ลืมห้องขาวๆ สไตล์มินิมัล หรือผนังปูนเปลือยสไตล์อินดัสเทรียลที่หลายคนคุ้นเคยไปก่อน เพราะเมื่อเดินเข้าสู่ห้องของเกิร์ท วอร์จานส์ (Gert Voorjans) เราจะพบกับความมากมายแบบ ‘Eclectic’ ในพื้นที่เต็มไปด้วยข้าวของจากหลากยุคสมัยหลายสีสัน อาจจะมีพรมขนสัตว์วางอยู่บนพื้น ถัดจากเก้าอี้บุกำมะหยี่จากยุค 60s แจกันที่เราไม่แน่ใจยุคสมัย หรืองานปั้นหน้าตาคุ้นๆ มันอาจจะมีสตอรี่มากมายหรือเพิ่งถูกสอยจากเชลฟ์เมื่อไม่นานมานี้ ใครจะรู้ เรารู้แต่ทั้งหมดนี้เข้ากันดีและเก๋ไก๋อย่างร้ายกาจ

เขาคือดีไซเนอร์ชาวแอนต์เวิร์ปผู้เต็มไปด้วยสไตล์ และขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสบายอกสบายใจของผู้อาศัยเป็นหลัก หลายคนน่าจะเคยเห็นงานดีไซน์ของเกิร์ทกันมาบ้างแล้วจากโฟโตบุ๊กหรือพินเทอร์เรส แต่คราวนี้งานของเขาเขยิบเข้ามาใกล้กว่าที่เคย 

เกิร์ทได้มาออกแบบและควบคุมการตกแต่งของห้องยูนิตพิเศษที่ ‘The Monument ทองหล่อ’ จากการชักชวนของ อู้ พหลโยธิน ประธานบริหารฝ่ายสร้างสรรค์ของเครือแสนสิริ ที่รู้จักคุ้นเคยกับเกิร์ทและร่วมงานกันมาหลายต่อหลายครั้ง ในโอกาสนี้ เราจึงถือโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเกิร์ทในห้องที่เขาออกแบบ ที่ซึ่งเขาตั้งใจจะทำให้มันเป็น ‘homely home’ แม้จะอยู่บนตึกสูงกลางกรุงเทพมหานครก็ตาม

ภาพจาก The Monument ทองหล่อ

“นี่เป็นห้องเพดานสูง และแต่ละห้องก็อยู่ในบริเวณเดียวกันหมด ซึ่งโดยทั่วไป ห้องในยุโรปที่ผมทำงานด้วยจะเป็นห้องไม่ใหญ่มากที่จะมีโถงทางเดินเชื่อมเข้าหากัน เป็นห้องที่อยู่ในตัวตึก ขณะที่ห้องของแสนสิรินี้เป็นห้องที่เปิดโล่งเห็นวิวเมืองเต็มที่ แสงในแต่ละช่วงวันพร้อมจะสะท้อนเข้ามา ซึ่งทำให้ควบคุมสีสันในห้องได้ยาก มันพร้อมจะเกิดเงาสะท้อนบนพื้นห้องหรือบนภาพวาดที่ใช้ตกแต่ง แต่ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดนั้นก็กลายเป็นจุดแข็งได้”

เกิร์ทเลือกใช้สีฟ้า-น้ำเงินมาเป็นตัวตั้งในการตกแต่ง ที่ให้บรรยากาศเย็นสบายแม้ในวันที่แดดจ้า ทั้งยังจัดพื้นที่ในห้องนั่งเล่นให้ตอบรับกับวิวเมืองด้านนอก พร้อมใช้กระจกมาช่วยให้คนในห้อง ไม่ว่าจะนั่งมุมไหน ก็จะเห็นแง่มุมการตกแต่งและรับสุนทรียะจากข้าวของในห้องไปพร้อมๆ กับความเคลื่อนไหวด้านนอก ใช้พรมลายตารางหมากรุกมาลดแสงสะท้อนบนพื้น รวมถึงของตกแต่งอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนแต่พกเรื่องเล่าเอาไว้กับตัวเอง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิร์ทเลือกสรรและนำมาจัดวางอย่างลงตัว น่าจะทำให้ใครที่มาอยู่กลายเป็นคนติดบ้านได้เลยทีเดียว

อยากให้นิยามการตกแต่งสไตล์ Eclecticism สักหน่อย

มันคือการไม่ติดอยู่กับแค่สไตล์หรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ผมชื่นชอบการทวิสต์ เพราะผมเบื่อง่าย ผมชอบของเก่าแต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แต่ของเก่า ผมสนุกที่จะผสมผสานเฟอร์นิเจอร์จากศตวรรษที่ 17 เข้ากับของจากอิเกีย ผมชอบวางข้าวของจากฝรั่งเศสไว้กับของจากจีนหรือเยอรมัน หรือบางอย่างที่คุณอาจจะมีมันอยู่แล้วเป็นของเก่าในครอบครัว ผมว่าทั้งหมดนี้ มันตอบสนองจินตนาการของผมที่ต้องการจะเที่ยวไปเรื่อยๆ และเป็นอิสระจากทุกสิ่ง

ประเด็นคือทุกคนไม่ต้องชอบมันก็ได้ ทำไมทุกคนจะต้องชอบมันล่ะ ผมต้องการแค่ให้คนที่จะมาอยู่ชอบที่จะอยู่ในนี้ อยู่แล้วสบาย รู้สึกว่ามันสวย มันดีงาม มันน่าตื่นเต้น ไม่ต้องให้คนอื่นมาชอบก็ได้ มันเป็นความชื่นชอบส่วนตัวและไม่ต้องการให้ใครมายืนยันด้วย ทุกคนสามารถมีสิ่งที่ตัวเองชอบได้ ถ้าทุกคนใส่เสื้อผ้าเหมือนกันหมด อยู่ในห้องแบบเดียวกันหมด มันก็เหมือนทุกคนอยู่ในดักแด้กันหมด นั่นคือความไม่เป็นอิสระเลย

การทำอะไรที่เป็นส่วนตัวมากๆ มันสำคัญนะ ถึงห้องนี้ผมจะใส่สิ่งที่ผมชอบเข้ามา แล้วสมมติว่าคุณไม่ชอบสีน้ำเงินที่ผมใช้ คุณก็ยังมีอีกเป็นร้อยวิถีทางที่จะทำให้ห้องนี้กลายเป็นห้องที่สวยในแบบของคุณได้ ดังนั้นอย่าไปยึดติดกับอะไรมาก ถ้าคุณไม่ชอบชิ้นไหน คุณก็แค่หยิบออกแล้วหาชิ้นที่คุณชอบมาใส่แทน

ภาพผลงานที่ผ่านมาของเกิร์ท จาก www.gertvoorjans.com/projects/

ในการเลือกข้าวของมาตกแต่ง คุณทำงานกับประวัติศาสตร์โลกหรือประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างไรบ้าง

ผมเรียนการตกแต่งภายในที่เต็มไปด้วยแนวทางและกฎต่างๆ ของการออกแบบ หลังเรียนจบผมไปอิตาลีทันที เพื่อเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะผมอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพวาดสวยๆ และเฟอร์นิเจอร์สวยๆ ซึ่งมันรุ่มรวยมากกว่า และในศิลปะไม่ว่าจะยุคไหนมันมีอะไรใหม่อยู่เสมอ ผมมักจะพูดเสมอว่าถ้า เลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier —นักออกแบบชาวสวิตเซอร์แลนด์) ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะสร้างเฟอร์นิเจอร์แบบอื่นๆ อีก หรือเดอะ บีตเทิลส์ ก็ตาม ถ้าพวกเขายังอยู่ เขาก็จะทำดนตรีแบบอื่นๆ ขึ้นมา เขาอาจจะไปแร็ปกันก็ได้

ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะมันไม่ใช่แค่การไปยึดติดอยู่แต่กับของเก่า แต่มันคือการศึกษาวิธีคิดของศิลปินในแต่ละช่วงเวลา การได้เห็นความแตกต่างระหว่างความคิดในแต่ละทศวรรษ ความคิดเหล่านั้นมันทำให้เกิดสิ่งของแต่ละอย่างที่เราอาจจะหยิบมาใช้ และการรู้แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นขึ้นมาทำให้ผมทำงานสนุกขึ้นมาก คือผมจะมีความนึกคิดเกี่ยวกับของแต่ละชิ้นอยู่แล้วล่ะ และความรู้เกี่ยวกับมันก็จะเข้ามาเป็นส่วนเสริม

ภาพผลงานที่ผ่านมาของเกิร์ท จาก www.gertvoorjans.com/projects/

อยากให้เล่าถึงวิธีการออกแบบตกแต่งภายในที่เป็นซิกเนเจอร์ของคุณ

ผมชอบเล่นกับงานออกแบบ และชอบเว้นพื้นที่ให้คนที่จะมาอยู่ในห้องได้เล่นกับมันด้วย ผมจำเป็นต้องพูดคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง ถ้าดีไซเนอร์เผด็จการไปทั้งหมดและทำเองเบ็ดเสร็จทุกอย่าง คนอยู่จะไม่มีทางรู้เรื่องราวเบื้องหลังของมันเลย หลายครั้งที่ผมทำงานรีโนเวทตึกเก่า มันจะเต็มไปด้วยเรื่องราวของพื้นที่นั้นๆ ผมจะต้องใช้เวลาในกระบวนการออกแบบ 2-3 ปี บางอย่างต้องเอาออกไปก่อนแล้วสร้างขึ้นใหม่ ฟาซาดนั้นอาจจะสวยอยู่แล้ว แต่มันไม่เข้ากับสิ่งที่เราจะเติมเข้าไป มันก็ต้องแก้ไขใหม่อีกรอบหนึ่ง มันมีสิ่งที่ต้องตัดสินใจเต็มไปหมด ดังนั้นผมต้องการเวลาที่จะศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและสภาพของพื้นที่นั้นๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงพูดคุยกับคนที่จะมาอาศัยอยู่ที่นั่นด้วย 

สิ่งที่ผมมักจะขอจากลูกค้าคือ ให้เป็นตัวเอง ถ้าคุณไม่ชอบมัน ให้คุณบอก แล้วเราก็มาปรับกัน

คนแบบไหนที่จะสนุกกับห้องที่คุณออกแบบมากที่สุด

ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่าผู้หญิงจะชอบห้องของผมที่สุด หรือผู้ชายจะสนุกกับมันมากกว่า แต่อย่างน้อย ผมว่าคนคนนั้นน่าจะต้องเคยศึกษาหรือรู้แบ็กกราวด์ของสิ่งที่ผมเลือกมาเพื่อจะซาบซึ้งไปกับมัน หากคุณไม่รู้ความแตกต่างระหว่างรูปปั้นอิตาเลียนจากศตวรรษที่ 16 หรือของปลอมที่ซื้อมาจากร้านตรงหัวมุมถนน คุณก็จะเห็นแต่ความสวยของมัน แต่ไม่ใช่เรื่องราวของมัน และนั่นอาจจะเป็นปัญหา เช่นเดียวกัน ถ้าคุณสามารถเข้าใจว่าพรมแคชเมียร์ที่ยอดเยี่ยมจำเป็นต้องมีเท็กซ์ไทล์ซับซ้อนอย่างไร หรือถ้าคุณสามารถเห็นความแตกต่างของเฟอร์แต่ละชนิด คุณน่าจะสนุกกับสิ่งที่ผมเลือก

ผมชอบเฟอร์มากนะที่จริงแล้ว ถึงตอนนี้จะไม่สามารถพูดถึงมันได้มากก็เถอะ (หัวเราะ) 

ขณะที่ผู้คนบางส่วนเชื่อใน “less is more” คุณคิดเห็นอย่างไร

สำหรับผม ไม่มีอะไรที่น้อย ไม่มีอะไรที่มาก ความว่างเปล่าก็ไม่ได้หมายถึงน้อย เช่นเวลาที่ผมหยิบของสไตล์ญี่ปุ่นมาใช้ ผู้คนอาจจะพูดถึงเซน (Zen) หรือ วะบิ-ซะบิ (Wabi-Sabi) ซึ่งในทางหนึ่ง นั่นก็ไม่ได้หมายถึงการทำอะไรที่แค่ ‘น้อยๆ’ แต่ทุกอย่างได้ถูกคิดไว้จนเต็มพื้นที่แล้ว เราอาจเห็นเป็นห้องแบบญี่ปุ่นที่ไม่ได้ตกแต่งอะไรมาก แต่ด้านหลังประตูเลื่อนนั้น เราก็จะเห็นพื้นหลังที่มีลวดลายอลังการสำหรับพิธีการ แล้วพวกเขาก็ตกแต่งมันใหม่ในทุกฤดูกาล ในช่วงที่ซากุระบาน พวกเขาก็จะตกแต่งด้วยฉากกั้นที่เข้ากับดอกซากุระ เมื่อพวกเขาใช้ห้อง ในห้องก็จะเต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่าง อาจจะมีฉากกั้นที่จะสะท้อนกับสวนด้านนอก เพื่อให้ห้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของสวน

และอีกอย่างที่ผมอยากพูดก็คือ ทุกวันนี้ผู้คนอยู่กับแล็บท็อปหรือโทรศัพท์เยอะมาก คุณเห็นอะไรผ่านหน้าจอเต็มไปหมด แล้วคุณก็อาจจะบอกว่า “ให้ตายเถอะ ฉันอยากให้มีแค่ผนังขาวๆ ตรงหน้า เพราะฉันไม่สามารถรับอินพุทอะไรได้อีกแล้ว” แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้น เราตกแต่งอะไรให้มากขึ้นได้อีกสิ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนน่ะนะ ผมเองต่อให้เห็นอะไรมากมายในแต่ละวัน เมื่อเดินเข้าไปในอพาร์ทเมนต์โล่งๆ สีขาวๆ ผมก็มักจะรู้สึกว่า “โอเค เรานั่งลงตรงนี้ แล้วไงต่อ?” (หัวเราะ) 

การตกแต่งห้องอย่างมีเรื่องราวมันสร้างบทสนทนาที่ยอดเยี่ยมได้นะ อย่างที่ผมนั่งอยู่ในห้องนี้ แค่มองไปที่รูปภาพตรงนั้นผมก็รู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยวแล้ว จินตนาการของผมได้ทำงาน นั่นมีหญิงสาวคนหนึ่งจากยุโรปตะวันออก แล้วผมก็ได้ยินเรื่องราวของเธอ เธอมักจะชอบกินแตงโมในฤดูร้อน และชอบที่จะมีช่วงเวลาดีๆ ในฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โอ้ แล้วปีหน้าผมจะไปเที่ยวที่นั่นบ้างดีไหมนะ แน่นอนว่าของชิ้นอื่นๆ ก็ชวนผมคุยเรื่องอื่นๆ ที่ต่างกันออกไป

less is more เหรอ ผมจะบอกว่า more is more ต่างหาก

Tags: , , ,