บ้านแฝดสไตล์เบาเฮาส์ในเมืองเดสเซาเคยเป็นที่อยู่ของลาสซ์โล โมโฮลี-นากี (Laszlo Moholy-Nagy) และภรรยาของเขา-ลูเซีย โมโฮลี เพียงแค่สองปี ระหว่าง 1926-1928 หลังติดกันเป็นที่อยู่ของลีโอเนล ไฟนิงเกอร์ (Lyonel Feininger) กับภรรยาคนที่สอง และลูกชายอีกสามคน บริเวณติดกันยังเป็นบ้านพักของอิเซ และวาลเทอร์ โกรพิอุส (Ise & Walter Gropius)

บ้านต้นแบบของโกรพิอุส ผู้อำนวยการสถาบันเบาเฮาส์ และของโมโฮลี-นากีไม่มีให้เห็นอีกแล้ว เนื่องจากถูกระเบิดทำลายไปในเดือนมีนาคม 1945 แต่ยังคงเหลือหลักฐานประวัติศาสตร์ไว้ เป็นภาพถ่ายที่บ่งบอกถึงรายละเอียดของบ้านเบาเฮาส์และการก่อสร้างที่แตกต่างกัน เพราะเจ้าของบ้านแต่ละหลังที่มาเช่าบ้านใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดสเซาต่างมีความชอบในเรื่องของสี เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุต่างกัน

ภาพพอร์เทร็ต-ลูเซีย โมโฮลี (Cr: VG Bild-Kunst Bonn)

ลูเซีย โมโฮลีบันทึกภาพห้องต่างๆ ในบ้านของตนเอง บ้านของไฟน์นิงเกอร์ และบ้านของวัสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky) แต่เริ่มที่บ้านหลังแรกของโกรพิอุส คาดเดาว่าเป็นเพราะผู้อำนวยการเบาเฮาส์ได้ว่าจ้างเธอ และเชื่อว่างานถ่ายภาพของโมโฮลีจะสามารถถ่ายทอดศิลปะการก่อสร้างและศิลปะแห่งการใช้ชีวิตแบบใหม่ของเขาไปสู่สายตาชาวโลกได้ ดังนั้นเธอจึงถ่ายภาพรายละเอียดของบ้านตั้งแต่หลังคาจนถึงห้องใต้ดิน โดยเลือกบันทึกภาพจากมุมมองของเธอเอง คล้ายภาพที่เห็นเมื่อก้าวเข้าไปในห้อง แก้วน้ำถูกจัดวางอย่างสวยงามบนชั้นวางในห้องรับประทานอาหารของโกรพิอุส ในครัวมีอุปกรณ์ครัวแขวนอยู่เหนือเตาอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีข้าวของหรือสิ่งใดวางกระจัดกระจาย ทุกอย่างถูกจัดเก็บและจัดวาง ดูสะอาดสะอ้าน อนามัย และสมบูรณ์แบบราวกับภาพโฆษณาบ้านและการออกแบบตกแต่งภายใน

ขณะเดียวกันมันยังสะท้อนความมีศิลปะในงานภาพถ่ายของโมโฮลีอีกด้วย เธอใช้แสงธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีอุปกรณ์ช่วยอย่างแฟลช หรือแสงไฟ เธอเริ่มทำงานตั้งแต่เช้า เมื่อแสงเริ่มสาดเป็นวงกว้างเข้าไปในห้อง หรือรอจนกระทั่งบ่ายคล้อย เมื่อพระอาทิตย์เริ่มทอแสงต่ำ ผลงานภาพถ่ายของเธอเป็นลักษณะคอนเซปชวล

ชุดชาและกาแฟ ผลงานออกแบบของมารีอันนา บรานดฺต์ (Cr: Bauhaus-Archiv)

ลูเซีย โมโฮลีทำงานด้วยกล้องเพลท ที่ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในคลังเบาเฮาส์ที่กรุงเบอร์ลิน โมโฮลีอายุ 32 ปีตอนย้ายไปอยู่บ้านเบาเฮาส์ในเมืองเดสเซา ยังไม่มีทั้งผลงานแสดงนิทรรศการ และยังไม่เคยมีใครว่าจ้างให้ถ่ายภาพเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนั้นเธอทำหน้าที่เป็นเพียงแม่บ้านที่ติดตามลาสซ์โล โมโฮลี-นากี สามีซึ่งเป็นจิตรกร ช่างภาพ และผู้กำกับฯ ซึ่งถูกเชิญตัวมาเป็นอาจารย์พิเศษที่สถาบันเบาเฮาส์ บทบาทแม่บ้านของเธอดูเป็นเรื่องแปลกปลอม เนื่องจากก่อนหน้านั้นเธอเป็นผู้หญิงทำงานและพึ่งพาตัวเองมาโดยตลอด

การที่วันหนึ่งเธอกลายมาเป็นช่างภาพได้นั้นแทบไม่มีเค้าล่วงหน้า ชื่อสกุลเดิมของเธอ-ลูเซีย ชูลซ์ (Lucia Schulz) เกิดเมื่อปี 1894 ที่กรุงปราก เป็นบุตรสาวของครอบครัวทนายความฐานะปานกลาง เรียนเปียโน เล่นเทนนิส วาดรูป และชอบเขียนบันทึกในวัยเด็ก ผลการเรียนมัธยมปลายอยู่ในเกณฑ์เยี่ยม ได้คะแนนสูงในวิชาภาษาเยอรมันและอังกฤษ เธอเข้าศึกษาต่อด้านปรัชญาและประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มหาวิทยาลัยในกรุงปราก

Meisterhäuser (บ้านศาตราจารย์) ในเดสเซา ภาพจากฟากตะวันตกเฉียงเหนือ (Cr: Bauhaus-Archiv)

ปี 1915 เธอเดินทางไปเยอรมนี เข้าทำงานกับหนังสือพิมพ์วีสบาเดเนอร์ ไซทุง (หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเมืองวีสบาเดน) ที่ต่อมาเธอมีโอกาสได้เผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับศิลปะ ก่อนโยกย้ายไปที่ไลป์ซิก-อดีตเมืองหลวงของหนังสือ เพื่อรับตำแหน่งผู้จัดการของสำนักพิมพ์แบร์ลิเนอร์ ฮึเปอรีโอน กระทั่งปี 1918 เธอเดินทางเข้ากรุงเบอร์ลินไปทำงานให้กับสำนักพิมพ์คัวร์-โวล์ฟฟ์ และโรโวห์ลต์ ระหว่างนั้นเธอยังคงเขียนงานวิจารณ์และบทกวี ภายใต้นามแฝง ‘อูลริช ชเตฟเฟน’ (Ulrich Steffen) และมีโอกาสได้พบเจอกับลาสซ์โล โมโฮลี-นากี อดีตนักศึกษาที่ต้องพักการเรียนไปเป็นทหารเกณฑ์เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก่อนจะมาได้ดีทางศิลปะในเวลาต่อมา

ทั้งสองแต่งงานกันในปีถัดมา ลูเซีย โมโฮลีได้สัญชาติฮังกาเรียน และต้องละมือจากงานสำนักพิมพ์ที่เบอร์ลิน ออกมาช่วยสามีแปลบทความของเขา เนื่องจากเธอสามารถพูดภาษาเยอรมัน เช็ก และอังกฤษได้ ช่วงเวลานั้นเธอยังได้ทดลองงานถ่ายภาพที่ตนเองเคยชอบและลุ่มหลง โดยเฉพาะในเรื่องของเทคนิค

ปี 1923 เธอและสามีโยกย้ายตามคำเชิญชวนของสถาบันเบาเฮาส์ไปที่ไวมาร์ และสองปีต่อมาไปที่เดสเซา เมืองหลวงของอดีตรัฐอิสระอันฮัลต์ ความชื่นชอบเทคนิคการถ่ายภาพของลูเซีย โมโฮลีกลายเป็นที่ร่ำลือในสถาบันเบาเฮาส์ สมัยนั้นการถ่ายภาพยังไม่เป็นภาควิชาให้เรียนกันตามสถานศึกษา แต่มีให้เรียนรู้จากสตูดิโอช่างภาพโดยตรง ตั้งแต่ครั้งที่ยังอยู่ในไวมาร์ โมโฮลีเคยเรียนจบหลักสูตรการถ่ายภาพจากสตูดิโอแห่งหนึ่ง และจากเดสเซา เธอเดินทางไปที่ใกล้ๆ เมืองไลป์ซิกเพื่อสมัครเข้าคอร์สเทคนิคการทำรี-โปรดักชัน ที่มหาวิทยาลัยเพื่อศิลปะออกแบบกราฟิกและหนังสือ หลังจากนั้นเธอใช้ความรู้เพื่อปฏิบัติงานโดยการถ่ายภาพแบบร่างและภาพผลงานของสามี ท้ายที่สุดเธอก็ได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพบ้านของวาลเทอร์ โกรพิอุส ในจำนวนภาพถ่ายเหล่านั้นมีผลงานภาพ ‘Bauhausneubau – Westseite’ (งานออกแบบสร้างเบาเฮาส์ใหม่ – ด้านตะวันตก) เคยปรากฏเป็นภาพปกนิตยสาร bauhaus ฉบับแรกในปี 1926 และมีชื่อของโมโฮลีเป็นช่างภาพ

โกรพิอุสชื่นชอบภาพถ่ายของเธอมาก ขนาดว่านำเอาผลงานของเธอมาเผยแพร่ในนามของเบาเฮาส์ ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์ของโมโฮลีจากสถาปัตยกรรมในเดสเซามีจำนวนมากมาย ครอบคลุมถึงภาพถ่ายผลิตภัณฑ์จากห้องปฏิบัติการของเบาเฮาส์ อาทิ กาชาผลงานของมารีอันเน บรานดฺต์ (Marianne Brandt) โคมไฟผลงานของวิลเฮล์ม วาเกนเฟลด์ (Wilhelm Wagenfeld) หรือเก้าอี้เหล็กท่อผลงานของมาร์เซล บรอยแอร์ (Marcel Breuer) ภาพเหล่านั้นได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก จนเธอเป็นที่รู้จักของใครว่าเป็นช่างภาพของเบาเฮาส์

Bauhaus’ Stillife – ผลงานออกแบบของอ็อตโต ลินดิก (Otto Lindig) เทโอดอร์ บอเกล็ต (Theodor Boglet) มาร์เกอริต ฟรีดแลนเดอร์ (Marquerite Friedlaender) (Cr: VG Bild-Kunst Bonn)

ขณะเดียวกัน เธอยังช่วยสามี โดยใช้เทคนิคในการดัดแปลงงานศิลปะของเขา เธอทดลองมันหลายวิธี กระทั่งลงตัวเมื่อเธอต่อเติมห้องใต้ดินของบ้านเป็นห้องมืด และทั้งสองก็ใช้แสงไฟ ‘วาดภาพ’ ลงบนกระดาษอัดรูป แบบที่เรียกว่า ‘Photogram’

ปี 1927 ลูเซีย โมโฮลีเข้าสู่ช่วงวิกฤติในเรื่องงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้การทำงานของเธอกับเบาเฮาส์ไม่ราบรื่น และคล้ายหมดความสำคัญ ในปีถัดมา สองสามี-ภรรยาย้ายกลับไปกรุงเบอร์ลิน เธอได้รับการว่าจ้างเป็นอาจารย์สอนการถ่ายภาพที่โรงเรียนศิลปะเอกชน และเริ่มมีรายได้เป็นของตัวเองอีกครั้ง ส่วนที่เดสเซา วัลเทอร์ เพเทอร์ฮานส์ (Walter Peterhans) ถูกเชิญตัวไปเป็นช่างภาพประจำห้องปฏิบัติการของเบาเฮาส์แทน

โมโฮลีและสามีแยกทางกันในปี 1929 หลังจากนั้นเธอก็ย้ายออกไปใช้ชีวิตคู่อยู่กับเทโอดอร์ นอยเบาแอร์ (Theodor Neubauer) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี (KPD) และเป็นผู้ชายที่มีลูกเมียแล้ว ที่กรุงเบอร์ลินเธอหันเหมาถ่ายภาพพอร์เทร็ต แต่ยังคงใช้แนวทางเดียวกับเมื่อตอนทำงานให้เบาเฮาส์ นั่นคือ เธอถ่ายภาพผู้คนเหมือนถ่ายภาพบ้าน ไม่พึ่งพาแสงแฟลชหรือแสงจากหลอดไฟ

ต่อเมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจการปกครอง เยอรมนีสำหรับลูเซีย โมโฮลีก็เริ่มส่อเค้าอันตราย ฤดูร้อนปี 1933 เทโอดอร์ นอยเบาแอร์-ชายคนรักของเธอถูกเกสตาโปจับตัวไป และไม่กลับมาให้เธอพบเห็นอีก โมโฮลีเองก็จำต้องเก็บซ่อนตัวเนื่องจากเชื้อชาติยิวของตนเอง ในปีเดียวกันนั้นเธอเดินทางออกจากเยอรมนี ผ่านกรุงปราก เวียนนา ปารีส ไปยังสหราชอาณาจักร เธอได้งานเป็นอาจารย์สอนการถ่ายภาพในลอนดอน จากนั้นค่อยๆ สะสมชื่อเสียงจากงานภาพถ่ายพอร์เทร็ตและบทความประกอบภาพ แต่ผลงานในอดีตของเธอทั้งหมดตกค้างอยู่ในเบอร์ลิน บางส่วนตกไปถึงมือของวาลเทอร์ โกรพิอุสในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังสงครามสิ้นสุด เขาก็พิมพ์ภาพออกขายโดยไม่ใส่เครดิตชื่อของเธอ เรื่องนี้ไปแดงเอาในช่วงทศวรรษ 1950s โมโฮลียื่นฟ้อง และเรียกคืนฟิล์มเนกาทีฟกลับมาได้ส่วนหนึ่ง

ระหว่างที่สงครามยังปะทุอยู่นั้น โมโฮลีได้ยื่นขอสัญชาติอังกฤษ และเข้าทำงานในหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลในลอนดอน โดยใช้ไมโครฟิล์มบันทึกข้อมูลด้านวัฒนธรรมและการทหาร ต่อมาเธอได้รับมอบหมายงานจากยูเนสโก ให้เป็นกรรมาธิการภาพยนตร์สำหรับห้องสมุดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ปี 1958 โมโฮลีเดินทางกลับไปที่กรุงเบอร์ลินอีกครั้ง แต่พำนักอยู่ที่นั่นเพียงแค่ปีเดียว จากนั้นเธอก็ย้ายไปสวิตเซอร์แลนด์ สร้างหลักปักฐานใหม่ในโซลลิคอน รัฐซูริค

เธอเขียนบทความให้กับนิตยสารศิลปะจากที่นั่น วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการค้นพบเบาเฮาส์อีกครั้ง อย่างหมดเปลือก และคล้ายหลุดพ้น ทว่าความจริงแล้วลูเซีย โมโฮลีผูกพันอยู่กับเบาเฮาส์ในอดีตจวบจนนาทีสุดท้าย

พอร์เทร็ตภาพสุดท้ายที่เธอถูกถ่ายในวัย 90 ปี เป็นภาพเธอนั่งอยู่ด้านหน้าชั้นวางหนังสือ ภายในบ้านที่โซลลิคอน ใบหน้าฉาบรอยยิ้มที่แสดงความภูมิใจ ในมือของเธอมีภาพถ่ายใบหนึ่ง เป็นภาพบ้านเบาเฮาส์ที่สร้างขึ้นใหม่ในเดสเซา   

อ้างอิง:

https://www.klassik-stiftung.de/uploads/tx_lombkswdigitaldocs/Jahrbuch_2009_Baumhoff.pdf

https://www.fraeulein-magazine.eu/lucia-moholy/

https://www.bauhaus100.de/das-bauhaus/koepfe/personen-aus-dem-umfeld-des-bauhauses/lucia-moholy/

 

Tags: , ,