี มีตำรวจหญิงเพียงร้อยละ 7 และมักได้ปฏิบัติงานที่ไม่สำคัญ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจตราจับกุม นอกจากนี้ บ่อยครั้งตำรวจชายยังเพิกเฉยต่อการรับแจ้งความคดีข่มขืนอีกด้วย

การขาดแคลนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยสำหรับบุคคลทั่วไปก็เป็นปัญหาสำคัญ สถิติจากหนังสือพิมพ์ Times of India ระบุว่า ตำรวจ 1 นาย ต้องปฏิบัติงานดูแลประชาชนทั่วไปถึง 200 คน ขณะที่บุคคลสำคัญ 1 คน จะมีตำรวจคอยดูแลถึง 20 นาย นอกจากนี้ ตำรวจอินเดียยังขาดความรู้ด้านการเก็บหลักฐาน การสืบสวน และขาดอุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติงาน

 

เหยื่อถูกตีตรา และ ถูกหว่านล้อมให้ประนีประนอม

บ่อยครั้งที่เหยื่อในคดีข่มขืนกลับถูกสังคมตีตราหรือถูกประนาม ซึ่งนักการเมืองผู้ชายมักเป็นคนจุดชนวนปัญหาเรื่องนี้ขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ลูกชายของประธานาธิบดีโมฑีที่เคยออกมากล่าวว่า ผู้หญิงที่มาประท้วงเรื่องการข่มขืน เป็นผู้หญิงที่ออกมาจากดิสโก้เทคเพื่อมาประท้วง จนเขาต้องออกมาขอโทษสังคมในเวลาต่อมา

เหยื่อในคดีข่มขืนยังมักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน หรือ ในวงศ์ตระกูล เกลี้ยกล่อม หรือ กดดัน ให้ประนีประนอมยอมความทางคดีกับผู้ต้องหา มีกรณีที่เด็กหญิงวัย 17 ปี ที่ถูกรุมโทรมถูกตำรวจกดดันให้ถอนแจ้งความและแต่งงานกับหนึ่งในคนที่ทำร้ายเธอ เหยื่อถูกกดดันให้ต้องประนีประนอมเพื่อรักษาความสงบสุขระหว่างครอบครัว หรือ ระหว่างสายตระกูล แทนที่จะได้รับความเป็นธรรม

 

ที่มา

Tags: , , , ,